xs
xsm
sm
md
lg

คสช.เปิดเวทีถกปรองดอง พท.-ปชป.ตบเท้าร่วม นายกฯยันไม่ใช่ปรับทัศนคติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-คสช.เปิดเวทีเชิญแกนนำพรรคการเมือง นักวิชาการ สื่อมวลชน ถกแนวทางสร้างปรองดอง หวังเดินหน้าปฏิรูปประเทศ "มาร์ค-ตู่-เต้น" ชักแถวร่วมวงสนทนา เผยบรรยากาศชื่นมื่น ทุกฝ่ายร่วมแสดงความคิดเห็น "แม่น้องเกด"โวยคุยแต่เรื่องนักการเมือง ไม่เห็นหัวประชาชน "วรชัย"ยันต้องทำประชามติรัฐธรรมนูญ "บิ๊กตู่"รับ สั่งให้เรียกมาคุยเอง ป้องกันเอาแต่จ้อผ่านสื่อ ยันไม่ใช่ปรับทัศนคติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (23 เม.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่สโมสรทหารบก วิภาวดี ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ได้เชิญกลุ่มการเมือง ตัวแทนพรรคการเมือง นักวิชาการ และสื่อมวลชน กว่า 80 คน มาแสดงความคิดเห็น เพื่อนำไปกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เสริมสร้างความสามัคคี ปรองดอง สมานฉันท์ และคืนความสงบสุขให้แก่คนในชาติ โดย พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และรองเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 และ ผบ.กองกำลังรักษาความสงบแห่งชาติ (ผบ.กกล.รส) เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุม ฝั่งพรรคเพื่อไทย และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ นายภูมิธรรม เวชยชัย อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. นายวรชัย เหมะ และนางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานที่ปรึกษา นปช. เป็นต้น ขณะที่ฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของนักวิชาการ สื่อมวลชน และคอลัมนิสต์ อาทิ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และพิธีกรชื่อดัง นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ กรรมการญาติวีรชน 35 นายอธึกกิจ แสวงสุข เจ้าของนามปากกาใบตองแห้ง นายพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์เศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และนายเอกชัย ชัยนุวัฒน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.สยาม ซึ่งได้จัดเตรียมเสื้อผ้าใส่กระเป๋าเดินทางมาด้วย โดยบอกว่า ลูกและภรรยาเป็นกังวล ที่จะต้องเดินทางมาร่วมหารือในครั้งนี้

รายงานข่าวแจ้งว่า ทาง ศปป.ไม่ได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชน เข้าไปติดตามความเคลื่อนไหวด้านในห้องประชุมมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก โดยให้สื่อมวลชน สังเกตการณ์ผู้ที่เดินทางมาเข้าร่วมประชุม อยู่บริเวณหน้าทางเข้าสโมสร ทบ.เท่านั้น ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่สารวัตรทหารอย่างเข้มงวด

** “พงศ์เทพ” เผยบรรยากาศชื่นมื่น

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา กล่าวภายหลังการประชุมว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยเสียงส่วนใหญ่ ทั้งนักวิชาการ นักการเมือง ภาคประชาชน เป็นไปในทำนองเดียวกัน คือ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักสองเรื่อง คือ เรื่องระบบกฎหมาย กติกาที่เป็นธรรม และการบังคับใช้กติกา ผู้บังคับใช้กติกาที่เป็นธรรม ส่วนใหญ่ในที่ประชุมจะเน้นสองประเด็นนี้

ส่วนกติกาปัจจุบันที่กำลังทำ ก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าจะมีปัญหาความขัดแย้งตามมามากกว่า ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ทหารก็บอกว่าถ้าอย่างนี้จะจัดให้มีการพูดแสดงความเห็นของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้พูดคุยโดยตรงกับกรรมาธิการยกร่างฯ แทนที่จะพูดผ่านสื่อ ให้มาเจอหน้ากันพูดกันด้วยเหตุผลน่าจะเป็นแนวทางที่ดี และยังมีบางคนที่เสนอว่าในเรื่องความปรองดองซึ่งขณะนี้ยังมีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การเมืองที่ผ่านมา ที่ยังมีคดีความอยู่ในศาล ถูกคุมขังอยู่ เป็นไปได้ไหมที่จะดูแลคนเหล่านี้ได้อย่างไร

** "ประดิษฐ์" ระบุวงถก ศปป.สร้างสรรค์

นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในฐานะสมาชิก สปช. กล่าวว่า ในที่ประชุมมีการพูดคุยเรื่องปรองดอง ซึ่งตัวแทนทุกพรรคการเมืองที่ได้รับเชิญมาหมด 30-40 คน บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปด้วยดี มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในการแลกเปลี่ยนสร้างบรรยากาศปรองดอง และขอความคิดเห็นจากตัวแทนที่มา โดนตนเสนอไปว่า เมื่อปี 2554 ตนเคยทำโครงการส่งมอบประเทศไทยให้ลูกหลาน ซึ่งทุกคนได้เล่าในสิ่งที่ตนเองเคยทำมา ยืนยัน ไม่มีการขอร้อง หรือเชิญมาปรับทัศนคติ หลายคนขอว่า บรรยากาศในช่วงการร่างรัฐธรรมนูญนี้ ขอให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

เมื่อถามว่า มีการตอบรับข้อเสนอหรือไม่ นายประดิษฐ์ กล่าวว่า ไม่ใช่เวทียื่นหนังสือหรือตอบรับ แต่เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เมื่อเสนอแล้ว จะนำไปใช้อะไรก็แล้วแต่ อย่างไรก็ตาม ตนอยากให้มีการเปิดเวทีการพูดคุยแบบนี้ อย่าไปกลัวความเห็นที่แตกต่าง

** 3 นศ.ร่วมชงข้อเสนอปรองดอง

นายนัชชชา กองอุดม นักศึกษา ม.กรุงเทพ หนึ่งในผู้ที่ถูกเชิญมาร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นต่อ ศปป.กล่าวภายหลังการเข้าร่วมประชุมว่า บรรยากาศภายในห้องประชุม เป็นการพูดคุยตามปกติ ไม่มีเรื่องความขัดแย้ง แต่ละฝ่ายเสนอเรื่องความไม่เป็นธรรมที่แตกต่างกัน ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย แสดงความคิดเห็นคล้ายกันว่า อยากให้ คสช.มีความเป็นกลาง และมีความยุติธรรม เปิดใจรับความปรองดองจากทุกฝ่าย ส่วนตนได้เสนอเรื่องความยุติธรรม และการแสดงออก ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยทาง ศปป. ยืนยันว่า จะให้หลายฝ่ายได้แสดงออกมาขึ้น โดยจะมีการตั้งเวทีเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงออกในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น

ทั้งนี้ ศปป. ก็มีการขอร้องไม่ให้นำเรื่องที่มาพูดคุยกันในวันนี้ ออกมาพูดกับสื่อ เพราะเกรงว่าจะเกิดประเด็นมากมาย ซึ่งไม่อยากนำประเด็นเหล่านี้ไปสู่ความขัดแย้ง ขอให้เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในห้องประชุม

“การประชุมครั้งนี้ มีหลายคนเกิดความระแวง และหวาดกลัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่ฉุกละหุก จากการสังเกตด้วยสายตามีคนเข้าร่วมประมาณ 30-40 คน ส่วนนักศึกษา มีประมาณ 3 คน สำหรับคนที่มีรายชื่อแล้วไม่ได้มา ก็จะเชิญมาอีกในครั้งต่อไป” นายนัชชชากล่าว

** “แม่น้องเกด” ฉะคุยแต่เรื่องนักการเมือง

นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ น.ส.กมลเกด อัคฮาค หรือน้องเกด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตภายในวัดปทุมวนาราม กล่าวภายหลังเข้าร่วมประชุมกับ ศปป.ว่า ที่เดินทางมาในวันนี้ เพราะอยากรู้ว่า โรดแมปที่จะมาสร้างความปรองดองกันนั้น จะออกมาในรูปแบบไหน แต่พอฟังหลายๆ คนที่พูดในห้องประชุม ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่า ตกลงจะเป็นการปรองดองกันระหว่างนักการเมืองกับ คสช. หรืออย่างไร เพราะเรื่องของประชาชนแทบจะไม่มีการพูดถึงเลย ซึ่งหากรู้ว่าเป็นการปรองดองระหว่างนักการเมืองกับ คสช.จะได้ไม่เสียเวลาเดินทางมา

** “เต้น” ชง 3ขั้นโรดแมปปรองดอง

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กล่าวว่า ได้เสนอโรดแมปปรองดองอย่างเป็นรูปธรรมว่า ขั้นที่ 1 ต้องสร้างกระบวนการพูดคุยที่แท้จริง ขั้นที่ 2 สร้างกติกาสูงสุดที่เป็นประชาธิไตยเพื่อบังคับใช้อย่างเป็นธรรม รัฐธรรมนูญต้องมีเนื้อหาสาระที่ทุกฝ่ายยอมรับและบังคับใช้อย่างเสมอภาค และขั้นตอนที่ 3 จัดการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม

**”วรชัย” ยันต้องประชามติรัฐธรรมนูญ

นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันนี้มีการเสนอความคิดเห็นที่หลากหลาย แต่สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ และพรรคเพื่อไทยมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ เรื่องของรัฐธรรมนูญที่ต้องมีแนวทางไปในเรื่องความปรองดองลดความขัดแย้ง เป็นประชาธิปไตย โดยทั้งสองพรรครับได้ หากมีการเลือกตั้งช้า แต่รัฐธรรมนูญต้องเป็นประชาธิปไตย ซึ่งควรมีการทำประชามติ แต่หากรัฐธรรมนูญยังเป็นแบบที่ร่างออกมานี้ ไม่มีการแก้ไข เชื่อว่าความขัดแย้งจะไม่สิ้นสุด

“วันนี้ไม่ใช่ขัดแย้งเฉพาะกลุ่มพรรคประชาธิปัตย์ กปปส. นปช. และเพื่อไทย เท่านั้น แต่เป็นความขัดแย้งของความคิดคนอนุรักษ์นิยมกับคนรักประชาธิปไตย ต้องทำให้ทั้งสองกลุ่มเดินไปด้วยกันได้ วันนี้ทุกฝ่ายต้องเป็นผู้ที่ร่วมมือกันช่วยให้ประเทศไม่มีความขัดแย้ง ถ้าคสช.มีความตั้งใจช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งจริง ต้องเสนอความเห็นที่ได้พูดคุยไปยังกรรมาธิการฯ หากไม่ทำก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร ยึดอำนาจไม่จบ ไม่สิ้น" นายวรชัย กล่าว

** “บิ๊กตู่” ระบุเรียกคุยเบรกจ้อผ่านสื่อ

วันเดียวกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวยอมรับว่าได้สั่งการให้ ศปป. เชิญตัวแทนพรรคการเมือง นักวิชาการ และคอลัมนิสต์ เข้ามาหารือ เพราะเห็นว่า การออกมาพูดกับสื่อ พูดกับสังคมหรือพูดข้างนอกไม่ได้ประโยชน์ เพราะขณะนี้สถานการณ์บ้านเมืองยังไม่ปกติมากนัก ดังนั้น การที่บางคนทั้งที่มีคดีความหรือเรื่องต่างๆ ที่สังคมยังสงสัยข้องใจก็ต้องเชิญมาพบกัน ซึ่งความจริงก็เชิญมาพูดคุยกันแล้วหลายครั้ง ซึ่งก็รับปากกัน พูดจากันเรียบร้อย แต่พอกลับไปก็เอาใหม่อีก ตนจึงได้สั่งการว่าให้เชิญมาพูดคุยในวันเดียวกันนี้ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้เป็นการเรียกมาเพื่อปรับทัศนคติ แต่เป็นการเชิญมาทำความเข้าใจกัน

“สิ่งที่ผมต้องการ คือ ให้สังคมเข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น และเจ้าตัวต้องรู้ตัวเองว่าทำถูกหรือทำผิด และกฎหมายอยู่ที่ไหน หลายท่านบอกว่าการที่ผมเรียกมาเช่นนี้ก็จะใช้มาตรา 44 อีก เพื่อไปปรองดอง ผมบอกหลายครั้งแล้วว่าการปรองดองอยู่ที่หัวใจของทุกคนที่เป็นคนไทย ถ้าอยากปรองดองก็ขอให้หยุดกันเสียก่อนทุกเรื่อง หยุดพูด หยุดแสดงความคิดเห็นนั่นแหละคือปรองดองแล้ว แต่ไม่ใช่การยกโทษทางกฎหมาย ทุกคนต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นใครหรืออยู่ที่ไหน ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ถึงจะเรียกว่าเริ่มเข้าสู่การปรองดองแล้วถึงมีการตัดสินออกมาว่าถูกหรือผิด และมีการต่อสู้กันมา" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น