xs
xsm
sm
md
lg

หรือว่ากรรมาธิการฯ จะต้องรื้อระบบ ก.ต.ศาลยุติธรรมให้ได้ ?

เผยแพร่:   โดย: นายหิ่งห้อย

สืบเนื่องมาจากกรณีที่ผู้พิพากษา 1,380 คน ออกมาเคลื่อนไหวปกป้องความเป็นอิสระของศาลยุติธรรมและระบบการบริหารงานบุคคลของศาลยุติธรรม โดยร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกคัดค้านในประเด็นปัญหาอันเกิดจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญให้เพิ่มสัดส่วน ก.ต. ศาลยุติธรรม ที่มาจากบุคคลภายนอกมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของ ก.ต.ศาลยุติธรรมที่เป็นผู้พิพากษา และ อีกประเด็นหนึ่งก็คือ การกำหนดให้ผู้พิพากษาที่ถูกลงโทษทางวินัยมีสิทธิอุทธรณ์มติ ก.ต.ศาลยุติธรรม ต่อศาลฎีกาได้ ซึ่งผู้พิพากษาเห็นว่าเป็น 2 ประเด็น สำคัญที่สุด ในจำนวน 7 ประเด็น ที่เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้มีหนังสือขอให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ พิจารณาทบทวนเสียใหม่นั้น

หลังจากที่ตัวแทนผู้พิพากษา 1,380 คน แถลงข่าวการคัดค้านดังกล่าวเมื่อวันพุธที่ 17 มิถุนายน 2558 วันรุ่งขึ้น คณะกรรมาธิการยกร่างฯได้หยิบยกประเด็นปัญหาการเพิ่มสัดส่วน ก.ต.ศาลยุติธรรม ซึ่งมาจากบุคคลภายนอกขึ้นพิจารณาในที่ประชุม แล้วกรรมาธิการยกร่างฯ ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ให้คงจำนวน ก.ต. ศาลยุติธรรมที่มาจากวุฒิสภา 2 คน ไว้ตามเดิม โดยไม่เพิ่ม ก.ต. ศาลยุติธรรมที่มาจากบุคคลภายนอก

ถัดมาอีก 1 วัน คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้หยิบยกประเด็นปัญหาข้อ 2. ที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญว่า ให้ผู้พิพากษาซึ่งถูกลงโทษทางวินัยมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาขึ้นพิจารณา แล้วกรรมาธิการส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ควรให้ตัดข้อความดังกล่าวออกไปทั้งหมด แต่กลับเห็นว่าควรวางหลักการไว้ในร่างรัฐธรรมนูญว่า “ให้ผู้พิพากษายังคงมีสิทธิอุทธรณ์โทษทางวินัยได้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

หากมองเพียงผิวเผินก็คล้ายกับว่า กรรมาธิการยกร่างฯได้ตอบรับข้อเรียกร้องของผู้พิพากษา 1,380 คน และข้อโต้แย้งของศาลยุติธรรม ที่ขอให้ตัดข้อความเกี่ยวกับเรื่องการให้สิทธิแก่ผู้พิพากษาอุทธรณ์การลงโทษทางวินัยต่อศาลฎีกา

แต่การที่ ผู้พิพากษา 1,380 คน และศาลยุติธรรม ออกมาคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าว ก็เพราะเห็นว่า ก.ต.ศาลยุติธรรม ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนผู้พิพากษาในศาลฎีกา 6 คน ชั้นศาลอุทธรณ์ 4 คน และศาลชั้นต้น 2 คน ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากผู้พิพากษาในแต่ละชั้นศาลทั่วประเทศ และมีบุคคลภายนอก 2 คน ซึ่งมาจากการสรรหาของวุฒิสภา โดยมีประธานศาลฎีกาเป็นประธานโดยตำแหน่งนั้น ถือว่าเป็นองค์กรบริหารงานบุคคลสูงสุดของศาลยุติธรรม มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งโยกย้ายและพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้พิพากษาได้ทุกระดับชั้น

นอกจากนั้นกระบวนพิจารณาลงโทษทางวินัยแก่ผู้พิพากษา เริ่มตั้งแต่การสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า การกระทำของผู้พิพากษามีมูลความผิดหรือไม่ หากมีมูลความผิดก็จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย โดยผู้พิพากษาที่ถูกกล่าวหามีสิทธิแสดงพยานหลักฐานโต้แย้งได้เต็มที่ ต่อจากนั้นก็จะเสนอความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยไปยังคณะอนุกรรมการ ก.ต.ศาลยุติธรรม เพื่อพิจารณาและทำความเห็น แล้วเสนอต่อ ก.ต.ศาลยุติธรรม เพื่อพิจารณาลงมติว่าจะลงโทษทางวินัยแก่ผู้พิพากษาหรือไม่ สถานใด หาก ก.ต. ศาลยุติธรรม เห็นว่าพยานหลักฐานที่ได้มายังไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยก็สั่งให้สอบสวนพยานเพิ่มเติมได้

ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น กรรมการสอบสวนทางวินัย และอนุ ก.ต.ศาลยุติธรรม ล้วนแต่เป็นผู้พิพากษาทั้งสิ้น โดยคณะอนุกรรมการ ก.ต. ศาลยุติธรรม เป็นผู้พิพากษาชั้นศาลละ 7 คน รวม 21 คน ส่วน ก.ต. ศาลยุติธรรม ก็ประกอบด้วยผู้พิพากษาซึ่งเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับและเป็นตัวแทนของผู้พิพากษาทั้ง 3 ชั้นศาล รวม 12 คน โดยมี ก.ต.คนนอก เข้ามาตรวจสอบและทำหน้าที่ใน ก.ต.ศาลยุติธรรม โดยมีประธานศาลฎีกาเป็นประธานโดยตำแหน่งร่วมพิจารณาลงมติด้วย

กระบวนการสอบสวนและลงโทษทางวินัยแก่ผู้พิพากษาจึงเป็นไปโดยรอบคอบและเป็นธรรม ยากแก่การวิ่งเต้น ไม่ว่าจะเพื่อกลั่นแกล้งหรือช่วยเหลือผู้พิพากษาที่ถูกดำเนินการทางวินัยได้ ระบบการบริหารงานบุคคลโดย ก.ต. ศาลยุติธรรม เช่นที่กล่าวมานี้ จึงเป็นหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดี โดยผู้พิพากษาไม่ต้องเกรงกลัวว่าจะถูกกลั่นแกล้งจากฝ่ายใด

ในขณะเดียวกัน ผู้พิพากษาก็ต้องประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ในระเบียบ กฎเกณฑ์และจริยธรรมอันดีงาม เพราะ ก.ต.ศาลยุติธรรม จะทำหน้าที่ในการสอดส่องดูแลความประพฤติของผู้พิพากษามิให้ออกนอกลู่นอกทางด้วย

และหากผู้พิพากษาที่ถูกลงโทษทางวินัยไม่เห็นด้วยกับ มติของ ก.ต. ศาลยุติธรรม ก็ยังมีสิทธิร้องขอให้ประธานศาลฎีกาเสนอต่อ ก.ต.ศาลยุติธรรม ให้ทบทวนมติได้อยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องให้มีการอุทธรณ์คำสั่ง ก.ต. ศาลยุติธรรม ไปยังหน่วยงานหรือองค์กรอื่นใดอีก

ดังนั้น การที่กรรมาธิการยกร่างฯ ส่วนใหญ่เห็นชอบให้กำหนดในร่างรัฐธรรมนูญเป็นหลักการไว้ว่า ผู้พิพากษาที่ถูกลงโทษทางวินัยมีสิทธิอุทธรณ์ได้ แต่มิได้มีความเห็นเป็นมติที่ประชุมว่าจะให้ ก. ต. ศาลยุติธรรม ยังคงมีอำนาจหน้าที่เช่นเดิมหรือไม่ และจะให้ผู้ถูกลงโทษทางวินัยอุทธรณ์ไปยังที่ใดก็ไม่ได้กล่าวถึง หรือว่าจะลดบทบาท ก.ต. ศาลยุติธรรมลงให้เป็นเพียงองค์กรที่จะรับพิจารณาอุทธรณ์โทษทางวินัย โดยไม่ให้มีหน้าที่สอดส่องดูแลความประพฤติและจริยธรรมของผู้พิพากษาอีกต่อไป และจะให้ใครมีอำนาจหน้าที่พิจารณาลงโทษทางวินัยแก่ผู้พิพากษาก็ยังไม่มีความชัดเจน อีกทั้ง เมื่อผู้มีอำนาจพิจารณาชั้นอุทธรณ์มีคำสั่งแล้ว ผู้ถูกลงโทษทางวินัยจะมีสิทธิฟ้องต่อศาลปกครอง อันเป็นการให้อำนาจศาลปกครองเข้ามาแทรกแซงศาลยุติธรรมหรือไม่ ก็ล้วนเป็นการก่อปัญหาความขัดแย้งในชั้นออกกฎหมายลูกทั้งสิ้น


ในเมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ยินยอมตัดข้อความในร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ออกไปทั้งหมดนั้น ก็เท่ากับเป็นการยอมรับว่ารูปแบบที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ต้องการให้ผู้พิพากษาที่ถูกลงโทษทางวินัยมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลฎีกานั้นไม่เหมาะสม เพราะจะทำให้ระบบการบริหารงานบุคคลของศาลยุติธรรมเสียไป

แล้วเหตุใดกรรมาธิการฯ เสียงข้างมากยังคงยืนยันจะให้มีการอุทธรณ์โทษทางวินัยได้ โดยไม่มีความชัดเจนว่า การอุทธรณ์โทษทางวินัยตามที่กฎหมายบัญญัตินั้น จะเป็นรูปแบบใด และจะทำให้การบริหารงานบุคคลของศาลยุติธรรมมีประสิทธิภาพกว่าเดิมหรือไม่ จึงส่อให้เห็นว่าเป็นการวางหลักการในรัฐธรรมนูญเพื่อจะสร้างปมปัญหาให้เกิดขึ้นในอนาคต และยังเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือในระบบการบริหารงานบุคคลของศาลยุติธรรม ที่มีความมั่นคงและเป็นที่ยอมรับนับถือของผู้พิพากษาและหน่วยงานอื่นมาเป็นเวลายาวนาน

การกระทำของกรรมาธิการยกร่างฯ ข้างต้น จึงเปรียบเสมือนว่ามีความต้องการเข้ามารื้อหลังคา ประตู และส่วนอื่น ๆ ที่เป็นส่วนสำคัญของบ้าน(ระบบ ก.ต.ศาลยุติธรรม)ที่เขาอยู่อาศัยอย่างมีความสงบสุขมาเป็นเวลาช้านาน โดยตำหนิว่าบ้านหลังนี้ไม่สวยและไม่น่าอยู่อาศัย ควรต้องรื้อส่วนสำคัญของบ้านออกไปก่อน แล้วปรับปรุงเสียใหม่ โดยไม่ยอมปรึกษาหารือกับเจ้าของบ้านเสียก่อน และเมื่อมีความต้องการจะรื้อบ้านหลังนี้อยู่ตั้งแต่แรกก็จะต้องรื้อให้ได้ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะปรับปรุงอย่างไรให้ดีกว่าเดิม เพราะถ้าบอกเสียก่อนว่าจะปรับปรุงบ้านแบบไหน ก็จะรู้ว่าไม่ได้สวยและน่าอยู่มากกว่าบ้านแบบเดิมที่ถูกรื้อออกไป


ดังเช่นที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯได้สร้างรูปแบบไว้ในร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นให้เพิ่มสัดส่วน ก.ต.ศาลยุติธรรม ที่มาจากบุคคลภายนอกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ซึ่งเปิดโอกาสให้นักการเมืองสามารถออกกฎหมายมาแทรกแซงศาลได้ และประเด็นการกำหนดให้มีการอุทธรณ์โทษทางวินัยต่อศาลฎีกา แต่เมื่อผู้พิพากษา 1,380 คน มีจดหมายเปิดผนึกคัดค้าน ก็จำนนด้วยเหตุผลและยินยอมตัดข้อความในร่างดังกล่าวออกไป

หลังจาก ศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ โดยเรียกร้องไม่ให้มี ก.ต.ศาลยุติธรรมคนนอกแม้แต่คนเดียว เพราะขัดต่อหลักความเป็นอิสระของศาล ก็มีกรรมาธิการยกร่างฯ บางคนออกมาแถลงต่อสื่อมวลชนว่า กรรมาธิการฯ ยินยอมที่จะไม่เพิ่ม ก.ต.ศาลยุติธรรม ที่มาจากฝ่ายการเมืองแล้ว โดยให้เหตุผลว่าการยอมตามข้อเรียกร้องของผู้พิพากษานั้น เพราะไม่กระทบถึงการปฏิรูปประเทศ และไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้น

แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีกรรมาธิการยกร่างฯ คนใดยอมรับว่า เป็นเจ้าของความคิดให้เพิ่มสัดส่วน ก.ต.ศาลยุติธรรม คนนอกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ อันเป็นการเปิดโอกาสให้นักการเมืองเข้าทำลายความเป็นอิสระของศาลยุติธรรมได้ และยังไม่มีคำอธิบายว่า แนวคิดดังกล่าวเกิดจากความผิดพลาดหรือจงใจให้ฝ่ายการเมืองมีโอกาสแทรกแซงศาลจึงอยากถามว่า หากคณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะไม่สร้างปมปัญหาด้วยการวางหลักการไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ให้มีการอุทธรณ์โทษทางวินัย ตามที่กฎหมายบัญญัติ (ซึ่งยังไม่รู้ว่าเป็นแบบใด) เพื่อให้ ก.ต.ศาลยุติธรรม เป็นองค์กรบริหารงานบุคคลสูงสุดของศาลยุติธรรมและมีบทบาทหน้าที่ดังเดิมแล้ว จะเป็นการขัดขวางต่อการปฏิรูปประเทศหรืออย่างไร และเหตุใดจึงไม่คิดว่าการสร้างปมปัญหาในประเด็นนี้จะไม่เป็นการสร้างความขัดแย้งมากขึ้น

คงต้องยอมรับว่า ประเด็นปัญหานี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเป็นเรื่องยากที่ประชาชนทั่วไป หรือแม้แต่กรรมาธิการหลายคนที่ไม่ใช่นักกฎหมายและไม่คุ้นเคยกับระบบการบริหารงานบุคคลของศาลยุติธรรมจะเข้าใจได้โดยง่าย

ดังนั้น กรรมาธิการยกร่างฯ ทุกคนจึงควรศึกษาและทำความเข้าใจถึงระบบการบริหารงานบุคคลของ ก.ต.ศาลยุติธรรม ให้ถ่องแท้ ก่อนที่จะเห็นชอบให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของ ก.ต.ศาลยุติธรรม อันจะมีผลทำให้ระบบการบริหารงานบุคคลของศาลยุติธรรมเสียไป และเป็นการทำลายโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของ ก.ต.ศาลยุติธรรม

คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ควรแสดงความบริสุทธิ์ใจว่า มิได้มีเจตนาสร้างปมปัญหาไว้ในร่างรัฐธรรมนูญด้วยการยกเลิกหลักการที่จะระบุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญว่า “ให้มีการอุทธรณ์การลงโทษทางวินัยแก่ผู้พิพากษาได้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” โดยอาจวางหลักการเสียใหม่ว่า “ให้ผู้ถูกลงโทษทางวินัยมีสิทธิร้องขอให้ ก.ต. ศาลยุติธรรม ทบทวนการลงโทษทางวินัยแก่ผู้พิพากษาได้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ก็จะไม่เป็นการก่อปัญหาให้เกิดความเสียหายต่อระบบการบริหารงานบุคคลของศาลยุติธรรม

ผู้มีบทบาทสำคัญในคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ไม่ควรออกมาพูดส่อเสียดว่า ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญเป็นพวกอนุรักษ์นิยมที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงในการปฏิรูปประเทศ เพราะการที่ผู้พิพากษา 1,380 คน ออกมาคัดค้านโครงสร้าง ก.ต.ศาลยุติธรรม ที่เปิดโอกาสให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงศาล และคัดค้านการทำลายระบบการบริหารงานบุคคลของ ก.ต.ศาลยุติธรรมนั้น ก็เพราะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงตามร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ประเด็น ดังกล่าว จะเกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างร้ายแรง

แต่ถ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นและเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง ดังเช่นข้อเรียกร้องตามหนังสือของ ศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี เพื่อเพิ่มความเป็นอิสระของศาลอย่างแท้จริงแล้ว ก็เชื่อว่าผู้พิพากษาทุกคนจะให้การสนับสนุนอย่างแน่นอน

โดย........นายหิ่งห้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น