xs
xsm
sm
md
lg

ม้วนเดียวจบแก้รธน.57 สนช.203เสียงเห็นชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-มติ สนช. 203 เสียงแก้ไขรัฐธรรมนูญ 57 “ครูหยุย” ติงสภาขับเคลื่อนฯ ได้สิทธิพิเศษ “สมเจตน์” ซัดปลดล็อคคุณสมบัติเปิดทาง111-109 ผิดหลักการ “ประวิตร” แจงปล่อยเพื่อความปรองดอง "วิษณุ” ยันไม่เอื้อใครโดยเฉพาะ ชี้ช่องถามประชามตินอกเหนือรัฐธรรมนูญได้ ขณะที่ “สุวพันธ์” ยันสภาขับเคลื่อนฯ ทำงานควบคู่กับ คสช. สิ้นสุดเมื่อมีรัฐบาลใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (18มิ.ย.) ได้มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ... แก้ไขเพิ่มเติม โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาเป็นผู้นำเสนอหลักการ และเหตุผลพร้อมกับชี้แจงข้อสงสัยให้กับสมาชิก สนช.

นายวิษณุ กล่าวถึงหลักการและเหตุผลที่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ว่า ในขณะที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญอยู่นั้น ปรากฏว่ามีการเรียกร้องให้จัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเหมือนเมื่อปี 2550 ซึ่ง ครม.และ คสช.ได้รับฟังมาตลอด และเห็นพ้องกันว่า ควรจัดทำประชามติ นอกจากนั้น ยังแก้ไขในประเด็นอื่นๆ ด้วย เช่น แก้ไขลักษณะต้องห้ามของสมาชิก สนช. จากเดิมที่ระบุว่า ต้องไม่เคยเป็นถูกถอดถอนสิทธิเลือกตั้ง ให้เป็นไม่อยู่ในระหว่างการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้คนที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิดังกล่าวสามารถเข้ามาเป็น สนช. รวมทั้งขยายเวลาการทำงานให้กับ กมธ.ยกร่างฯ เพิ่มอีกไม่เกิน 30 วัน และการตั้งสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ ที่มีสมาชิกไม่เกิน 200 คน

** “สมเจตน์” ข้องใจ คสช.เปลี่ยนจุดยืน

นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. อภิปรายว่า การบัญญัติให้หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ จะต้องตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน และกลับไปร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และทำประชามติอีกครั้ง ซึ่งสงสัยว่าถ้าทำประชามติไม่ผ่านอีก จะทำอย่างไรต่อไป

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. กล่าวว่า กรณีที่ สปช.ต้องพ้นจากตำแหน่งภายหลังลงมติเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ มีข้อสงสัยว่า กมธ.ยกร่างฯ ที่เป็นสมาชิก สปช. ยังสามารถดำรงตำแหน่ง กมธ.ยกร่างฯ ต่อไปได้หรือไม่ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศจะต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เหมือนกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ ที่สำคัญสภาขับเคลื่อนฯ จะมีวาระการดำรงตำแหน่งนานเท่าไร เนื่องจากไม่ได้บัญญัติเอาไว้

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิก สนช. กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ได้กำหนดให้ผู้ที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งห้ามมาดำรงตำแหน่งสมาชิก สนช. และยังวางหลักการเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน และการตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคำพิพากษา กระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต หรือเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองเด็ดขาดเอาไว้ แต่ไม่ทราบว่า ด้วยสถานการณ์เปลี่ยน หรือแนวความคิดเปลี่ยนไป จึงมีการแก้ไขเพื่อลดมาตรการที่เด็ดขาดนี้ลงไป เหมือนกับเป็นการส่งสัญญาณไปถึง กมธ.ยกร่างฯว่า ในการกำหนดคุณสมบัติผู้มาดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความเด็ดขาด

** “บิ๊กป้อม” อ้างปล่อยผีเพื่อปรองดอง

พล.อ.ประวิตร ชี้แจงว่า การบัญญัติให้มีการยุบ สปช.ภายหลังจากที่ลงมติร่างรัฐธรรมนูญนั้น เนื่องจากมีเสียงวิจารณ์ว่า สปช.จะต้องผ่านร่างรัฐธรรมนูญเพื่อดำรงสถานะตัวเองภายหลังจากที่ลงมติ ดังนั้น จึงต้องการให้ สปช.ลงมติได้อย่างเต็มที่ ส่วนข้อเสนอที่ให้มีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน ถือเป็นการปลดล็อก เพื่อให้มีการดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญให้ออกมาดีที่สุด ส่วนการปลดล็อกให้ผู้เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มาดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ถือว่าเป็นการให้เกียรติต่อกลุ่มคนดังกล่าวเพื่อให้เกิดความปรองดอง และความเป็นธรรม แต่จะเอาคนเหล่านั้นมาทำงานหรือไม่ เป็นสิทธิ์ของ คสช.ที่จะตัดสินใจ

** ยังไม่คิดหาก รธน.ถูกคว่ำหนสอง

นายวิษณุ ชี้แจงอีกว่า ต่อข้อถามที่ว่า หากการลงประชามติไม่ผ่าน จะทำอย่างไรนั้น ตนเห็นว่า การทำประชามติแบ่งเป็น 2ครั้ง สมมติว่าสมาชิก สปช. ผ่านร่างรัฐธรรมนูญในเดือน ก.ย.นี้ และลงประชามติประมาณ ม.ค.2559 เกิดไม่ผ่านความเห็นชอบ ก็ให้ กมธ.ยกร่างฯ พ้นตำแหน่ง และหัวหน้า คสช. ตั้งขึ้นใหม่รวม 21 คน และเมื่อร่างใหม่เสร็จใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน ก็ให้ทำประชามติ ในหนที่ 2 ซึ่งหากหนที่ 2 ตกไป ขณะนี้ยังไม่มีคำตอบ ว่าจะทำอย่างไรต่อ คงให้ถึงเวลานั้นค่อยมาคิดกันอีกทีว่า สังคมต้องการอย่างไร ยังมีเวลาให้คิดอ่านอีก ส่วนกรณีที่ สปช.ถูกยุบ จะไม่กระทบกับ กมธ.ยกร่างฯที่มาจากสัดส่วนของ สปช.

หลังจากนั้น ได้มีการลงมติโดยวิธีเปิดเผยด้วยขานชื่อสมาชิกฯ ซึ่งผลปรากฏว่า มีมติรับหลักการ 204 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ดังนั้น ทาง สนช.ได้มีมติรับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 จากนั้นได้มีการพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป

** ห่วงสารพัดสัตว์เข้าสภาฯ

ในระหว่างการพิจารณาวาระที่ 2 นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิก สนช. อภิปรายว่า เวลานี้มีการตั้งข้อสงสัยว่าการแก้ไขเรื่องคุณสมบัติผู้กำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องการเฉพาะเจาะจงเพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ จึงขอฝากให้รัฐบาลระวังเสือ สิงห์ กระทิง แรด ที่จะปล่อยออกมาในเที่ยวนี้ว่ามีทั้งดีและไม่ดี หากเลือกกลุ่มที่ไม่ดีเข้ามา ความเสียหายต่อประเทศจะยิ่งมากขึ้น ยืนยันว่าไม่เคยเปลี่ยนจุดยืนใดๆ ทั้งสิ้น แต่จำเป็นต้องแยกแยะให้ออกว่าใครเป็นผู้กระทำความผิดกับผู้ที่ติดร่างแห ซึ่งรัฐบาลมีเหตุผลสำคัญ 2ประการ ได้แก่ 1.เมื่อผู้ที่ถูกที่เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้รับโทษครบตามกำหนดแล้ว ก็ไม่สมควรให้มีตราบาปติดตัวไปตลอดชีวิต และ2.เป็นการสร้างความเป็นธรรมและส่งสัญญาณให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้มีเจตนาอาฆาตใคร อย่างไรก็ตาม การเลือกใครจะมาเป็นตำแหน่งอะไร รัฐบาลจะตรวจสอบอย่างรอบคอบ ไม่ใช่ว่าจะเปิดทางให้ใครเข้ามาเป็นอะไรได้ทั้งหมด

“ผมได้สอบถามกับประธาน กมธ.ยกร่างฯแล้ว และท่านยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างอยู่ ไม่มีส่วนห้ามผู้ที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เพราะเขาได้แยกแยะแล้ว จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ต้องการให้เจือสมกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย คนที่พ้นจากการถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งแล้ว ก็ยังสามารถรับเลือกตั้งได้อยู่ เข้ารับราชการก็ได้ ดังนั้นการมาห้ามไว้ดูจะเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่สู้ดีนักเกินไป" นายวิษณุ กล่าว

** ประชามติเปิดให้ถามเรื่องอื่นได้

ต่อมาที่ประชุมได้พิจารณามาตรา 5 เรื่องขั้นตอนการทำประชามติ สนช.หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การให้ สนช.และ สปช.ตั้งคำถามเพื่อทำประชามติ สามารถสอบถามในประเด็นอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญได้หรือไม่

นายวิษณุชี้แจงว่า การกำหนดคำถามประชามติเพิ่มเติมนั้น สามารถถามได้ทั้งเรื่องที่อยู่ในหรือนอกร่างรัฐธรรมนูญ เช่น เห็นด้วยกับการเปิดกาสิโนถูกกฎหมายหรือไม่ หรือเห็นด้วยกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดหรือไม่ แต่จะต้องผ่านความเห็นชอบจากแต่ละสภาก่อน

** 203 สนช.เห็นชอบแก้รธน.ชั่วคราว

นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิก สนช. อภิปรายว่า อยากทราบสาเหตุที่ต้องยุบเลิก สปช. เพราะจะทำให้ขาดความต่อเนื่อง อีกทั้ง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปไม่มีการกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง จึงเป็นห่วงว่าจะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ

นายสุวพันธุ์ ชี้แจงว่า กรอบระยะเวลาการทำงานของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปนั้น จะทำงานควบคู่ไปกับรัฐบาลปัจจุบันไปจนกว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะมีผลบังคับใช้ และส่งเรื่องต่อไปยังรัฐบาลชุดใหม่ อีกทั้งจะต้องรอดูประเด็นที่เกี่ยวข้องซึ่งบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไปด้วย

จากนั้นที่ประชุมได้มีการลงมติในวาระ 3 โดยวิธีขานชื่อสมาชิกฯ ซึ่งผลปรากฏว่า มีมติรับหลักการ 203เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ดังนั้น ที่ประชุม สนช.มีมติเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ตามที่ ครม. และ คสช. เสนอ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 15 วันนับแต่วันที่ สนช.มีมติ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ก่อนประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อใช้บังคับต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น