“บิ๊กตู่” จี้ หน่วยงานเกี่ยวข้อง เข้มงวดใช้กฎหมาย คุ้มครองนักปั่นจักรยาน สั่งคุ้ม “สถานบันเทิง” เปิดเกินเวลา ให้ “กทม.” ทำเหล็กกั้นเส้นทางจักรยานให้ชัดเจน ด้าน “ชายหมู” สั่ง ผอ. 50 เขต สำรวจเส้นทางจักรยานยอดฮิต ซ้อมถนนทำป้ายบอกทาง คุมความเร็ว จักรยานไม่ควรไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ปั่นเป็นกลุ่มมากกว่า 50 คน ควรแจ้งเขต - สถานีตำรวจ จัด จนท. ปิดท้ายขบวน
วันนี้ (7 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม. ว่า เนื่องจากขณะนี้พบว่าเกิดอุบัติเหตุนักปั่นจักรยาน ถูกรถชนเสียชีวิตบ่อยครั้ง ในการประชุม ครม. นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกวดขันการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเข้มงวด อาทิ การสวมหมวกกันน็อก กฎหมายเมาแล้วขับ โดยเฉพาะอุบัติเมาแล้วขับในช่วงเช้ามืด แสดงให้เห็นว่ามีสถานบันเทิงเปิดให้บริการเกินเวลา ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายตรงนี้จะต้องกวดขันให้มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการเรื่องเหล็กกั้นเส้นทางจักรยานให้ชัดเจนในส่วนที่สามารถทำได้ ขณะเดียวกัน ก็ต้องทำความเข้าใจเรื่องการใช้รถใช้ถนนให้มากขึ้น นักปั่นก็ต้องเข้าใจคนขับรถ เพราะบางครั้งถนนแคบ การปั่นจักรยานก็กินช่องทางจราจรไป 1 ช่องทางจราจรแล้ว.
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวในที่ประชุมหัวหน้าหน่วยงานถึงกรณีนี้ ว่า ขอให้ผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขต สำรวจจำนวนกลุ่มผู้ใช้จักรยาน รวมถึงเส้นทาง ก่อนตรวจสอบสภาพกายภาพของผิวจราจรที่ชำรุดเพื่อทำการซ้อมแซม รวมถึงการจัดทำป้ายบอกทางและป้ายแนะนำเส้นทางสายรอง ป้ายแจ้งเตือนผู้ใช้จักรยานให้สวมอุปกรณ์ป้องกันพื้นฐาน แจ้งเตือนการระมัดระวังเมื่อใช้ถนนที่มีรถยนต์จำนวนมาก พร้อมประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจในการควบคุมความเร็วของผู้ขับขี่รถยนต์
นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม. จะหารือกับหน่วยงานภายนอก เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท ในการเพิ่มมาตรการความปลอดภัยในการใช้จักรยาน โดยเฉพาะการกำหนดความเร็ว เพราะถนนส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ กำหนดความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ขับขี่ใช้ความเร็วสูงกว่านั้น
“ต้องมาหาทางว่าจะสามารถออกกฎหมายควบคุมความเร็วได้หรือไม่ หากเป็นถนนที่มีการทางจักรยานอาจจะลดความเร็วลงมาไม่เกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วที่จะช่วยลดความสูญเสียได้ ส่วนถนนในซอยก็จะควบคุมให้ไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่ถนนที่ไม่มีเลนจักรยานก็ได้สั่งการให้สำนักการจราจรและขนส่ง สำรวจความพร้อม”
อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตัวบุคคลผู้ขับขี่จักรยาน ต้องมีทักษะ มีอุปกรณ์ความปลอดภัย ต้องมีสภาพพร้อมใช้งาน โดยเฉพาะการปั่นในเวลากลางคืน ควรสวมเสื้อสะท้อนแสง หากปั่นเป็นกลุ่มมากถึง 50 คนขึ้นไป ควรแจ้งสำนักงานเขตหรือสถานีตำรวจเพื่อขอให้มีเจ้าหน้าที่ตามปิดท้ายขบวน
ส่วน เส้นทางและวินัยจราจรของผู้ขับขี่ ซึ่ง กทม. จะสำรวจพื้นที่เพื่อติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมในพื้นที่ที่มีการใช้จักรยานจำนวนมากและรถยนต์วิ่งด้วยความเร็วสูง อาทิ เส้นชะลอความเร็ว สัญลักษณ์แจ้งว่าเป็นเส้นทางที่มีการใช้จักรยาน รวมถึงข้อกฎหมาย ซึ่งผู้ใช้จักรยานและผู้ขับขี่ทุกคนต้องรู้ข้อบังคับและใช้ถนนร่วมกันอย่างถูกต้อง อาทิ ผู้ปั่นจักรยานต้องไม่ปั่นขนานกันสองคัน ควรปั่นตามกันเป็นขบวน เป็นต้น