xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย (6) ตอน 6.4 : ปัญหาผู้อพยพชาวโรฮิงญาและชาวบังกลาเทศ เรื่องที่ 1 ชาวโรฮิงญา (โรฮีนจา) มาจากไหน

เผยแพร่:   โดย: วีระศักดิ์ นาทะสิริ

1. กล่าวนำ : ปัญหาเกี่ยวกับชาวโรฮิงญา (โรฮีนจา) และชาวบังกลาเทศ

ได้มีรายงานข่าวจาก BBC เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2558 ว่า มีผู้อพยพ (หลบหนีเข้าเมือง) ชาวบังกลาเทศ และชาวโรฮิงญา (หรือโรฮีนจา แต่ในบทความนี้จะขอเรียกว่า โรฮิงญา) หลายพันคนถูกปล่อยทิ้งอยู่ในเรือกลางทะเลใกล้น่านน้ำของไทย ซึ่ง Jeff Labovitz หัวหน้าทีมขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอพยพย้ายถิ่นฐาน (The International Organization for Migration หรือ IOM) ได้ให้ความเห็นว่า การที่ทางการไทยได้ตรวจพบค่ายที่พัก และได้เข้าจับกุมผู้หลบหนีเข้าเมืองในค่ายที่พักใกล้ชายแดนไทย-มาเลเซีย ได้ทำให้กลุ่มที่ดำเนินการขนส่งหรือช่วยเหลือผู้อพยพหลบหนีเข้าเมืองเกิดความลังเลไม่กล้านำผู้อพยพหลบหนีเข้าเมืองที่เพิ่งมาถึงใหม่ๆ ขึ้นบกที่ฝั่งไทย จึงได้ปล่อยทิ้งผู้อพยพซึ่งมีประมาณ 8,000 คนไว้ในเรือกลางทะเล และก่อนหน้านี้สองวันก็มีผู้อพยพหลบหนีเข้าเมืองประมาณ 2,000 คนได้ไปขึ้นบกที่ชายฝั่งของมาเลเซียและอินโดนีเซีย ดูภาพที่ 1

      ภาพที่ 1 เรือที่บรรทุกผู้อพยพชาวโรฮิงญา และชาวบังกลาเทศ*

      *ภาพจาก CNN (17/5/2015) ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

ในเรื่องนี้ได้มีผู้อ่านหลายท่านตั้งข้อสงสัยว่า พม่า (เมียนมาร์) กำลังทำอะไรกับชาวโรฮิงญา ผู้เขียนก็ได้ตอบไปว่า ทั้งพม่า และบังกลาเทศกำลังส่งออกชาวโรฮิงญาไปให้ประเทศเพื่อนบ้านดูแล (เลี้ยงดู) รับผิดชอบ และเพื่อนบ้านที่ต้องรับผิดชอบต่อปัญหานี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะอยู่ติดและใกล้กับพม่า และบังกลาเทศ ก็คือ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

กรณีที่เกิดขึ้นนี้คงเป็นการอุ่นเครื่องก่อนที่จะมีการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ธ.ค. 2558 ซึ่งคาดว่า การหลั่งไหลของผู้อพยพชาวโรฮิงญาและชาวบังกลาเทศคงจะเกิดขึ้นอีกหลายระลอกในอนาคตอันใกล้นี้ และอาจจะเป็นภายหลังการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเป็นทางการ ซึ่งถ้าไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียไม่รีบดำเนินการแก้ไขอย่างทันท่วงที กรณีนี้ก็จะกลายเป็นปัญหาที่สร้างภาระและความเสียหายทางสังคม ทางด้านเศรษฐกิจ และทางด้านความมั่นคงของประเทศในระยะยาวจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของทั้งไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และอีกหลายประเทศอย่างแน่นอน

2. บทบาทของพม่าและบังกลาเทศ เกี่ยวกับผู้อพยพชาวโรฮิงญา และชาวบังกลาเทศ

มีคำถามต่อมาว่า ทำไมพม่าจึงต้องการให้ชาวโรฮิงญาอพยพออกจากพม่า และทำไมบังกลาเทศจึงไม่พยายามป้องกันหรือไม่ยับยั้งชาวบังกลาเทศ ไม่ให้อพยพออกจากประเทศของตน

ในส่วนผู้อพยพชาวบังกลาเทศ ผู้เขียนเชื่อว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวบังกลาเทศต้องการอพยพออกจากประเทศของตน คงจะมาจากเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจมากกว่าด้านอื่นๆ เนื่องจากบังกลาเทศมีประชากรเป็นจำนวนมากถึง 160 ล้านคน แต่มีพื้นที่เพียง 147,570 ตารางกิโลเมตร และมีรายได้ประชาชาติต่อประชากรเท่ากับ $1,171 (US. Dollars) เป็นลำดับที่ 155 ของโลก (ข้อมูลจาก Wikipedia - จัดว่าอยู่ในกลุ่มประเทศที่ยากจนมาก - ผู้เขียน) ข้อมูลนี้ได้บ่งบอกว่า ประเทศบังกลาเทศยังไม่สามารถให้การดูแลประชาชนของตนให้มีความเป็นอยู่อย่างเหมาะสมในฐานะที่เป็นมนุษย์ได้เช่นเดียวกับประเทศอื่น ด้วยเหตุนี้ชาวบังกลาเทศส่วนใหญ่จึงยากจน และมีความต้องการที่จะอพยพไปอยู่ในประเทศอื่นเพื่อหารายได้เลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว และเพื่อดำรงชีวิตอยู่ในประเทศที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าที่จะอยู่ในบังกลาเทศอีกต่อไป

สำหรับชาวโรฮิงญาที่ต้องการอพยพออกจากรัฐยะไข่นั้น ปรากฏว่าได้มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นซึ่งอาจส่งผลทำให้ชาวโรฮิงญามีความต้องการที่จะอพยพออกจากพม่า เหตุการณ์ดังกล่าว คือ เหตุการณ์หลังจากนายพลเนวินได้เข้ามามีอำนาจในพม่า พม่าได้ประกาศไม่ยอมรับชาวโรฮิงญาเป็นประชาชนของพม่า และไม่ให้สิทธิใดๆ แก่ชาวโรฮิงญาอีกด้วย

เหตุการณ์ต่อมา ได้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวพม่าที่นับถือพุทธศาสนากับชาวโรฮิงญาที่นับถืออิสลามบ่อยครั้งจนกลายเป็นความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรง (Violent Conflict) ระหว่างประชาชนทั้งสองฝ่าย และได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก (ภาพที่ 2 และ 3 : การต่อสู้ปะทะกัน และผู้ที่เสียชีวิตจากการปะทะกันระหว่างชาวพม่ากับชาวโรฮิงญา ในปี 2012 ในรัฐยะไข่)*

*ภาพจาก http://hlaoo1980.blogspot.com/2015/05/isis-islamic-state-death-cults.html

เหตุการณ์สำคัญล่าสุดที่กำลังจะเกิดขึ้น ก็คือ ในขณะนี้ (มิ.ย. 58) เป็นช่วงเวลาที่ใกล้กำหนดการเปิดเสรีทางการค้าในวันที่ 31 ธ.ค. 58 (Asian Economic Community) ของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งจะมีผลทำให้การเดินทางผ่านแดนระหว่างประเทศที่อยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นไปอย่างเสรีและสะดวกมากขึ้น ดังนั้น จึงอาจเป็นโอกาสดีที่พม่าจะใช้ช่องทางนี้เพื่อผลักดันชาวโรฮิงญาให้ออกไปจากประเทศพม่าได้สะดวกยิ่งขึ้น และสำหรับชาวโรฮิงญาเองก็คงได้อาศัยช่องทางนี้ในการอพยพย้ายถิ่นฐานออกไปอยู่ในประเทศอื่นๆ ได้ง่ายดายยิ่งขึ้นเช่นกัน

3. ความเป็นมาของชาวโรฮิงญา และปัญหาการอพยพของชาวโรฮิงญา

หลังจากที่ได้รับฟังข้อมูลจากการบรรยายสรุปของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบที่บ้านเด็กครอบครัวที่จังหวัดพังงา (ภาพที่ 4 ) และที่ ทก.ยว.ฉก.ร. 5 (ที่หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 5) อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 58 ดังแสดงในภาพที่ 5

ภาพที่ 4 เดินทางไปดูข้อเท็จจริงและมอบสิ่งของช่วยเหลือผู้หลบหนีเข้าเมืองที่ จ.พังงา

ภาพที่ 5 รับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์เกี่ยวกับผู้อพยพชาวโรฮิงญาและชาวบังกลาเทศ

หลังจากที่ได้ตรวจสอบเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวกับความเป็นมาของชาวโรฮิงญา, รัฐยะไข่ (Arakan), ราชวงศ์คอนบอง (Konbaung) ของพม่า และสงครามระหว่างพม่ากับอังกฤษทั้ง 3 ครั้ง (ตั้งแต่ปี 1824 - 1885) แล้ว ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า ควรศึกษาพิจารณาปัญหานี้ออกเป็น 4 เรื่อง (หรือเป็น 4 ส่วน) คือ

3.1 เรื่องที่หนึ่ง ควรเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความเป็นมาของชาวโรฮิงญาว่า เป็นใคร สืบเชื้อสายมาจากที่ใด และเข้ามาอยู่ในรัฐยะไข่หรืออารากัน (Arakan) ได้อย่างไร

3.2 เรื่องที่สอง ควรเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสาเหตุของการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานออกจากประเทศพม่าของชาวโรฮิงญา ว่าทำไมชาวโรฮิงญาจึงต้องการอพยพออกจากพม่าไปตั้งรกรากหรือไปดำรงชีวิตในประเทศอื่น และรวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับผู้อพยพชาวบังคลาเทศด้วย

3.3 เรื่องที่สาม จะเป็นเรื่องความเกี่ยวพันระหว่างการค้ามนุษย์กับการอพยพหลบหนีเข้าเมืองของชาวโรฮิงญา และผู้อพยพชาวบังกลาเทศ

3.4 เรื่องที่สี่ จะเป็นเรื่องการศึกษาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการอพยพหลบหนีเข้าเมืองของชาวโรฮิงญา ซึ่งรวมถึงผู้อพยพชาวบังกลาเทศด้วย

4. เรื่องที่ 1 : ความเป็นมาของชาวโรฮิงญา Where Rohingya Comes From

หลังจากได้มีรายงานข่าวเกี่ยวกับผู้อพยพชาวโรฮิงญาและชาวบังกลาเทศทางทะเลมาตั้งแต่ต้นปี 2558 จนถึงขณะนี้ (มิ.ย. 58) จึงมักมีผู้สงสัยตั้งคำถามอยู่บ่อยๆ ว่า ชาวโรฮิงญามาจากไหน และเข้ามาอยู่ในรัฐยะไข่หรืออารากัน (Arakan) ตั้งแต่เมื่อไหร่ และเข้ามาอยู่ในรัฐนี้ได้อย่างไร

ดังนั้นเพื่อหาคำตอบในเรื่องนี้ ผู้เขียนก็จะขอเปรียบเทียบปัญหาการอพยพของชาวโรฮิงญาเสมือนกับละครเรื่องหนึ่งที่จะต้องมีโรงละคร ซึ่งก็คือ ยะไข่หรือแคว้นอารากัน และจะต้องมีผู้แสดง ซึ่งได้แก่ ชาวโรฮิงญา (ซึ่งถือเป็นตัวเอกที่สำคัญของเรื่องนี้) นอกจากนี้ยังมีชาวเบงกาลี หรือชาวบังกลาเทศ ชาวอารากัน ชาวอินเดีย ชาวโปรตุเกส ชาวพม่า ชาวอังกฤษ และชาวญี่ปุ่น เพราะถ้าไม่มีผู้แสดง และโรงละครแล้ว ละครก็คงจะเปิดการแสดงไม่ได้

4.1 รัฐยะไข่หรือแคว้นอารากันในอดีต (ดูภาพที่ 6) อาจเปรียบได้กับโรงละคร ซึ่งเป็นสถานที่ที่ปัญหานี้ได้เกิดขึ้น โดยผู้เขียนจะขอให้ข้อมูลเบื้องต้น และความเป็นมาของรัฐยะไข่ ดังนี้

ภาพที่ 6 แผนที่ตั้งของรัฐยะไข่ (Rakhine) หรือแคว้นอารากันในอดีต*

*ภาพแผนที่มาจาก https://divinity.uchicago.edu/sightings/myanmar-buddhist-muslim-tensions-%E2%80%94-david-i-steinberg (ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย)



4.1.1 ข้อมูลเบื้องต้น

รัฐยะไข่ หรือ Arakan (ในภาพที่ 6 อยู่ในวงกลมสีแดง) ในปัจจุบันเป็นรัฐที่มีพื้นที่ประมาณ 36,778 ตารางกิโลเมตร มีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 8 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพม่าติดกับอ่าวเบงกอล (Bay of Bengal) มีเมือง Sittway เป็นเมืองหลวง และมีประชากรประมาณ 3.1 ล้านคน ซึ่งมีจำนวนมากเป็นลำดับที่ 2 รองจากรัฐฉาน คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ นิกายเถรวาท, ฮินดู และอิสลาม โดยมีเมือง Sittway เป็นเมืองหลวง สำหรับชาวโรฮิงญา มีข้อมูลจาก Asian History ระบุว่า มีชาวโรฮิงญาที่นับถืออิสลามในรัฐนี้ประมาณ 800,000 คน หรืออาจมากกว่านี้ (ข้อมูลจากhttp://asianhistory.about.com/od/Asian_History_Terms_N_Q/g/Who-Are-The-Rohingya.htm จำนวนชาวโรฮิงญาอาจคลาดเคลื่อนเพราะยังไม่มีการสำรวจที่ได้มาตรฐานและเป็นปัจจุบัน)

4.1.2 ความเป็นมาของรัฐยะไข่หรือแคว้นอารากันในอดีต*

แคว้นอารากัน (ขอใช้คำว่า “แคว้น” แทนคำว่า “อาณาจักร” - ผู้เขียน) ตามประวัติคือ แคว้น Vesali และแคว้น Lemro ก่อนที่จะมาเป็นแคว้นอารากัน (หรือ Mrauk-U) และยังได้พบหลักฐานที่ระบุว่า ได้มีการจัดสร้างพระพุทธรูป “พระมหามัยมุนี” ขึ้นในราวปี 554 ก่อนคริสตกาลในขณะที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาที่แคว้นนี้ที่เมือง Dhanyawady ชาวพม่าจะเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระยะไข่ (ดูภาพที่ 7) เนื่องจากพระเจ้าปดุง (โบดอพญา) ได้ยกทัพมาตีแคว้นนี้ได้สำเร็จ แล้วได้นำพระมหามัยมุนี ซึ่งอยู่ที่แคว้นอารากันกลับมาประดิษฐานที่พม่า พร้อมทั้งได้สร้างวัดขึ้นมาให้พระมหามัยมุนี (ดูภาพที่ 8) โดยสร้างห่างจากเมืองอมรปุระ (ซึ่งเป็นเมืองหลวงของพม่าในสมัยนั้น) ประมาณ 10 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองมัณฑะเลย์

*ภาพที่ 7 มาจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Mahamuni_Buddha_Temple และภาพที่ 8 มาจาก http://pantip.com/topic/31147311 (ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย)

สำหรับความเป็นมาของรัฐยะไข่หรือแคว้นอารากันในช่วงต่อจากศตวรรษที่ 14 สรุปได้ดังนี้ กษัตริย์ Min Saw Mon หรือ Narameikhla ซึ่งหลบหนีการรุกรานของพม่าและมอญ ได้ลี้ภัยไปอยู่ในเบงกอลนานถึง 24 ปี ต่อมาในปี ค.ศ. 1430 กษัตริย์ Min Saw Mon ได้กลับมามีอำนาจในแคว้นอารากันอีกครั้งหนึ่งโดยได้รับความช่วยเหลือจากกำลังทหารของสุลต่านแห่งเบงกอล และได้ตั้งเมืองหลวงที่ มรัคอู หรือมรวกอู (Mrauk U ภาษาไทยอาจเขียนผิด - ผู้เขียน) ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นราชวงศ์ Mrauk-U ที่สืบทอดอำนาจการปกครองยะไข่หรือแคว้นอารากันอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 1430 และสิ้นสุดลงหลังจากถูกพม่าในสมัยพระเจ้าปดุงหรือโบดอพญา (Bodawpaya) เข้ายึดและผนวกเข้าเป็นดินแดนของพม่าในปี 1784

4.2 กลุ่มคนที่มีความสำคัญต่อปัญหานี้ : ชาวโรฮิงญาหรือโรฮีนจา

กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้มีหลายกลุ่มคน หลายชนชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะทราบกันดีอยู่แล้วว่ามีความเป็นมาอย่างไร แต่กลุ่มคนที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบความเป็นมาที่แน่ชัดว่า เป็นใคร มาจากไหน และยังเป็น ตัวเอกของเรื่องนี้ (ความคิดเห็นของผู้เขียน) เพราะได้รับผลกระทบและเกี่ยวข้องกับปัญหานี้ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็คือ ชาวโรฮิงญา หรือชาวโรฮีนจา (Rohingya) โดยจะขอกล่าวถึงความเป็นมาของชาวโรฮิงญา ตามช่วงเวลาต่างๆ ดังนี้

4.2.1 ช่วงแรกคือ ช่วงที่อารากันปกครองโดยกษัตริย์ราชวงศ์ Mrauk-U (ปี 1430 - 1784)

หลังจากที่กษัตริย์ Min Saw Mon แห่งราชวงศ์ Mrauk-U ได้กลับมาปกครองแคว้นอารากันในปี 1430 ก็ได้อนุญาตให้กลุ่มทหารจากเบงกอล (ที่ติดตามมาช่วยเหลือให้กลับมามีอำนาจ) ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ชานเมือง (Mrauk U) ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็นชุมชนมุสลิม และได้มีการสร้างสุเหร่า Santikan ที่มีชื่อเสียงไว้ ณ ที่แห่งนี้ด้วย ในปัจจุบันผู้สืบเชื้อสายจากกลุ่มทหารชาวเบงกอลส่วนใหญ่จะยังคงมีถิ่นฐานอยู่ที่เมือง Mrauk-U และเมืองฆยัคตอ Kyauktaw (ดูภาพที่ 9)

ต่อมาในช่วงต้นศตวรรษที่ 16 จนถึงกลางศตวรรษที่ 17 กลุ่มนักเดินเรือชาว Portuguese และอาจรวมทั้งชาวอารากัน (ซึ่งโดยพฤติกรรมควรจะเรียกว่า “โจรสลัด” จะเหมาะกว่าใช้คำว่า “นักเดินเรือ” - ผู้เขียน) มักจะเข้าไปปล้นสะดมในแคว้น Bengal อยู่บ่อยครั้ง และได้กวาดต้อนชาวเบงกาลี (Bengali) แล้วนำกลับมาขายเป็นทาสที่ใช้แรงงานทางการเกษตรและด้านอื่นๆ ในแคว้นอารากัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชุมชนชาวเบงกอลมุสลิม ในแคว้นอารากันได้ขยายตัวเติบโตมากขึ้น

จากนั้นได้มีกลุ่มคนมุสลิมที่เข้ามาทำการค้าขาย คาดว่าจะมาจากอินเดียและบางประเทศที่อยู่ในตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่จะตั้งรกรากอยู่ที่เมือง Ramree (ดูแผนที่ในภาพที่ 9) ซึ่งอยู่บนเกาะในอ่าวเบงกอล สำหรับกลุ่มคนที่สืบเชื้อสายจากกลุ่มพ่อค้ามุสลิมในอดีตเหล่านี้ได้เป็นที่รู้จักกันในแคว้นอารากันในชื่อที่เรียกว่า Kaman



ภาพที่ 9 แผนที่แสดงที่ตั้งเมือง Mrauk-U, Kyauktaw, และRamree*

*รูปภาพแผนที่มาจากhttp://archive-2.mizzima.com/news/inside-burma/8314-rakhine-state-humanitarian-community-target-of-threats-un.html (ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย)



นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนมุสลิมที่เข้ามาช่วยงานต่างๆ ของกษัตริย์ราชวงศ์มรัคอู ( Mruak-U) แห่งแคว้นอารากัน ทั้งในด้านพิธีการที่เกี่ยวกับศาสนาต่างๆ และด้านที่เกี่ยวข้องกับขนบธรรมเนียมของชาวเบงกาลี เปอร์เซีย และอาหรับ เพราะแม้กษัตริย์ราชวงศ์มรัคอูจะนับถือศาสนาพุทธก็ตาม แต่ก็ได้เข้าร่วมพิธีกรรมของศาสนาต่างๆ และยังแต่งกายตามประเพณีของชาติต่างๆ ด้วยเช่นกัน (รวมทั้งศาสนาฮินดูและอิสลามด้วย ทั้งนี้เพื่อแสดงความเป็นเจ้าผู้ปกครองของคนทุกชาติทุกศาสนานั่นเอง-ผู้เขียน) สำหรับกลุ่มคนมุสลิมที่เข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าว คาดว่า คงมีจำนวนไม่มากนัก แต่คงมาจากหลายชาติ โดยจะมีชาวเบงกอล ชาวเปอร์เซีย และชาวอาหรับเป็นหลัก กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่เข้ามาอยู่ในแคว้นอารากันเพื่อปฏิบัติหน้าที่สนองตอบภารกิจต่างๆ ของกษัตริย์แห่งราชวงศ์มรัคอู (ซึ่งอาจเปรียบได้กับการเข้ามารับราชการในราชสำนักนั่นเอง)

4.2.2 ช่วงที่ 2 เป็นช่วงที่แคว้นอารากันถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพม่า ปี1784 - 1826

ในช่วงที่พม่าได้เข้ามาปกครองแคว้นอารากันตั้งแต่ปี 1784 จนถึงปี 1826 รวมเวลาได้ 42 ปี พม่าได้ปกครองด้วยความโหดเหี้ยมและได้สังหารชาวอารากันเป็นจำนวนมาก โดยในหนังสือชื่อ Francis Buchanan in Southeast Bengal (1798) : His Journey to Chittagong, the Chittagong Hill Tracts, Noakhali and Comilla. ผู้เขียนชื่อ Buchanan ได้อ้างคำบอกเล่าของตำรวจชาวฮินดูชื่อ Puran Bisungri ว่า ในวันแรกที่กองทัพพม่าได้เข้ายึดอารากันได้สังหารชาวอารากันไปเป็นจำนวนถึง 40,000 คน(จำนวนคงคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพราะผู้บอกเล่าก็กำลังรีบหนีเอาชีวิตรอด คงไม่มีเวลามาสังเกตหรือนั่งนับจำนวนได้อย่างถูกต้อง - ผู้เขียน)

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวอารากันจำนวนมากได้หลบหนีพม่าเข้าไปอยู่ในเบงกอล ซึ่งในขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษที่เรียกว่า British Bengal และจากบันทึกของบริษัท British East India ยังได้ระบุว่า ในปี 1799 ได้มีชาวอารากันประมาณ 35,000 คน ได้หลบหนีเข้ามาอยู่ที่เมืองจิตตะกอง (Chittagong) เพื่อขออยู่ภายใต้ความคุ้มครองของอังกฤษ แต่ก็ยังมีชาวอารากันส่วนหนึ่งที่หลบหนีไม่ทัน ได้ถูกกวาดต้อนไปอยู่ในดินแดนตอนกลางของพม่า

4.2.3 ช่วงที่ 3 จะเป็นช่วงที่แคว้นอารากันถูกผนวกรวมเข้ากับอินเดีย ตั้งแต่ปี 1826 - 1942

หลังจากที่อังกฤษได้รับชัยชนะจากการรบกับพม่าในสงครามครั้งแรกในปี 1826 แคว้นอารากันก็ได้ถูกผนวกรวมเข้ากับอินเดีย และอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ซึ่งทำให้ดินแดนระหว่างรัฐเบงกอล และแคว้นอารากันติดต่อกันโดยไม่มีพรมแดนเป็นเครื่องกีดกั้นในช่วงเวลาดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ขณะที่อังกฤษได้เข้ามาปกครองอารากัน ปรากฏว่า ชาวอารากันส่วนใหญ่ได้อพยพหลบหนีพม่าไปอยู่ตามที่ต่างๆ พื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่จึงถูกทิ้งให้รกร้างว่างเปล่าเป็นจำนวนมาก เมื่อเป็นเช่นนี้อังกฤษจึงได้มีนโยบายชักจูงและกระตุ้นให้ชาวเบงกาลี ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ที่เมืองจิตตะกอง (ซึ่งติดกับแคว้นอารากัน) ได้อพยพเข้ามาทำงานด้านการเกษตรและด้านต่างๆ ในแคว้นอารากัน จึงทำให้ชาวจิตตะกองจำนวนมาก (อาจรวมทั้งชาวอินเดียฮินดู และอินเดียมุสลิมด้วย ได้อพยพเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในอารากันด้วย - ผู้เขียน) จนทำให้บางพื้นที่มีชาวจิตตะกองมากกว่าชาวอารากันที่เป็นคนพื้นเมืองเสียอีก เช่น ในปี 1913 ที่เขตพื้นที่ย่อย Buthidaung (ดูแผนที่ในภาพที่ 9) มีจำนวนผู้อพยพชาวจิตตะกองมากกว่าชาวอารากัน ในอัตราส่วนเท่ากับ 2 ต่อ 1 (จากรายงานของ R.B. Smart ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เขต Akyab ของแคว้นอารากันในขณะนั้น - โดยอังกฤษได้แบ่งพื้นที่การปกครองอารากันออกเป็น 3 เขต คือ Akyab, Kyaukpyu, Sandoway)

ในช่วงเวลานี้อังกฤษได้มีมาตรการบางประการที่ผู้เขียนเชื่อว่า น่าจะเป็นสาเหตุที่สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นระหว่างชาวอารากัน กับชาวจิตตะกองที่อพยพเข้ามาในแคว้นอารากัน เช่น

(1) อังกฤษได้ออกข้อบังคับที่สร้างความไม่เสมอภาคระหว่างกลุ่มคนมุสลิมผู้อพยพกับชาวอารากันที่นับถือพุทธ โดยอังกฤษได้ห้ามผู้ใหญ่บ้านชาวอารากันเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของขบวนการชาติอารากันซึ่งพระภิกษุส่วนใหญ่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าว แต่ในขณะเดียวกันอังกฤษกลับปล่อยให้กลุ่มผู้อพยพมุสลิมมีเสรีในการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา และทางด้านวัฒนธรรมได้อย่างเต็มที่ ซึ่งการกำหนดข้อปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันได้กลายเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนทั้งสองกลุ่มในที่สุด

(2) อังกฤษได้นำระบบ Zamindary System มาใช้ในแคว้นอารากัน โดยระบบนี้อังกฤษได้ให้สิทธิแก่เจ้าของที่ดินชาวบังกาลีเช่าที่ดินเพื่อทำการเพาะปลูกในแคว้นอารากันได้นานถึง 90 ปี ดังนั้นเมื่อชาวอารากันที่หลบหนีพม่าได้กลับมายังที่ดินของตน แต่ถูกขับไล่ไม่ให้เข้ามาอยู่ในที่ดินที่ตนเคยอยู่มาก่อน กรณีนี้ได้สร้างความโกรธแค้นให้แก่ชาวอารากันเป็นอย่างมาก จนเป็นเหตุให้มีการใช้กำลังต่อสู้กันระหว่างกลุ่มคนทั้งสองในเวลาต่อมา

4.2.4 ช่วงที่ 4 จะเป็นช่วงที่อยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่ปี 1942 - 1944

เมื่อกองทัพญี่ปุ่นได้ผลักดันกำลังทหารอังกฤษให้ออกไปจากพม่าได้เป็นผลสำเร็จในปี 1942 ได้ทำให้อังกฤษต้องถอนกำลังทหาร รวมทั้งอพยพเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ออกไปอยู่ที่อินเดียในปีเดียวกัน ในช่วงเวลานี้ได้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่ได้กลายเป็นปัจจัยที่เพิ่มความขัดแย้งระหว่างชาวอารากัน กับชาวเบงกาลี ให้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นอีก คือ

(1) การอพยพกำลังทหารอังกฤษและเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ออกไปจากพม่าในปี 1942

ด้วยความโกรธแค้นที่ได้กล่าวมา กลุ่มชาวอารากันจึงได้ใช้โอกาสนี้เข้าโจมตีหมู่บ้านชาวเบงกาลีมุสลิมในภาคใต้ของอารากัน ซึ่งได้ทำให้ชาวเบงกาลีมุสลิมได้หลบหนีขึ้นเหนือไปทำการตอบโต้ต่อชาวอารากันที่อยู่ในเมือง Buthidaung และเมือง Maungdaw (ดูแผนที่ในภาพที่ 9) ด้วยเหตุนี้จึงปรากฏว่า ชาวอารากันที่นับถือพุทธส่วนใหญ่อยู่ทางใต้ของอารากันจะสนับสนุนกองทัพญี่ปุ่น แต่ชาวเบงกาลีมุสลิมซึ่งอยู่ทางเหนือของอารากัน จะสนับสนุนกองทัพของอังกฤษ และจากเหตุการณ์การต่อสู้ระหว่างชาวอารากันกับชาวเบงกาลีมุสลิม รวมทั้งการสู้รบระหว่างอังกฤษกับพม่า ได้ทำให้ชาวอินเดียประมาณ 900,000 คน (ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับชาวเบงกาลีมุสลิม)พยายามที่จะหลบหนีออกจากพื้นที่ของความขัดแย้งและการสู้รบในพม่า เพื่อกลับเข้าสู่อินเดียโดยผ่านตอนเหนือของอารากัน แต่การเดินทางหลบหนีในครั้งนี้ได้ทำให้ชาวอินเดียเสียชีวิตไปประมาณ 100,000 คน

(2) อังกฤษได้จัดตั้งกองกำลังอาสาสมัคร (Volunteer หรือ V Force) ขึ้นในปี 1942

อังกฤษได้ฝึกอาวุธให้กับชาวจิตตะกองซึ่งอยู่บริเวณพรมแดนมายู (Mayu Frontier) และได้จัดตั้งเป็นกองกำลังอาสาสมัคร (Volunteer หรือ V Force) เพื่อทำหน้าที่เป็นกองโจรคอยหาข่าวความเคลื่อนไหวของทหารญี่ปุ่น และช่วยกำลังทหารอังกฤษต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นในแคว้นอารากัน ผู้เขียนเชื่อว่า การที่อังกฤษได้ให้ความสำคัญแก่ชาวจิตตะกองมุสลิมเช่นนี้ ได้ทำให้ชาวจิตตะกองมุสลิมไม่เพียงรู้สึกแปลกแยกไปจากสังคมเดิมเท่านั้น (ที่เคยอยู่ร่วมกันมากับชาวอารากัน) แต่ยังได้กระตุ้นให้มีความต้องการ (อาจมีความคิดทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย) ที่จะผลักดันชาวอารากันที่นับถือพุทธให้โยกย้ายลงไปอยู่ในพื้นที่ทางใต้ของอารากันอีกด้วย ในกรณีนี้มีนายทหารอังกฤษชื่อ Anthony Irwin(Irwin 1946) ได้บันทึกไว้ว่า แทนที่กองกำลังอาสาสมัครชาวจิตตะกองจะทำการรบกับทหารญี่ปุ่น แต่กลับใช้โอกาสนี้ทำลายศาสนาสถาน เจดีย์ทางศาสนาพุทธ และเผาทำลายหมู่บ้านต่างๆ ของชาวอารากันไปเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงเชื่อว่า การกระทำดังกล่าวของกองกำลังอาสาสมัครชาวจิตตะกอง (เบงกาลี) ไม่เพียงทำให้ชาวอารากันที่นับถือพุทธโกรธแค้นและเกลียดชังชาวเบงกาลีมุสลิมเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้กลุ่มคนทั้งสองกลุ่มไม่สามารถอยู่ร่วมกันเช่นในอดีตอีกด้วย

4.2.5 ช่วงที่ 5 จะเป็นช่วงที่อังกฤษกลับเข้ามาปกครองพม่าจนกระทั่งพม่าได้เอกราช

ในช่วงนี้จะเริ่มตั้งแต่กองทัพญี่ปุ่นได้ถอยออกจากแคว้นอารากันหรือยะไข่ในปี 1944 จนถึงปีที่อังกฤษมอบเอกราชให้พม่า คือ ปี 1948 ได้มีเหตุการณ์สำคัญที่บ่งชี้ให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างชาวอารากัน กับชาวเบงกาลี ที่จะกลายเป็นปัญหายุ่งยากในอนาคต ซึ่งก็คือ

(1) ชาวอารากัน และชาวเบงกาลีมุสลิม ในบริเวณชายแดน Mayu ที่ติดกับอินเดีย (บังกลาเทศในขณะนี้) มีความรู้สึกไม่ไว้ใจกัน ชาวเบงกาลีกลัวว่า ถ้าพม่าได้เอกราชเมื่อใด ชาวเบงกาลีมุสลิมอาจได้รับผลกระทบจากการปกครองที่ไม่เป็นมิตร ดังนั้นในปี 1946 ชาวเบงกาลีมุสลิมโดยกลุ่ม Jami-atul Ulema-e Islam จึงได้ส่งตัวแทนไปเจรจากับผู้นำของแนวร่วมมุสลิมโดยเสนอให้เมือง Buthidaung, Muangdaw และเมือง Ratheedaung (คือ บริเวณวงกลมสีแดงในแผนที่ของภาพที่ 9) รวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของปากีสถานตะวันออก (คือ บังกลาเทศในปัจจุบัน) แต่อังกฤษไม่สนับสนุนข้อเสนอนี้ จึงทำให้ชาวเบงกาลีมุสลิมบางกลุ่มออกมาประกาศทำสงครามศาสนา โดยมีการจัดตั้งกองโจรขึ้นเพื่อที่จะต่อสู้กับพม่าที่กำลังได้รับเอกราช และต่อมาในปี 1946 จึงได้จัดตั้งเป็นองค์กรปลดปล่อยชาวมุสลิมหรือ Muslim Liberation Organization ขึ้น (จาก Khin Gyi Pyaw 1960 : Who Are the Mujahids in Arakan? ใน Rakhine Tazaung Magazine)

(2) ในปี 1948 องค์กร Muslim Liberation Organization ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “พรรคมูจาฮิด (Mujahid Party)” และในวันที่ 9 มิ.ย. ปีเดียวกัน องค์กรนี้ได้ยื่นข้อเรียกร้องเป็นภาษาอูร์ดู (Urdur) ต่อรัฐบาลสหภาพพม่า 7 ข้อ ดังนี้

I. พื้นที่ระหว่างฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ Kaladan และฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ Naaf จะต้องได้รับการรับรองว่าเป็นมาตุภูมิของชาวมุสลิมในพม่า(National Home of the Muslims in Burma) - น่าจะเป็นพื้นที่ในวงกลมสีแดง ตามแผนที่ในรูปที่ 10*

ภาพที่ 10 แผนที่แม่น้ำ Naf หรือ Naaf และแม่น้ำ Kaladan

*ภาพแผนที่มาจาก http://www.tourpagan.itgo.com/mrauk-u2.html ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้

II. ชาวมุสลิมในแคว้นอารากันต้องได้รับการยอมรับว่า เป็นชนชาติหนึ่งของพม่า

III. พรรค Mujahid Party ต้องได้รับรองฐานะเป็นองค์กรการเมืองตามกฎหมาย

IV. ภาษาอูร์ดูต้องได้รับการกำหนดให้เป็นภาษาชาติของคนมุสลิมในแคว้นอารากัน และจะต้องสอนภาษานี้ในโรงเรียนที่อยู่ในเขตของคนมุสลิม

V. ผู้อพยพจาก Kyautaw และ Myohaung (อาจเป็นเขตหนึ่งหรือตำบลหนึ่งในเมือง Mrauk U เพราะไม่พบในแผนที่ - ผู้เขียน)ต้องได้รับการจัดให้อยู่ในหมู่บ้านของผู้อพยพเอง โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐ

VI. ชาวมุสลิมที่ถูกคุมขังอยู่โดยกฎหมายรักษาความมั่นคงจะต้องได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข

VII. สมาชิกของพรรค Mujahid จะต้องได้รับการอภัยโทษ

ความคิดเห็นของผู้เขียน :

การเรียกชื่อกลุ่มของตนว่า “the Muslims of Arakan” และการเรียกร้องให้ใช้ภาษาอูร์ดูเป็นภาษาชาติของคนมุสลิมในแคว้นอารากัน คงมุ่งหวังเพื่อให้ชาวมุสลิมในอินเดียมีความรู้สึกร่วม และให้การสนับสนุนการดำเนินการต่างๆ ของพรรค Mujahid แต่กลับมีเรื่องแปลก คือ ข้อเรียกร้อง 7 ข้อของ Mujahid บังเอิญมีจำนวนเท่ากับข้อเรียกร้อง 7 ข้อของหะยีสุหลงที่ได้ยื่นต่อรัฐบาลไทยสมัยหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เมื่อปี 1947 เช่นกัน

(3) ต่อมาในวันที่ 15 และ 16 มิ.ย. 1951 ได้มีการจัดประชุม All Arakan Muslim Conference การประชุมครั้งนี้ได้จัดขึ้นที่หมู่บ้าน Alethangyaw หรือ Alethangaw (ไม่ได้เขียนชื่อภาษาไทยเพราะอาจไม่ถูกต้อง - ผู้เขียน) และได้มีการประกาศกฎบัตรแห่งความต้องการพื้นฐานของชาวอารากันมุสลิม (The Charter of the Constitutional Demands of the Arakani Muslims)* ซึ่งมีข้อความโดยสรุปดังนี้

“อารากันเหนือควรได้รับการจัดตั้งเป็นรัฐมุสลิมอิสระ เป็นสมาชิกที่มีฐานะเท่าเทียมกับรัฐอื่นของสหภาพพม่า เช่นเดียวกับรัฐฉาน, รัฐกระเหรี่ยง, รัฐฉิ่น, รัฐกะฉิ่น พร้อม ทั้งมีทหาร, ตำรวจ และกองกำลังรักษาความมั่นคงของตนเอง โดยอยู่ภายใต้กองบัญชาการทั่วไปของสหภาพพม่า”

*ดูแผนที่ในภาพที่ 11 - ผู้เขียน และถอดความจาก Department of Defense Service Archives, Rangoon. DR 1016/10/13

ภาพที่ 11 อารากันเหนือและเขตการปกครองในแคว้นอารากัน: Akyab, Kyaukpyu, Sandoway

*มาจากhttp://www.zum.de/whkmla/region/seasia/xarakan.html

ในเรื่องนี้ Aye Chan (2005) ผู้เขียนบทความเรื่อง The Development of a Muslim Enclave in Arakan(Rakhine) State of Burma (Myanmar) ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า :

คำว่า “โรฮิงญา หรือโรฮีนจา (Rohingya)” ที่ได้มีการนำมาใช้แทนชาวมุสลิมแห่งแคว้นอารากัน ได้ถูกนำมาอ้างเป็นครั้งแรกในบทความเรื่อง “The Sudeten Muslims” ของนายอับดุล กาฟฟาร์ (Abdul Gaffar) สมาชิกสภาจากเมือง Buthidaung ซึ่งได้เขียนลงในหนังสือพิมพ์ The Guardian Daily ของอังกฤษไว้ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 1951

5. บทสรุป

จากการตรวจสอบข้อมูลและเหตุการณ์ต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนจึงขอสรุปความเป็นมาของชาวโรฮิงญาหรือชาวโรฮีนจา ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้

5.1 ประเด็นแรก : ความเป็นมาของแคว้นอารากันหรือรัฐยะไข่

ในเรื่องนี้นอกจากหลักฐานที่เกี่ยวกับพระมหามัยมุนีที่กล่าวมาแล้ว ต่อมายังได้มีการขุดพบเหรียญต่างๆ ดังที่แสดงในรูปภาพที่ 12 จึงน่าเชื่อว่า แคว้นอารากันมีความเป็นมาในอดีตที่ใกล้เคียงกับการเริ่มต้นของการเผยแพร่พระพุทธศาสนา และยังได้รับอิทธิพลทางศิลปวัฒนธรรมต่างๆจากอินเดียมาอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

ภาพที่ 12 เหรียญเงินในศตวรรษที่ 8 ของแคว้นอารากัน*

* เหรียญเงินในสมัยกษัตริย์นิติจันทราแห่งแคว้นอารากัน Nitichandra of Arakan มีรูปแบบที่คาดว่า น่าจะได้รับอิทธิพลจากอินเดีย ปัจจุบันอยู่ที่ British Museum โดยจะมีพระนามกษัตริย์ด้านหนึ่งของเหรียญ อีกด้านของเหรียญจะเป็นสัญลักษณ์ของพระอาทิตย์และพระจันทร์ (ภาพมาจาก https:// en.wikipedia.org/ wiki /Rakhine_people)

5.2 ประเด็นที่สอง : ชาวโรฮิงญา หรือโรฮีนจาเป็นใคร และมาจากที่ใด

จากหลักฐานและเหตุการณ์ต่างๆ ที่กล่าวมา จึงสรุปได้ว่า มุสลิมที่อพยพเข้ามาในแคว้นอารากัน จะมาจากหลายภูมิภาค และในหลายช่วงเวลา (ไม่รวมคนอินเดียฮินดู) ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มมุสลิมที่อพยพเข้ามาอยู่ในแคว้นอารากันก่อนที่อังกฤษจะเข้ามาปกครองในปี 1826 และกลุ่มมุสลิมที่อพยพเข้ามาอยู่ในอารากันภายหลังปี 1826 ซึ่งคนกลุ่มนี้ควรจัดอยู่ในกลุ่มคนที่เรียกว่า ชาวโรฮิงญา หรือโรฮีนจา นั่นเอง

5.2.1 กลุ่มมุสลิมกลุ่มแรก เป็นคนมุสลิมที่อพยพเข้ามาในแคว้นอารากันก่อนปี 1826 ซึ่งจะอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า ชาวอารากันมุสลิม (Arakan Muslim) หรือมุสลิมกลุ่มเก่ามี 4 พวก ได้แก่

(1) ทหารเบงกอลที่เข้ามาช่วยเหลือกษัตริย์ Min Saw Mon ให้กลับมามีอำนาจปกครองแคว้นอารากัน ในปี 1826

(2) ชาวเบงกอลหรือเบงกาลีที่ถูกกวาดต้อนมาขายเป็นทาสในแคว้นอารากันในสมัยราชวงศ์มรัคอู (Mrauk U)

(3) คนมุสลิมจากอินเดีย และจากภูมิภาคอื่นๆ ที่เข้ามาทำการค้าขายในแคว้นอารากัน ซึ่งจะมีชื่อเรียกว่า Kaman คนกลุ่มนี้และผู้ที่สืบเชื้อสายยังคงตั้งรกรากอยู่ที่เมือง Ramree ทางใต้ของแคว้นอารากัน

(4) คนมุสลิมที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ในราชสำนักของราชวงศ์มรัคอู (Mrauk U)

5.2.2 กลุ่มมุสลิมกลุ่มที่สอง เป็นคนมุสลิมที่อพยพเข้ามาในแคว้นอารากันหลังปี 1826 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเมืองจิตตะกองที่อยู่ในรัฐเบงกอล คนกลุ่มนี้จะอพยพเข้ามาภายหลังจากที่แคว้นอารากันได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษเพื่อเข้ามาทำงานด้านการเกษตรและด้านต่างๆ ในแคว้นอารากัน และการอพยพของชาวจิตตะกองมุสลิมได้ทำให้กลุ่มคนมุสลิมในแคว้นอารากันเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว (จากการประมาณการตามตารางที่ 1 - ผู้เขียน) โดยในตารางที่ 1 ซึ่งเป็นรายงานประชากรปี 1871, 1901, และ 1911 ในเขต Akyab ซึ่งอยู่ตอนเหนือของอารกัน จะพบว่า จำนวนคนมุสลิมจากปี 1871 ถึง ปี 1911 จะมีอัตราการเปลี่ยนแปลงเพิ่มสูงขึ้นถึง
206.67% (ดูแผนที่เขตการปกครอง Akyab ในภาพที่ 11)

การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของชาวจิตตะกองมุสลิมในอารากัน มีสาเหตุ ดังนี้

(1) ชาวจิตตะกองในรัฐเบงกอลได้รับการชักจูงจากฝ่ายบริหารของอังกฤษในอินเดียให้อพยพไปทำงานในแคว้นอารากันเพราะอังกฤษต้องการแรงงานจำนวนมากไปทำงานภาคการเกษตรในอารากัน เพราะชาวอารากันส่วนใหญ่ได้หลบหนีพม่าไปในช่วงที่พม่าเข้าปกครองแคว้นอารากันตั้งแต่ปี 1784

(2) การที่อังกฤษได้ให้ชาวจิตตะกองเช่าที่ดินในระยะยาวนาน 90 ปี ได้กระตุ้นให้ชาวจิตตะกองที่อยู่ในรัฐเบงกอล ต้องการอพยพเข้ามาแสวงหาพื้นที่ทำการเกษตรในแคว้นอารากันเป็นจำนวนมาก ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลในตารางที่ 1*

*ข้อมูลมาจาก R.B.Smart, Burma gazetteer: Akyab District, Vol.(A),1957

ตัวเลขสีแดงคือ จำนวนผู้อพยพที่เป็นมุสลิม



ความคิดเห็นของผู้เขียน

ข้อมูลในตารางที่ 1 ได้ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มมุสลิมใหม่ คือ ชาวจิตตะกองมุสลิมที่อพยพเข้ามาในแคว้นอารากันหลังจากปี 1826 ได้มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มมุสลิมเก่าในอดีตที่ได้อพยพเข้ามาในสมัยราชวงศ์มรัคอู ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า กลุ่มคนมุสลิมในแคว้นอารากันส่วนใหญ่จะเป็นมุสลิมใหม่ที่มาจากเมืองจิตตะกอง (ที่อยู่ในบังกลาเทศในปัจจุบัน)

อาจมีข้อสงสัยต่อมาว่า แล้วชาวโรฮิงญา มาจากไหน คำว่า “โรฮิงญา หรือโรฮีนจา” ได้ปรากฏครั้งแรกในปี 1951 จากบทความเรื่อง The Sudeten Muslims ซึ่งเขียนโดย นายอับดุล กาฟฟาร์ (Abdul Gaffar) สมาชิกสภาจากเมือง Buthidaung (คงเป็นชาวจิตตะกองมุสลิม) ฉะนั้นการที่นายอับดุลได้ใช้คำว่า โรฮิงญา แทน ชาวจิตตะกองมุสลิม คงเป็นเพราะเหตุผลดังนี้

(1) การใช้คำว่า “โรฮิงญา” แทนคนมุสลิมทั้งหมดในแคว้นอารากัน จะทำให้ครอบคลุมมุสลิมทุกกลุ่มที่อพยพเข้ามาในอารากัน จะทำให้ได้ปริมาณคนมุสลิมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองทางการเมืองให้มีน้ำหนักมากขึ้น

(2) ถ้าใช้คำว่า “ชาวจิตตะกองมุสลิม” ก็จะยิ่งทำให้ดูเหมือนเป็นคนต่างด้าวที่อพยพเข้ามาอยู่ในอารากัน มากกว่าที่จะเป็นคนที่ได้ตั้งรกรากในพื้นที่มานาน ซึ่งจะทำให้อำนาจต่อรองทางการเมืองอาจลดต่ำลงไป

(3) แล้วทำไมไม่ใช้คำว่า “ชาวอารากันมุสลิม” ผู้เขียนเชื่อว่า นายอับดุล กาฟฟาร์และกลุ่มชาวจิตตะกองมุสลิมคงรู้ตัวเองดีว่า พวกตนไม่ได้เป็นชาวอารากัน และบรรพบุรุษของพวกตนก็เพิ่งอพยพเข้ามาที่อารากันได้ไม่นานนัก (ไม่น่าจะเกิน 1 ชั่วคน) และถ้าใช้คำนี้ก็อาจจะไปสอดคล้องกับกลุ่มมุสลิมเก่าที่อพยพเข้ามาในอดีตนานแล้ว แต่จะไม่ครอบคลุมมุสลิมกลุ่มอื่นๆ
 
ด้วยเหตุนี้จึงต้องสร้างชนชาติใหม่ขึ้นมา ซึ่งก็คือ โรฮิงญา หรือ โรฮีนจา นั่นเอง

ท้ายบทความ

ต้องขออภัยผู้อ่านทุกท่านที่หายไปนาน เนื่องจากมีเรื่องต่างๆ เข้ามาพร้อมๆ กันก็เลยต้องขอเวลาจัดการอยู่หลายวันกว่าจะว่างเขียนบทความเรื่องนี้ ซึ่งมีหลายท่านสอบถามกันมาใน FB และหวังว่าทุกท่านคงมีความคิดเห็นและคำถามเช่นเคย กรุณาส่งมาที่ udomdee@gmail.com และ FB: วีระศักดิ์ นาทะสิริ ได้ตลอดเวลา และขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น