xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วิกฤตแล้ง ก.เกษตรไร้ฝีมือ ตายหยังเขียดคือประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพความแห้งแล้งของนาข้าวที่อ่างทอง
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เพิ่งตื่นหน้าตั้งทั้งๆ ที่รู้ล่วงหน้าแล้วว่าปีนี้จะแล้งหนัก แต่หน่วยงานรับผิดชอบหลักคือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะ กรมชลประทาน ก็ยังทำหูทวนลมไม่สนคำเตือนและคำสั่งให้เตรียมการล่วงหน้า กระทั่งเมื่อถึงเวลาเข้าสู่โหมดวิกฤตน้ำในเขื่อนหลักลดลงเหลือน้อยเป็นประวัติการณ์ นายปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงกระวีกระวาดออกมาขอร้องให้ชาวนาอย่าเพิ่งปลูกข้าวนาปี

เป็นอันว่าพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาที่ยังไม่ได้ลงมือเพาะปลูกอีก 4 ล้านไร่ ให้เลื่อนออกไปอีกเดือนหนึ่ง รอดูฟ้าฝนก่อน ส่วนที่ปลูกกันไปแล้ว 3.44 ล้านไร่ ก็คงต้องไปตายเอาดาบหน้า และถ้าสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ ฝนยังไม่ตกหรือตกน้อย คงไม่เฉพาะแค่ชาวนาลุ่มเจ้าพระยา แต่ชาวนาทั่วประเทศที่ยังไม่ได้ลงมือปลูกข้าวก็คงต้องเตรียมตายหยังเขียดเหมือนกัน

แต่ก่อนก็เคยได้ยินได้ฟังกันแค่ว่าอย่าทำนาปรังเพราะปริมาณน้ำน้อย มาปีนี้แม้แต่นาปีก็ ยังถูกห้าม เพาะปลูกไม่ได้ ผลผลิตจะเสียหายทั้งที่เข้าสู่ฤดูกาลทำนาแล้ว เป็นประวัติศาสตร์ที่ชาวนาต้องจดจำเล่าสู่ลูกหลานฟัง

นับเป็นความโชคร้ายของเกษตรกรกระดูกสันหลังของชาติที่ซวยซ้ำซวยซาก ไม่ใช่แค่ฟ้า ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล แต่ปัญหาที่หนักหน่วงไม่แพ้กันคือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งรับผิดชอบบริหารจัดการภาคการเกษตรของประเทศ ทั้งส่งเสริมและแก้ไขปัญหาให้พี่น้องชาวนาชาวไร่นั้น ที่ผ่านๆ มา มีแต่เสนาบดีคุมกระทรวงที่ไม่มีฝีมือ ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะมาช่วยเหลือให้พี่น้องเกษตรลืมตาอ้าปากได้

ไล่ย้อนกลับไปดูได้เลยว่าใช่ ไม่ใช่ ที่เสนาบดีกระทรวงนี้ไม่มีผลงานเอกอุอันใดให้กล่าวขานถึง ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยที่ “บิ๊กเติ้งเสี่ยวหาร” นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ส่งเสนาบดีมาคุมกระทรวงนี้อย่างยาวนาน หรือแม้แต่นายปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา คนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คัดสรรให้เข้ามานั่งตำแหน่งนี้ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่อยู่ในข่ายยกเว้น

เฉพาะนายปิติพงศ์ นั้น ถ้าหากย้อนกลับไปดูก็จะเห็นว่าเป็นการมาในแบบที่เจ้าตัวเหมือนไม่อยากจะมา และก็เคยมีข่าวถอดใจอยากลุกออกไปเต็มแก่ กระทั่ง คสช. ต้องส่งนายอำนวย ปะติเส เข้ามาเป็นตัวช่วยในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ แต่ก็ดูเหมือนจะไม่มีอะไรดีขึ้นอย่างที่คาดหวัง

คนที่วิจารณ์กระทรวงเกษตรฯ รับมือกับวิกฤตแล้งปีนี้ได้บรมแย่ ไม่ใช่ใครอื่นแต่เป็นคนในแวดวงเดียวกัน คือ นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) องค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งกุมขุมข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำลุ่มเจ้าพระยาทั้งหมดในมือ

ในการให้สัมภาษณ์สื่อถึงเรื่องที่น้ำในเขื่อนใหญ่วิกฤตสุดและต้องชะลอการปลูกข้าว 4 ล้านไร่ ใน 22 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาออกไปเมื่อวันก่อน เห็นชัดเลยว่านายรอยล ฉะกระทรวงเกษตรฯ แบบไม่ไว้หน้า “... ก่อนหน้านี้ทั้งกรมอุตุนิยมฯ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ออกมาเตือนกรมชลประทาน หลายครั้งถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนที่ไม่เพียงพอกับภาคเกษตร แม้แต่นายกฯ ได้ เตือนมาเกือบ 2 เดือน และสั่งการไปแล้ว แต่หน่วยงานไม่รับไปปฏิบัติ

“ส่วนจะทำอย่างไรต้องถาม รมว.เกษตรฯ กับ รมว.พาณิชย์ เพราะสองท่านนี้รับผิดชอบดูแลผลผลิตการภาคเกษตร หากฝนไม่ตกในช่วงปลายเดือน ก.ค.จะแก้ปัญหาให้เกษตรกรอย่างไร ทั้งพื้นที่ในเขตและนอกเขตชลประทานที่มีกว่าร้อยละ 80 ทั่วประเทศ

“ปัญหาแรกคือโอกาสมีฝนตกในเดือน ก.ค. แต่ไม่ตกเหนือเขื่อนหรืออาจจะตกเหนือเขื่อนน้อยลง เพราะพฤติกรรมฝนเปลี่ยน ถ้าตกในพื้นที่นาก็ระบายน้ำทิ้งทะเลหมด ตรงนี้จะแก้อย่างไร ทั้งปัญหาน้ำกินน้ำใช้ด้วย รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางมาตรการไว้รองรับหรือไม่”

โจทย์ใหญ่เฉพาะหน้าที่เทวดาฟ้าดินจะเห็นใจประทานฝนมาให้หรือไม่ ก็ยังไม่รู้

แต่ถ้าฟังจากน้ำเสียงที่นายปิติพงศ์ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา จะเห็นว่ากระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้วางแผนอะไรไว้รองรับเอาไว้เลย เพราะคิดว่าฝนจะตกตามฤดูกาล พอฝนไม่ตกตามที่คาดไว้ก็เลยมีปัญหา ตอนนี้ได้แต่บอกให้ใช้น้ำอย่างประหยัดเพราะมีน้ำในเขื่อนที่ใช้ได้โดยเฉลี่ยเหลือ 40 วัน เท่านั้น

ถึงตอนนี้ หากการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอฝนของกระทรวงเกษตรฯ สัมฤทธิ์ผล มีฝนตกลงมาก็ดีไป แต่ถ้าถึงสิ้นเดือน ก.ค.แล้วฝนไม่ตกหรือตกน้อยอย่างที่กรมอุตุนิยมฯ พยากรณ์ไว้ ก็คงได้แต่ต้องร้องเพลงรอ ท้องกิ่ว หน้าแห้ง เป็นหนี้หัวโตกันต่อไป

ส่วนการนัดหมายประชุมหารือระหว่าง รมว.กระทรวงเกษตรฯ กับผู้ว่าราชการ 22 จังหวัดที่อยู่บริเวณลุ่มเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อดูให้ชัดเจนว่าจะทำอะไรได้บ้าง ก็ไม่เห็นมีอะไรที่พอจะวางใจได้ว่าจะฝ่าวิกฤตแล้งนี้ไปได้ จะไปฝากความหวังกับการทำฝนเทียมแบบเดิมๆ ความชื้นก็ไม่พอ ทำไปก็ไม่ได้ผล

อย่าไปถามถึงกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องมาช่วยกระทรวงเกษตรฯ ดูแลด้านผลผลิต ขานั้นเงียบเป็นเป่าสาก

ที่ร้อนรุ่มและออกมาปลอบประโลมใจประชาชนตามหน้าที่ จะมีก็แต่เสียงจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ออกมาบอกว่า รัฐบาลเห็นใจเกษตรกรมาก กำลังหาทางช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ไม่ได้ทอดทิ้งกันนะ คิดจนหัวจะผุอยู่แล้ว

หัวหน้ารัฐบาลคิดจนหัวผุแล้วมีมาตรการอะไรออกมาบ้าง หลังจากการประชุมครม.เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปเบื้องต้นคือ หนึ่ง สนับสนุนให้ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย สอง จะหาทางช่วยลดต้นทุนการผลิต และสาม เจาะน้ำบาดาลมาใช้เพิ่มเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยคิดจากพื้นฐานที่ว่าขณะนี้มีการใช้น้ำบาดาลเพียง 10% เท่านั้น พร้อมกับสั่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปทำเรื่องเสนอต่อที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจโดยเร็ว

“.... สื่ออย่าเขียนให้เลวร้ายไปกว่าเดิม เพราะมันอยู่ที่ฝน สื่อต้องเขียนว่าทำไมฝนถึงไม่ตก เพราะไม่มีป่า ป่าถูกทำลายไปกว่า 26 ล้านไร่ เคยเห็นภูเขาหัวโล้นที่ภาคเหนือหรือไม่ สื่อต้องเขียนข่าวแบบนี้ ... เพราะเจ้าหน้าที่เองก็ทำอย่างเต็มที่ แต่จะให้ป่าฟื้นป่าได้ทันในปีนี้คงไม่ทัน มันก็จะแห้งแล้งอย่างในวันนี้ และวันหน้าอาจจะไม่มีฝนเลยก็ได้...” เป็นอีกบทที่พล.อ.ประยุทธ์ ถนัดคือรำไม่ดีโทษปี่โทษกลองออกอ่าวไป

เมื่อฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาลแล้วโทษการตัดไม้ทำลายป่าจนภูเขาหัวโล้น ถามว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ที่มีรัฐมนตรีหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้นั่งกันหน้าสลอนรู้กันอยู่เต็มอกใช่หรือไม่ที่ว่า ป่าผืนใหญ่ที่ถูกทำลายจนภูเขาหัวโล้น แหล่งต้นน้ำ ปิง วัง ยม น่าน ต้นธารเจ้าพระยานั้น เป็นฝีมือของใคร กลุ่มทุนไหนอยู่เบื้องหลัง กระทรวงไหนออกหน้าส่งเสริม หรือว่ารู้ๆ กันอยู่แต่แกล้งทำเป็นไม่รู้

แล้วใครกันที่ไปทำเอ็มโอยูกับกลุ่มทุนเปิดทางให้เกษตรกรถากถางปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กันอย่างเอิกเกริกอีกต่างหาก ทำให้ชาวประชานินทาได้ว่าทีนายทุนประเคนให้ทุกอย่าง ทีชาวบ้านไล่ตัดฟันต้นยางพาราทิ้งไม่เห็นหัว

หากทีมงานของนายกรัฐมนตรี ยังไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับวิกฤตแล้ง เขาหัวโล้น และผืนป่าต้นน้ำ ซึ่งสะท้อนผ่านการให้สัมภาษณ์ของพ ล.อ.ประยุทธ์ ที่เหมือนกับรู้ความจริงเพียงครึ่งเดียวแต่อยากให้สื่อช่วยเขียนดีๆ นั้น สมควรอย่างยิ่งที่ต้องหาเวลาไปอ่านคอลัมน์ “ในนามพลเมือง” หัวข้อ “กระบวนทัศน์ภัยโล้น แก้วิบัติภัยแล้ง” โดย บัณรส บัวคลี่ เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ ASTVผู้จัดการ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2558 เผื่อจะเปิดโลกทัศน์ในการกำหนดนโยบายและมาตรการแก้ภัยแล้งให้สอดคล้องกับความเป็นจริง จะได้แก้ปัญหาได้ถูกจุด ไม่ใช่สะเปะสะปะ ลูบหน้าปะจมูก โทษโน่นนี่นั่นกันไปเรื่อย

เพราะเรื่องฝนแล้ง น้ำท่วม เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ปัญหาอยู่ที่ฝีมือในการบริหารจัดการ จะเอาอยู่หรือไม่ต่างหาก และถ้าหากนายกฯ ชี้นิ้วว่าต้นตอภัยแล้งอยู่ที่การทำลายป่า ก็ต้องตามไปดูว่าเป็นฝีมือใครกันแน่

บัณรส บัวคลี่ บอกว่า ประเทศไทยเรามีพื้นที่ปลูกข้าวโพดราวๆ 7.5 ล้านไร่ แปลกประหลาดมากที่ดันกระจุกปลูกอยู่บนดอยภาคเหนือเสีย 5.5 ล้านไร่ และในจำนวนนั้นเป็นที่ป่าที่ไม่เหมาะสมที่สูงชันถึง 3.5 ล้านไร่ กว่าครึ่งของพื้นที่ปลูกข้าวโพดในภาคเหนืออยู่ในเขตป่าเขาสูงชัน นอกจากทำลายต้นน้ำแล้วยังเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษอีกต่างหาก พอถึงฤดูเก็บเกี่ยวพวกก็เผาตอซังเกิดควันไฟคลุมภาคเหนือเป็นวงกว้างหนักยิ่งกว่าเก่า

ภูเขาหัวโล้นและการบุกรุกพื้นที่ต้นน้ำเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว ตอกย้ำภัยแล้งให้แล้งหนักยิ่งไปอีก ต่อไปเมื่อพูดถึง “ภัยแล้ง” ก็ต้องพ่วง “ภัยโล้น” เขาหัวโล้นเข้าไปเป็นส่วนสำคัญของปัญหาด้วย!

ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั่นแหละ ที่ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับปลูกข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไปดูบัญชีแนบท้ายโซนนิ่งพื้นที่เหมาะสมปลูกข้าวโพดของเขาดูสิ เขตป่าต้นน้ำทั้งนั้น

ก็คือรัฐบาลเองแหละที่ส่งเสริมให้ถางดอยทางอ้อม ผ่านนโยบายส่งเสริม ประกันราคา นายทุนดีดนิ้วส่งสัญญาณว่าข้าวโพดๆ ราชการก็สนองตอบ ข้าวโพดๆๆ อย่างเดียวโดยไม่สนใจว่าจะปลูกกันที่ไหน เผาตอซังกันอย่างไร กูไม่สน หน้าที่กูคือส่งเสริม

ป่าต้นน้ำเลยกลายเป็นเขาหัวโล้น ไม่ได้เกิดเฉพาะที่เมืองน่านแต่คลุมไปทั้งภาคเหนือ น้ำน่านแห้งขอด น้ำยม น้ำวัง น้ำปิง ก็เช่นกัน ป่าต้นน้ำปิงแถวๆ อำเภอเชียงดาวด้านชายแดนพม่าก็เกลี้ยงเป็นแถบๆ เหมือนกัน ลองส่องจากกูเกิ้ลแม็ป เป็นกระสายก็ได้ ขนาดเป็นข้อมูลย้อนหลังก็พอเห็นร่องรอยของสภาพป่าต้นน้ำปิงได้ดีว่าเริ่มโล้นแบบไหน

จึงไม่น่าแปลกเลยครับที่เขื่อนภูมิพลมีระดับน้ำน้อยสุดนับแต่เปิดใช้มา !!!

ไปหาอ่านฉบับเต็มกันได้ แล้วจะรู้ว่าปลูกป่าใช้เวลานานและเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าทำลายแล้วละก้อมีสามสามานย์ "นายทุนไร้สำนึก - อำนาจการเมืองตามใจทุน - ราชการรวมศูนย์" ช่วยกันสุดใจขาดดิ้นทีเดียว

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ปัญหาภัยแล้งปีนี้ทำเอานายกฯ “บิ๊กตู่” ปวดขมับไม่น้อย พอถูกนักข่าวถามแล้วถามอีกก็เลยบ่นเสียยกใหญ่ น้ำไม่มีจะไปเอาจากที่ไหน ทุกแหล่งแห้งขอด ฝนก็ไม่ตก น้ำในเขื่อนก็ไม่มี คนที่ปลูกพืชไปแล้วทั้งที่ห้ามปลูกเสียหายมารัฐบาลก็ต้องชดเชยดูแล พวกที่เชื่อรัฐบาลไม่ได้ปลูกก็ต้องไปดูแลอีก ไม่รู้จะเอาเงินมาจากไหน คิดหาทางเยียวยาทุกอย่างแต่ปัญหาคือจะเอาเงินมาจากไหน เดี๋ยวก็ถูกวิจารณ์ว่าใช้เงินมาก จะแก้อะไรได้สักอย่างหรือไม่ ไอ้โน่นก็จะเอา ไอ้นี่ก็จะเอา และขอร้องอย่าออกมาเดินขบวนประท้วงกัน ออกมาไม่ได้ และอย่าให้ต้องบังคับใช้กฎหมาย ไม่ได้ขู่แต่อย่ามาบังคับกัน

ชัดไหม อย่ามาประท้วงกัน กำลังแก้ไขปัญหาให้อยู่ ไม่ใช่แค่พืชผลเท่านั้น แต่น้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเค็มจะมีปัญหาหรือไม่ ต้องดูแลทั้งหมด

"เราต้องสอนการรับรู้ให้ประชาชนด้วย ให้ระวังและเตรียมการช่วยตัวเอง รัฐบาลจะช่วยเท่าที่สามารถทำได้ แต่จะทำให้ได้มากที่สุด แต่ถ้ามาเรียกร้องอย่างเดียวก็แก้ไม่ได้ รัฐบาลไหนก็แก้ไม่ได้ ยอมรับว่าแก้ไม่ได้ถ้าทุกคนมาเอาทุกอย่างในเวลาเดียวกันทั้งหมด แล้วกดดันทุกอย่าง ถ้าเป็นอย่างนั้นตนก็ไม่ต้องเข้ามา แล้วให้รัฐบาลปกติทำไป เขาทำได้หรือไม่"

หันมามอนิเตอร์ตัวเลขปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่หลักๆ กันดูว่าหนักหนาสาหัสแค่ไหนก่อนดีกว่า

จากตารางสรุปสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ วันที่ 18 มิ.ย. 2558 จัดทำโดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ระบุว่า เขื่อนภูมิพล ซึ่งมีความจุที่ระดับน้ำเก็บกักของอ่าง (รนก.) หรือความจุของเขื่อนอยู่ที่ 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่มีปริมาตรน้ำในอ่างจริงเพียง 4,156 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ31% และมีปริมาณน้ำที่ใช้ได้จริง 356 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือแค่ 3% เท่านั้น

ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาตรน้ำอยู่ในอ่าง 3,534 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ใช้ได้จริง 684 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือแค่ 7% เขื่อนแควน้อย มีปริมาตรน้ำในอ่าง 135 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 14 แต่ใช้ได้จริงเพียง 92 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 10% และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาตรน้ำในอ่าง82 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้ได้จริงเพียง 79 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 8% เท่านั้น

ปริมาตรน้ำที่เหลือใช้ได้จริงนับว่าน้อยมาก เฉพาะเขื่อนภูมิพลถือว่าน้อยสุดในรอบ 51 ปี นับแต่ก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้เลยทีเดียว และช่วงนี้ไม่ว่าเขื่อนไหนแทบไม่มีน้ำไหลลงอ่างเลย สภาพน้ำที่เหลือน้อยนิดจึงต้องเก็บไว้หล่อเลี้ยงเขื่อนและสำหรับอุปโภคบริโภคเท่านั้น

นาทีนี้จึงบอกได้แต่เพียงว่าระหว่างรอรัฐบาลแก้ไขภัยแล้ง เกษตรกรหน้าแห้งอย่าเพิ่งสิ้นหวังชิงผูกคอตายหนีปัญหากันเสียก่อน




ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่า ที่ราบลุ่มภาคกลางอย่างอยุธยาก็เจอภัยแล้งถึงขนาดปลูกข้าวนาปีไม่ได้

ชาวนาบุรีรัมย์ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น