xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

น้ำท่วมซ้ำซาก อย่าด่า “ชายหมู” กรู LIKE ไม่ทัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ขณะกำลังเปิดอุโมงค์ยักษ์เพื่อระบายน้ำท่วม ซึ่งนับตั้งแต่มหาอุทกภัยปี 2554 มาจนถึงล่าสุดเมื่อวันที่  8 มิถุนายน 2558 ก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะช่วยอะไรได้มากนัก
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เช้ามืดของของวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นอีกวันที่สถานการณ์ในเมืองกรุงเข้าขั้นโกลาหลวุ่นวาย นอกจากจะเป็นเช้าวันจันทร์ที่มีปัญหาการจราจรอยู่เป็นทุนเดิมแล้ว ช่วงกลางดึกถึงเช้าวันนั้นก็ยังมีพายุฝนตกลงมาอย่างหนักต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 7 ชั่วโมง

จากกรุงเทพฯเมืองฟ้าอมร ก็กลายเป็นเมืองบาดาลในบันดล

ภาพความทุลักทุเลของคนกรุงที่เดินทางไปทำงาน หรือทำภารกิจต่างๆ ถูกแชร์ผ่านสังคมออนไลน์กันอย่างพร้อมเพรียง แจ้งสภาพการจราจรที่เข้าขั้นอัมพาต โดยเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจอย่าง ถ.พระราม 4 และ ถ.สุขุมวิท กันแบบรัวๆ รวมไปถึงหลายโรงเรียนต้องประกาศหยุดเรียนเป็นกรณีพิเศษ
         
   พร้อมๆกับเสียงเรียกหา “คุณชายหมู - ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ผู้ว่าฯกทม.กระหึ่มโซเชียลมีเดีย

และก็กลายเป็น “ตลกร้าย” เมื่อมีการเปิดเผยว่า “ชายหมู” ไม่อยู่เมืองไทย แต่ติดภารกิจสำคัญในการเดินทางไปดูงาน “ระบบป้องกันน้ำท่วม” ไกลถึงเมืองรอตเตอร์ดัม ประเทศฮอลแลนด์ ระหว่างวันที่ 6-12 มิ.ย.

ขณะเดียวกัน “ทีมงานเสาชิงช้า” ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจใช้ช่องทางเฟซบุ๊กอัพเดทสถานการณ์ และภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต่างๆ ทั้งการเก็บกวาดขยะที่กีดขวางทางระบายน้ำ รวมไปถึงการช่วยเหลือ รถยนต์ที่ดับกลางท้องถนนหลายกรณี

ที่สำคัญไม่ลืมที่จะย้ำว่า “ชายหมู” โทรทางไกลสั่งการแก้ปัญหาตลอดเวลา

พายุฝนเมื่อเช้ามืดของวันที่ 8 มิ.ย. ถือเป็นฝน “ห่าแรก” ของฤดูกาลก็ว่าได้ เพราะก่อนหน้านั้นมีเพียงฝนตกบ้างประปรายท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าวมาหลายเดือน แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า กทม.ภายใต้การบริหารของ “ชายหมู” ไม่ได้มีการเตรียมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างที่คุยโวไว้คำโต ไม่มีการเตรียมการขุดลอกท่อระบายน้ำ หรือเตรียมความพร้อมในการระบายน้ำไว้ก่อนเลย ทั้งที่กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเข้าสู่ช่วงฤดูฝนอย่างเป็นทางการไปตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา

ทำให้สังคมอดตั้งคำถามไปถึงความคุ้มค่าของงบประมาณมากกว่า 500 ล้านบาทที่ กทม.จัดสรรไว้สำหรับยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ ประจำปี 2558 หรือเงินภาษีนับหมื่นๆล้านที่จมไปกับ “อุโมงยักษ์” อันน่าภาคภูมิในของ กทม.ในยุค “สุขุมพันธุ์” อีกด้วย ซึ่งชาวเน็ตส่วนใหญ่ก็เหน็บแนมว่าเงินจำนวนมหาศาลที่ว่า คงทำได้เพียงพิธีจุดธูปไล่ฝน-ไล่น้ำอย่างที่ “ชายหมู” เคยทำเมื่อสมัยมหาอุทกภัยปี 2554

ที่สำคัญก่อนหน้านี้เมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาก็เคยเกิดเหตุการณ์พายุหลงฤดูกระหน่ำใส่ กทม.ติดต่อกันหลายวัน จนเกิดสถานการณ์คล้ายกับเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 8 มิ.ย.มาแล้ว จนเป็นที่มาของวาทะเด็ดที่ไม่น่าเชื่อว่าจะหลุดออกมาจาก “สุขุมพันธุ์” ที่คนกรุงแห่กาบัตรเลือกตั้งเทคะแนนให้เป็นประวัติการณ์มากกว่า 1.25 ล้านเสียง จนได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม. 2 สมัยที่ว่า “ผมไม่ใช่เทวดาที่จะรู้ว่า จะเกิดน้ำท่วมอีกหรือไม่”

ตลอดจนวาทะที่ตราตรึงในคนกรุงมากที่สุดอย่าง “กรุงเทพฯ เป็นเมือง น้ำเป็นเมืองฝน ไม่มีจุดเสี่ยงเลยไม่ได้ ถ้าไม่มีน้ำท่วม ต้องไปอยู่บนดอย”

เท่านั้นแหละ...ก็เกิดปฏิกิริยาสะท้อนกลับจากสังคมที่รุนแรงมากเป็นประวัติการณ์ครั้งหนึ่ง มีการโพสต์ข้อความต่อว่า “ชายหมู” อย่างสาดเสียเทเสีย ไล่ให้ตัวคนพูดไปอยู่บนดอยแทน หรือขนาดกองเชียร์ประชาธิปัตย์อย่าง “เสรี วงษ์มณฑา” ก็ยังตำหนิอาการ “สำราก” ของ “สุขุมพันธุ์” อย่างไม่มีชิ้นดี

สุดท้ายก็เป็น “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ต้องออกมาขอโทษขอโพยคน กทม.ที่คนในสังกัดพูดจาให้เกิดความไม่พอใจ และออกตัวแทนว่า อาจจะพูดออกมาเพราะเหนื่อยและเครียดจากการทำงาน

ส่วน “ชายหมู” ได้แต่ออกมาบอกว่า “เค้า..ล้อเล่น”

ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเมื่อเดือน มี.ค. หรือที่เพิ่งเกิดสดๆร้อนๆ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ก็ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมาย เพราะ “ชายหมู” ย่อมมีประสบการณ์ว่าตลอด 6 ปีในตำแหน่ง “พ่อเมือง” เรื่องใหญ่ที่เกิดขึ้นหนีไม่พ้นน้ำท่วม และการระบายน้ำ

หรืออย่างเหตุที่เกิดเมื่อเดือน มี.ค.นั้น ก็เป็น “บิ๊กตู่ - ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่สั่งการผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับมือพายุฤดูร้อน โดยเฉพาะ กทม.ให้ติดตามตรวจสอบระบายน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา

ซึ่ง “บิ๊กตู่” ก็ไม่ใช่เทวดาที่จะหยั่งรู้ฟ้าดินเช่นเดียวกับ “ชายหมู” แต่เป็นการสั่งการตามรายงานพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา

ผ่านไปไม่ทันไรก็เกิดฝนหลงฤดูครั้งใหญ่ จนทำให้เมืองกรุงเป็นเมืองบาดาล ซึ่งชี้ชัดว่า กทม.ทำงานเชิงรับ ไร้ความสามารถในการรับมือกับปัญหา ทั้งที่รับรู้สถานการณ์ล่วงหน้า จน “บิ๊กตู่” ต้องออกมาบ่นดังๆว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร ทั้งที่บอกล่วงหน้าไปแล้ว

ทาง กทม.เองก็เอาแต่โทษลมโทษฟ้า มองข้ามความผิดพลาดของตัวเอง วันนั้นก็เป็น “สุขุมพันธุ์” เองที่บอกว่า จะนำปัญหาที่เกิดขึ้นไปพัฒนาปรับปรุงระบบการระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพมาก­ยิ่งขึ้น พร้อมให้คำมั่นว่า พี่น้องประชาชนอย่าวิตกกังวล ยืนยัน กทม.สามารถรับมือได้

ผ่านมาไม่กี่เดือน ก็เกิดเหตุซ้ำรอย และอาจพูดได้ว่าสาหัสกว่าด้วยซ้ำ

เป็นเหตุให้ “ชายหมู” ผู้ที่ตั้งอกตั้งใจเดินทางไปดูงานที่เมืองนอกอย่างขะมักเขม้น ต้องจับเครื่องกลับมาตุภูมิก่อนกำหนด เพื่อมากอบกู้เมืองหลวงจากที่ถูก “พายุฝน - กองทัพน้ำ” บุกเข้ามาพิชิตกลางใจเมืองอีกครั้ง ไม่เว้นแม้กระทั่งบริเวณ ถ.ศรีอยุธยา หน้าวังสวนผักกาดของ “ชายหมู” เอง ใช้เวลาการระบายอยู่ร่วมชั่วโมง มาครั้งนี้ผู้ว่าฯกทม.บอกว่าใช้เวลาคิดเพียงนาทีเดียวเดินทางกลับประเทศไทย เพราะเป็นห่วงประชาชน

แถมท้ายด้วยวลีเด็ดที่ว่า “ฝนชอบตก..เวลาผมไม่อยู่” ราวกับว่าถ้าเจ้าตัวอยู่ น้ำคงไม่ท่วม

แม้ “สุขุมพันธุ์” จะกลับมาก่อนกำหนดเพื่อแสดงความรับผิดชอบ หรือจะชี้แจงว่าการแก้ปัญหาครั้งนี้ทำได้รวดเร็วแล้ว เพราะมีปัจจัยอื่นที่นอกเหนือความรับผิดชอบของ กทม. ทั้งเรื่องการจราจร หรือขยะที่ไปอุดตันทางระบายน้ำก็ตาม แต่หากเช็คกระแสสำรวจความรู้สึกของ “คนกรุง” ขณะนี้ ต้องบอกว่า หมดความอดทนกับผู้ว่าฯกทม. 2 สมัยคนนี้แล้ว มีการเสนอถึงขั้นให้ “นายกฯประยุทธ์” ใช้มาตรา 44 เช็กบิลเปลี่ยนตัว “พ่อเมือง” โทษฐานไร้ความสามารถ

ขณะเดียวกันกระแสสังคมออนไลน์ก็มีการตั้งกระทู้วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งแบบที่ฮาร์ดคอร์รุนแรง ตลอดจนแบบหยิกแกมหยอกตัดต่อภาพ “สุขุมพันธุ์” ล้อเลียนกันว่อนเน็ต เยอะเสียจนต้องติดเบรกกันว่า “อย่าด่าชายหมู กูกด LIKE ไม่ทัน”

กระทู้แสดงความคิดเห็นในเว็บไซต์ชื่อดังหลายแห่งพุ่งเป้าไปที่ประสิทธิภาพของ “อุโมงค์ยักษ์” ที่ “สุขุมพันธุ์” เคยใช้เป็นนโยบายเรือธงในการหาเสียง ว่าเหตุใดจึงยังเกิดปัญหาซ้ำซากขึ้นอีก ทั้งที่เคยสาธยายแผนงานการ สร้าง “อุโมงค์ยักษ์” ไว้ว่า จะมีจำนวน 4 สาย ประกอบด้วย อุโมงค์ยักษ์พระราม 9-รามคำแหง คลองบางซื่อ บึงหนองบอน และดอนเมือง โดยจะทำการผันน้ำจากจุดน้ำท่วม ลัดตรงลงอุโมงค์ยักษ์ใต้ดิน และไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเป็น “ทางด่วนใต้ดิน” ในการระบายน้ำปริมาณมากไหลลงใต้เมือง ซึ่งการ ดำเนินโครงการจะใช้งบประมาณทั้งสิ้นกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถป้องกันปัญหาน้ำท่วม กทม.ได้ เพราะน้ำจะถูกเร่งระบายสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรง

และจากการตรวจสอบพบว่า ขณะนี้ได้เปิดใช้งานอุโมงค์ยักษ์พระราม9-รามคำแหง เป็นอุโมงค์ระบายน้ำแห่งแรกในโครงการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เมตร ระยะทางยาว 5 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้ปริมาณมากกว่า 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แก้ปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่ ลาดพร้าว วังทองหลาง บางกะปิ ห้วยขวาง และสะพานสูง

ขณะที่อุโมค์งยักษ์แห่งที่ 2 คลองบางซื่อ งบประมาณ 2.5 พันล้านบาท เพิ่งเปิดโครงการก่อสร้างไปเมื่อปลายปี 2557 และอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งหากแล้วเสร็จจะระบายน้ำจากคลองลาดพร้าวไปแม่น้ำเจ้าพระยา มีความยาว ตลอดเส้นทาง 6.4 กิโลเมตร คาดแล้วเสร็จตามเป้าหมายในปี 2559 ส่วนอุโมงค์ยักษ์แห่งที่ 3 อุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอน งบประมาณกว่า 5.9 พันล้านบาท อยู่ระหว่างจัดทำร่างประกวดราคา เริ่มดำเนินการก่อสร้างปลายปี 2558 กำหนดแล้วเสร็จในปี 2562

เท่ากับว่าขณะนี้มีเพียงอุโมงค์ยักษ์พระราม 9 - รามคำแหง เท่านั้นที่เปิดใช้งาน แต่ก็ไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ เรื่องจาก “สัญญา ชีนิมิตร” ปลัด กทม. บอกถึงปัญหาเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ไว้ว่า อุปสรรคใหญ่ที่ทำให้น้ำระบายไม่ทัน เป็นเพราะมีขยะขวางทางน้ำไหลในระบบระบายน้ำ ซึ่งเก็บได้วันละกว่า 10 ตัน เป็นขยะขนาดใหญ่ ทั้งต้นไม้ เฟอร์นิเจอร์ โอ่ง ที่นอน ทำให้ระบบระบายน้ำใน “อุโมงค์ยักษ์” เสียหายไป 1 ตัว เหลือใช้งานแค่ 3 ตัว

สุดท้ายก็เวียนกลับมาถึงความล้มเหลวของการเตรียมความพร้อมในการระบายน้ำล่วงหน้า ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นเป็นความบกพร่องของบุคลากร กทม. และก็ไม่อาจมองข้ามว่าเป็นความรับผิดชอบของระดับผู้บริหาร แน่นอนว่า “ชายหมู” ย่อมถูกหมายหัวเป็นอันดับแรก

กับคำค่อนขอดที่ว่า “เงินเดือนหลักแสน แต่ทำงานแค่ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท” มีการขุดคุ้ย “รายได้” ของบรรดาผู้บริหาร กทม.แจกแจงเพื่อเปรียบเทียบกับ “คุณภาพ” ในการทำงาน

อย่าง “ชายหมู” รับเหนาะๆ เงินเดือนบวกเงินประจำตำแหน่งเบ็ดเสร็จอยู่ 113,560 บาท ไม่รวมค่าเบี้ยประชุม ค่าเดินทางอีกสารพัด ส่วนรองผู้ว่าฯก็ได้กันคนละเหยียบๆแสน คณะที่ปรึกษาที่ตั้งเข้ามาจนเกือบตั้งทีมฟุตบอลได้มีอยู่ 9 คน ประธานที่ปรึกษารับ 52,000 บาท อีก 8 คนรับกันที่ 44,000 บาท เท่าๆกับเลขาฯผู้ว่าฯกทม. ส่วนผู้ช่วยเลขาฯก็ไม่เบาได้เดือนหนึ่ง 38,000 บาท

เบ็ดเสร็จเดือนๆ หนึ่งต้องจ่ายภาษีให้ “ชายหมู” และทีมงานที่ตั้งขึ้นมาเองไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท รวมกับงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรในแต่ละปีถึงกว่า 6.5 หมื่นล้านบาท แยกเป็นเรื่องการจัดการน้ำไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท และยังมีงบที่ตั้งเพื่อสร้าง “อุโมงค์ยักษ์” อีกหลักพันล้านในแต่ละปีด้วย

และไม่เพียงแต่เรื่องน้ำท่วมเท่านั้น ยังลามไปถึงผลงานเรื่องอื่นที่ล้มเหลวไม่เป็นท่า ทั้งการจัดซื้อถังขยะที่แพงเกินจริง กล่องวงจรปิดดัมมี่ หรือสนามฟุตซอลที่สร้างไม่เสร็จ จนอับอายขายขี้หน้าไปทั่วโลก

เป็นสัจธรรมของคำที่ว่า “น้ำลด..ตอผุด” เพราะความไม่พอใจในตัว “ชายหมู” กับบาทผู้ว่าฯกทม.มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พลันมีปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้น และทำให้การใช้ชีวิตคนเมืองสาหัสสากรรจ์ ก็ไม่แปลกที่จะถูกขุดคุ้ย และกระทุ้งไปถึง “ผู้มีอำนาจ” ให้ช่วยลงมาแก้ไข

ส่วนตัว “ชายหมู” และทีมงาน กว่าจะหมดวาระก็ปาเข้าไปต้นปี 2560 วันนั้น “บิ๊กตู่ ณ คสช.” ยังอยู่หรือเปล่ายังไม่ทราบได้แน่ชัด วันนี้คนกรุงเลยหวังใช้ “ทางลัด ม.44” เปลี่ยนตัว “พ่อเมืองกรุง” อยากจะได้คนที่เข้ามาแล้ว “ทั้งชีวิต เราดูแล” จริงๆ เสียที ที่บอกว่า คน กทม.เลือกผู้ว่าฯมาเอง ก็ต้องเผชิญชะตากรรมกันต่อไป แล้วคราวหน้าก็เลือกคนดีๆ ก็ดูจะใจร้ายเกินไป

“บิ๊กตู่ ณ คสช.” พูดเสมอว่า จะใช้อำนาจตาม ม.44 อย่างสร้างสรรค์เท่านั้น ซึ่งการหยิบ ม.44 มาใช้เพื่อส่ง “ชายหมู” ไปดูลู่ทางบนดอยนำร่องให้ชาวกรุงก็สร้างสรรค์ดีนะ…
 


กำลังโหลดความคิดเห็น