xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ทำไมต้อง “วิรไท สันติประภพ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิรไท สันติประภพ
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ด้วยวัยแค่ 45 ปี ทำให้ วิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษา ทีดีอาร์ไอ ดอกเตอร์ทางเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ตัวเต็ง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(แบงก์ชาติ) คนใหม่ และคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ไม่เกินต้นเดือนหน้า ถูกปรามาสว่าบารมีไม่ถึง แม้จะเคยทำงานเป็นเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) แล้วถูกกระทรวงกานคลังยืมตัวกลับมาช่วยงานประเทศไทยหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง รวมถึงเคยเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์และรองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ตาม

แปลไทยเป็นไทยคือ ดร.วิรไทอายุยังน้อยหรือใช้ภาษาบ้านๆ ก็คือ ยัง “เด็ก” เกินไป

ถ้าจะว่าไปแล้ว “ดร.ก็” หรือ ดร.วิรไทนั้น หากนำไปเปรียบเทียบคู่แข่งขันออกจะเป็นรองเสียด้วยซ้ำ ไป แม้จะผ่านงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดดเด่นเศรษฐกิจมหภาคและ ต่างประเทศ แต่ก็ไม่เคยสัมผัสเก้าอี้ระดับสูงสุดในองค์กร เมื่อเปรียบเทียบกับคู่ชิงอย่าง ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการสายวิจัย จาก บล.ภัทร หรือ แม้แต่คนในอย่าง ทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าแบงก์ชาติ ที่ตกรอบไปแล้ว

ไม่เพียงตามหน้าสื่อ การออกข่าวบ่อย ทั้งศุภวุฒิกับทองอุไรมีตำแหน่งระดับสูงในองค์กรและคลุกคลีกับเศรษฐกิจไทยมายาวนาน

แต่ทั้งคู่มีข้อด้อย

ทองอุไรเป็นคนแข็งและดื้อ

ส่วนศุภวุฒิเข้าได้กับ ทุกกลุ่มการเมือง โดยเฉพาะช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ขณะที่เมื่อไปดูวิสัยทัศน์นโยบายการเงินหากได้นั่งเก้าอี้ผู้ว่าแบงก์ชาติ ดร.วิรไทให้ความสำคัญกับกรอบเงินเฟ้อ ปริมาณเงินกับการสนับสนุนเศรษฐกิจ ส่วนศุภวุฒิเน้นเครื่องมือไปที่ค่าเงิน อัตราแลกเปลี่ยน

แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลทั้งหมด เพราะเหตุผลสำคัญที่สุดก็คือ ดร.วิรไทยมีแบ็กหรือผู้สนับสนุนให้ไปสมัครชิงตำแหน่งในยุคที่เมืองไทยมีรัฐบาลพิเศษ ซึ่งช่วยเติมเต็มให้ ดร.วิรไท “นอนมา” ในผู้ว่าแบงก์ชาติคนที่ 20 ของประเทศแบบทิ้งคู่ต่อสู้ชนิดไม่เห็นฝุ่น

สำหรับรูปแบบการใช้ชีวิตนั้น ก็ต้องบอกว่า แม้ ดร.วิรไทจะทำงานอยู่ในแวดวงธุรกิจผูกเนกไทใส่สูท แต่เขาชอบประวัติศาสตร์ เที่ยวชมศิลปะและพิพิธภัณฑ์

ดร.วิรไทเคยให้สัมภาษณ์ถึงสไตล์การทำงานว่า เขาจะทำงานให้เต็มที่ ไม่มีวันหยุด แต่เมื่อถึงเวลาพัก จะหยุดไปเที่ยวหลายวัน เที่ยวปีละหลายครั้ง

โชคร้าย ในความโชคดี

อย่างไรก็ตาม ถามว่า การได้เข้ามานั่งเก้าอี้ผู้ว่าแบงก์ชาติของ ดร.วิรไทนั้น มีภารกิจอะไรรออยู่เบื้องหน้า

ก็ต้องบอกว่า สารพัดสารพัน และแต่ละเรื่องล้วนแล้วแต่หนักหนาสาหัสทั้งสิ้น

วันนี้เศรษฐกิจประเทศไทยลูกผีลูกคน ส่งออกติดลบ การบริโภคชะลอ จะเจ๊งหรือรอดไม่ได้ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลก แต่ขึ้นอยู่กับการทำงานของคณะรัฐบาลและข้าราชการในหน่วยงานรัฐ รวมถึงแบงก์ชาติ

ด้วยเหตุดังกล่าว หาก ดร.วิรไท ได้เป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ ถ้าใช้คำว่า “เป็นทุกขลาภ” ก็ไม่ ผิดไปจากความจริงเท่าใดนัก เพราะเมื่อลองไปดูตัวเลขสำคัญที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ณ วันที่ 12 มิ.ย.58 ก็จะพบว่า หืดขึ้นคอ ไม่ว่าจะเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศซึ่งอยู่ที่ 1.609 แสนล้านดอลลาร์ หรือหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ณ เดือน มี.ค.58 ซึ่งอยู่ที่ 43.3%

จริงอยู่กรอบความยั่งยืนทางการคลังกำหนดหนี้สาธารณะไว้ไม่เกิน 60% แต่หากนับจริงหนี้สาธารณะคงไม่ใช่ 43.3% เพราะมีการผ่องถ่ายด้วยการโอนหนี้รัฐไปให้แบงก์รัฐ เพื่อให้ตัวเลขหนี้สาธารณะต่ำ อาทิ หนี้ในโครงการรับจำนำข้าว ประกันราคาพืช ผล หนี้ค้างจ่ายเงิน สมทบกองทุนประกันสังคมและรัฐวิสาหกิจ เป็นตัวเลขที่ต้องจับตาว่าสุดท้ายแบงก์รัฐจะเสียหายถึงขนาดไหน ยิ่งภัย แล้งกำลังวิกฤต น้ำแห้งขอดส่งผลต่อผลิตผลทางการเกษตร รายได้หลักของคนไทยในต่างจังหวัด

ปี 2558 นอกจากการส่งออกที่แน่นอนแล้วว่าติดลบ การที่ไทยพึ่งพาการส่งออก 60-70% ของรายได้ ขณะที่ดัชนีสำคัญภาย ในและมีปัญหาสะสมมากขึ้นก็คือหนี้ภาคครัวเรือน มีสัดส่วนต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2557 อยู่ที่ 80% นับว่าสูงเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านที่ต่ำกว่า ยกเว้น มาเลเซีย หมิ่นเหม่ต่อการล่มสลายทางเศรษฐกิจ เพราะครัวเรือนหมายถึงฐานรากของเศรษฐกิจ แน่นอนเสี่ยงต่อการถูกลดอันดับ ความน่าเชื่อถือของประเทศ

ฟิทช์เรตติ้งส์ส่งสัญญาณเตือนเมื่อกลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังพบว่าระดับของหนี้ภาคครัวเรือนของไทยแตะระดับ 86%เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ไม่ควรประมาท...

ลดดอกเบี้ย เผือกร้อนเศรษฐกิจ

นอกจากนี้โจทย์เร่งด่วนที่ผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ต้องให้ความสำคัญ อย่างน้อยเพื่อพยุงเศรษฐกิจไทยก็คือการทำอย่างไรก็ได้จะกด ดันหรือจะขอความร่วมมือให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดดอกเบี้ยลงมา เพื่อชะลอความร้อนระอุของปัญหาหนี้ครัวเรือน ในภาวะที่เงินเฟ้อต่ำมากใน ขณะนี้

ต้องไม่ลืมว่าปีนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประชุมลดดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 2 ครั้ง ก่อนที่ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 58 กนง.ตัดสินใจคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5.% เพราะต้องรอดูผลจากการลดดอกเบี้ยสองครั้งก่อนหน้า หมายความว่าตั้งแต่ กนง.ปรับ ลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้ง ธนาคารพาณิชย์ไม่ลดดอกเบี้ยตาม เดือดร้อนถึง ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าแบงก์ชาติที่กำลังจะเกษียณในเดือนกันยายนนี้ ต้องนัดรับประทานอาหารเพื่อขอร้องให้นายธนาคารช่วยกันลดดอกเบี้ย แต่ก็ไม่ได้ผลอีก

ความมั่งคั่งของแบงก์มาจากส่วนต่างดอกเบี้ยที่ไม่รวมค่าบริการและค่าธรรมเนียม รับฝากดอกเบี้ยถูกแต่ปล่อยสินเชื่อ ดอกเบี้ยแพง นอนกินจนกำไรสูงกว่าค่าเฉลี่ยบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่นายแบงก์ให้เหตุผลในการไม่ลดดอกเบี้ยว่าเพราะ ต้องกันสำรองตามเกณฑ์ หากจะให้ลดดอกเบี้ยแบงก์ชาติน่าจะลดหย่อนเกณฑ์การกันสำรอง ทั้งๆ ที่คนละเรื่อง และแบงก์ชาติทำถูกแล้ว

ท่ามกลางซากปรักหักพังของเศรษฐกิจไทยล่มสลายเมื่อปี 2540 ธนาคารพาณิชย์เจ๊ง คนไทยในนามรัฐบาลต้อง ใช้เงินภาษีไปอุ้มธนาคารพาณิชย์ จนป่านนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ยังใช้หนี้กันไม่หมด วันนี้ธนาคารฟื้นจากห้องไอซียูกลับมาเป็นเสืออีกครั้ง ไม่ เพียงแต่รอดตาย วันนี้เสือกลับมาอ้วนพีแข็งแรงกว่าเดิม เป็นที่ภูมิใจว่าสถาบันจัดอันดับเครดิตจัดให้สถาบันการเงินของไทยในระดับแข็งแกร่ง มีฐานะมั่นคงกว่าเศรษฐกิจด้วยซ้ำ

ดอกเบี้ยนโยบายลดได้อีก 50 สตางค์เป็นอย่างน้อย ยกเว้นนายแบงก์ที่กลัวขาดทุนกำไร ทุกฝ่ายได้ประโยชน์โดยเฉพาะหนี้รายย่อย ช่วยกระตุ้นบริโภคช่วยส่งออกให้แข่งขันได้ดีขึ้น อย่าลืมถ้าเศรษฐกิจ เจ๊งแบงก์อยู่ไม่ได้ เศรษฐกิจฟื้นแบงก์จะมีกำไรมากขึ้น ถ้าไม่รีบทำ สถาบันจัดอันดับเครดิตอาจลดเครดิตเพราะไทยเผชิญหนี้ภาคครัว เรือนที่สูง สุดท้ายแบงก์ก็หนีไม่พ้น ถูกปรับลดเครดิต

ที่ผ่านมาทั้ง รัฐมนตรีคลัง รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ดูเหมือนยืนอยู่ข้างผลประโยชน์ของนายแบงก์ ชั่วโมงวิกฤตในวันนี้ ก็ต้องฝากความหวังไว้กับ ดร.ก็-วิรไท สันติประภพ ว่าที่ผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ ภาวะในขณะนี้ ว่าที่ผู้ว่าฯ ต้องสลัดความถนัดทางด้านเศรษฐกิจโลกมาเน้นปัญหาเฉพาะของไทยว่าอยู่ตรงไหน แนวทางไหนควรจะทำต้องรีบทำแม้จะเป็นยาแรง อย่างจีนที่ลดดอกเบี้ย 3 ครั้งติดต่อกันเพื่อเอาประเทศให้รอด...

ถ้าไม่มีเรื่องพลิกล็อก ตั้งแต่เดือนหน้า ดร.วิรไทไม่ใช่แค่กรรมการในซุปเปอร์บอร์ด ไม่ใช่แค่ทีมงาน สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และไม่ใช่แค่ทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจนายกฯ อีกต่อไป แต่ ดร.วิรไท คือผู้ว่าแบงก์ชาติ องค์กรซึ่งประเทศนี้ยังให้อิสระในการทำงาน ในทางที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ชาติ

อย่ารอช้า และอย่าลาพักร้อนบ่อย!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น