xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ปฏิรูปทรัพยากรฯ ชง แนวทางปฏิรูปการประเมินอีไอเอ - รื้อ กม.จัดการน้ำใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กมธ. ปฏิรูปทรัพยากรฯ เผย พบปัญหาปฏิรูปการประเมินอีไอเอ แนะ 3 แนวทาง ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับนโยบาย ให้รายงานเพื่อโปร่งใส แก้ให้เจ้าของโครงการทำรายงานติดตามตรวจสอบ พร้อมยก 3 ประเด็นปัญหาบริหารน้ำ นโยบายแต่ละ รบ. ไม่ชัด หน่วยงานซ้ำซ้อน ไร้ กม. แม่บท ก่อนแนะแนวทางปฏิรูป รื้อ กม. จัดการน้ำใหม่

วันนี้ (8 ก.ค.) ที่รัฐสภา นายปราโมทย์ ไม้กลัด ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พร้อมด้วย นางอรพินท์ วงศ์ชุมพิศ รองประธานคณะ กมธ. ปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติฯ ร่วมแถลงผลการประชุม โดย นางอรพินท์ กล่าวว่า ในส่วนของการปฏิรูประบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ยังพบปัญหาอุปสรรคที่สำคัญ เช่น ประสิทธิภาพการติดตามตรวจสอบและควบคุมการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังนั้น กมธ. จึงจัดทำข้อสรุปแนวทางการปฏิรูประบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม 3 ด้าน ดังนี้ 1. การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับนโยบาย โดยเห็นควรให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (เอสอีเอ) เพื่อบูรณาการในการพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับด้านเศรษฐกิจและสังคม 2. การจัดการระบบการประเมินผลกระทบในระดับโครงการ (อีไอเอ) โดยการเปิดเผยรายงานที่เสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ คณะกรรมการผู้ชำนาญพิจารณารายงาน (คชก.) เพื่อความโปร่งใสให้ประชาชนตรวจสอบได้ และ 3. กระบวนการติดตามตรวจสอบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยแก้ไขกฎหมายให้เจ้าของโครงการมีหน้าที่ต้องจัดทำรายงานติดตามตรวจสอบ และกำหนดให้มีระบบการขึ้นทะเบียน

ด้าน นายปราโมทย์ กล่าวถึงการปฏิรูปกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และ ร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พ.ศ. .. ซึ่ง กมธ. ได้ประมวลปัญหาการบริหารจัดการน้ำของประเทศได้ 3 ประเด็น ดังนี้ 1. นโยบายของรัฐบาลในแต่ละสมัยยังขาดความชัดเจน โดยเฉพาะประชาชนลุ่มน้ำไม่มีแผนแม่บท และไม่มีมาตรการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่เป็นรูปธรรม 2. หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่แก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ กระจายอยู่ตามกระทรวงต่าง ๆ มีการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อน และ 3. ไม่มีกฎหมายแม่บทการบริหารจัดการน้ำของประเทศ แม้จะมีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องแต่ก็มีวัตถุประสงค์ในการบังคับใช้ต่างกัน ทำให้การบังคับใช้ไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น กมธ. จึงพิจารณาเสนอแนวทางกลไกในการปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำคลอบคลุมการปฏิรูปทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ การพิจารณาปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน การผลักดันกฎหมายแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การปรับปรุงกฎระเบียบที่มีอยู่แล้ว การจัดทำยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการจัดการข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาคประชาชน นอกจากนี้ ยังเสนอร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่ง สปช. มีมติเห็นชอบให้ส่งคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น