xs
xsm
sm
md
lg

สปช.นิพนธ์ นาคสมภพ เสนอตัดเนื้อหาในเรื่องการครองสิทธิ์ข้ามสื่อออก ชี้ล้าสมัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายนิพนธ์ นาคสมภพ สปช.สายสื่อสารมวลชน
ASTVผู้จัดการ - “นิพนธ์ นาคสมภพ” สปช.สายสื่อ อภิปรายร่าง รธน.เรื่องเสรีภาพสื่อ ระบุเห็นด้วยกับ ม.48 แต่ควรตัดเรื่องการครองสิทธิ์ข้ามสื่อออก ชี้เป็นกฎหมายล้าสมัย เป็นมรดกมาตั้งแต่สงครามเย็น ยันไม่เท่าทันเทคโนโลยี ระบุต้องคุมไม่ให้ผิดจรรยาบรรณวิชาชีพ

วานนี้ (20 เม.ย.) นายนิพนธ์ นาคสมภพ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านสื่อสารมวลชน ได้อภิปรายร่างรัฐธรรมนูญในเรื่องเสรีภาพของสื่อสารมวลชน ทั้งนี้เห็นด้วยกับมาตรา 48 แต่ต้องตัดวรรค 5 เรื่องการครองสิทธิ์ข้ามสื่อ โดยให้ความเห็นว่าตนติดตามผลงานทางวิชาการด้านนี้มาโดยตลอด ส่วนใหญ่เชื่อว่ากฎหมายการครองสิทธิ์ข้ามสื่อเป็นกฎหมายที่ล้าสมัย เขียนไว้ดีวิเศษอย่างไรก็ตามไม่ทันเทคโนโลยีในอนาคตอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า ยิ่งเขียนไว้ยิ่งเป็นข้อจำกัดความเจริญเติบโต ตนจึงเห็นว่าไม่เหมาะกับการนำมาไว้ให้รกรุงรังในรัฐธรรมนูญมาตรา 48

จากนั้นจึงอธิบายว่า “เนื้อหาในมาตรา 48 วรรค 5 ว่าด้วยเจ้าของกิจการสื่อมวลชนต้องเป็นพลเมือง และพลเมืองไม่อาจเป็นเจ้าของกิจการสื่อมวลชนหรือผู้ถือหุ้น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หลายกิจการ ในลักษณะที่อาจมีผลเป็นการครอบงำหรือผูกขาดการนำเสนอข้อมูลข่าวสารหรือความคิดเห็นต่อสังคม หรือมีผลเป็นการขัดขวางการรับรู้ข้อมูลข่าวสารหรือความคิดเห็นต่อสังคม หรือมีผลเป็นการขัดขวางการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร หรือปิดกั้นการได้รับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

การครองสิทธิ์ข้ามสื่อนี้ ไม่ได้กำหนดเฉพาะเจาะจงว่าเป็นสื่อวิทยุ โทรทัศน์ เคเบิลทีวี ภาพยนตร์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือ เพลง วิดีโอ เกม และสื่อออนไลน์ต่างๆ

ความเป็นจริงแนวคิดการครองสิทธิ์ข้ามสื่อวิทยุและโทรทัศน์ เป็นแนวคิดยุคหลังยุคสงครามเย็น เพราะ 2 สื่อนี้ ประเทศมหาอำนาจได้นำวิทยุมาเป็นยุทธปัจจัยเพื่อส่ง “สาร” ให้เข้าถึงประชาชนและสร้างความเข้าใจโน้มน้าวเพื่อครอบงำความคิดประชาชนได้ทุกระดับโดยเฉพาะระดับที่ไม่สามารถอ่านหนังสือ

ประเทศไทยเป็นเหยื่อการครอบงำดังกล่าวด้วยการส่งวิทยุคลื่นสั้นเข้ามาเป็นภาษาไทย มีทั้งโน้มน้าวและชวนเชื่อเพื่อต่อสู้กันระหว่างลัทธิทุนนิยมกับสังคมนิยม มหาอำนาจบางประเทศถึงกับว่าจ้างจัดรายการละครเพื่อสอดแทรกความเชื่อเพื่อต่อต้านลัทธิ

วันนั้น วิทยุมีอิทธิพลต่อความคิดและความเชื่อของประชาชนชาวไทยส่วนหนึ่งในช่วงสงครามเย็นแต่วันนี้มีสื่อเทคโนโลยีอื่นหลายหลายเป็นผลให้สื่อวิทยุลดความสำคัญลงไป

วันนี้ เวลาผ่านไปกว่า 40 ปี วิทยุกระแสหลักเปิดขึ้น 500 สถานี มีทั้งระบบเอเอ็มและเอฟเอ็ม วิทยุระบบเอฟเอ็มใสยุคสื่อเสรีเคยมีเปิดกันมากถึง 7,000 คลื่นความถี่ แน่นอนวิทยุบางคลื่นสามารถโน้มน้าวให้ประชาชนในท้องถิ่นลุกขึ้นมาต่อสู้กันทางความคิด และเลยไปถึงการก่อความรุนแรง ต้องยอมรับว่าวิทยุช่วงที่ผ่านมาเป็นพลังหนุนให้เกิดความรุนแรง แต่ไม่ได้เกิดจากการหลอมรวมสื่อ แต่เป็นการใช้สื่อใดสื่อหนึ่งสื่อเดียวเป็นสื่อโฆษณาชวนเชื่อ หรือบางคลื่นเลยไปถึงการใช้เป็นรหัสเพื่อระดมพล

ก่อนยุคหลอมรวมสื่อมีหลายประเทศไม่อนุญาตให้เจ้าของกิจการโทรทัศน์เป็นเจ้าของกิจการวิทยุ แต่ก็มีหลายประเทศให้เป็นได้ทั้งเจ้าของกิจการโทรทัศน์และวิทยุแต่จำกัดจำนวนผู้รับสารไม่ให้มากพอที่จะโน้มน้าวและครอบงำความคิดประชาชน

ประเทศไทยมีความคิดตรงกันข้าม การให้สัมปทานกิจการโทรทัศน์ในยุคแอนะล็อกมีวิทยุให้ด้วยอีก 1 สถานี โทรทัศน์ยุคแรกทั้ง 4 ช่อง จึงมีวิทยุแถมด้วยอีกหนึ่งคลื่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดเสียงโทรทัศน์ไปทางวิทยุ และในช่วงที่โทรทัศน์พากย์ไทยรายการต่างประเทศ ก็ให้ฟังเสียงภาษาอังกฤษทางวิทยุ

มีงานวิจัยการครองสิทธิ์ข้ามสื่อของประเทศไทยยุคสื่อหลอมรวม เขียนไว้ในบทคัดย่อตอนหนึ่งว่า “หนังสือพิมพ์และสื่อบันเทิงจำนวนมากข้ามสื่อไปทำโทรทัศน์ดาวเทียม แนวคิดห้ามครองสิทธิ์ข้ามสื่อเป็นหลักการที่ดี แต่อาจใช้ไม่ได้กับประเทศไทยเนื่องจากเมืองไทยมีการทำธุรกิจข้ามสื่อมานานแล้ว มีสื่อและช่องทางการรับสารหลากหลายขึ้น ยึดหลักการแข่งขันตามกลไกตลาดเสรี และการครองที่ทำให้เกิดการผูกขาดการกระจุกตัวและผลกระทบเชิงลบ”

งานวิจัยชี้นนี้แนะไว้ว่า “แนวทางที่พอจะกำกับดูแลได้คือจำกัดจำนวนการเป็นเจ้าของสื่อหลัก ส่งเสริมการกำกับดูแลร่วมกันสร้างพลังผู้บริโภคสื่อให้มีความเข็นแข็งและรู้เท่าทันการสื่อสาร ซึ่งคำแนะนำดังกล่าวมีอยู่แล้วในส่วนต่างๆ ของรัฐธรรมนูญตอนที่ 3 สิทธิพลเมือง กล่าวคือ

- การจำกัดจำนวนการเป็นเจ้าของสื่อหลักที่เผยแพร่โดยใช้ความถี่ของชาติ มีกำหนดไว้แล้วในมาตรา 50
- ส่งเสริมการกำกับดูแลร่วมกัน มีกำหนดไว้แล้วในมาตรา 49 วรรค 4
- การสร้างพลังผู้บริโภคสื่อให้มีความเข้มแข็ง มีกำหนดไว้แล้วในมาตรา 60

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดเสวนาผู้ที่เกี่ยวข้องหลายส่วน เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2558 มีผู้เข้าเสวนาทั้ง กสทช. นักวิชาการ ผู้แทนผู้บริโภค และประธาน สปช.สายสื่อฯ

ทุกท่านเห็นว่าการครองสิทธิข้ามสื่ออยู่ในยุคสมัยของเทคโนโลยีที่ก้าวข้ามการครองสิทธิ์ข้ามสื่อไปไกลมากแล้ว หลายสื่อได้มีการครองสิทธิข้ามสื่อ และตามสภาพความเป็นจริงแล้ว การครองสิทธิข้ามสื่อเป็นเรื่องสร้างความได้เปรียบในแง่ของธุรกิจ และความสำคัญไม่ได้อยู่ที่การครองสิทธิ์ข้ามสื่อ แต่ถ้าหากมีการถือครองสิทธิ์ข้ามสื่อเกินกว่าที่กำหนดก็ต้องมีองค์กรเข้ามาดำเนินการอย่างเด็ดขาด

กรรมาธิการสื่อสารมวลชนเห็นว่า ความสำคัญอยู่ที่ “การนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อ ต้องไม่ผิดจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อสารมวลชน”

ถ้าเอาวรรค 5 มาตรา 48 ออกช่วงจะได้ดังนี้

เจ้าของกิจการสื่อมวลชนต้องเป็นพลเมือง และพลเมืองไม่อาจครอบงำหรือผูกขาดการนำเสนอข้อมูลข่าวสารหรือความคิดเห็นต่อสังคม หรือมีผลเป็นการขัดขวางการรับรู้ข้อมูลข่าวสารหรือความคิดเห็นของสังคม หรือมีผลเป็นการขัดขวางการรับรู้ข้อมูลข่าวสารหรือปิดกั้นการได้รับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ


เมื่อตัดออกแล้วประเทศจะมีความมั่นคงไหม ถ้าจะเขียนคงเป็นเรื่องของ “การจำกัดให้เจ้าของหรือผู้ถือหุ้น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในกิจการสื่อมวลชน มีสัดส่วนจำนวนผู้ชมในแต่ละภูมิทัศน์ได้ไม่เกินสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด

การออกกฎหมายลูกอาจจะจำกัดให้ผู้ชมไม่เกินร้อยละ 30, 40, หรือ 50 ถ้าเกินต้องแบ่งขายกิจการ เพราะสื่อที่มีอยู่หลากหลายวันนี้มีงานวิจัยระบุว่า สื่อในอดีตที่ได้รับความนิยมที่สุดคือ รายการโทรทัศน์ประเภท “ละคร” หรือ “การถ่ายทอดการแข่งขันกีฬา” เท่านั้นที่อาจะมีผุ้ชมเกินร้อยละ 30 ชองผู้ชม สื่อปัจจุบันผู้ชมรายการไม่เกินร้อยละ 10 ของประชาชน

ดังนั้นการที่จะส่ง “สาร” ถึงผู้ชมร้อยละ 30 ต้องใช้ปริมาณสื่ออย่างมหาศาล หรือต้องใช้กฎหมายบังคับให้ถ่ายทอดกิจกรรมของรัฐบาลเพียงสื่อเดียว

ด้วยเหตุนี้จึงขอให้ยกมาตรา 48 วรรค 5 ออกบางส่วนแต่ถ้ายังห่วงเรื่องที่เป็นสาระของ “ความมั่นคง” ก็ควรเพิ่มการจำกัดสัดส่วนผู้รับสารแต่ละท้องที่”



กำลังโหลดความคิดเห็น