xs
xsm
sm
md
lg

"บิ๊กตู่"ชูพืชสมุนไพรแทนข้าว เผย"หมามุ่ย"แปรรูปกก.8หมื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (8ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวตอนหนึ่งในการให้โอวาทกับคณะโครงการเยาวชนไทยในสหรัฐอเมริกา เยือนแผ่นดินแม่ ตอนหนึ่งว่า วันนี้รัฐบาลได้สนับสนุนการปลูกพืชสมุนไพร ในเมื่อเราไม่สามารถปลูกข้าวได้ ก็จะให้กระทรวงสาธารณสุข เข้าไปดูแลว่า จะปลูกพืชสมุนไพรได้หรือไม่ โดยจะนำภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน
"วันนี้เราขายหมามุ่ยได้ ก.ก.ละกว่า 800 บาท และเมื่อส่งไปประเทศอินเดียแล้วมีการแปรรูปกลับมาเป็นยา เป็นอะไรต่างๆ ราคาได้กลายเป็นก.ก.ละ 8 หมื่นบาท แล้วเหตุใดเรายังโง่ปลูกอย่างอื่นที่มีกำไรเพียงพันบาท หรือไม่กี่บาท แต่เราก็ต้องควบคุม อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ข้าวของเรายังดีอยู่ ในส่วนที่เสียก็เป็นภาระของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาเป็นความคิดที่ไม่ถูกวิธี เพราะเราต้องทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง พระเจ้าอยู่หัวทรงสอนว่า ถ้าจะทำให้คนเข้มแข็ง ต้องสอนวิธีการตกปลาให้เขา แต่ไม่ใช่ให้ปลาเขาไปกิน เรากำลังสอนให้เกษตรกรมีการเรียนรู้ เข้าถึงเครื่องจักรทางการเกษตร และที่ผ่านมา รายได้มันต่ำจึงต้องกู้เงิน แล้วไร่นาก็ถูกยึด" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

**ผบ.ทบ.หนุนโครงการคนกล้าคืนถิ่น

ในวันเดียวกันนี้ ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก (ผผบ.ทบ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการคนกล้าคืนถิ่น ครั้งที่ 2 โดยพล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า โครงการคนกล้าคืนถิ่น เป็นการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นหลักเพื่อพัฒนาให้เป็นการเกษตรทฤษฎีใหม่ มาเป็นหลักให้ประชาชนที่เคยจากถิ่นฐาน กลับมาเป็นเกษตกรในบ้านของตนเอง เพราะการเกษตร เป็นอาชีพหลักของประเทศ ที่ผ่านมาคนยุคใหม่ซึ่งเป็นลูกหลานของคนในพื้นที่ เมื่อมีการศึกษาก็พยายามออกไปอยู่พื้นที่เมือง ทำให้พื้นที่ชนบทขาดการดูแลจากคนยุคใหม่ จึงได้เกิดโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อจัดอบรมให้คนรุ่นใหม่กลับเข้ามาในพื้นที่บ้านเกิด
ที่ผ่านมาได้เปิดรับสมัครตั้งแต่เดือนก.พ.58 จากนั้นเริ่มอบรมในเดือน มี.ค. ซึ่งใช้ระยะเวลา 5 วัน เพื่อให้ความรู้ และความเข้าใจในหลักทฤษฎีต่างๆ ก่อนลงไปปฏิบัติในพื้นที่ ส่วนผู้ที่เข้าร่วมโครงการรุ่นแรก มีประมาณ 700 คน ต้องช่วยกันดูแล และให้กำลังใจ โดยมีวิทยากรและปราชญ์ชาวบ้านให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง กำกับดูแล วางแผนว่าในพื้นที่ต่างๆ จะปลูกอะไรได้บ้าง จนถึงขณะนี้ สามารถปลูกพืชลงแปลงได้แล้ว เป็นระยะเวลา 2 เดือน
ทั้งนี้ จากการตรวจเยี่ยมบางพื้นที่ ยอมรับว่ามีผลสำเร็จเป็นอย่างดี ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการอยู่ได้ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเราจะติดตามผลเป็นระยะ เป็นเวลา 5 เดือน เชื่อว่าหลังจากนั้นทุกอย่างจะอยู่ตัว และจะเปิดรับสมัครคนรุ่นใหม่ต่อไป เพื่อขยายโครงการ ทำให้เกิดอาชีพทางการเกษตรที่มีความมั่นคงต่อไป
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้จะต้องอาศัยเงินทุนจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างเกษตรกรรายใหม่ที่มีความแข็งแรง และเข้มแข็ง ทำให้พื้นฐานประเทศเดินหน้าอย่างมั่นคงต่อไป ส่วนประชาชนที่ไม่มีที่ดิน ทางรัฐจะจัดสรรให้ แต่ไม่สามารถถือครองเป็นเจ้าของได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องได้รับการชี้แนะจาก สำนักงานสปก. เพื่อสำรวจประชาชนที่ต้องการของพื้นที่ทำกิน ภายใต้เงื่อนไขที่ สปก. ระบุไว้

** "ปราโมทย์"ชง 2 แนวทางปฏิรรูป

ที่รัฐสภา นายปราโมทย์ ไม้กลัด ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พร้อมด้วยนางอรพินท์ วงศ์ชุมพิศ รองประธานคณะกมธ.ปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติฯ ร่วมแถลงผลการประชุม โดยนางอรพินท์ กล่าวว่า ในส่วนของการปฏิรูประบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ยังพบปัญหาอุปสรรคที่สำคัญ เช่น ประสิทธิภาพการติดตามตรวจสอบและควบคุมการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังนั้น กมธ.จึงจัดทำข้อสรุปแนวทางการปฏิรูประบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม 3 ด้าน ดังนี้
1. การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับนโยบาย โดยเห็นควรให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (เอสอีเอ) เพื่อบูรณาการในการพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับด้านเศรษฐกิจ และสังคม
2. การจัดการระบบการประเมินผลกระทบในระดับโครงการ (อีไอเอ) โดยการเปิดเผยรายงานที่เสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการผู้ชำนาญพิจารณารายงาน (คชก.) เพื่อความโปร่งใสให้ประชาชนตรวจสอบได้
3. กระบวนการติดตามตรวจสอบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยแก้ไขกฏหมายให้เจ้าของโครงการมีหน้าที่ต้องจัดทำรายงานติดตามตรวจสอบ และกำหนดให้มีระบบการขึ้นทะเบียน
นายปราโมทย์ ไม้กลัด กล่าวถึงการปฏิรูปกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และ ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... ซึ่งกมธ.ได้ประมวลปัญหาการบริหารจัดการน้ำของประเทศได้ 3 ประเด็น ดังนี้
1. นโยบายของรัฐบาลในแต่ละสมัยยังขาดความชัดเจน โดยเฉพาะประชาชนลุ่มน้ำไม่มีแผนแม่บท และไม่มีมาตราการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่เป็นรูปธรรม
2. หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่แก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ กระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆ มีการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อน
3. ไม่มีกฎหมายแม่บทการบริหารจัดการน้ำของประเทศ แม้จะมีกฎระเบียบ ที่เกี่ยวข้องแต่ก็มีวัตถุประสงค์ในการบังคับใช้ต่างกัน ทำให้การบังคับใช้ไม่มีประสิทธิภาพ
ดังนั้น กมธ.จึงพิจารณาเสนอแนวทางกลไลในการปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำครอบคลุมการปฏิรูปทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ การพิจารณาปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน การผลักดันกฎหมายแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การปรับปรุงกฎ ระเบียบ ที่มีอยู่แล้ว การจัดทำยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการจัดการข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาคประชาชน นอกจากนี้ ยังเสนอ ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่ง สปช. มีมติเห็นชอบให้ส่งคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น