xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

งานหนักของ ศปป. “แม้ว”ไม่ปรองดองจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศการเข้าร่วมเสวนาปรองดองสมานฉันท์เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนในสังคมไทย ครั้งที่ 2 ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ผลงานชิ้นโบแดงในโอกาสครบรอบ 1 ปี การยึดอำนาจ ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ดูเหมือนจะภาคภูมิใจ และผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยสำนักโพลต่างๆ ล้วนเห็นด้วยตรงกัน ก็คือ การทำให้สถานการณ์บ้านเมืองกลับสู่ความสงบเรียบร้อย หลังจากเกิดความวุ่นวายขัดแย้งกันมาตลอด 10 ปีก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม เป็นที่รู้กันดีว่าความสงบเรียบร้อยที่เกิดขึ้นนั้นมาจากการใช้กฎหมายที่เข้มงวดควบคุมเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นประกาศ คำสั่งต่างๆ ของ คสช. และอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ทำให้การเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองที่เป็นคู่ขัดแย้งต่อกันไม่สามารถทำได้ หรือแม้แต่การเคลื่อนไหวในประเด็นปัญหาของปากท้องและสิทธิชุมชนก็ยังถูกห้ามเอาไว้

การเชิญกลุ่มการเมืองที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันเข้าร่วมประชุมที่ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป หรือ ศปป. ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา แม้โดยภาพรวมจะออกมาด้วยความเรียบร้อยด้วยบรรยากาศสมานฉันท์ระหว่างกลุ่มต่างๆ แต่ก็มีนัยให้ต้องขบคิดว่า ความขัดแย้งกำลังจะหมดไปอย่างที่คาดหวังหรือไม่

การประชุมในวันนั้น ศปป.ได้จัดในรูปแบบการเสวนา เรียกว่า เสวนาปรองดองสมานฉันท์เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนในสังคมไทย ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “อนาคตของประเทศไทย” โดย ศปป.ได้เชิญตัวแทนพรรคการเมือง นักวิชาการ และตัวแทนกลุ่มภาคประชาชนเข้าร่วมพูดคุยหารือ มี พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสนาธิการทหารบก เป็นประธานในเวทีพูดคุย พร้อมด้วย พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ในฐานะผู้อำนวยการ ศปป.เข้าร่วมเสวนา

สำหรับผู้เข้าร่วมเข้าประชุม มีนักวิชาการและนักการเมืองที่เป็นคู่ขัดแย้ง หากจะแบ่งคร่าวๆ ด้วยเกณฑ์ “เอาทักษิณ” กับ “ไม่เอาทักษิณ” ซึ่งเป็นเส้นแบ่งความขัดแย้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ก็พบว่า ฝ่าย “เอาทักษิณ”ที่มาร่วมประชุมกับ ศปป.ได้แก่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. นพ.เหวง โตจิราการ นายวรชัย เหมะ แกนนำ นปช.และอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย นายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ เป็นต้น

ส่วนฝ่าย “ไม่เอาทักษิณ” ประกอบด้วย นายเสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการอิสระ นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และแกนนำ กปปส. นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สภาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นายปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการอิสระ รวมทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่มาร่วมเสวนาในช่วงบ่าย
การประชุมหารือในครั้งนี้ ศปป.ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าร่วมฟังแต่อย่างใด

หลังจากการประชุม นายนพดล ปัทมะ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า วันนี้ มาคุยเรื่องอนาคตของประเทศมากกว่าเรื่องในอดีต เช่น เรื่องการศึกษา เศรษฐกิจ กระบวนการยุติธรรม รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย เห็นเจตนาที่ดีของ ศปป. แต่ละคนมีมุมมองของตัวเอง แต่ก็หารือกันด้วยดี

เมื่อถูกถามว่ามีการพูดคุยเกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ นายนพดลบอกว่า ไม่มีเรื่องการเมือง ไม่มีความเคลื่อนไหวอะไร วันนี้บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปด้วยดีแบบพี่น้อง ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ทหารจะเป็นคนให้รายละเอียดเอง เป็นความร่วมมือในเรื่องของการปฏิรูป ไม่ได้คุยกันในเรื่องความขัดแย้งในอดีต

คำให้สัมภาษณ์ของนายนพดลมองออกไม่ยากว่าเป็นความพยายามที่จะสร้างภาพความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นตามแนวทางของ ศปป. เพราะโดยลึกๆ แล้ว ในฐานะที่ปรึกษากฎหมาย นายนพดลย่อมรู้ดีว่า พ.ต.ท.ทักษิณผู้เป็นนายกำลังถูกรุกอย่างหนัก จากกรณีที่ถูกกระทรวงการต่างประเทศยกเลิกหนังสือเดินทาง 2 เล่ม ตามด้วยกรณีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำลังดำเนินการถอดยศ และถูกแจ้งความดำเนินคดีฐานความผิดมาตรา 112 กรณีให้สัมภาษณ์ที่เกาหลีใต้

แต่ที่นายนพดลไม่พูดถึงเรื่องนี้ ด้วยเหตุที่ไม่อยากให้เกิดภาพของความขัดแย้ง หรือว่า เพราะเห็นด้วยที่นายใหญ่ของตัวเองต้องได้รับผลกรรมเช่นนี้กันแน่
ถ้าเป็นเพราะอย่างแรก สิ่งที่นายนพดลพูดกับ ศปป.ก็เพียงเพื่อกลบเกลื่อนแผนการณ์ที่แท้จริง โดยยอมโอนอ่อนผ่อนตามเพื่อเอาตัวรอดไปก่อน รอเมื่อไหร่ได้โอกาสค่อยเปิดเกมรุกกลับอีกครั้ง ตามยุทธวิธี“ซุ่มซ่อนยาวนาน รอคอยโอกาส”เท่านั้น และความปรองดองสมานฉันท์ที่แท้จริงก็จะไม่เกิดขึ้น
ถ้าเป็นอย่างหลัง ก็พอจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ว่าการปรองดองสมานฉันท์ที่แท้จริงใกล้จะมาถึงแล้ว เมื่อฝ่ายผู้กระทำผิด เริ่มยอมรับในผลการกระทำของฝ่ายตัวเอง

แต่เมื่อดูจากความเป็นจริง นายนพดลยังไม่เคยปริปากออกมาเลยว่านายใหญ่ของตัวเองทำผิด การแสดงท่าทีประนีประนอมในเวทีพูดคุยของ ศปป.จึงไม่น่าจะใช่เป็นความต้องการที่จะสมานฉันทฺ์อย่างแท้จริง

ส่วนนายจตุพร พรหมพันธุ์ บอกว่า ประธานในเวทีเสวนาได้เปิดกว้างรับฟังทุกความคิดเห็นที่หลายฝ่ายแสดงความห่วงใย ทั้งมิติด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นทางออกให้กับประเทศ โดยแต่ละฝ่ายได้นำเสนอความคิดเห็นที่หลากหลายมิติ ตามแนวทางมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน เชื่อว่าเวทีหารือแบบนี้จะเป็นสิ่งที่ดี

ส่วนข้อเสนอของกลุ่ม นปช.นั้น นายจตุพรบอกว่า ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญที่อาจจะก่อให้เกิดวิกฤตในอนาคต ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้นกว่าเดิม เพราะในเนื้อหาจะทำให้ประเทศกลับมาสู่วิกฤตอีกครั้ง และระหว่างทางก็จะทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ประเมินค่าไม่ได้

“ถ้าต้องการให้บ้านเมืองเกิดความสงบก็ต้องเขียนรัฐธรรมนูญให้เป็นเนื้อหาประชาธิปไตย หรือถ้าต้องการอยู่ต่อก็บอกกันตรงๆ ผมไม่ได้กลัวว่าการที่อยู่ในอำนาจนานจะเป็นผลดีต่อผู้ที่มีอำนาจ เพราะอำนาจเป็นของร้อน”นายจตุพรกล่าว

นอกจากนี้ นายจตุพรยังได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ปิดสถานีโทรทัศน์พีซทีวี ของคนเสื้อแดงว่า เป็นการอ้างคำพูดตนที่ระบุว่าอย่ามองคนเห็นต่างเป็นศัตรู เพราะจะทำให้บรรยากาศบ้านเมืองมีความน่ารักมากกว่านี้ ตนพูดเพียงเท่านี้กลับถูกเพิกถอนใบอนุญาต ดังนั้นขอฝากไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วยพิจารณาว่าคำพูดที่ตนพูดนั้นว่าถึงกับต้องถอนใบอนุญาตเลยหรือไม่

คำพูดของนายจตุพรเห็นได้ชัดว่ายังมีน้ำเสียงของการท้าทาย คสช.โดยเฉพาะการตั้งเงื่อนไขว่ารัฐธรรมนูญต้องเป็นประชาธิปไตย ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองจะวุ่นวายแน่ ซึ่งคำว่าเป็นประชาธิปไตยของนายจตุพรนั้นตีความได้ไม่ยากว่า ต้องเป็นที่พอใจของฝ่ายคนเสื้อแดงหรือฝ่ายระบอบทักษิณนั่นเอง ซึ่งไม่มีทางที่เนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะออกมาเช่นนั้น

รวมทั้งประเด็นการปิดพีซทีวี ที่นายจตุพรอ้างว่า คำพูดของตัวเองเพียงสั้นๆ เป็นสาเหตุของการปิด ทั้งที่ กสทช.ได้ชี้แจงต่อสื่อมวลชนแล้วว่า พีซทีวีถูกปิดก็เพราะได้ทำผิดข้อตกลงกับ กสทช. ที่จะไม่ออกอากาศเนื้อหาที่ส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง และสร้างความแตกแยก โดยได้มีการตักเตือน ทำความเข้าใจหลายครั้งหลายวาระ รวมทั้งทำข้อตกลงเพิ่มเติม แต่พีซทีวียังคงนำเสนอเนื้อหาในลักษณะเช่นเดิมเป็นการทำผิดซ้ำซากจนต้องมีการเสนอให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการในที่สุด

การพูดบิดเบือนความจริงเพื่อประโยชน์ของฝ่ายตัวเอง เป็นนิสัยดั้งเดิมของฝ่ายระบอบทักษิณที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง นี่สะท้อนว่า ฝ่ายระบอบทักษิณต้องการจะปรองดองอย่างจริงใจหรือไม่

เสื้อแดงตัวพ่ออย่าง พ.ต.ท.ทักษิณเองยังคงให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศกล่าวหากองทัพกรณีการรัฐประหาร ทำให้ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก ต้องออกมาตอบโต้ว่า การกล่าวหากองทัพด้วยข้อความที่ไม่เป็นจริงนั้น เป็นการปรองดองหรือไม่ และทำให้กองทัพต้องแจ้งความดำเนินคดี พ.ต.ท.ทักษิณในข้อาหาหมิ่นประมาท

เห็นทีว่า ศปป.จะยังคงมีงานหนักที่ต้องทำอีกมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น