xs
xsm
sm
md
lg

รักษา "โรคเบาหวาน" ผิดทาง ทำอย่างไรก็ไม่หาย !!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

การบริโภคแป้งและน้ำตาลมากดูจะกลายเป็นปัญหาสำคัญของคนที่เป็นโรคเบาหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือภาวะดื้อต่ออินซูลิน หากยังไม่ได้รักษาที่ต้นทางก็จะมีจุดจบด้วยอาการข้างเคียงหลายชนิดตามมา ตั้งแต่ ตาบอด สมองเสื่อม ไตวาย มีบาดแผลลุกลาม ฯลฯ

อินซูลิน เป็นฮอร์โมนที่สร้างและหลั่งออกมาจากตับอ่อน มีหน้าที่ในการนำน้ำตาลไปส่งตามเซลล์เนื้อเยื่อต่างๆเพื่อสะสม หากเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งเพราะอินซูลินไม่หลั่งหรือหลั่งน้อย แต่ในขณะที่คนที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เกิดขึ้นแม้จะมีอินซูลินแต่ร่างกายก็ไม่ตอบสนองกับอินซูลินจึงไม่สามารถนำน้ำตาลไปเลี้ยงเซลล์ได้

และเนื่องจากน้ำตาลในกระแสเลือดเป็นตัวกระตุ้นในการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน อ่อนเมื่ออินซูลินนำน้ำตาลเข้าไปในเซลล์เพื่อเก็บสะสมอยู่ในรูปของไขมัน คนกินแป้งและน้ำตาลมากจึงเป็นคนอ้วนง่าย และเป็นเบาหวานง่าย

ปัญหาของคนที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 จึงไม่ใช่เรื่องอินซูลินไม่เพียงพอ เพราะในคนอ้วนบางคนมีอินซูลินสูงกว่าคนปกติถึง 2-3 เท่าตัว แต่ก็ไม่สามารถนำพาน้ำตาลเข้าไปในเซลล์ได้อีกแล้ว ซึ่งกำลังส่งสัญญาณว่าการสะสมน้ำตาลในรูปของไขมันตามเนื้อเยื่อกำลังแน่นเต็มที่แล้ว ซึ่งจะเป็นผลทำให้น้ำตาลยังคงต้องค้างในหลอดเลือดต่อไป

ยังมีปัจจัยอื่นๆที่ทำให้เป็นเบาหวานได้อีก เช่น ยาบางอย่างก็สามารถเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานได้ เช่น ยาพวกสเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ ยาเม็ดคุมกำเนิด และรวมถึงยาเสพติดบางชนิด

นอกจากนี้อาจจะเป็นโรคอื่นๆที่เป็นผลทำให้เกิดเป็นโรคเบาหวานตามมา เช่น โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง โรคมะเร็งตับอ่อน โรคตับแข็งระยะสุดท้าย โรคคอพอกเป็นพิษ โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เนื้องอกของต่อมหมวกไต ฯลฯ แต่โรคเหล่านี้ที่เชื่อกันว่าจะเป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน ในทางกลับกันโรคเบาหวานก็อาจจะเป็นสาเหตุของโรคที่กล่าวถึงเหล่านี้ได้ด้วยเช่นกัน

การตกค้างของน้ำตาลในกระแสเลือดที่มากเกินไป ก็จะส่งผลร้ายตามมาอย่างมากมาย เริ่มตั้งแต่ หลอดเลือดบาดเจ็บอักเสบเสียหายทำให้ร่างกายนำไขมันพอกตามหลอดเลือดมากขึ้น ทำให้เกิดปฏิกิริยาไกลเคชั่นส่งผลทำให้โปรตีนผิดรูปกับบางอวัยวะ เช่น สมอง ตา และไต ฯลฯ

การบริโภคแป้งและน้ำตาลมาก ร่างกายจะผลิตกรดแลคติกเพิ่มมากขึ้น บวกกับกระไขมันที่ล้นจากไขมันพุง ทำให้ช่วงท้องว่างกลับจะมีการผลิตน้ำตาลที่ตับและไตเพิ่มขึ้น ดังนั้นระดับน้ำตาลในเลือดที่เจาะก่อนอาหารเช้าจึงสูงขึ้นทั้งๆที่อดอาหารมาเป็นเวลาหลายชั่วโมง นั่นหมายถึงว่าถ้ายังมีไขมันสะสมอยู่มากต่อให้อดอาหารในช่วงแรกน้ำตาลในกระแสเลือดก็สามารถสูงเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน

ยาเบาหวานส่วนใหญ่ที่หมอแผนปัจจุบันจ่ายให้คือยาลดน้ำตาล ซึ่งออกฤทธิ์ระงับการสร้างน้ำตาลที่ตับ ซึ่งอาจส่งผลทำให้ร่างกายขาดน้ำตาลช่วงท้องว่าง คือมีอาการปวดหัว โหยแป้งและน้ำตาล และเมื่อได้กินของหวานก็จะอาการดีขึ้น

หรือที่หนักไปกว่านั้นคือการฉีดอินซูลินจากภายนอกเข้าไปในร่างกาย เพื่อบีบอัดน้ำตาลเข้าไปในเนื้อเยื่อเซลล์ในรูปของให้มากขึ้น ส่งผลทำให้น้ำตาลในกระแสเลือดลดลง ก็เช่นเดียวกัน หากใช้อินซูลินมากก็จะเกิดภาวะน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำจนหมดสติได้


ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำที่เรียกว่า Hypoglycemia นั้น สามารถเกิดจากยารับประทานหรือยาฉีดคุมน้ำตาลเกินขนาด ส่งผลทำให้เกิดอาการทางสมอง เช่น รู้สึกหงุดหงิดง่าย โหวงเหวง มือไม้สั่น เหงื่อแตก หายใจสั่น หากรีบได้กินลูกอมที่มีน้ำตาล หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลก็จะมีอาการเป็นปกติ แต่หากไม่มีน้ำตาลทันเวลาก็อาจจะชักหมดสติ จนถึงขั้นอาจเกิดอาการหลับไม่ตื่นหรือหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน

คนที่เป็นเบาหวานจำนวนมักจะมีภาวะหลอดเลือดตีบตันตามด้วย ดังนั้นทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ง่ายหากเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ และยังส่งผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรได้ง่าย หัวใจเต้นผิดจังหวะ และเสียชีวิตเฉียบพลันได้

ลองคิดดูว่าเป็นเบาหวานแท้ๆ แต่พอกินยาลดน้ำตาลหรือฉีดอินซูลินกลับยังต้องบริโภคน้ำตาลด้วยอยู่ดีเพื่อป้องกันทำให้น้ำตาลในกระแสเลือดลดต่ำเกินไป แล้วจะแก้อาการเบาหวานได้อย่างไร ในเมื่อปัญหาที่แท้จริงก็คือการบริโภคแป้งและน้ำตาลมากเกินไป ?

ดังนั้นคนที่คิดจะปรับพฤติกรรมในการหยุดอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลเพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ก็จำเป็นที่จะต้องหยุดการใช้อินซูลินไปก่อน ไม่เช่นนั้นก็จะมีความเสี่ยงสูงที่เข้าสู่ภาวการณ์ขาดน้ำตาลเฉียบพลันได้

และอาจจะต้องพิจารณาต่อด้วยว่าหากคิดจะลดน้ำตาล จะต้องใคร่ครวญหาพลังงานทดแทนน้ำตาลด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วร่างกายจะเอาพลังงานจากที่ไหน?

ไขมันก็เป็นอีกคำตอบหนึ่งที่เป็นอาหารเพื่อมาเลี้ยงเซลล์ได้โดยไม่ต้องพึ่งอินซูลิน เพียงแต่ว่าน้ำมันมะพร้าวดูจะเป็นแหล่งพลังงานที่มีโมเลกุลสายปานกลางในขณะที่ไขมันชนิดอื่นเป็นกรดไขมันสายยาว จึงให้พลังงานเร็ว ดูดซึมเร็ว และเผาผลาญเร็ว อีกทั้งยังเป็นน้ำมันที่โครงสร้างทางเคมีอิ่มตัวแล้ว ต่างจากไขมันไม่อิ่มตัวที่เปิดช่องให้ออกซิเจนเข้าทำปฏิกิริยาได้ง่าย โดยเฉพาะไขมันที่ผ่านความร้อนยิ่งก่อให้เกิดปัญหาสร้างความเสียหายให้กับหลอดเลือดได้ง่าย

และความสับสนที่สุดก็น่าจะอยู่ที่อาหารพวกตระกูลถั่ว ซึ่งถั่วที่มีไขมันสูงก็จะมีแป้งอยู่ในระดับต่ำ (ถั่วเหลือง, ถั่วลิสง) ซึ่งมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำมาก แต่ถั่วที่มีไขมันสูงเหล่านี้มักจะสร้างปัญหาอีกด้านหนึ่ง เพราะมีกรดไขมันไลโนเลอิกหรือไขมันโอเมก้า 6 ในสัดส่วนที่สูงมาก กรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวเหล่านี้สามารถถูกเติมออกซิเจนตลอดเวลาเพราะโมเลกุลมีแขนคู่ เกิดเป็นอนุมูลอิสระที่ไปทำอันตรายต่อเซลล์ มีฤทธิ์ในการทำให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือดได้ง่าย ดังนั้นหากจะเน้นการงดแป้งและน้ำตาลเพื่อลดความเสียหายของหลอดเลือด ด้วยความคิดที่จะกินโปรตีนจากถั่วเหลืองก็ควรจะขจัดไขมันเหล่านี้ออกไปเสียก่อน (แนะนำทดลองอาหารจากร้านสปาฟูดส์ ถนนวิภาวดีซอย 16 แยก 21)

ในขณะที่อีกด้านหนึ่งถั่วที่มีไขมันต่ำก็มักจะมีแป้งสูงขึ้นมาหน่อย เช่น ถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเหล่านี้แม้จะมีคาร์โบไฮเดรตในสัดส่วนที่สูงกว่าถั่วที่มีไขมันสูง แต่ถั่วเหล่านี้ก็ยังมีดัชนีน้ำตาลต่ำกว่ากลุ่มข้าว ดังนั้นหากจะประยุกต์ในการบริโภคพืชตระกูลถั่วนี้ ก็สามารถใช้วิธีการเลียนแบบการหุงข้าวเพื่อลดแคลอรี่และน้ำตาลลง โดยใช้น้ำมันมะพร้าวเป็นแหล่งพลังงานเข้าไปผสม ด้วยการนำถั่วที่มีไขมันต่ำไปต้มพร้อมกับน้ำมันมะพร้าวแล้วแช่ตู้เย็น 12 ชั่วโมง หลังจากนั้นจึงค่อยนำมาอุ่นซ้ำก่อนการบริโภค คราวนี้ก็จะได้ค่าดัชนีน้ำตาลต่ำด้วย ได้พลังงานจากน้ำมันมะพร้าวซึ่งเป็นไขมันชนิดดีอีกด้วย และยังได้อาหารที่เป็นผลึกเชิงซ้อนย่อยยากขึ้นในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก และสามารถกลายเป็นอาหารพรีไบโอติกส์ให้กับจุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้ใหญ่ได้อีกด้วย

สำหรับผลิตภัณฑ์นม ถ้าคนๆนั้นไม่มีเกณฑ์เสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง ก็กลับจะช่วยเรื่องหลอดเลือดได้เป็นอย่างดี เพียงแต่ว่าถ้าบริโภคนมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ตจะดีกว่า เพราะน้ำตาลแลคโตสในนมจะถูกแลคโตบาซิลลัสเข้าไปกินเป็นอาหารไปแล้ว เพียงแต่ว่าการบริโภคนมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ตจะต้องให้มั่นใจได้ว่าไม่มีการเติมน้ำตาลกลับมาผสมใหม่ ดังนั้นหากจะซื้อผลิตภัณฑ์ในตลาดก็ต้องดูฉลากให้ละเอียดถี่ถ้วนด้วย

ส่วนอาหารสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการลดเบาหวานนั้นมีมากมายหลายชนิดที่มีงานวิจัยรองรับ เริ่มตั้งแต่ น้ำด่าง มะระขี้นก ว่านหางจระเข้ บอระเพ็ด เห็ดหลินจือ ฯลฯ แต่เชื่อเถิดว่าสมุนไพรและอาหารเสริมเหล่านี้เป็นเพียงการเสริมเท่านั้น ยังไม่ได้แก้ไขที่ต้นเหตุที่แท้จริงในการรักษาโรคเบาหวานจาการปรับพฤติกรรมการบริโภคงดแป้งและน้ำตาลเป็นสำคัญ

ส่วนการบริโภคผักสด การออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อสร้างกล้ามเนื้อให้มากขึ้น พักผ่อนให้เพียงพอ และการลดความเครียด ก็ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ช่วยบูรณาการในการเอาชนะโรคเบาหวานได้ในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น