ตัวแทนผู้พิพากษา 2,079 คน เตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพรุ่งนี้ ยืนยันคัดค้านเพิ่มสัดส่วนคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมจากบุคคลภายนอก และค้านอุทธรณ์คำสั่งไปยังหน่วยงานหรือองค์กรอื่น ชี้ตัดหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษา เปิดโอกาสให้นักการเมืองแทรกแซงศาลได้
วันนี้ (12 ก.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา พร้อมด้วยนายสมชาติ ธัญญาวินิชกุล ผู้พิพากษาศาลฎีกา ในฐานะผู้ประสานงานรวบรวมรายชื่อผู้พิพากษาผู้ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึก เปิดเผยว่า ในวันที่ 13 ก.ค.นี้ เตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึก (ฉบับที่ 2) พร้อมบัญชีรายชื่อผู้พิพากษาที่ร่วมคัดค้าน จำนวน 2,079 คน ถึงนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญกรณีเพิ่มสัดส่วนคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต. ศาลยุติธรรม) จากบุคคลภายนอก และการอุทธรณ์มติ ก.ต.ศาลยุติธรรม เกี่ยวกับโทษทางวินัย
โดยเนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกระบุว่า ตามจดหมายเปิดผนึกที่อ้างถึงคณะผู้พิพากษา 1,380 คน ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกคัดค้านในประเด็นปัญหาอันเกิดจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญให้เพิ่มสัดส่วน ก.ต.ศาลยุติธรรมที่มาจากบุคคลภายนอกมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของ ก.ต.ศาลยุติธรรมที่เป็นผู้พิพากษา และการกำหนดให้ผู้พิพากษาที่ถูกลงโทษทางวินัยมีสิทธิอุทธรณ์มติ ก.ต.ศาลยุติธรรมต่อศาลฎีกา ซึ่งคณะผู้พิพากษาได้ขอให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นตัวแทนยื่นจดหมายเปิดผนึกและรายชื่อผู้คัดค้านต่อท่าน ระบุถึงเหตุผลที่คัดค้านไว้โดยละเอียดแล้วนั้น
ภายหลังจากที่ตัวแทนผู้พิพากษาแถลงข่าวการคัดค้านต่อสื่อมวลชนเมื่อวันพุธที่ 17 มิถุนายน 2558 ได้ทราบช่าวสารทางสื่อสารมวลชนว่า วันรุ่งขึ้น คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้หยิบยกประเด็นปัญหาการเพิ่มสัดส่วน ก.ต.ศาลยุติธรรมซึ่งมาจากบุคคลภายนอกขึ้นพิจารณาในที่ประชุม แล้วกรรมาธิการยกร่างฯ ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ให้คงจำนวน ก.ต.ศาลยุติธรรมที่มาจากวุฒิสภา 2 คน ไว้ตามเดิม โดยไม่เพิ่ม ก.ต.ศาลยุติธรรม ที่มาจากบุคคลภายนอก
ถัดมาอีก 1 วัน คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้หยิบยกประเด็นปัญหาข้อ 2. ที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญสรุปได้ว่า ให้ผู้พิพากษาซึ่งถูกลงโทษทางวินัยมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาขึ้นพิจารณา แล้วกรรมาธิการส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ควรให้ตัดข้อความดังกล่าวออกไปทั้งหมด แต่เห็นควรวางหลักการไว้ในร่างรัฐธรรมนูญว่า “ให้ผู้พิพากษายังคงมีสิทธิอุทธรณ์โทษทางวินัยได้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”
หากมองเพียงผิวเผินก็คล้ายกับว่า กรรมาธิการยกร่างฯได้ตอบรับข้อเรียกร้องของผู้พิพากษา 1,380 คน และข้อโต้แย้งของศาลยุติธรรม ที่ขอให้ตัดข้อความเกี่ยวกับเรื่องการให้สิทธิแก่ผู้พิพากษาอุทธรณ์การลงโทษทางวินัยต่อศาลฎีกา
จึงขอเรียนชี้แจงว่า ผู้พิพากษา 1,380 คน และศาลยุติธรรม ออกมาคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าว ก็เพราะเห็นว่า ก.ต.ศาลยุติธรรม ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนผู้พิพากษาในศาลฎีกา 6 คน ชั้นศาลอุทธรณ์ 4 คน และศาลชั้นต้น 2 คน ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากผู้พิพากษาในแต่ละชั้นศาลทั่วประเทศ และมีบุคคลภายนอก 2 คน ซึ่งมาจากการสรรหาของวุฒิสภา โดยมีประธานศาลฎีกาเป็นประธานโดยตำแหน่งนั้น ถือว่าเป็นองค์กรบริหารงานบุคคลสูงสุดของศาลยุติธรรม มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งโยกย้ายและพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้พิพากษาได้ทุกระดับชั้น
นอกจากนั้น กระบวนพิจารณาลงโทษทางวินัยแก่ผู้พิพากษา เริ่มตั้งแต่การสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า การกระทำของผู้พิพากษามีมูลความผิดหรือไม่ หากมีมูลความผิดก็จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย โดยผู้พิพากษาที่ถูกกล่าวหามีสิทธิแสดงพยานหลักฐานโต้แย้งได้เต็มที่ ต่อจากนั้นก็จะเสนอความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยไปยังคณะอนุกรรมการ ก.ต.ศาลยุติธรรม เพื่อพิจารณาและทำความเห็น แล้วเสนอต่อ ก.ต.ศาลยุติธรรม เพื่อพิจารณาลงมติว่าจะลงโทษทางวินัยแก่ผู้พิพากษาหรือไม่ สถานใด หาก ก.ต.ศาลยุติธรรม เห็นว่าพยานหลักฐานที่ได้มายังไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยก็สั่งให้สอบสวนพยานเพิ่มเติมได้
ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น กรรมการสอบสวนทางวินัย และอนุ ก.ต.ศาลยุติธรรม ล้วนแต่เป็นผู้พิพากษาทั้งสิ้น โดยคณะอนุ ก.ต. ศาลยุติธรรม เป็นผู้พิพากษาชั้นศาลละ 7 คน รวม 21 คน ส่วน ก.ต. ศาลยุติธรรม ก็ประกอบด้วยผู้พิพากษาซึ่งเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับและเป็นตัวแทนของผู้พิพากษาทั้ง 3 ชั้นศาล รวม 12 คน โดยมี ก.ต.คนนอกเข้ามาตรวจสอบและทำหน้าที่ใน ก.ต.ศาลยุติธรรม และมีประธานศาลฎีกาเป็นประธานโดยตำแหน่งร่วมพิจารณาลงมติด้วย
กระบวนการสอบสวนและลงโทษทางวินัยแก่ผู้พิพากษาจึงเป็นไปโดยรอบคอบและเป็นธรรม ยากแก่การวิ่งเต้น ไม่ว่าจะเพื่อกลั่นแกล้งหรือช่วยเหลือผู้พิพากษาที่ถูกดำเนินการทางวินัยได้ ระบบการบริหารงานบุคคลโดย ก.ต.ศาลยุติธรรม เช่นที่กล่าวมานี้ จึงเป็นหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดี โดยผู้พิพากษาไม่ต้องเกรงกลัวว่าจะถูกกลั่นแกล้งจากฝ่ายใด
ในขณะเดียวกัน ผู้พิพากษาก็ต้องประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ในระเบียบ กฎเกณฑ์และจริยธรรมอันดีงาม เพราะ ก.ต.ศาลยุติธรรม จะทำหน้าที่ในการสอดส่องดูแลความประพฤติของผู้พิพากษามิให้ออกนอกลู่นอกทางด้วย
และหากผู้พิพากษาที่ถูกลงโทษทางวินัยไม่เห็นด้วยกับ มติของ ก.ต.ศาลยุติธรรม ก็ยังมีสิทธิร้องขอให้ประธานศาลฎีกาเสนอต่อ ก.ต.ศาลยุติธรรม ให้ทบทวนมติได้อยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องให้มีการอุทธรณ์คำสั่ง ก.ต.ศาลยุติธรรม ไปยังหน่วยงานหรือองค์กรอื่นใดอีก
ดังนั้น การที่กรรมาธิการยกร่างฯ ส่วนใหญ่เห็นชอบให้กำหนดในร่างรัฐธรรมนูญเป็นหลักการไว้ว่า ผู้พิพากษาที่ถูกลงโทษทางวินัยมีสิทธิอุทธรณ์ได้ แต่ไม่มีข้อสรุปว่าจะให้ ก.ต.ศาลยุติธรรม ยังคงมีอำนาจหน้าที่เช่นเดิมหรือไม่ และจะให้ผู้ถูกลงโทษทางวินัยอุทธรณ์ไปยังที่ใดก็ไม่ได้กล่าวถึง หรือว่าจะลดบทบาท ก.ต.ศาลยุติธรรมลงให้เป็นเพียงองค์กรที่จะรับพิจารณาอุทธรณ์โทษทางวินัย โดยไม่ให้มีหน้าที่สอดส่องดูแลความประพฤติและจริยธรรมของผู้พิพากษา แล้ว ก.ต.ศาลยุติธรรมจะยังคงเป็นองค์กรที่เป็นหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาอีกต่อไปหรือไม่ และจะให้ใครมีอำนาจหน้าที่พิจารณาลงโทษทางวินัยแก่ผู้พิพากษาก็ไม่มีความชัดเจน อีกทั้งเมื่อผู้มีอำนาจพิจารณาชั้นอุทธรณ์มีคำสั่งแล้ว ผู้ถูกลงโทษทางวินัยจะมีสิทธิฟ้องต่อศาลปกครอง อันเป็นการให้อำนาจศาลปกครองเข้ามาแทรกแซงศาลยุติธรรมหรือไม่ ก็ล้วนเป็นการก่อปัญหาความขัดแย้งในชั้นออกกฎหมายลูกทั้งสิ้น
ในเมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ยินยอมตัดข้อความในร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ออกไปทั้งหมดนั้น ก็เท่ากับเป็นการยอมรับว่ารูปแบบที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ต้องการให้ผู้พิพากษาที่ถูกลงโทษทางวินัยมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลฎีกานั้นไม่เหมาะสม เพราะจะทำให้ระบบการบริหารงานบุคคลของศาลยุติธรรมเสียไป
ดังนั้น การที่กรรมาธิการฯ เสียงข้างมากยังคงยืนยันจะให้มีการอุทธรณ์โทษทางวินัยได้ โดยไม่มีความชัดเจนว่า การอุทธรณ์โทษทางวินัยตามที่กฎหมายบัญญัตินั้น จะเป็นรูปแบบใด และจะทำให้การบริหารงานบุคคลของศาลยุติธรรมมีประสิทธิภาพกว่าเดิมหรือไม่ จึงเป็นการสร้างปมปัญหาให้เกิดขึ้นในอนาคต และยังเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือในระบบการบริหารงานบุคคลของศาลยุติธรรม ที่มีความมั่นคงและเป็นที่ยอมรับของผู้พิพากษาและหน่วยงานอื่นมาเป็นเวลายาวนาน
หากเปรียบกรรมาธิการยกร่างฯ เป็นช่างก่อสร้างที่ได้รับมอบหมายให้ปรับปรุงบ้าน เมื่อเห็นว่าควรให้รื้อหลังคา ประตู และส่วนอื่นๆ ที่เป็นส่วนสำคัญของบ้าน (ระบบ ก.ต.ศาลยุติธรรม) ที่เขาอยู่อาศัยอย่างมีความสงบสุขมาเป็นเวลาช้านาน โดยตำหนิว่าส่วนสำคัญของบ้านดังกล่าวทำให้บ้านไม่สวย ไม่น่าอยู่ จึงออกแบบหลังคา ประตูและส่วนอื่นๆ ก่อนที่จะรื้อออกไป เมื่อเจ้าของบ้านทักท้วงว่า แบบที่จะปรับปรุงใหม่นี้จะทำให้มีปัญหาหลังคารั่ว และทำให้บ้านอับแสง จึงไม่ควรปรับปรุงแบบนั้น ก็จำนนด้วยเหตุผล แต่เมื่อช่างก่อสร้างมีความคิดจะรื้อส่วนสำคัญของบ้านหลังนี้อยู่ตั้งแต่แรก ก็ยังยืนยันว่าจะขอรื้อส่วนสำคัญของบ้านหลังนี้ออกไปก่อน ทั้งๆ ที่ไม่สามารถบอกเจ้าของบ้านได้ว่าจะปรับปรุงอย่างไรให้ดีขึ้นกว่าเดิม กรณีเช่นนี้ไม่น่าจะชอบด้วยเหตุผล
ดังเช่นที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้สร้างรูปแบบไว้ในร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นให้เพิ่มสัดส่วน ก.ต.ศาลยุติธรรม ที่มาจากบุคคลภายนอกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ซึ่งเปิดโอกาสให้นักการเมืองสามารถออกกฎหมายมาแทรกแซงศาลได้ และประเด็นการกำหนดให้มีการอุทธรณ์โทษทางวินัยต่อศาลฎีกา แต่เมื่อผู้พิพากษา 1,380 คน มีจดหมายเปิดผนึกคัดค้าน ก็จำนนด้วยเหตุผลและยินยอมตัดข้อความในร่างฯดังกล่าวออกไป
แม้ว่าศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ โดยให้ความเห็นว่าไม่ควรให้มี ก.ต.ศาลยุติธรรมคนนอกแม้แต่คนเดียว เพราะขัดต่อหลักความเป็นอิสระของศาล ก็มีกรรมาธิการยกร่างฯ บางคนออกมาแถลงต่อสื่อมวลชนว่า กรรมาธิการฯ ยินยอมที่จะไม่เพิ่ม ก.ต.ศาลยุติธรรม ที่มาจากฝ่ายการเมืองแล้ว โดยให้เหตุผลว่าการยอมตามข้อเรียกร้องของผู้พิพากษานั้น เพราะไม่กระทบถึงการปฏิรูปประเทศ และไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้น
แต่ยังไม่มีกรรมาธิการยกร่างฯ คนใดยอมรับว่า เป็นเจ้าของความคิดให้เพิ่มสัดส่วน ก.ต.ศาลยุติธรรม คนนอกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ อันเป็นการเปิดโอกาสให้นักการเมืองเข้าทำลายความเป็นอิสระของศาลยุติธรรมได้ และยังไม่มีคำอธิบายว่า แนวคิดดังกล่าวเกิดจากความผิดพลาด หรือจงใจเปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงศาล
เชื่อว่า หากคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ไม่สร้างปมปัญหาด้วยการวางหลักการไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ให้มีการอุทธรณ์โทษทางวินัย ตามที่กฎหมายบัญญัติ (ซึ่งยังไม่รู้ว่าเป็นแบบใด) เพื่อให้ ก.ต.ศาลยุติธรรม เป็นองค์กรบริหารงานบุคคลสูงสุดของศาลยุติธรรมและมีบทบาทหน้าที่ดังเดิมซึ่งมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว ก็คงมิได้เป็นการขัดขวางต่อการปฏิรูปประเทศ และจะไม่เป็นการสร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้น
อนึ่ง การที่ผู้พิพากษาจำนวนมากร่วมลงชื่อคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ประเด็นข้างต้น ก็เพราะเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นประเด็นสำคัญที่สุดในจำนวน 7 ประเด็น ที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ และแม้ประเด็นการให้สิทธิแก่ผู้พิพากษาที่จะอุทธรณ์การลงโทษทางวินัยซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้พิพากษาที่อาจถูกสอบสวนและลงโทษทางวินัยก็ตาม แต่ผู้พิพากษาทั้งหลายก็ตระหนักดีว่า การกำหนดหลักการตามร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลเสียหายแก่ส่วนรวมมากกว่า อีกทั้งยังมีลักษณะเป็นการลดทอนหรือทำลายความน่าเชื่อถือของ ก.ต.ศาลยุติธรรม และจะทำให้ระบบการบริหารงานบุคคลของศาลยุติธรรมเสียไปอีกด้วย
จึงเรียนมาเพื่อขอให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้พิจารณาทบทวนความเห็นดังกล่าวให้รอบคอบเสียก่อนที่จะลงรายละเอียดในร่างรัฐธรรมนูญ โดยกรรมาธิการยกร่างฯ อาจวางหลักการเสียใหม่ว่า “ให้ผู้ถูกลงโทษทางวินัยมีสิทธิร้องขอให้ ก.ต.ศาลยุติธรรม ทบทวนการลงโทษทางวินัยแก่ผู้พิพากษาได้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ก็จะไม่เป็นการก่อปัญหาให้เกิดความเสียหายต่อระบบการบริหารงานบุคคลของศาลยุติธรรม และเพื่อเป็นการยืนยันว่า ผู้พิพากษาทั้งหลายไม่ต้องการให้มีการเพิ่มสัดส่วน ก.ต. จากบุคคลภายนอก (แต่หากจะไม่มี ก.ต.ศาลยุติธรรม ที่มาจากบุคคลภายนอก ตามความเห็นของศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ก็จะเป็นการดี) และผู้พิพากษาทั้งหลายไม่ประสงค์จะให้มีระบบการอุทธรณ์โทษทางวินัยต่อองค์กรอื่นใด เพราะปัจจุบันผู้พิพากษาที่ถูกลงโทษทางวินัยก็มีสิทธิร้องขอให้ ก.ต.ศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นองค์กรบริหารงานบุคคลสูงสุดของศาลยุติธรรม ทบทวนมติที่ลงโทษทางวินัยได้อยู่แล้ว จึงขอส่งรายชื่อผู้พิพากษาที่ร่วมคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ประเด็นข้างต้น รวมทั้งสิ้น 2,079 คน ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาที่รับราชการอยู่ในศาลฎีกา 209 คน ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค รวม 512 คน และศาลชั้นต้นรวม 1,358 คน มาพร้อมกับจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้.