ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หากเปรียบข่าวเกรียวกราวเกี่ยวกับศึกสายเลือดในตระกูล “โตทับเที่ยง” แห่งเมืองตรังเป็นเหมือนภาพยนตร์ ต้องเป็นหนังบู๊ ที่มากท่วงท่ากำลังภายใน แม้จะไม่มีเลือดท่วมจอ แต่ก็เร้าอารมณ์ชวนให้ติดตามชมอย่างต่อเนื่อง และน่าจะเป็นซีรีส์ยาวแสนยาว ซึ่งยังคาดเดาไม่ได้ว่าฉากจบ จะลงเอยกันแบบผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ หรือหันมากอดรัดฟัดเหวี่ยงกันได้ในสไตล์พี่ๆ น้องๆ
ถือเป็นหนังแนวดรามาที่แค่ฉากเปิดเรื่องก็ตื่นตาตื่นใจเลยทันที เพราะจู่ๆ 28 พ.ค.2558 ที่ผ่านมาก็เกิดข่าวใหญ่ว่า สุธรรม โตทับเที่ยง พี่ชายคนโตของตระกูลมีหนังสือถึงน้องชายคนที่ 3 สุรินทร์ โตทับเที่ยง ห้ามมิให้เขาและครอบครัวใช้นามสกุลนี้อีกต่อไป เนื้อหาในหนังสือมีสาระสำคัญคือ
“ด้วยข้าพเจ้า นายสุธรรม โตทับเที่ยง เจ้าของนามสกุล โตทับเที่ยง และพี่น้องลูกหลานที่ได้รับอนุญาตให้ใช้นามสกุล โตทับเที่ยง มาตั้งแต่ พ.ศ.2514 ที่ผ่านมา พี่น้องผู้ร่วมใช้นามสกุลมีความสุขความเจริญมาจนมีลูกหลาน 3 ช่วงอายุคนมาแล้ว…
“จวบจนประมาณปี 2556 นายสุรินทร์กับพวกได้กระทำการอันเป็นปรปักษ์กับการที่พี่น้องผู้เกิดร่วมท้องร่วมใช้นามสกุล โตทับเที่ยง ทำให้พี่น้องเดือดร้อน ถูกดูถูกเกลียดชังจากผู้ที่ได้รู้เห็นปัญหาที่นายสุรินทร์กับพวกได้ก่อให้เกิดขึ้น ความรักและความปรองดองในหมู่พี่น้องต้องถูกทำลายมากมาย...
“ด้วยเหตุและผลดังได้แถลงมาแล้ว ข้าพเจ้าและเครือญาติทุกคน จึงมีมติห้ามมิให้นายสุรินทร์และครอบครัวสายตรงของนายสุรินทร์ใช้นามสกุล โตทับเที่ยง นับแต่วันประกาศนี้เป็นต้นไป และข้าพเจ้าจะได้ดำเนินการตามสิทธิเพื่อเพิกถอนการใช้นามสกุล โตทับเที่ยง ของนายสุรินทร์และครอบครัวสายตรงของนายสุรินทร์ ต่อไป”
นอกจากนี้สุธรรมยังได้ยื่นคำขาดให้สุรินทร์และครอบครัวเปลี่ยนนานสกุลภายใน 7 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือ ในตอนท้ายมีการลงชื่อ สุธรรม โตทับเที่ยง ประกาศเมื่อวันที่ 25 พ.ค.2558
จากนั้นก็กลายเป็นข่าวบานปลายขยายวงต่อเนื่องมา โดย 28 พ.ค.2558 สุธี ผ่องไพบูลย์ ทนายความที่ได้รับมอบหมายจากสุรินทร์ได้ทำหนังสือตอบกลับถึงสุธรรมเรื่องการใช้สิทธิ์ไม่สุจริตว่า
“ตามที่ท่านได้มีหนังสือถึง คุณสุรินทร์ โตทับเที่ยง ระบุว่า คุณสุรินทร์ได้ทำการเป็นปรปักษ์กับท่านและพี่น้องร่วมใช้นามสกุลโตทับเที่ยง ท่านและพี่น้องร่วมสายโลหิตจึงได้มีมติร่วมกันว่า ไม่ประสงค์ให้คุณ สุรินทร์และครอบครัวสายตรงใช้นามสกุล โตทับเที่ยง อีกต่อไป ขอให้เปลี่ยนการใช้นามสกุลโตทับเที่ยงภายใน 7 วัน นับตั้งแต่ที่ได้รับหนังสือ ดังรายละเอียดปรากฏตามหนังสือของท่านที่อ้างถึงนั้น...
“ข้าพเจ้าในฐานะทนายความผู้รับผิดชอบอำนาจจากคุณสุรินทร์ โตทับเที่ยง ขอเรียนให้ทราบว่า คุณสุรินทร์ โตทับเที่ยง ขอปฏิเสธข้อกล่าวอ้างตามหนังสือของท่านที่ระบุว่า คุณสุรินทร์กระทำการเป็นปรปักษ์กับท่านและพี่น้องร่วมใช้นามสกุล ทั้งนี้คุณสุรินทร์ขอเรียนยืนยันมายังท่านและพี่น้องร่วมใช้นามสกุลทุกคนว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคุณสุรินทร์ได้กระทำในสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อปกป้องธุรกิจที่ครอบครัวโตทับเที่ยงมีส่วนเกี่ยวข้อง กับทั้งให้เกียรติและเคารพรักพี่น้องร่วมสายโลหิตทุกคนมาโดยตลอด ดังนั้นคุณสุรินทร์จึงไม่อาจยอมรับต่อข้อร้องเรียนของท่าน…
“อนึ่ง คุณสุรินทร์ทราบมาว่า ได้มีการนำจดหมายฉบับที่อ้างถึงเผยแพร่ต่อพนักงานของบริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) และบุคคลทั่วไปอย่างกว้างขวาง ทั้งเป็นการเผยแพร่โดยใช้เอกสาร และเป็นการนำข้อความเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ในประการที่ทำให้คุณสุรินทร์และครอบครัวเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง คุณสุรินทร์จึงขอให้ท่านและผู้เกี่ยวข้องยุติการดำเนินการในทันที มิฉะนั้นข้าพเจ้าก็มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินคดีตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญากับท่านและผู้เกี่ยวข้องต่อไป”
ไม่เพียงเท่านั้น สุธียังชี้แจงกับผู้สื่อข่าวด้วยว่า 29 พ.ค.2558 สุรินทร์ได้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับสุธรรมและพวก ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาไว้ที่ สน.สมเด็จเจ้าพระยา ที่กรุงเทพฯ แล้ว
จากนั้นเป็นต้นมาสังคมก็ได้รับรู้ว่า แท้จริงแล้วรอยร้าวลึกที่นำมาสู่การเปิดศึกสายเลือด เรื่องการห้ามใช้ชื่อสกุลเป็นประเด็นประกอบเท่านั้น แต่แก่นแกนความขัดแย้งแบ่งขั้วคนในตระกูลจริงๆ เกิดจากการแย่งชิง “สมบัติกงสี”
หลังเปิดศึกชิงสกุลก็ตามด้วยการห้ำหั่นในชั้นเชิงการแสดงตัวเป็นเจ้าของเพื่อครอบครองธุรกิจต่างๆ ในกงสี มีการหักเหลี่ยมเฉือนคมแทบไม่ต่างจากฉากในหนังจีนฮ่องกง
ฝ่ายสุรินทร์กล่าวหาว่าฝ่ายสุธรรมกับพี่น้องคนอื่นๆ บริหารธุรกิจไม่โปร่งใส จนนำไปสู่การขาดทุน โดยเฉพาะ บมจ.ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาลเคยรุ่งเรืองอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แต่หลายสิบปีมานี้กลับถูกแขวนป้าย SP และ Non Performing Group (NPG) ซึ่งเขาและลูกๆ ต้องเสียสละเข้าไปฟื้นฟูเรียกความเชื่อมั่นคืน และสามารถทำจนกำลังจะได้นำหุ้นกลับไปซื้อขายในตลาดได้อีกครั้งแล้ว
ขณะที่ฝ่ายสุธรรมและพี่น้องคนอื่นๆ กล่าวหาฝ่ายสุรินทร์ว่ากำลังร่วมมือกับลูกๆ เดินเกมฮุบธุรกิจกงสี โดยเฉพาะ บมจ.ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล เครือโรงแรมธรรมรินทร์ รวมทั้งกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้สร้างความปั่นป่วนไม่เฉพาะในกลุ่มพี่น้องและครอบครัวเท่านั้น ยังรวมถึงพนักงานบริษัทในกงสี ถึงขั้นฟ้องร้องในศาลแล้วก็มี
ต่อมา 4 มิ.ย.2558 สุธรรมกับ สลิล โตทับเที่ยง น้องชาย พร้อมด้วยฝ่ายเขยและคนในตระกูลที่มีส่วนได้เสียในธุรกิจกงสีบุกขึ้นที่ว่าการอำเภอเมืองตรัง เพื่อเดินเรื่องให้ถอนสิทธิ์การใช้นามสกุลโตทับเที่ยงของสุรินทร์และครอบครัว ซึ่งทางนันธวัช เจริญวรรณ นายอำเภอชี้แจงว่า กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจนายทะเบียนยกเลิกการใช้นานสกุลใครได้ จึงได้แต่รับเรื่องและมีเอกสารรับรองให้ ซึ่งสามารถนำไปประกอบหลักฐานอื่นๆ ฟ้องรองต่อศาลได้
ไม่เพียงเท่านั้น หลังลงจากอำเภอยังได้ให้สลิลนำคณะผู้สื่อข่าวไปแถลงโรงแรมธรรมรินทร์ ธนา ธุรกิจกงสีกลางเมืองตรัง แต่กลับถูกนายภิญโญ เต็งรัง ผู้จัดการโรงแรมห้ามใช้สถานที่ โดยให้เหตุผลว่าเป็นคำสั่งของสุรินทร์ไม่ให้พี่น้องหรือลูกหลานฝ่ายสุธรรมไปวุ่นวายหรือทำกิจกรรมใดๆ นอกจากเข้าไปใช้บริการในฐานะลูกค้าได้เท่านั้น
ล่าสุด 8 มิ.ย.2558 สุรินทร์จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการ บมจ.ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล แล้วมีมติให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2558 อังคารที่ 14 ก.ค.2558 เวลา 11.00 น. ที่สำนักงานในกรุงเทพฯ โดยให้มีวาระสำคัญคือ การขออนุมัติต่อที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นให้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต่อธนาคาร โดยแปลงหนี้เป็นทุน เพื่อให้พ้นจากการแขวนป้าย SP และ NPG ในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้หุ้นบริษัทกลับไปเทรดได้อีกหน
ทั้งนี้ทั้งนั้น การแจ้งความที่นำไปสู่คดีในศาลของคนในตระกูลโตทับเที่ยง อันเนื่องจากการออกหนังสือห้ามใช้สกุลเดียวกันในครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการค้าคดีความกันหนแรก เพราะมีคนในตระกูลออกมายอมรับแล้วว่า ที่ผ่านมาทั้ง 2 ฝ่ายเคยฟ้องร้องกันมาก่อนทั้งคดีแพร่งและอาญารวมแล้วกว่า 10 คดี
อีกทั้งความขัดแย้งระหว่างพี่น้องก็ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แม้ไม่ปรากฏเป็นข่าวมาก่อน แต่คนก็ตรังระแคะระคายเรื่องนี้มานานปี ก่อนเป็นข่าวครึกโครมก็มีเหตุการณ์ที่ชี้ว่าน่าจะถึงเวลาแตกหักของคนในตระกูลโตทับเที่ยงเสียทีก็คือ การที่สลิลผู้ซึ่งเป็นน้องชายที่สุรินทร์เองผลักดันให้นั่งประธานหอการค้าจังหวัดตรังมาตั้งแต่ปี 2546 ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งช่วงเดือน ก.พ.2558 แบบที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
แล้วตามด้วยเหตุการณ์ที่สลิล จัดให้มีการส่งผ่านตำแหน่งประธานหอการค้าจังหวัดตรังไปให้แก่ พิชัย มานะสุทธิ์ ผู้บริหารบริษัท โตโยต้าเมืองตรัง จำกัด ผู้มีฐานะเป็นน้องเขยตนเอง เมื่อครั้งประชุมใหญ่สามัญประจำปีหอการค้า 26 มี.ค.2558 แม้พิชัยจะเป็นน้องเขยของสุรินทร์ด้วย แต่ถือว่ายืนอยู่ฝ่ายตรงข้าม
สำหรับ “โตทับเที่ยง” นับเป็นตระกูลเจ้าสัวมากบารมีแห่งเมืองตรัง ต้นกำเนิดสาแหรกคือ “โต๋ว ง่วน เตียง” กับ “ยิ่ง แซ่โต๋ว” ชาวจีนแต้จิ๋วที่ต่างอพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ แล้วสวรรค์จัดสรรให้พบปะแต่งงานกัน เริ่มอาชีพค้าขายของชำในตลาดทับเที่ยง ขายทุกสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันอย่างข้าวสาร ปลาเค็ม ตะปูยันลวดหนาม และยังค้าส่งข้ามจังหวัดถึงสตูล กระบี่และนครศรีธรรมราช เป็นต้น
ทั้งคู่มีลูกด้วยกันถึง 10 คนคือ 1.สุธรรม 2.สุพัตรา สินสุข (โตทับเที่ยง) เสียชีวิตแล้ว 3.สุรินทร์ 4.จุรีย์ สัมพันธวรบุตร (โตทับเที่ยง) 5.สวัสดิ์ โตทับเที่ยง เสียชีวิตแล้ว 6.จุฬา หวังศิริเลิศ (โตทับเที่ยง) 7.เลอลักษณ์ หรือ จุรัตน์ มะนะสุทธิ์ (โตทับเที่ยง) 8.สลิล 9.น.ส.สุนีย์ โตทับเที่ยง และ 10.น.ส.สิริพร โตทับเที่ยง
ชื่อสกุล “โตทับเที่ยง” ก็มีเบื้องหลังและมากความหมาย ซึ่งสลิลเคยบอกเล่าไว้ว่า คำว่า “โต” มาจาก “โต๋ว” ชื่อของพ่อและชื่อแซ่ของแม่ แต่กร่อนเสียงให้เข้ากับภาษาไทย ในอีกความหมายคือ เติบโต ซึ่งก็รับกับคำว่า “ทับเที่ยง” อันเป็นสถานที่ใช้เรียกขานชื่อเมืองสมัยก่อน ซึ่งก็คือที่ตั้งของเมืองตรังปัจจุบัน
ที่มีการอ้างเป็นเจ้าของนามสกุลก็เนื่องจาก สุธรรม แซ่โต๋ว เป็นคนเดินเรื่องที่อำเภอเมืองตรังขอใช้ชื่อสกุล “โตทับเที่ยง” มีผลเมื่อ 18 ก.พ.2514 และมีประกาศไว้ในหนังสือของอำเภอฉบับที่ 3 เล่มที่ 240/2514 ส่วน สุรินทร์ แซ่โต๋ว ได้ตามไปทำเรื่องขอใช้ชื่อสกุลนี้หลังจากนั้นกว่าเดือน โดยเป็นผลเมื่อ 26 มี.ค.2514
สำหรับธุรกิจกงสีโตทับเที่ยง ประกอบด้วย บมจ.ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล เจ้าของปลากระป๋องปุ้มปุ้ยและปลายิ้ม, บริษัท ตรังชัวร์ จำกัด ผู้ผลิตปลาบดและอาหารทะเลแช่แข็ง, บริษัท ตรังแคนเนอร์รี่ จำกัด ผลิตและจำหน่ายกระป๋อง, บริษัท โรงแรมธรรมรินทร์ จำกัด เจ้าของโรงแรมหลายแห่ง, บริษัท ตรังทราเวล จำกัด ธุรกิจท่องเที่ยว, บริษัท โตโยต้าเมืองตรัง จำกัด, บริษัท กว้างโฮลดิ้ง จำกัด, บริษัท โตโฮลดิ้ง จำกัด, บริษัท กว้างไพศาลโฮลดิ้ง จำกัด และมีบริษัทธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อาทิ โครงการเอสวันเอวินิว, หมู่บ้านธนากาเดนส์, หมู่บ้านไทยทอง และอีกหลายโครงการ รวมถึงธุรกิจตลาดสดยิ่งดี สวนยางอีกหลายร้อยไร่ และอื่นๆ อีกมากมาย
ความจริงแล้ว บมจ.ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาลถือเป็นต้นธารสายหลักที่หล่อเลี้ยงให้ก่อเกิดธุรกิจอื่นๆ มีจุดกำเนิดจากคน 2 คน ซึ่งจากคำบอกเล่าของ ไกรเสริม โตทับเที่ยง บุตรชายคนที่ 2 ของสุธรรมระบุว่า สุธรรมกับอาเขยคือ สมศักดิ์ สินสุข ผู้เป็นทั้งเพื่อนและน้องเขยในฐานะสามีสุพัตราน้องสาวคนที่ 2 ได้ร่วมกันปลุกปั้นขึ้นเมื่อ 1 พ.ย.2522
สุรินทร์เข้าร่วมบริหารบริษัทนี้ก็ช่วงที่รุ่งเรืองแล้ว หลังจากสมศักดิ์เสียชีวิตจึงได้ไปเสริมกำลัง ซึ่งก็ทำได้ดีในด้านประชาสัมพันธ์และตลาด เพราะมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับสื่อ โดยเฉพาะกับช่อง 7 สีที่สมัยนั้นอยู่ยอดของคลื่นทีวี จึงหนุนส่งแบรน “ปุ้มปุ้ย” และ “ปลายิ้ม” ให้ยิ่งเป็นที่รู้จักกว้างขวาง อีกทั้งมีการเพิ่มประเภทสินค้าและแบรน จากปลากระป๋องสู่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “กุ๊งกิ๊ง” และ “ยูมี” เป็นต้น
จากทุนจดทะเบียนเริ่มต้นแค่ 2 ล้านบาท ได้ปะแป้งแต่งตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2538 พร้อมเพิ่มทุนเป็น 135 ล้านบาท แต่พอช่วงหลังเศรษฐกิจตกต่ำทั้งระบบ บมจ.ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาลก็ได้รับผลกระทบไปด้วย เป็นผลให้หุ้นในตลาดถูกแขวนต่อเนื่องมานับ 10 ปี ซึ่งสุรินทร์ก็คือกำลังหลักที่เข้ากอบกู้และฟื้นฟูกิจการ
ด้านเครือโรงแรมธรรมรินทร์ก็เป็นการปลุกปั้นร่วมกันของสุธรรมกับสุรินทร์ สังเกตได้จากชื่อหลังของคนทั้ง 2 ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อโรงแรม แต่ก็ต้องยอมรับว่าดังติดตลาดได้ก็อาศัยคอนเนกชันของสุรินทร์ โดยเฉพาะบทบาทในสภาหอการค้าไทยและประธานหอการค้าจังหวัดตรัง ซึ่งได้จัดกิจกรรมบูมท่องเที่ยวมากมาย เช่น เทศกาลหอยตะเภา หมูย่าง เค้กตรัง ประเพณีกินเจ วิวาห์ใต้สมุทร หรือแม้กระทั่งผักดันให้ใช้เมืองตรังเป็นสถานที่เก็บตัวผู้ประกวดนางสาวไทยได้ถึง 3 ปีซ้อน เป็นต้น
อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าภายหลังเศรษฐกิจซบเซา หลายธุรกิจในเครือกงสีโตทับเที่ยงก็กระทบด้วย สุรินทร์ยังคือคีย์หลักที่ช่วยดูแลฟื้นฟูกิจการเรื่อยมา
ทว่าตั้งแต่ปี 2556 เริ่มมีภาพที่ชัดว่าสุรินทร์และลูกอีก 4 คน ได้แก่ ขิมพริ้ง ซอง ไกรสิน โตทับเที่ยง กรพินธุ์ โตทับเที่ยง และ ไกรฤทธิ์ โตทับเที่ยง ได้แทรกซึมเข้าถือหุ้นใหญ่และเข้าบริหารบริษัทต่างๆ ของกงสีเกือบทั้งหมด จากนั้นก็มีการปลด จุรีย์ น้องสาวคนที่ 4 พ้นผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน ปลด สลิล น้องชายคนที่ 8 พ้นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รวมทั้งปลดหลานๆ และสุดท้ายยังปลด สุธรรม พี่ชายคนโตของตระกูลด้วย
ว่ากันว่า นั่นถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้พี่ๆ น้องๆ อีก 9 ครอบครัวภายใต้การนำของสุธรรมต้องลุกขึ้นปฏิบัติการตอบโต้ จนนำมาสู่การฟ้องร้องระหว่างกันนับ 10 คดี แล้วประกาศห้ามสุรินทร์และครอบครัวใช้ชื่อสกุลเดียวกันดังกล่าว
กล่าวสำหรับสุรินทร์เวลานี้ยังนั่งเป็นประธานกรรมการบริหารหลายบริษัทในเครือกงสี ซึ่งก็ค่อยๆ ผ่องถ่ายให้กับลูกทั้ง 4 และยังเป็นประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าจังหวัดตรัง มีบทบาทในหอการค้าไทย เขาคือนักธุรกิจที่เป็นที่เชิดหน้าชูตาของคนตรัง เคยหนุนเนื่องพรรคประชาธิปัตย์ แต่เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นแท่นการเมืองไทย เขาก็ไม่รีรอที่จะส่ง ไกรสิน ลูกชายหัวแก้หัวแหวนลงสมัคร ส.ส.ตรังภายใต้ปีกโอบของระบอบทักษิณ ส่วนหนึ่งอาจวาดหวังเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งการเมืองไว้ช่วยเกื้อหนุนธุรกิจ แต่ลูกเขาก็สอบตกทุกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ก็คงต้องจับตาไปที่อังคารที่ 14 ก.ค.2558 ที่จะมีประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2558 ของ บมจ.ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล ซึ่งไม่ใช่แค่พิสูจน์ว่าสุรินทร์จะผลักดันให้ปลดป้าย SP และ NPG ของตลาดหลักทรัพย์ลงได้สำเร็จหรือไม่ แต่ยังจะเป็นการพิสูจน์พลังฝ่ายเขาและลูกๆ ทั้ง 4 ว่าจะครอบครองธุรกิจกงสีของตระกูลได้หรือไม่ด้วย
แท้จริงแล้ว 14 ก.ค.2558 นี้น่าจะเป็น “จุดไคลแม็กซ์” ในภาคแรกของหนังยาวเรื่อง “ศึกสายเลือด..โตทับเที่ยง” ก็ว่าได้ ซึ่งก็จะมีตอนต่อๆ ไปตามมาอีกยาวเหยียดแน่นอน!?