ชาวบ้าน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อง บก.ป. ถูก 2 ผัวเมียตุ๋นเงินทางการเกษตร
วันนี้ (26 มิ.ย.) ที่ กองปราบปราม เมื่อเวลา 11.00 น. นายวัชรพันธุ์ จันทรขจร เลขาธิการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พร้อมด้วยชาวบ้านจากพื้นที่ จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส กว่า 10 ราย เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.ประเสริฐ พัฒนาดี รอง ผบก.ป. พ.ต.อ.บุญเลิศ กัลยาณมิตร พนักงานสอบสวน กก.6 บก.ป. เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับ นายเติม แก้วละเอียด และ นางละออ แก้วละเอียด สองสามีภรรยา ซึ่งเป็นเลขานุการกลุ่มพัฒนาบางโกระ หลังจากทั้งสองร่วมกันหลอกลวงชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรให้เข้าร่วมโครงการต่างๆ ที่อ้างว่าดำเนินการโดยกองทุนฯ จนเกิดความเสียหาย โดยนำเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง มอบให้พนักงานสอบสวนไว้เป็นหลักฐาน
นายวัชรพันธุ์ กล่าวว่า หลังจากที่ตนได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เข้าตรวจสอบการดำเนินโครงการต่างๆ ของกองทุน เมื่อได้ที่ลงพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็พบความผิดปกติของการจัดทำโครงการจากบุคคลทั้งสอง ซึ่งเป็นผู้สมัครกรรมการกองทุนฯ มีการชักชวนชาวบ้านที่เป็นสมาชิกองค์กรเกษตรกรรม ว่า หากเข้าร่วมโครงการโดยสมัครเป็นสมาชิกแล้ว จะสามารถนำหนี้สินที่มีอยู่เข้ากองทุนฯ ซึ่งเป็นการซื้อหนี้สินของเกษตรกรไปบริหาร แต่ผู้ที่สนใจจะต้องเสียเงินค่าสมัครสมาชิกรายละ 1,500 บาท จนมีผู้หลงเชื่อสมัครสมาชิกแล้วกว่า 3,000 - 5,000 ราย สร้างความเสียหายเป็นจำนวนมาก
นายวัชรพันธุ์ กล่าวต่อว่า สำหรับกองทุนฯ นั้น ดำเนินการตาม พ.ร.บ. ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีกรรมการเป็น รองนายกฯ รมต. ปลัดกระทรวงเกษตรฯ รวมทั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นอกนั้นก็จะมีผู้แทนเกษตรกรอีกกว่า 20 คน ที่จะได้รับการเลือกตั้งให้เป็นกรรมการ ซึ่งผู้สมัครในพื้นที่ จ.ปัตตานี
มีการจัดทำโครงการโดยอ้างกองทุนฯ และเรียกเก็บเงินจากชาวบ้านมาประมาณ 3 - 4 ปีแล้ว ที่ผ่านมายังไม่มีการตรวจสอบเนื่องจากยังไม่มีการร้องเรียน
จนกระทั่งมีการร้องเรียนว่ามีเรื่องการเรียกซื้อหนี้จากเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน โดยมีการเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราถูกจึงทำให้มีชาวบ้านหลงเชื่อ
“ก่อนอื่นชาวบ้านต้องมาสมัครสมาชิกในรูปขององค์กร เช่น องค์กรเกษตรกรปานาเระ หลังจากนั้น สมาชิกกองทุนฯ ก็จะแจ้งว่า มีหนี้กับสหกรณ์ กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวนเท่านี้ แล้วกองทุนพิจารณาแล้วเห็นควรจะซื้อหนี้ เราก็จะไปเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอซื้อหนี้มาบริหาร การตกลงจะมีรายละเอียด เช่น จะต้องมีหลักทรัพย์ เมื่อมาบริหารชาวบ้านก็จะมาเช่าซื้อกับเรา หลังจากนั้นก็จะมีช่วงเวลาของการผ่อนชำระ เช่น ปีหนึ่งครั้งเดียว ซึ่งอาจจะกินเวลา 10 ปี ไม่เกิน 20 ปี ชาวบ้านก็ยังสามารถทำมาหากินได้ แต่กรรมสิทธิ์ที่ดิน เราเป็นผู้ดูแล” นายวัชรพันธุ์ กล่าว
เลขาธิการกองทุนฯ กล่าวอีกว่า กองทุนฯ มีเงินจากรัฐบาลจัดสรรให้ปีละประมาณ 1,800 ล้านบาท แต่ขณะนี้มีผู้ที่ต้องการให้เราซื้อหนี้ไว้ทั้งหมดประมาณ 30,000 ราย มีการใช้เงินไปแล้วกว่า 5,800 ล้านบาท ส่วนสมาชิกที่เข้าร่วมมีหนี้สินตั้งแต่หลักหมื่นถึงไม่เกิน 2.5 ล้านบาท ซึ่งการชักชวนให้ชาวบ้านเข้าร่วมโครงการ โดยมีการเรียกเก็บเงินค่าสมัครดังกล่าวนั้น เข้าข่ายความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนซึ่งขณะนี้คงต้องตรวจสอบและรวบรวมผู้เสียหายเพื่อให้ได้ตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้น
ด้าน พ.ต.อ.ประเสริฐ กล่าวว่า ได้มอบหมายให้พนักงานสอบสวน กก.6 บก.ป. เจ้าของพื้นที่รับผิดชอบได้รับเรื่องและสอบปากคำผู้ร้องไว้ก่อนจะนำเรื่องเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาต่อไป