xs
xsm
sm
md
lg

ส.พระปกเกล้าเตือนไม่ควรใช้รางวัลจูงใจไปเลือกตั้ง ชี้โหวตผ่านเครื่อง-เน็ตมีความเสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า (ภาพจากแฟ้ม)
นักวิจัยสถาบันพระปกเกล้า เผยผลวิจัยรูปแบบวิธีลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เตือนไม่ควรใช้มาตรการจูงใจผู้ใช้สิทธิ ชี้ไม่สะท้อนเจตนารมณ์แท้จริง พบเลือกตั้งทางไปรษณีย์ต้นทุนถูก แต่ต้องปรับโครงสร้างส่ง-รับบัตร ส่วนเครื่องอิเล็กทรอนิกส์มีปัญหาความน่าเชื่อถือ กังวลแฮกเกอร์ โหวตผ่านเน็ตมีปัญหารักษาความลับ ใช้งานยาก “วุฒิสาร” เชื่อ กกต.ยังมีบทบาทในรัฐธรรมนูญ

วันนี้ (17 มิ.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กตต.) นายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิจัยสถาบันพระปกเกล้า ได้นำเสนอสรุปผลการศึกษาวิจัยเรื่อง “การพัฒนารูปแบบวิธีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย และการชดเชยให้ผู้มาลงคะแนนใช้สิทธิเลือกตั้งโดยรัฐ” ที่ กกต.ได้ว่าจ้างสถาบันพระปกเกล้าทำการศึกษาให้แก่ผู้บริหารและพนักงาน กกต.ได้รับทราบ โดยในการวิจัยพบว่า รูปแบบการจูงใจให้คนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง เมื่อศึกษาจากกรณีต่างประเทศมีทั้งการบังคับและไม่บังคับ วิธีการบังคับจะกำหนดให้เป็นหน้าที่ที่ต้องออกมาใช้สิทธิ โดยในประเทศที่ใช้มาตรการบังคับจะมีค่าเฉลี่ยคนมาใช้สิทธิสูงกว่าประเทศให้มาใช้สิทธิโดยสมัครใจ นอกจากนี้การบังคับโดยใช้การจูงใจในเชิงบวก ที่เป็นลักษณะการให้รางวัลซึ่งมีทั้งเงิน ลอตเตอรี่ สิ่งของ สูงสุดคือบ้าน

โดยในประเทศนอร์เวย์ได้ใช้วิธีการจูงใจในเชิงบวกในการเลือกตั้งท้องถิ่นด้วยการตั้งรางวัลเป็นบัตรของขวัญนำเที่ยวและจับฉลากให้ผู้ที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง พบว่าทำให้ในการเลือกตั้งครั้งแรกมีผู้ไปใช้สิทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 แต่กลับลดจำนวนลงในครั้งต่อไป ขณะที่ประเทศบัลแกเรียซึ่งใช้วิธีจูงใจเชิงบวกกับการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาที่มีผู้มีสิทธิทั้งประเทศในครั้งแรกก็พบว่ามีผู้ออกมาใช้สิทธิลดลงเกือบร้อยละ 10 มีการวิเคราะห์ว่ามาจากการที่ประชาชนไม่ตื่นเต้น ประกอบกับมีพรรครัฐบาลที่เสนอเรื่องการจูงใจได้ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย ทำให้จึงมองว่าเป็นการซื้อเสียงทางอ้อม

เมื่อนำกรณีดังกล่าวมาพิจารณากับประเทศไทย ทางผู้วิจัยเห็นว่าไม่ควรนำมาตรการจูงใจเชิงบวกมาใช้ เพราะการออกมาใช้สิทธิจะไม่สะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้มีสิทธิ เพราะอาจออกมาใช้เนื่องจากต้องการให้รางวัล ส่งผลให้คะแนนเสียงจากการเลืกตั้งขาดคุณภาพขณะเดียวกันมาตรการดังกล่าวทำให้รัฐเสียงบประมาณในการเตรียมรางวัล แต่ควรพิจารณาวิธีการอื่นให้เหมาะสมกับผู้ลงคะแนนในกลุ่มต่างๆ และนำเทคโนโลยีหรือรูปแบบการเลือกตั้งอื่นๆ มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รวมถึงอาจทบทวนมาตรการการตัดสิทธิผู้ไม่มาใช้สิทธิตามความเหมาะสม เช่น อาจนำระบบค่าปรับมาใช้ ควบคู่กับการตัดสิทธิอื่นๆ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่สิทธิของประชาชน

ทั้งนี้ ในการวิจัยยังได้ศึกษาถึงการลงคะแนนเลือกตั้งนอกเหนือจากการใช้บัตรเลือกตั้งที่คูหาเลือกตั้ง ที่ประกอบไปด้วยการเลือกตั้งทางไปรษณีย์ การลงคะแนนเลือกตั้งด้วยเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรกนิกส์และการลงคะแนนทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งพบว่าการลงคะแนนเลือกตั้งทางไปรษณีย์จะมีต้นทุนถูก สามารถนำไปใช้ในพื้นที่ห่างไกล ประชาชนสามารถเลือกตั้งนอกพื้นที่ได้อย่างสะดวก แต่ทั้งนี้จะต้องมีการลงทะเบียนเลือกตั้งทางไปรษณีย์ล่วงหน้าและการจัดทำบัญชีผู้มีสิทธิรวมทั้งปรับโครงสร้าง ในเรื่องการจัดส่งและรับบัตรเลือกตั้ง ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นช่องทางหนึ่งของการเพิ่มจำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

การเลือกตั้งด้วยการลงคะแนนด้วยเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ที่พบข้อดีว่า ประชาชนจะได้รับความสะดวกสบาย ลดต้นทุนและเพิ่มความรวดเร็วในกระบวนการจัดการเลือกตั้ง ลดความผิดพลาดในการลงคะแนนและนับคะแนนด้วยมือ แต่ยังมีปัญหาในเรื่องความน่าเชื่อถือที่ประชาชนยังไม่ไว้วางในในการลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์ว่าจะแม่นยำและโปร่งใสเท่ากับการเลือกตั้งโดยใช้บัตร รวมถึงปัญหาการเจาะระบบหรือแฮกเกอร์ เพื่อเปลี่ยนแปลงผลการลงคะแนน รวมทั้งต้องใช้งบประมาณที่สูงในการวางระบบ

ส่วนการลงคะแนนเลือกตั้งทางอินเทอร์เน็ต ประชาชนะได้รับความสะดวกในการลงคะแนน ลดต้นทุนและเพิ่มความรวดเร็วในกระบวนการจัดการเลือกตั้ง เพราะไม่ต้องพิมพ์บัตรและไม่ต้องใช้การนับคะแนนด้วยมือ สามารถลดความผิดพลาด แต่ทั้งนี้ประชาชนต้องมีการลงทะเบียนทางอินเตอร์เน็ตล่วงหน้าและยังมีปัญหาความน่าเชื่อถือที่ประชาชนยังไม่ไว้วางใจ ความปลอดภัยจากปัญหาการเจาะระบบ การรักษาความลับของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง การพิสูจน์ตัวบุคคล การใช้งานที่ยากและซับซ้อนกว่าการใช้บัตรเลือกตั้ง รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานสำหรับระบบอินเทอร์เน็ต งบประมาณที่สูงและผู้เชี่ยวชาญวางระบบ แต่จะเป็นช่องทางในการเพิ่มจำนวนของผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยเฉพาะประชาชนที่ไม่สามารถไปเลือกตั้งที่คูหาเลือกตั้งได้ ลดความผิดพลาดจากการลงคะแนนโดยใช้บัตรซึ่งสามารถนำไปใช้ในการเลือกตั้งในพื้นที่ห่างไกล

ด้านนายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวตอนหนึ่งระหว่างบรรยายในหัวข้อบทบาทของ กกต.กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงของการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนในส่วนภารกิจงานที่ กกต. เข้าไปเกี่ยวข้องทั้งระบบการเลือกตั้ง ส.ส., ส.ว. การจะมีกลุ่มการเมืองร่วมกับพรรคการเมือง หรืออำนาจหน้าที่ของ กกต.จะให้เป็นเพียงผู้ควบคุมหรือยังเป็นผู้จัดการเลือกตั้งเหมือนเช่นปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม คิดว่าบทบาทของ กกต.ในรัฐธรรมนูญใหม่ยังคงมีอยู่แน่นอน แต่จะมากน้อยแค่ไหนยังไม่ทราบ ซึ่งหากพูดถึงภารกิจในอนาคตในระบะเวลาอันใกล้ ตนอยากให้ กกต.ไปพิจารณาในเรื่องของระบบพรรคการเมืองที่ต้องมีการยกร่างเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เพราะในอดีตพรรคการเมืองจะเกิดง่าย โตยาก ตายง่าย คือรวมกลุ่มกัน 15 คนก็ตั้งพรรคการเมืองได้แล้ว แต่การจะดำรงอยู่จะต้องหาสมาชิกให้ครบ 5,000 คนใน 4 ภาค และถ้าหากเป็นพรรคการเมืองแล้วไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง 2 ครั้งก็มีสิทธิที่จะถูกยุบ สิ่งเหล่านี้ กกต.ต้องพิจารณาว่าจะขัดกับหลักการที่เราต้องการจะสร้างพรรคการเมืองเป็นสถาบันที่เข้มแข็งหรือไม่ เพราะตัวกฎหมายลูกที่จะออกมาจะเป็นตัวกำหนดว่าเราจะให้พรรคการเมืองมีทิศทางแบบไหนในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น