xs
xsm
sm
md
lg

เก็บตกสัมมนาน้ำมันมะพร้าวนานาชาติครั้งแรกของประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
การเปิดประชุมงานสัมมนาน้ำมันมะพร้าวนานาชาติครั้งแรกของประเทศไทย วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2558 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ ไบเทค
ผ่านไปแล้วสำหรับการสัมมนาน้ำมันมะพร้าวนานาชาติ หรือที่เรียกว่า The International Conference on Coconut Oil (ICCO) ที่ ศูนย์ประชุมนานาชาติ ไบเทค กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 17-20 มีนาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งถือว่าเป็นงานสัมมนาเรื่องเกี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวในระดับนานาชาติครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นจากจุดเริ่มต้นเล็กๆในการประชุมสามัญประจำปีของ ชมรมอนุรักษ์และพัฒนาน้ำมันมะพร้าวแห่งประเทศไทย โดย ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา เป็นประธาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 นำไปสู่การผลักดันไปสู่ความร่วมมือจากหลายองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้อาศัยการเป็นเจ้าภาพของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากองค์การอาหารเกษตรแห่งองค์การสหประชาชาติอีกด้วย และที่น่าสนใจก็คือมีชาวต่างชาติเข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้แน่นขนัดเกินคาด

ความสำเร็จที่ว่านี้ ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา ผู้เป็นประธานชมรมซึ่งผลักดันเรื่องน้ำมันมะพร้าวมาอย่างยาวนาน และมีส่วนสำคัญในการจัดงานครั้งนี้ถึงกับบอกว่า "ผมนอนตายตาหลับแล้ว"

การประชุมในเชิงวิชาการที่ระดมคนที่รู้มากจากหลายประเทศ ทำให้การสัมมนาเป็นไปอย่างเข้มข้นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิชาการที่เข้มแข็งที่สรุปตรงกันจากหลายประเทศว่าน้ำมันมะพร้าวไม่ใช่เป็นเพียงแค่น้ำมันที่ดีต่อสุขภาพเท่านั้น แต่ก้าวไปไกลต่อถึงขั้นเป็นน้ำมันที่สามารถนำมาใช้ในการบำบัดและเยียวยาได้หลายโรคด้วย
การรักษาโรคผิวหนังโดยคุณหมอ Verallo-Rowell  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผิวหนังและมะเร็งผิวหนังของฟิลิปปินส์
กรดไขมันน้ำมันมะพร้าวที่ชื่อ "กรดลอริก" ซึ่งดูเหมือนจะเป็นพระเอกที่แพทย์หลายท่านจากหลายประเทศได้นำเสนองานวิจัยจำนวนมากมายมหาศาลว่า น้ำมันมะพร้าวมีกรดไขมันสายปานกลางที่ชื่อกรดลอริกจำนวนมากที่สุดมากกว่าน้ำมันทุกชนิดในโลก มีคุณสมบัติในการดูดซึมเป็นพลังงานแก่ตับได้เร็ว ช่วยบำรุงรักษาหลอดเลือดและหัวใจ ป้องกันและบำบัดโรคสมองเสื่อม มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อก่อโรค สามารถใช้การสร้างระบบภูมิคุ้มกัน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของไทรอยด์ เป็นอาหารที่ดีสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง และช่วยเยียวยารักษาโรคผิวหนังได้อย่างดีเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันอีกหลายชนิด

ทุกวันนี้ชนชาติที่ผลิตน้ำมันมะพร้าวตามลำดับมากที่สุด คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย ศรีลังกา บราซิล ฯลฯ ซึ่งก็คือพื้นที่ติดทะเลใกล้เขตศูนย์สูตร จากการสัมมนาทำให้รู้ได้ว่าประเทศไทยยังขาดการวางยุทธศาสตร์ในเรื่องการปลูกมะพร้าวทั้งๆที่มีภูมิประเทศตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีผลทำให้มะพร้าวไทยสามารถผลิตเป็นน้ำมันมะพร้าวที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลกไม่แพ้ใครเลย

ท่ามกลางการถกเถียงในการสัมมนาของคุณสมบัติสกัดเย็นมีการถกเถียงกันอย่างเข้มข้นมาก ทำให้เราได้ทราบว่านิยามของคำว่าสกัดเย็นในระดับนานาชาติยังไม่เป็นเอกภาพ และหลายประเทศที่ผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นก็มีการใช้ความร้อนในอุณหภูมิสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส และบางรายสูงไปถึง 70-90 องศาเซลเซียส ซึ่งทำให้หลายประเทศเริ่มรับรู้ว่าการสกัดเย็นของน้ำมันมะพร้าวแท้ๆนั้นมีอยู่น้อยมากในความเป็นจริง และจะเป็นด้วยเหตุผลนี้หรือไม่ก็ไม่มีใครทราบได้ เพราะคุณภาพน้ำมันมะพร้าวไทยมีความโดดเด่นกว่าหลายชาติ จนได้ชื่อว่าเป็นน้ำมันมะพร้าวไทยมีราคาสูงที่สุดในโลกในเวลานี้เลยก็ว่าได้

และอาจจะเป็นเพราะมะพร้าวไทยถูกละเลยมาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ ก็เลยมีผลเสียคือไม่ได้มีใครปลูกมะพร้าวทนแทนต้นที่กำลังหมดอายุขัยลงไป กลับปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมมาอย่างยาวนาน แต่ก็มีมุมกลับอีกด้านหนึ่งคือทำให้เกิดผลผลิตจำนวนมากที่ไร้สารพิษเพราะไม่ได้มีใครคิดจะเร่งผลผลิตออกมาให้มากในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา

สินค้ามะพร้าวที่ไร้สารพิษหรือที่เรียกว่า มะพร้าวออกานิค นั้นผู้เข้าร่วมสัมมนาจากหลายประเทศต่างมีความวิตกกังวล เพราะคนเหล่านี้เป็นคนที่รักสุขภาพจึงลงทุนสำรวจผู้ผลิตทั่วโลกที่ได้รับใบประกาศนียบัตรซึ่งรับรองว่าเป็นสินค้าไร้สารพิษ แล้วกลับพบว่าไม่เป็นสินค้าไร้สารพิษอย่างแท้จริง เพราะขาดการตรวจประจำปีและรายงานผลหลังจากได้รับใบประกาศณียบัตรแล้ว

สินค้าของมะพร้าวนั้นได้ถูกใช้ในแทบทุกส่วน เช่น กากมะพร้าวนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ กะลาสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อฟืนให้กับอุตสาหกรรมหรือสินค้าหัตถกรรม เนื้อมะพร้าวสามารถนำมาเป็นน้ำกะทิ น้ำมันมะพร้าวได้ ในขณะเดียวกันน้ำมะพร้าวก็กำลังเป็นเครื่องดื่มที่นิยมกันทั่วโลกอย่างมาก
แสดงผลการผลิตชอคโกแลตโดยใช้น้ำมันมะพร้าวของประเทศไทย
ด้วยเพราะความสนใจของคนไทยมีมากขึ้นในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับมะพร้าว ปรากฏว่าในช่วงเวลา 2-3 ปี มานี้ คนไทยได้มีความคิดนำสินค้าจากมะพร้าวมาประดิษฐ์คิดค้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น และสามารถจำหน่ายเป็นเชิงพาณิชย์มากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดแรงบันดาลใจและแรงจูงใจที่มีผู้ที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับมะพร้าวในหลากหลายรูปแบบมากขึ้น เช่น สบู่มะพร้าว, ชอคโกแลตมะพร้าว, มาการีนมะพร้าวที่ไร้ไขมันทรานส์, ไอศกรีมมะพร้าวที่ไม่มีนมและถั่วเหลือง, ลูกมะพร้าวเปิดฝาแบบกระป๋องน้ำอัดลม, วุ้นมะพร้าวในลูกมะพร้าว ฯลฯ
แสดงผลึกของมาการีนที่วิจัยน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นในสูตรต่างๆโดยไม่มีไขมันทรานส์ เพื่อมาแทนผลิตภัณฑ์เนยและชีสที่มีฮอร์โมนจากนมวัวของประเทศไทย
และบางทีอาจจะถึงเวลาแล้ว ที่ประเทศไทยจะเริ่มส่งเสริมและพัฒนาการปลูกมะพร้าวและพัฒนาผลิตภัณฑ์มะพร้าวอย่างจริงจัง ให้สมกับเป็นประเทศที่อยู่ในภูมิประเทศที่เหมาะอย่างยิ่งกับการปลูกและบริโภคมะพร้าว


กำลังโหลดความคิดเห็น