คปพ.บุกสภา ยื่นหนังสือถึง “พรเพชร” ไม่ให้ สนช.รับร่าง พ.ร.บ.2 ฉบับจากกระทรวงพลังงาน ชี้เนื้อหาหมกสัมปทานจำแลง แอบอ้างทำประชาพิจารณ์ พร้อมแนะตั้งคณะทำงานศึกษาและยกร่าง พ.ร.บ.ดันเข้า สนช.เอง โดยยึดผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก ด้าน “พรเพชร” แจงร่างดังกล่าวยังมาไม่ถึงสภา ยันพร้อมยึดหลักการและผลประโยชน์ชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) นำโดย ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นายวีระ สมความคิด พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ยื่นหนังสือต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิต ประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514
ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าวว่า พวกตนมาด้วยไม่ตรีจิตรและความเป็นมิตร เพราะห่วงใยต่อ สนช.และท่าทีของพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องจากที่ผ่านมา สนช.ได้มีการตั้งคณะก รรมาธิการศึกษา พ.ร.บ.ปิโตรเลียมและมีรายงานออกมาเป็นที่พอใจของประชาชน เพราะมีประโยชน์ และมีประเด็นที่จำเป็นจะต้องแก้ไข แต่ขณะที่ผลการศึกษายังไม่เสร็จสิ้น ทางกระทรวงพลังงานได้เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมและ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเข้าสู้คณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่มีการบรรจุหรือแก้ไขปัญหาตามที่คณะกรรมาธิการของ สนช.ทำไว้แต่อย่างใด ทำให้เกิดความกังวลใจของภาคประชาชนว่า ร่างกฎหมายที่กำลังอยู่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาคงไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาที่ประชาชนห่วงใย
นอกจากนี้ ทางกระทรวงพลังงานงานยังอ้างว่ามีการทำประชาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับไปแล้ว แต่ในทางข้อเท็จจริงไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีการทำประชาพิจารณ์ หรือรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนแล้ว จึงห่วงว่าประชาชนจะเข้าใจคลาดเคลื่อนว่ากฎหมายที่กำลังดำเนินการจากกระทรวงพลังงานนั้นเป็นกฎหมายของ สนช. ทั้งที่ทาง สนช.ยังไม่ได้รับร่างกฎหมายนี้แต่อย่างใด
นอกจากนี้ กฎหมายที่กระทรวงพลังงานเสนอนั้น แม้จะเขียนว่า “เพิ่มเติมระบบแบ่งปันผลผลิตไปแล้ว” ก็ตาม แต่เมื่อเราได้อ่านแล้วปรากฏว่ามันไม่ใช่ กลายเป็นสัมปทานจำแลง คือ ระบบแบ่งปันผลิตมีการขุดน้ำมันขึ้นมาก็จะมีการแบ่งปันโดยรัฐจะตรวจนับปริมาณปิโตรเลียมแล้วแบ่งให้เอกชน แต่กฎหมายที่กระทรวงเสนอกลายเป็นว่าเอกชนเอาปิโตรเลียมไปขายทั้งหมดแล้วแบ่งเงินให้รัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเรากังวลอย่างยิ่ง พลเมืองควรจะมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะเพราะด้านพลังงานมีผลกระทบต่อประชาชนทุกคน ทั้งเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่
“ดังนั้น พวกเราต้องมายื่นหนังสือต่อท่านประธาน สนช. ขออย่าให้พิจารณาถอนร่างของกระทรวงพลังงานออกไป เพราะเกรงว่าประชาชนจะเข้าใจผิด และขอความเมตตา กรุณาและความเป็นธรรม จะสั่นคลอนต่อความเชื่อมั่นจากประชาชน และควรมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาทำการยกร่างกฎหมายใหม่ ภายใต้การศึกษาของ กมธ.ของ พล.อ.สกลธ์ รวมถึงเอากฎหมายที่ภาคประชาชนได้ร่างขึ้นมาร่วมพิจารณาเพื่อให้เกิดกฎหมายที่ดีที่สุด และ เป็นประโยชน์ต่อประเทศและสร้างความมั่นคงของชาติที่สุด และทำให้เอกชนได้ประโยชน์ที่เหมาะสมจากการแข่งขันที่เป็นธรรม เสนอเข้าสู่สภา สนช.ต่อไป”
ด้านนายพรเพชร กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการเสนอร่างมาที่สนช. แต่การทำงานของสนช. นั้น ตนได้กำกับต่อที่ประชุมวิปสนช. และในการสัมมนาว่าการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ต่างๆจะต้องคำนึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก โดยจะต้องมีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง และมาร่วมเป็นกรรมาธิการ เพื่อทำร่างกฎหมายให้ดีที่สุด โดยพวกตนจะดำเนินการตามหลักการ เมื่อมีการเสนอร่างเข้ามาก็ต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม โดยจะมีการประสานงานกับเจ้าของร่างเพื่อให้เปลี่ยนแปลงหลักการบางอย่างเพื่อให้เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด
พญ.กมลพรรณกล่าวว่า ครั้งแรกที่พวกตนมาพบกับประธาน สนช. ก็มีการดำริว่าน่าจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และภาคประชาชนก็ได้ทำมาแล้ว ตนคิดว่าหากผ่าน พ.ร.บ.ฉบับกระทรวงพลังงาน จะเกิดความขัดแย้งใหญ่หลวงกับรัฐบาล เพราะเราสู้มาตลอดคงยอมไม่ได้ จึงขอฝากความหวังไว้กับทุกท่านด้วย