xs
xsm
sm
md
lg

จวกเละ “กสทช.” ทำเหลว ชี้ทางแก้ปมทีวีดิจิตอล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บรรยากาศการเสวนา
ASTVผู้จัดการรายวัน - จวก “กสทช.” ทำงานล้มเหลว ทีวีดิจิตอลมีแต่ปัญหา ผู้ประกอบการต้องมุ่งช่วยเหลือตัวเอง มองครึ่งปีหลังดีขึ้น คาดเม็ดเงินลงทุนด้านคอนเทนต์เทเข้ามาอีกไม่ต่ำกว่า 1,600 ล้านบาท แต่ในแง่ผลประกอบการสิ้นปีนี้บอบช้ำขาดทุนกันอีกปี เหตุเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น ลูกค้ายังไม่ใช้เงิน ส่งเม็ดเงินโฆษณาในสื่อทีวีดิจิตอลจริงทำได้เพียง 5,000 ล้านบาทเท่านั้น

วันนี้ (9 มิ.ย.) สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์จัดงานเสวนาขึ้น ในหัวข้อ “ทาง 3 แพร่ง อนาคตโทรทัศน์ดิจิตอล ปี 2015-2016”

นางจำนรรค์ ศิริตัน นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เปิดเผยว่า ทีวีดิจิตอลช่วงปีครึ่งที่ผ่านมายังกระท่อนกระแท่น ช่องที่แข็งแรงยังสู้ต่อได้ แต่ช่องที่อ่อนแอต้องรับความบอบช้ำกันไป ที่ผ่านมาภาคเอกชนมีปัญหาและอุปสรรคหลายด้าน จึงทำให้เกิดการเสวนาในหัวข้อ “ทาง 3 แพร่ง อนาคตโทรทัศน์ดิจิตอล ปี 2015-2016” ขึ้น ซึ่งแล้วแต่จะตีความว่าทาง 3 แพร่งหมายถึงอะไร ไม่ว่าจะเป็น ผู้ประกอบการ ภาครัฐ หรือ กสทช. แต่หวังว่าทาง 3 แพร่งจะบรรจบกันที่จุดหนึ่งที่เรียกว่าความสำเร็จ แต่จากสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เราต้องใส่ใจและสนใจกับผู้ซึ่งมีบทบาทกำหนดการทำงานของกฎหมายที่บังคับใช้ ถือเป็นการช่วยตัวเองและปกป้องตัวเองให้ดีที่สุดในเวลานี้

*** โฆษณาบนทีวีดิตอลมีเพียง 5% ***
นางวรรณี รัตนพล นายกสมาคมมีเดียเอเยนซีและธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พฤติกรรมการรับชมรายการโทรทัศน์ของคนไทยส่วนใหญ่ยังเป็นเรื่องของเอนเตอร์เทนเมนต์ รองลงมาคือกีฬาและมิวสิก ซึ่งผู้บริโภคไม่ได้สนใจเรื่องของแพลตฟอร์มการรับชม ขอแค่ดูได้จากจอทีวีเท่านั้น โดยปัจจุบันพบว่าเรตติ้งช่องรายการที่ได้รับความนิยมสูงสุด 10 อันดับแรก คือ 1.ช่อง 7 2.ช่อง 3 3.เวิร์คพ้อยท์ทีวี 4.ช่อง 9 5.ช่อง 8 6.ช่อง 5 7.ไทยรัฐทีวี 8.ช่องวัน 9.ทรู 4U และ 10.PPTV

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับชมไปยังแพลตฟอร์มกล่องทีวีดิจิตอลจึงเป็นไปได้ยาก ที่สำคัญการทำงานของ กสทช. ในหลายๆ เรื่องไม่ควรที่จะเปลี่ยนแปลงบ่อย เพราะอาจจะทำให้ผู้บริโภคสับสนและงงต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเรียงช่อง เช่น หากมีการออกกฎให้เคเบิลและทีวีดาวเทียมนำ 10 ช่องแรกไปออกอากาศช่องทีวีดิจิตอลใหม่ เรตติ้งช่องทีวีดิจิตอลจากเดิมที่เริ่มมีขึ้นบ้างแล้วอาจจะต้องเริ่มใหม่เพราะหาช่องไม่เจอ

จากตัวเลขของ “นีลเส็น คอมปะนี” พบว่า เม็ดเงินโฆษณาในสื่อทีวีดิจิตอลช่วง 4 เดือนที่ผ่านมามีมูลค่า 11,906 ล้านบาท แต่ในความจริงเป็นตัวเลขเรตการ์ด แต่ขายจริงราคาจะอยู่ที่ 20-30% ของตัวเลขดังกล่าว ส่งผลให้ในความเป็นจริงแล้วสื่อฟรีทีวียังมีแชร์อยู่ที่ 64% ส่วนทีวีดิจิตอลมีแชร์เพียง 5% ทั้งนี้มองว่าสิ้นปีอุตสาหกรรมโฆษณาน่าจะโตเพียง 4% หรือมีมูลค่าที่ 140,000 ล้านบาท
นางจำนรรค์ ศิริตัน นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
*** จวก กสทช. สอบตก 5 เรื่อง ***
นายเขมทัตต์ พลเดช อุปนายกสมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ในฐานะกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด กล่าวว่า ในต่างประเทศการเปลี่ยนผ่านจากแอนะล็อกไปเป็นดิจิตอลอย่างญี่ปุ่นใช้เวลา 10 ปี ฝรั่งเศสใช้เวลาเร็วกว่านั้น แต่พบว่าในช่วงระยะ 3-5 ปีแรกเป็นช่วงของการขาดทุน ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านของทีวีดิตอลในไทยช่วง 3 ปีแรกนี้เป็นเรื่ององการขาดทุนและจะเริ่มกลับมาดีขึ้นหลังมีการจ่ายค่าสัญญาสัมปทานครบซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไป

โมเดลการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอลของไทยแตกต่างและใช้เวลาน้อยมาก ซึ่งพบ 5 ปัญหาหลักที่ กสทช. ควรปรับปรุงคือ 1.กล่องเซตท็อปบ็อกซ์ ราคาที่ไม่จูงใจ ผู้ผลิตไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ กล่องจึงไม่มีมาตรฐาน 2.โครงข่ายครอบคลุมมีการขยายเป็นไปตามแผนที่วางไว้ แต่สัญญาณรับไม่ชัดเจน ผู้บริโภคหันดูทีวีดิจิตอลผ่านเคเบิลทีวี/ทีวีดาวเทียมแทน

3.เคเบิล/ทีวีดาวเทียม เช่นเรื่องของมัสต์แฮฟไม่เสถียร ระบบเอชดีไม่เป็นเอชดี ช่องเอสดีกลับเป็นเอชดี ไม่มีการซับซีไดซ์และโปรโมตให้ผู้บริโภคเปลี่ยนมาเป็น S2 4.กฎ/กติกา การทำงานของ กสทช.ที่ผ่านมาพบว่าบิดเบือนไม่เป็นไปตามมติที่วางไว้ และไม่ฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการ 5.ตลาด/พฤติกรรมผู้บริโภค ปัจจุบัน 70% ดูทีวีผ่านเคเบิล/ทีวีดาวเทียม ส่วนอายุ 15-25 ปี จะดูผ่านจอที่ 2 มากขึ้น

นายเขมทัตต์เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนภายใน 6 เดือนคือ 1.การจัดทำระบบวัดความนิยมและพฤติกรรมผู้บริโภคโดยควรสนับสนุนทางการเงินในการจัดทำระบบเรตติ้งของทีวีทั้งหมด หรืออย่างน้อย 50% และสนับสนุนทางการเงินในการวิจัยและสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคในการรับสื่อทุกแพลตฟอร์ม 2.การกำกับดูแลอุตสาหกรรมบรอดคาสติ้ง เช่น ปรับปรุง พ.ร.บ.การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ปี 2551 ปรับปรุง พ.ร.บ.องค์กรการจัดสรรคลื่นความถี่กิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ปี 2553 เป็นต้น

“ภาพรวมทีวีดิจิตอลครึ่งปีหลังจากนี้จะเริ่มดีขึ้น หลังจากที่ได้จ่ายค่าสัญญางวดที่ 2 ทำให้ต้นทุนเบาลง หลายๆ ช่องเริ่มลงทุนคอนเทนต์ เม็ดเงินรวมในแง่การลงทุนคอนเทนต์ของทีวีดิจิตอลครึ่งปีหลังนี้น่าจะไม่ต่ำกว่า 1,600 ล้านบาท โดยช่องหลัก 4-5 ช่องใช้ 300-400 ล้านบาทต่อช่อง ช่องอื่นๆ ใช้ประมาณ 100 ล้านบาทต่อช่อง ทั้งนี้เชื่อว่าถึงสิ้นปีจำนวนช่องทีวีดิจิตอลจะยังคงอยู่เท่ากับปัจจุบันที่ออกอากาศอยู่ ส่วนเม็ดเงินโฆษณาในสื่อทีวีดิจิตอลน่าจะมีมูลค่าจริงเพียง 5,000 ล้านบาทเท่านั้น”

ด้าน ดร.วิษณุ ตัณฑวิรุฬห์ ที่ปรึกษากรรมาธิการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวยอมรับว่า การเกิดทีวีดิจิตอลที่ยังไม่เป็นไปตามแผนและมีปัญหาอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญที่สุดคือ การประชาสัมพันธ์ที่อ่อนและยังทำได้ไม่ดีพอ ทำให้ประชาชนยังไม่รับทราบถึงวิธีการรับชม รวมถึงการติดตั้ง
นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอก เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3
นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอก เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 กล่าวว่า การทำงานของ กสทช. ที่ผ่านมาเกี่ยวกับทีวีดิจิตอลยอมรับว่าผิดหวังในทุกๆ เรื่อง กสทช. ควรที่จะทำตามกฎกติกาที่ตั้งไว้ตั้งแต่มีการประมูลช่องทีวีดิจิตอลเกิดขึ้น ในส่วนของช่อง 3 ยอมรับว่าการที่มีช่องทีวีดิจิตอล 3 ช่อง และ 2 ช่องเพิ่งเริ่มดำเนินการนั้นปีนี้ยังคงอยู่ในภาวะขาดทุนซึ่งตามแผนเดิมที่วางไว้จะขาดทุน 3 ปีแรก อาจจะต้องเลื่อนออกไปเป็น 4-5 ปีแทนเนื่องจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น

นายสุรินทร์ยังกล่าวถึงรายการที่จะมาแทนรายการ “ชิงร้อยชิงล้าน” ด้วยว่า จะเป็นรายการ 3 วาไรตีของ “ต๋อย-ไตรภพ” โดยได้เวลาเดียวกันคือ บ่ายวันอาทิตย์ เวลา 14.45-16.45 น. รวมถึงรายการที่จะมาแทนรายการของ “ซีเนริโอ คือ “กอสซิปเกิร์ล” แทน “สมรภูมิ พรมแดง” เป็นต้น ซึ่งมองเป็นเรื่องปกติที่กลุ่มช่องทีวีดิจิตอลจะนำรายการไปลงในช่องตัวเอง โดยช่อง 3 ได้มีการเตรียมการวางแผนผลิตและหาคอนเทนต์มาแทนอยู่แล้ว