xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ตามดูหลักการ พ.ร.บ.ล้มละลาย...ช่วยใครบ้าง ในยุครัฐบาล คสช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สัปดาห์ที่แล้ว คณะรัฐมนตรี ที่สัญจรไปถึง จ.เชียงใหม่ อนุมัติหลักการ “ร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....(การฟื้นฟูกิจการ)” ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ต่อไป

"ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มุ่งในการฟื้นฟูกิจการให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ช่วยให้สามารถกลับมาฟื้นฟูกิจการได้ ไม่ต้องอยู่ในสถานะล้มละลาย แต่สิ่งสำคัญคือ SMEs ต้องไปขึ้นทะเบียนกับ สสว.จึงจะใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ โดยมูลหนี้ไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท และหากเป็นบริษัทจำกัด วงเงินต้องไม่เกิน 10 ล้านบาท"

โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ประกอบด้วย 1. กำหนดให้เพิ่มหมวด 3/2 กระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

2. กำหนดนิยาม "ลูกหนี้" ให้หมายความถึงลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

3. การขอและการให้ฟื้นฟูกิจการ กำหนดบุคคลซึ่งมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ฟื้นฟูกิจการ ได้แก่ 1) เจ้าหนี้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการซึ่งอาจเป็นคนเดียวหรือหลายคนรวมกัน และมีจำนวนหนี้แน่นอน ไม่น้อยกว่าสามล้านบาท เว้นแต่ลูกหนี้ที่เป็นบริษัทจำกัดต้องมีจำนวนหนี้ไม่ถึงสิบล้านบาท และ 2) ลูกหนี้ไม่อยู่ในสถานะที่จะชำระหนี้ได้ และเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการ

4. คำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน กำหนดแผนฟื้นฟูให้มีรายการอย่างน้อยประกอบ ไปด้วย เหตุผลที่ทำให้มีการฟื้นฟูกิจการ รายละเอียดแห่งสินทรัพย์ หนี้สิน และภาระผูกพันต่าง ๆ ของลูกหนี้ หลักการและวิธีการฟื้นฟูกิจการ รวมถึงแนวทางแก้ปัญหาในกรณีขาดสภาพคล่องชั่วคราวระหว่างการปฏิบัติตาม แผน เป็นต้น เมื่อศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน ให้ศาลแจ้งคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบและดำเนินการโฆษณาคำสั่งฯ ในราชกิจจานุเบกษาและหนังสือพิมพ์รายวัน และแจ้งคำสั่งไปยังนายทะเบียนให้ทราบด้วย

5. การขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ กำหนดให้เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้พร้อมสำเนาต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งสำเนาคำขอรับชำระหนี้ให้ผู้บริหารกิจการโดยไม่ชักช้า และขอรับชำระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้

6. คำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ กำหนดให้ภายในเจ็ดวันนับแต่ที่ได้ทราบ คำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน ให้ลูกหนี้ยื่นคำชี้แจงฯ โดยต้องแสดงรายการ เช่น กิจการของลูกหนี้ สินทรัพย์ หนี้สิน และภาระผูกพันต่าง ๆ ที่ลูกหนี้มีต่อบุคคลภายนอก รวมถึงข้อมูลอื่นตามที่ผู้บริหารกิจการเห็นสมควรให้แจ้งเพิ่มเติม เป็นต้น

7. การเพิกถอนนิติกรรมที่ได้กระทำไปแล้ว กำหนดการเพิกถอนนิติกรรมที่ได้กระทำไปแล้ว โดยข้อสันนิษฐานการกระทำของลูกหนี้และผู้ได้ลาภงอกที่ถือว่าเป็นการกระทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ

8. การดำเนินการภายหลังศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ กำหนดให้แผนฟื้นฟูกิจการซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว ผูกมัดเจ้าหนี้ ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้และเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ หากมูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม

9. กำหนดให้คำสั่งศาลที่ให้ยกคำร้องขอ ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน และยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ไม่กระทบถึงการใดที่ผู้บริหารกิจการหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กระทำไปแล้วก่อนศาล มีคำสั่งเช่นว่านั้น

10. กำหนดบทกำหนดโทษว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เกี่ยวกับการกระทำของเจ้าหนี้ ลูกหนี้ ผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ ผู้บริหารกิจการและผู้บริหารลูกหนี้ที่กระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัตินี้

ถือเป็น "เป็นกฎหมายอีกฉบับ ที่รัฐบาลมีนโยบายช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งพ.ร.บ.มีการกำหนดรายละเอียดทุกขั้นตอน"

หรือเมื่อเร็วๆนี้ ที่ ครม. ยังได้เห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ... ที้เป็นการปรับปรุงกระบวนการบังคับคดีล้มละลายให้มีขั้นตอน กระบวนการสั้นขึ้น มีความชัดเจน ทันสมัย กฎหมายฉบับนี้เป็นสิ่งที่องค์การการค้าโลกเรียกร้อง ถ้าเราออกกฎหมายฉบับนี้ได้ การจัดอันดับความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมทางการเงินจะดีขึ้น

เนื่องจากบทบัญญัติบางมาตราของ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน โดยเฉพาะหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ ขั้นตอนในการดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นการขอรับชำระหนี้ รูปแบบในการขอประนอมหนี้ และบทกำหนดโทษของลูกหนี้ เป็นเหตุให้กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายล่าช้า ไม่คุ้มครองสิทธิของบรรดาเจ้าหนี้และลูกหนี้ ประกอบกับคดีล้มละลายเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคดีแพ่งโดยทั่วไป และผลของคดีล้มละลายจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยส่วนรวม

จึงสมควรปรับปรุง พ.ร.บ.ล้มละลายฯ เพื่อปรับปรุงกระบวนการบังคับคดีล้มละลายของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพ ลดขั้นตอนกระบวนการล้มละลายในชั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โดยให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พิจารณามีคำสั่งอนุญาตคำขอรับชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องเสนอศาล ซึ่งเป็นหลักการเช่นเดียวกับคดีฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ อันจะทำให้เกิดความรวดเร็วในกระบวนการล้มละลายในชั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพิ่มเติมขั้นตอนในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้

เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิในมูลหนี้ของเจ้าหนี้ที่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ ปรับปรุงสิทธิลูกหนี้ร่วมและผู้ค้ำประกันในการได้รับชำระหนี้โดยการรับช่วงสิทธิ ตลอดจนปรับปรุงการยื่นคำขอประนอมหนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งปรับเปลี่ยนโทษปรับทางอาญาให้เหมาะสม เพื่อให้กระบวนการพิจารณาคดีล้มละลายมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง เป็นธรรม และรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยแล้ว

สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้แก่ กำหนดเงื่อนไขในการนับคะแนนเสียงของเจ้าหนี้ และการเป็นกรรมการเจ้าหนี้ที่พนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังไม่ได้สั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้, กำหนดเงื่อนไขคำขอประนอมหนี้ โดยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับลำดับการชำระหนี้ จำนวนเงินที่ขอประนอมหนี้ ความสามารถในการปฏิบัติตามคำขอประนอมหนี้ กำหนดเวลาชำระหนี้ การจัดการกับทรัพย์หลักประกัน และผู้ค้ำประกันด้วย

กำหนดให้การขอรับชำระหนี้ต้องยื่นคำขอภายในระยะเวลา และมีบัญชีแสดงรายละเอียดแห่งหนี้สินและหลักฐานประกอบหนี้และทรัพย์สิน ตลอดจนเอกสารที่แสดงว่าหนี้นั้นมีมูลตามที่กำหนด, กำหนดให้ศาลมีคำสั่งรับคำขอชำระหนี้ของเจ้าหนี้ที่มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด เมื่อศาลเห็นว่าหนี้นั้นมีมูล และมีเหตุจำเป็นสมควร โดยให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินที่มีอยู่ภายหลังการแบ่งทรัพย์สินก่อนเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้,

กำหนดให้ลูกหนี้ร่วมคนอื่นอาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ของลูกหนี้ร่วมที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์ได้ หรือหากได้ชำระหนี้แทนลูกหนี้ให้ถือว่าลูกหนี้ร่วมที่ชำระหนี้แทนเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้, กำหนดให้เจ้าหนี้หรือลูกหนี้อาจขอตรวจหรือโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดสี่สิบวัน นับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ แต่หากมีเหตุผลพิเศษ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจขยายระยะเวลาดังกล่าวได้, กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้ได้ แต่หากมีข้อโต้แย้ง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กำหนด และให้มีอำนาจคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ หรือลดจำนวนหนี้ หากคำสั่งให้รับชำระหนี้เป็นการสั่งไปโดยหลงผิด และกำหนดบทกำหนดโทษเกี่ยวกับการฝ่าฝืน การละเว้น กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่มีเจตนาฉ้อฉล ยักย้าย ซุกซ่อน หรือหลบซ่อนตัว เป็นต้น.

เมื่อคราวการ ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ประชุมได้ผ่าน ร่างพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ... ฉบับนี้ โดยมีมติ เอกฉันท์ 167 เสียง โดยร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีหลักการสำคัญคือ การปรับลดขั้นตอนการพิจารณาคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอรับชำระหนี้ เพื่อให้การพิจารณาคำขอรับชำระหนี้มีความรวดเร็วขึ้น

“นายวรพล โสคติยานุรักษ์” สมาชิกสนช.ในฐานประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ล้มละลาย ระบุว่า ธนาคารโลกได้มีตัวชี้วัดและจัดลำดับในเรื่องความยากง่ายของการประกอบธุรกิจ จำนวน 10 ตัวชี้วัด หนึ่งในนั้น คือ ปัญหาล้มละลาย โดยธนาคารโลกจะมีการจัดอันดับในรอบปีในระหว่างวันที่ 1 มิ.ย.2557 - 1มิ.ย.2558 ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อประเทศไทย หากสามารถแก้ไขปรับปรุงกฎหมายล้มละลาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดอันดับของธนาคารโลกให้ทันในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ จะทำให้อันดับของประเทศไทยในด้านดังกล่าวดีขึ้น มีผลสำคัญต่อความเชื่อมั่นของประชาคมโลกต่อประเทศไทยในระบบกฎหมายว่าด้วย เรื่องการล้มละลาย จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและของประเทศโดยรวม และมีส่วนช่วยต่อการประเมินพิจารณาจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย .

เป็น ร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ที่เน้นการฟื้นฟูกิจการธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเพื่อปรับปรุงกระบวนการบังคับคดีล้มละลายให้มีขั้นตอน กระบวนการสั้นขึ้น มีความชัดเจน ทันสมัย ซึ่งรัฐบาล คสช. ผลักดันสำเร็จ


กำลังโหลดความคิดเห็น