xs
xsm
sm
md
lg

แกนนำ นปช.เสนอ ศปป.โรดแมปปรองดอง 3 ขั้น - พท.-ปชป.รับได้ เลือกตั้งช้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สังคมออนไลน์ เผยแพร่ภาพที่นักการเมืองได้รับเชิญทาง ศปป.เข้าแรกเปลี่ยนความคิดเห็น เช้าวันนี้
วงประชุม ศปป. บรรยากาศชื่นมื่น ไร้ขัดแย้ง แกนนำ นปช. เสนอโรดแมปปรองดอง 3 ขั้น “อดีต ส.ส. พท.- ปชป.” ขอความเป็นกลาง รับได้ หากเลือกตั้งช้า แต่ต้องทำประชามติ ร่าง รธน. เผย “ผอ.ศูนย์ปรองดองฯ” เล็งเชิญลอตใหม่ แลกเปลี่ยนความเห็นเพิ่ม

วันนี้ (23 เม.ย.) ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ ตั้งแต่ช่วงเช้า บรรดานักการเมือง นักวิชาการ คอลัมนิสต์ ที่ได้รับหนังสือเชิญจาก พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร ผอ.ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ให้เข้าแสดงความคิดเห็นกำหนดแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ต่างทยอยเดินทางมายังสโมสรทหารบกกันอย่างคึกคัก ทั้งในส่วนของแกนนำพรรคเพื่อไทย แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ แกนนำ นปช. อาทิ นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกฯ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส. สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. นางธิดา ถาวรเศรษฐ แกนนำ นปช. นายพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น โดยผู้มาถึงคนแรกคือ นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย

ภายหลังหารือกว่า 3 ชั่วโมง นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ด้านสื่อมวลชน ให้สัมภาษณ์ ว่า ในที่ประชุมมีการพูดคุยเรื่องปรองดอง ซึ่งตัวแทนทุกพรรคการเมืองที่ได้รับเชิญมาทั้งหมด ประมาณ 30 - 40 คน บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปด้วยดี มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการสร้างความปรองดอง และขอความคิดเห็นจากตัวแทนที่มา โดยตนเสนอไปว่าเมื่อปี 54 ตนเคยทำโครงการส่งมอบประเทศไทยให้ลูกหลาน ซึ่งทุกคนในที่ประชุมได้เล่าในสิ่งที่ตนเองเคยทำมา ยืนยันไม่มีการขอร้องหรือเชิญมาปรับทัศนคติ แต่หลายคนขอว่า บรรยากาศในช่วงการร่างรัฐธรรมนูญนี้ ขอให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ส่วนเจ้าหน้าที่ทหารจะตอบรับข้อเสนอหรือไม่นั้น มองว่าไม่ใช่เวทียื่นหนังสือหรือตอบรับ แต่เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เมื่อเสนอแล้วจะนำไปใช้อะไรก็แล้วแต่เจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ตนอยากให้มีการเปิดเวทีการพูดคุยแบบนี้เรื่อยๆ อย่าไปกลัวความเห็นที่แตกต่าง

ขณะที่ นายนัชชชา กองอุดม นักศึกษา ม.กรุงเทพ หนึ่งในผู้ที่ถูกเชิญมาร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นกับ ศปป. เปิดเผยว่า ทางเจ้าหน้าที่ทหารได้ชี้แจงว่าการเชิญมาในวันนี้เป็นการพูดคุยและแสดงความคิดเห็นเพื่อช่วยกันนำไปสู่ความปรองดอง โดยบรรยากาศภายในห้องประชุมเป็นการพูดคุยตามปกติ ไม่มีเรื่องความขัดแย้ง แต่ละฝ่ายเสนอเรื่องความไม่เป็นธรรมที่แตกต่างกัน ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย แสดงความคิดเห็นคล้ายกันว่าอยากให้ คสช.มีความเป็นกลาง และมีความยุติธรรม เปิดใจรับความปรองดองจากทุกฝ่าย ส่วนตนได้เสนอเรื่องความยุติธรรมและการแสดงออก ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยทาง ศปป. ยืนยันว่า จะให้หลายฝ่ายได้แสดงออกมาขึ้น โดยจะมีการตั้งเวทีเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงออกในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น ทั้งนี้ศปป.ก็มีการขอร้องไม่ให้นำเรื่องที่มาพูดคุยกันในวันนี้ออกมาพูดกับสื่อ เพราะเกรงว่าจะเกิดประเด็นมากมาย ซึ่งไม่อยากนำประเด็นเหล่านี้ไปสู่ความขัดแย้ง ขอให้เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในห้องประชาชน

“การประชุมครั้งนี้ มีหลายคนเกิดความระแวงและหวาดกลัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่ฉุกละหุก จากการสังเกตด้วยสายตา มีคนเข้าร่วมประมาณ 30 - 40 คน ส่วนนักศึกษามีประมาณ 3 คน สำหรับคนที่มีรายชื่อแล้วไม่ได้มา ก็จะเชิญมาอีกในครั้งต่อไป” นายนัชชชา กล่าว

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กล่าวว่า การประชุมวันนี้เป็นการเชิญคนหลายกลุ่มมาแสดงความเห็นแนวทางปรองดอง โดยตนได้เสนอความคิดว่าทั้งหมดที่เชิญมาวันนี้ไม่มีใครเป็นคู่ขัดแย้งที่แท้จริง เพราะคู่ขัดแย้งที่จริง คือ กลุ่มความคิดอนุรักษนิยม และกลุ่มความคิดเสรีนิยม ซึ่งเกิดมาตลอดนับมาตั้งแต่ 2475 ดังนั้น หากปัญหาเดิมยังไม่ได้รับการแก้ไขก็จะเกิดคู่ต่อสู้ใหม่ขึ้นมาอีก วันนี้สิ่งที่สังคมต้องการและจะนำไปสู่การปรองดองคือการจัดสมดุลทางอำนาจให้ทุกคนเท่าเทียมกันภายใต้กติกาสูงสุดที่เป็นประชาธิปไตย และบังคับใช้อย่างเป็นธรรม

ดังนั้น กลุ่มต่างๆ ที่เชิญมาจึงไม่ใช่เหตุแต่เป็นผลของความไม่สมดุลทางอำนาจในประเทศไทย ตนจึงได้เสนอโรดแมปปรองดองอย่างเป็นรูปธรรมว่า ขั้นที่ 1 ต้องสร้างกระบวนการพูดคุยอย่างเช่นที่เชิญหลายฝ่ายมาพูดคุยในวันนี้ หรือที่บอกว่าไปพูดคุยมาแล้ว 4,000 เวที ทั่วประเทศ และต้องหมายรวมถึงกลุ่มทุนผู้มีบารมีอิทธิพล ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่ผ่านมา แม้กระทั่งกองทัพเองก็ควรพูดคุยกันเพื่อสรุปบทบาทที่ผ่านมาและกำหนดแนวทางข้างหน้าที่จะแสดงบทบาทภายใต้กติกาประชาธิปไตย นอกจากนี้ต้องแสดงความจริงใจ จากผู้มีอำนาจที่จะลบบาดแผลที่มีในใจของประชาชน เช่นดำเนินการเยียวยาผู้บาดเจ็บและผู้สูญเสียทุกกลุ่มที่ยังไม่ได้รับอย่างรวดเร็ว หรือนิรโทษกรรมให้ประชาชน ที่ต้องคดีความทางการเมืองทุกฝ่ายและดำเนินการให้ประกันตัวประชาชนที่ต้องคดีทางการเมือง ซึ่งคดียังไม่สิ้นสุดในชั้นศาลฎีกา ส่วนคดีความของแกนนำนั้นก็ให้พิสูจน์ตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป

ขั้นที่ 2 สร้างกติกาสูงสุดที่เป็นประชาธิปไตยเพื่อบังคับใช้อย่างเป็นธรรมหมายถึงต้องทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเนื้อหาสาระที่ทุกฝ่ายยอมรับและบังคับใช้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ซึ่งเมื่อสังคมเห็นเนื้อหาของรัฐธรรมนูญแบบนี้แล้วก็จำเป็นต้องเปิดพื้นที่ให้ผู้ที่เห็นต่างอธิบายหลักการและเหตุผล ซึ่งขั้นตอนนี้ที่ประชุมก็เห็นด้วยในหลักการ ตนจึงเสนออีกว่าควรให้มีการเปิดให้มีห้องประชุมสภานัดพิเศษเพื่อให้สมาชิกกลุ่มการเมืองนักวิชาการองค์กรอิสระ ได้มาร่วมแสดงความคิดเห็นถึงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญและเปิดโอกาสให้กรรมาธิการยกร่างฯได้ชี้แจงด้วย ประชาชนจึงจะได้พิจารณาอย่างรอบด้าน

ส่วนขั้นตอนที่ 3 จัดการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ซึ่งนักการเมืองทั้งหลายต้องเข้าสู่กระบวนการตามกติกา ส่วนองค์กรอิสระก็แสดงความสง่างามโดยการลาออกจากทุกตำแหน่ง แต่ไม่ปิดกั้นที่จะเข้ากระบวนการสรรหาตามรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อให้ทุกอย่างมาเริ่มต้นภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งหากทิศทางเป็นแบบนี้จะถือว่าประเทศยังมีความหวังเรื่องความปรองดอง

“แต่หากเนื้อหายังเป็นแบบที่ร่างนี้และคนกลุ่มหนึ่งก็ยังสร้างภาพว่านักการเมืองเท่านั้น คือ ต้นเหตุความขัดแย้งไม่ยอมพูดความจริงทุกฝ่าย นอกจากเราจะไม่เห็นอนาคตแล้วความขัดแย้งเดิมๆ ก็จะกลับมา ซึ่งฝ่ายความมั่นคงก็รับปากว่าจะเสนอต่อผู้บังคับบัญชาต่อไป”

นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส. สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้มีการเสนอความคิดเห็นที่หลากหลาย แต่สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือเรื่องของรัฐธรรมนูญที่ต้องมีแนวทางไปในเรื่องความปรองดองลดความขัดแย้ง เป็นประชาธิปไตย เรารับได้หากการเลือกตั้งช้า แต่รัฐธรรมนูญต้องเป็นประชาธิปไตย ซึ่งควรมีการทำประชามติ แต่หากรัฐธรรมนูญยังเป็นแบบที่ร่างออกมานี้ ไม่มีการแก้ไข เชื่อว่าความขัดแย้งจะไม่สิ้นสุด

“วันนี้ไม่ใช้ความขัดแย้งเฉพาะกลุ่มพรรคประชาธิปัตย์ กปปส. นปช. และเพื่อไทย เท่านั้น แต่เป็นความขัดแย้งของความคิดคนอนุรักษนิยมกับคนรักประชาธิปไตย ต้องทำให้ทั้งสองกลุ่มเดินไปด้วยกันได้ วันนี้ทุกฝ่ายต้องเป็นผู้ที่ร่วมมือกันช่วยให้ประเทศไม่มีความขัดแย้ง ถ้าคสช.มีความตั้งใจช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งจริง ต้องเสนอความเห็นที่ได้พูดคุยไปยังกรรมาธิการ หากไม่ทำก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร ยึดอำนาจไม่จบ ไม่สิ้น” นายวรชัย กล่าว

นายวรชัย กล่าวอีกว่า ในเวทีพูดคุยเสนาธิการทหารบกได้รับฟังความเห็นพอสมควร เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้พูด ได้แสดงความเห็น และบอกว่าจะนำแนวทางข้อเสนอทั้งหมดไปให้หัวหน้าคสช. ทั้งนี้ตนขอให้หัวหน้า คสช. ฟังความคิดเห็นต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมด้วย.


กำลังโหลดความคิดเห็น