xs
xsm
sm
md
lg

บวรศักดิ์วอนสปช.รับร่างรธน. อย่าหวังขนม200ชิ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ (24 มิ.ย.) ที่โรงแรม รามาการ์เด้นส์ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นประธานในโครงการสัมมนาเรื่อง"สานใจปฏิรูป สภาปฏิรูปแห่งชาติ" โดยการประชุมดังกล่าว เพื่อให้สมาชิก สปช. ได้รับฟังผลการดำเนินการที่ผ่านมา พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มุมมองร่วมกัน ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานตามภารกิจหน้าที่ของ สปช. เกิดเอกภาพ และประสิทธิภาพสูงสุด
การจัดงานในครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิก สปช. ได้เปิดใจ แสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ของการปฏิรูป โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟัง โดยเป็นการหารือต่อเนื่องจากการปิดห้องประชุมเป็นการภายในของสมาชิก สปช. ต่อเนื่องจากการประชุมที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมได้มีการแบ่งกลุ่มย่อยตามภารกิจการปฏิรูป 18 คณะกรรมาธิการฯ เพื่อให้ได้ข้อสรุปใน 7 ประเด็น คือ 1. ปฏิรูปกลไกภาครัฐ การบริหารราชการแผ่นดิน 2. ปฏิรูปการปกคครองในระบอบประชาธิปไตย ที่เหมาะสมกับสังคมไทย 3. ปฏิรูปการมีกฎหมายและใช้กฎหมายอย่างเป็น ธรรม 4. ปฏิรูประบบเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม 5. ปฏิรูปกลไกป้องกันและขจัดการทุจริตคอร์รัปชัน 6. ปฏิรูประบบรองรับอนาคตประเทศไทย และ 7. ปฏิรูปเพื่อสร้างคนไทยใหม่
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้กล่าวเปิดใจตอนหนึ่งว่า ต้องยอมรับว่า ไม่ทราบมาก่อนว่าวาระการทำงานของ สปช. จะหมดลงเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงเร่งทำงานให้แล้วเสร็จ เพื่อส่งมอบให้รัฐบาลก่อนที่จะรับร่างรัฐธรรมนูญมาจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งถึงตอนนี้ถือว่าการทำหน้าที่ของ สปช. สมบูรณ์แบบ ตามแผนงานที่วางไว้ ซึ่งสมาชิกทุกคนควรภาคภูมิใจในการทำหน้าที่ครั้งนี้
สำหรับเอกสารที่จะส่งถึง ครม. จะเป็นเรื่องแผนปฏิรูปทั้งหมด 37 ประเด็น พร้อมกับวิสัยทัศน์อนาคตประเทศไทย โดยใน 37 ประเด็น จะมี 7 ประเด็นหลักที่จะเน้นให้รัฐบาล และครม.นำไปขับเคลื่อนต่อ เพื่อให้การบริหารประเทศเป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของการลดความเลื่อมล้ำ การใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม รวมถึงการป้องกันการทุจริต คอร์รัปชัน และรัฐบาลทุกรัฐบาลต่อจากนี้ จะต้องใช้แผนปฏิรูปนี้เป็นฐานสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดินต่อไป
" นับจากนี้ สมาชิกสปช. จะเหลือเวลาการทำงาน 74 วัน ซึ่งในช่วงเวลาที่เหลือ อยากให้สมาชิกทุกคนงดการแสดงความเห็นส่วนตัว แต่ให้ตั้งคณะขึ้นมาเป็นตัวแทน เพื่อแถลงผลงานการปฏิรูปออกมาในทิศทางเดียวกัน เพื่อลดความสับสนของสังคม ต่อการทำหน้าที่ของสปช. รวมทั้งเพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานของ สปช. ให้ชัดเจน หลังมีเสียงวิจารณ์เกิดขึ้นมาก ว่าสปช. ชุดนี้ทำงานไม่เป็นรูปธรรม" นายเทียนฉาย กล่าว

**"บวรศักดิ์"วอนสปช.ผ่านร่างรธน.

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานสภาปฏิรูปห่งชาติ คนที่ 1 ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ขึ้นพูดความในใจประมาณ 20 นาที โดยทันทีที่ขึ้นพูด นายบวรศักดิ์ ได้บอกว่า นายเทียนฉาย ได้ลืมพูดประเด็นสำคัญ คือ ท่านลืมพูดเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็น "ห่อขนม" ที่สำคัญที่สุด เพราะหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็จะทำให้การปฏิรูปที่ สปช.ทำมาทั้งหมดเสียของไปหมด และอาจจะถูกนำผลงานของสปช. ไปเป็นของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ที่จะตั้งขึ้นมาใหม่ 200 คน ซึ่งจะทำให้ สปช. ที่ตั้งใจทำงานมา หมดความภาคภูมิใจ
นายบวรศักดิ์ กล่าวถึง กระบวนการพิจารณา ร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ จากทุกภาคส่วน ว่า ทางเราได้ให้ความสำคัญกับ ครม. มากที่สุด ส่วนการลงมติของ สปช. ว่าจะโหวตรับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ตนอยากให้ทุกคนใช้ดุลยพินิจโดยอิสระ อย่าไปหวังกับห่อขนมอีก 200 ชิ้น ที่วางอยู่ตรงหน้า และขอให้คำนึงถึงการทำหน้าที่ของสปช. ที่เราได้รับการโปรดเกล้าฯ เข้ามา ซึ่งหมายถึง การทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน ขณะที่สภาขับเคลื่อนฯ ที่นายกรัฐมนตรีเป็นคนแต่งตั้ง ซึ่งจะทำงานให้กับคนเพียงกลุ่มเดียว
" วันนี้พวกผม 36 คน เป็นเหมือนแซนวิช โดนกระกบทั้ง ครม. และ สปช. เราอยู่ตรงกลาง ก็ต้องทำงานตามหน้าที่ให้ดีที่สุด ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน พวกเราก็จบด้วยกัน ผมก็ยอมรับ แต่ถ้าไม่ผ่านเพราะมีบางคนไปหวังกับขนม 200 ชิ้น เราจะมีศักดิ์ศรีกันหรือไม่ เพราะพวกเรา สปช. ได้รับการโปรดเกล้าฯ เข้ามาทำงาน ไม่ใช่สภาขับเคลื่อนฯ ที่มาจากการแต่งตั้งของคนเพียงคนเดียว ผมขอย้ำว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ทำให้คสช. หรือครม. แต่ทำให้ประชาชน สปช. เราทำหน้าที่เป็นเพียงแค่บุรุษไปรษณีย์ และส่งไปให้ประชาชน เพื่อลงประชามติ ว่าจะเอาหรือไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือไม่" แหล่งข่าว อ้างคำพูดของนายบวรศักดิ์ ในห้องประชุม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการสัมนาครั้งนี้ สปช.กว่าร้อยละ70 เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กมธ.ยกร่างฯ ยอมปรับแก้ไขในหลายประเด็น ที่สปช. ขอแก้ไข แต่จะขอดูร่างที่เสร็จสมบูรณ์ก่อน ตัดสินใจโหวตรับ หรือไม่รับ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่เกรงกันว่า สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศที่จะตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จะซ้ำซ้อนกับสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ ที่จะเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า ไม่ซ้ำซ้อน เพียงแต่ชื่อตั้งใจให้ซ้ำกัน เป็นความตั้งใจเอาชื่อมาใช้ก่อน เนื่องจากเห็นว่ามีภารกิจเดียวกัน คือ การปฏิรูป แต่ตัวบุคคลไม่ควรซ้ำกัน ไม่เห็นด้วยที่จะให้เอาสมาชิก สปช.ส่วนหนึ่ง และสนช.ส่วนหนึ่ง มาเป็นเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ตามรัฐธรมนูญฉบับใหม่ จะเหมือนเป็นการให้รางวัล มันไม่ถูก ต้องคัดกัน ซึ่งทราบว่าเบื้องต้น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดให้นายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดใหม่ เป็นคนแต่งตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯ ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

** โลกจับตามองการทำประชามติ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ว่า เมื่อ คสช.แก้รัฐธรรมนูญให้มีการทำประชามติ จะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กติกาที่ใช้ในอนาคต สิ่งที่อยากจะเสนอแนะ ไม่ว่าการลงคะแนนของสปช..จะเป็นอย่างไร ต้องปูทางเตรียมพร้อมไปสู่การทำประชามติ เพราะทั่วโลกจะจับตามองอย่างแน่นอน และมีการประเมินว่า การทำประชามติเป็นการค้นหาเจตนารมณ์ของประชาชนจริงหรือไม่ จึงเลี่ยงไม่ได้ว่า นอกจากมาตรฐานความสุจริต การลงคะแนนแล้ว ยังต้องเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความเห็นต่างกัน สามารถแสดงความเห็นได้ เพื่อให้ประชาชนที่จะไปลงคะแนนได้ตัดสินใจได้ แต่การใช้อำนาจและกติกาบางอย่าง ยังไม่สามารถเปิดให้ทำอย่างนั้นได้ จึงลำบากที่จะทำให้การทำประชามติเป็นที่ยอมรับได้ว่า เป็นการตัดสินใจของประชาชนอย่างแท้จริง
ดังนั้น คสช.และรัฐบาล ควรจะมีโรดแมปย่อย ที่ไม่ใช่แค่จัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ แล้วส่งไปให้คนอ่านเพื่อทำประชามติ แต่จะต้องมีการผ่อนคลายกฎ กติกา ให้มีการแสดงความเห็นทางการเมืองโดยสุจริตในรูปแบบไหน อย่างไร เมื่อไหร่
"เป็นไปไม่ได้ที่ประเทศจะปรับจากระยะที่สอง เข้าสู่ระยะที่สาม หรืออยู่ดีๆ ไปทำประชามติโดยไม่คิดถึงสิ่งเหล่านี้ บทบาทของสื่อ คืออะไร บทบาทของคนที่อยากแสดงความเห็น คืออะไร กิจกรรมทางการเมืองอะไรบ้างที่ทำได้ อะไรที่ยังไม่อยากให้ทำ เพราะกระทบต่อความมั่นคงต้องมีความละเอียดอ่อน มิเช่นนั้นจะเกิดความตรึงเครียดในสังคม และคสช. จะอยู่ในฐานะที่ลำบาก"
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวด้วยว่า ตนไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการตั้งคำถามในการทำประชามติหลายประเด็น เพราะเสียดายเงิน ตนคิดว่าประเด็นที่มีความสำคัญเท่ากับเรื่องรัฐธรรมนูญ มันมีน้อย และการทำให้เกิดหลายประเด็น จะสร้างความยุ่งยากซับซ้อนให้กับคนมาใช้สิทธิ และทำให้การเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น ถามเรื่องบ่อนกาสิโน ซึ่งจะทำให้เกิดการหาเสียงตามมา ตนเห็นว่า หากไม่มีประเด็นอะไรที่เป็นเรื่องเดียวกัน หรือสอดคล้องกับเรื่อง การนำรัฐธรรมนูญไปใช้ ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น