xs
xsm
sm
md
lg

ค้านให้รางวัลจูงใจผู้ใช้สิทธิ หวั่นเปิดช่องซื้อเสียงทางอ้อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กตต.) นายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิจัยสถาบันพระปกเกล้าได้นำเสนอ สรุปผลการศึกษาวิจัย เรื่อง"การพัฒนารูปแบบวิธีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย และการชดเชยให้ผู้มาลงคะแนนใช้สิทธิเลือกตั้งโดยรัฐ" ที่ กกต.ได้ว่าจ้างสถาบันพระปกเกล้าทำการศึกษาให้แก่ผู้บริหาร และพนักงานกกต.ได้รับทราบ
โดยในการวิจัยพบว่า รูปแบบการจูงใจให้คนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง เมื่อศึกษาจากกรณีต่างประเทศ มีทั้งการบังคับ และไม่บังคับ ซึ่งวิธีการบังคับ จะกำหนดให้เป็นหน้าที่ที่ต้องออกมาใช้สิทธิ โดยในประเทศที่ใช้มาตรการบังคับ จะมีค่าเฉลี่ยคนมาใช้สิทธิสูงกว่าประเทศที่ให้มาใช้สิทธิโดยสมัครใจ

** ให้รางวัลจูงใจผู้ใช้สิทธิไม่เหมาะ

นอกจากนี้ การบังคับโดยใช้การจูงใจในเชิงบวก ที่เป็นลักษณะการให้รางวัล ซึ่งมีทั้งเงิน ล็อตเตอรี่ สิ่งของ สูงสุดคือบ้าน โดยในประเทศนอร์เวย์ ได้ใช้วิธีการจูงใจในเชิงบวกในการเลือกตั้งท้องถิ่น ด้วยการตั้งรางวัลเป็นบัตรของขวัญนำเที่ยว และจับฉลากให้ผู้ที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งพบว่าทำให้ในการเลือกตั้งครั้งแรก มีผู้ไปใช้สิทธิเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10 แต่กลับลดจำนวนลงในครั้งต่อไป
ขณะที่ประเทศบัลแกเรีย ซึ่งใช้วิธีจูงใจเชิงบวกกับการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา ที่มีผู้มีสิทธิทั้งประเทศ ในครั้งแรกก็พบว่ามีผู้ออกมาใช้สิทธิลดลงเกือบร้อยละ 10 ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่า มาจากการที่ประชาชนไม่ตื่นเต้น ประกอบกับมีพรรครัฐบาลที่เสนอเรื่องการจูงใจ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย ทำให้จึงมองว่าเป็นการซื้อเสียงทางอ้อม
เมื่อนำกรณีดังกล่าวมาพิจารณากับประเทศไทย ทางผู้วิจัยเห็นว่า ไม่ควรนำมาตรการจูงใจเชิงบวกมาใช้ เพราะการออกมาใช้สิทธิ จะไม่สะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้มีสิทธิ เพราะอาจออกมาใช้สิทธิ เนื่องจากต้องการได้รางวัล ส่งผลให้คะแนนเสียงจากการเลืกตั้งขาดคุณภาพ ขณะเดียวกัน มาตรการดังกล่าวทำให้รัฐเสียงบประมาณในการเตรียมรางวัล แต่ควรพิจารณาวิธีการอื่นให้เหมาะสมกับผู้ลงคะแนนในกลุ่มต่างๆ และนำเทคโนโลยีหรือรูปแบบการเลือกตั้งอื่นๆ มาใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รวมถึงอาจทบทวนมาตรการการตัดสิทธิ ผู้ไม่มาใช้สิทธิตามความเหมาะสม เช่น อาจนำระบบค่าปรับมาใช้ ควบคู่กับการตัดสิทธิอื่นๆ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่สิทธิของประชาชน

**ชี้ข้อดี-ข้อเสีย การใช้เทคโนโลยี

ทั้งนี้ ในการวิจัยยังได้ศึกษาถึงการลงคะแนนเลือกตั้ง นอกเหนือจากการใช้บัตรเลือกตั้งที่คูหาเลือกตั้ง ที่ประกอบไปด้วยการเลือกตั้งทางไปรษณีย์ การลงคะแนนเลือกตั้งด้วยเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ และการลงคะแนนทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งพบว่าการลงคะแนนเลือกตั้งทางไปรษณีย์ จะมีต้นทุนถูก สามารถนำไปใช้ในพื้นที่ห่างไกล ประชาชนสามารถเลือกตั้งนอกพื้นที่ได้อย่างสะดวก แต่ทั้งนี้ จะต้องมีการลงทะเบียนเลือกตั้งทางไปรษณีย์ล่วงหน้า และการจัดทำบัญชีผู้มีสิทธิรวมทั้งปรับโครงสร้าง ในเรื่องการจัดส่งและรับบัตรเลือกตั้ง ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นช่องทางหนึ่งของการเพิ่มจำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
การเลือกตั้งด้วยการลงคะแนนด้วยเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ ที่พบข้อดีว่าประชาชนจะได้รับความสะดวกสบาย ลดต้นทุน และเพิ่มความรวดเร็วในกระบวนการจัดการเลือกตั้ง ลดความผิดพลาดในการลงคะแนน และนับคะแนนด้วยมือ แต่ยังมีปัญหาในเรื่องความน่าเชื่อถือ ที่ประชาชนยังไม่ไว้วางใจในการลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์ ว่าจะแม่นยำ และโปร่งใส เท่ากับการเลือกตั้งโดยใช้บัตร รวมถึงปัญหาการเจาะระบบ หรือแฮกเกอร์ เพื่อเปลี่ยนแปลงผลการลงคะแนน รวมทั้งต้องใช้งบประมาณที่สูง ในการวางระบบ
ส่วนการลงคะแนนเลือกตั้งทางอินเตอร์เน็ต ประชาชน จะได้รับความสะดวกในการลงคะแนน ลดต้นทุน และเพิ่มความรวดเร็วในกระบวนการจัดการเลือกตั้ง เพราะไม่ต้องพิมพ์บัตร และไม่ต้องใช้การนับคะแนนด้วยมือ สามารถลดความผิดพลาด แต่ทั้งนี้ประชาชนต้องมีการลงทะเบียนทางอินเตอร์เน็ตล่วงหน้า และยังมีปัญหาความน่าเชื่อถือ ที่ประชาชนยังไม่ไว้วางใจ ความปลอดภัยจากปัญหาการเจาะระบบ การรักษาความลับของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง การพิสูจน์ตัวบุคคล การใช้งานที่ยากและซับซ้อนกว่าการใช้บัตรเลือกตั้ง รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานสำหรับระบบอินเตอร์เน็ต งบประมาณที่สูง และผู้เชี่ยวชาญวางระบบ แต่จะเป็นช่องทางในการเพิ่มจำนวนของผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยเฉพาะประชาชนที่ไม่สามารถไปเลือกตั้งที่คูหาเลือกตั้งได้ ลดความผิดพลาดจากการลงคะแนนโดยใช้บัตร ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการเลือกตั้งในพื้นที่ห่างไกล

** เชื่อรธน.ใหม่ยังคงบทบาท กกต.

ด้านนายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวตอนหนึ่งระหว่างบรรยายในหัวข้อบทบาทของ กกต. กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงของการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนในส่วนภารกิจงานที่ กกต. เข้าไปเกี่ยวข้อง ทั้งระบบการเลือกตั้ง ส.ส.-ส.ว. การจะมีกลุ่มการเมืองร่วมกับพรรคการเมือง หรืออำนาจหน้าที่ของ กกต. จะให้เป็นเพียงผู้ควบคุม หรือยังเป็นผู้จัดการเลือกตั้งเหมือนเช่นปัจจุบัน
แต่อย่างไรก็ตาม คิดว่าบทบาทของ กกต.ในรัฐธรรมนูญใหม่ ยังคงมีอยู่แน่นอน แต่จะมากน้อยแค่ไหน ยังไม่ทราบ ซึ่งหากพูดถึงภารกิจในอนาคต ในระยะเวลาอันใกล้ ตนอยากให้ กกต.ไปพิจารณาในเรื่องของระบบพรรคการเมือง ที่ต้องมีการยกร่างเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เพราะในอดีต พรรคการเมืองจะเกิดง่าย โตยาก ตายง่าย คือรวมกลุ่มกัน 15 คน ก็ตั้งพรรคการเมืองได้แล้ว แต่การจะดำรงอยู่ จะต้องหาสมาชิกให้ครบ 5,000 คนใน 4 ภาค และถ้าหากเป็นพรรคการเมืองแล้วไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง 2 ครั้ง ก็มีสิทธิที่จะถูกยุบ สิ่งเหล่านี้ กกต.ต้องพิจารณาว่า จะขัดกับหลักการที่เราต้องการจะสร้างพรรคการเมืองเป็นสถาบันที่เข้มแข็งหรือไม่ เพราะตัวกฎหมายลูกที่จะออกมา จะเป็นตัวกำหนดว่าเราจะให้พรรคการเมืองมีทิศทางแบบไหนในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น