4 องค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน รณรงค์วันเสรีภาพสื่อโลก วอน คสช. ยกเลิกคำสั่งจำกัดเสรีภาพ ร่วมยืนไว้อาลัยแก่สื่อมวลชนที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ทั่วโลก พร้อมเปิดเสวนาเรื่อง “สื่อไทยในสถานการณ์เปลี่ยนผ่าน : เสรีภาพ หรือ ครอบงำ?”
วันนี้ (3 พ.ค.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกันออกแถลงการณ์เนื่องในวันเสรีภาพสื่อโลก 3 พ.ค. โดยมี นายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ นายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เป็นตัวแทนในการอ่านแถลงการณ์
ระบุว่า สถานการณ์ของสื่อมวลชนไทยในรอบปี 2557 ถือว่าเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ ถูกกดดันจากกลุ่มมวลชนทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายต่อต้านและฝ่ายที่ให้การสนับสนุนรัฐบาล อยู่ในสถานะที่ถูกจับจ้องจากทุกฟากฝั่ง ถูกมองเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งเป็นผู้เติมเชื้อไฟให้โหมกระพือมากกว่าเป็นผู้ถอนฟืนออกจากกองไฟ ไม่อยู่ในสถานะที่เป็นที่พึ่งหวังของประเทศเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนด้วยสภาพการณ์หรือภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีของโลก ทำให้เกิด “สื่อเฉพาะ” ที่มุ่งหวังรับใช้เจตนารมณ์ของกลุ่มต่างๆ มากยิ่งขึ้น
ท่ามกลางความยุ่งเหยิงทางการเมืองและความเคลือบแคลงสงสัยต่อบทบาทของสื่อมวลชน จึงเป็นสิ่งที่ 4 องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ตระหนัก และมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ ดังกล่าวเป็นอย่างมาก เพราะความน่าเชื่อถือและศรัทธาไว้วางใจต่อสื่อมวลชนของสาธารณชนเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง
เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 สถานการณ์และดัชนีชี้วัดสถานภาพเสรีภาพของสื่อมวลชนไทยได้ตกต่ำลงในสายตาประชาคมโลก เพราะคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ได้สั่งระงับการออกอากาศของสถานีวิทยุและโทรทัศน์ และขอให้หนังสือพิมพ์งดแสดงความคิดเห็นที่จะทำให้เกิดการต่อต้านคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ
ต่อมาได้ออกคำสั่งเพื่อควบคุมการเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชน ฉบับที่ 97/2557 ฉบับที่ 103/2557 และฉบับที่ 3/2558 ข้อ 5 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2557 อันเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของสื่อมวลชน และเป็นการปิดกั้นการรับรู้ข่าวสารของประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มีอยู่แต่เดิม และเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของประเทศประการหนึ่ง การคงไว้ซึ่งสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวเป็นหลักการพื้นฐานที่ไม่น้อยกว่าการปกป้องสิทธิส่วนบุคคลที่ปราศจากการละเมิดจากสื่อมวลชนและความรับผิดชอบต่อสังคมตามกรอบจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ
เนื่องในวันสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พฤษภาคม ประจำปี 2558 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จึงมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
1. ขอให้ คสช. ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 97 คำสั่ง คสช. ที่ 103 และ คำสั่งที่ 3/2558 ข้อ 5 ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2557 โดยเร็ว เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งการปรองดองพูดคุยอย่างเสรีและปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังอยู่ในขั้นตอนการปฏิรูป จึงมีความจำเป็นจะต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้แสดงความคิดเห็นเพื่อร่วมกำหนดอนาคตของประเทศ เพื่อให้สื่อมวลชนเป็นเวทีแห่งการพูดคุยเพื่อแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งอย่างสันติ
การคงไว้ซึ่งคำสั่งทั้ง 3 ทำให้บรรยากาศแห่งการพูดคุยและแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีและปลอดภัยไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยง่าย การยกเลิกคำสั่งยังเป็นการส่งสัญญาณที่ดีต่อภาพลักษณ์ด้านสิทธิและเสรีภาพของประเทศโดยรวมและยังแสดงให้เป็นที่ประจักษ์ต่อประชาคมโลกว่ามาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่ สามารถเป็นเครื่องมือสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายได้ สำหรับสื่อมวลชนที่ละเมิดกฎหมาย รัฐบาลยังคงใช้กฎหมายที่มีอยู่ดำเนินการได้ตามปกติ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ โดยมิต้องใช้คำสั่งหรือมาตรการพิเศษใดๆ อีกต่อไป
2. ในการดำเนินการของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต้องเป็นอิสระไม่ถูกแทรกแซงใดๆ จากภาครัฐ เพราะ กสทช. เป็นองค์กรอิสระที่เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของประชาชน ที่ต้องการให้การจัดสรรคลื่นความถี่ซึ่งเป็นสมบัติของชาติ เป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อสาธาณะ ในส่วนองค์กรวิชาชีพสื่อขอให้ดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ การกำกับดูแลกันเอง ภายใต้กรอบแห่งกฎหมาย จริยธรรมและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ เพื่อคงไว้ซึ่งเสรีภาพและความรับผิดชอบต่อข่าวสารที่นำเสนอ
3. ขอให้ประชาชนและผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารจากสื่อมวลชนและสื่อประเภทต่างๆ ได้ตระหนักเห็นว่าภูมิทัศน์สื่อได้เปลี่ยนแปลงไป ผู้รับสารสามารถอยู่ในฐานะส่งสารได้ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ข่าวสารจึงเกิดขึ้นได้มากมายและแพร่หลาย จึงจำเป็นอย่างที่ประชาชนและผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารจะต้องตระหนักและรู้เท่าทันสื่อ
ในโอกาสที่รัฐธรรมนูญชึ่งอยู่ระหว่างการยกร่าง ได้สนับสนุนให้มีกฎหมายว่าด้วยองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อปกป้องเสรีภาพและความเป็นอิสระของสื่อมวลชน ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานแห่งวิชาชีพ พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพและคุ้มครองสวัสดิการของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ประชาชนโดยทั่วไปจะได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม
และหากผู้ใดถูกละเมิดหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้เสรีภาพของสื่อมวลชน ขอให้ใช้สิทธินั้นตามขั้นตอนต่างๆ ผ่านสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ตลอดจนใช้สิทธิทางกฎหมายที่มีอยู่ดำเนินการ
4. ขอให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและผู้ประกอบธุรกิจสื่อมวลชน ได้ตระหนักถึงบทบาทและภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ตามมาตรฐานจริยธรรมและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพอย่างเต็มกำลัง เปิดพื้นที่สื่อสาธารณะให้ทุกฝ่าย ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญในการร่วมกันหาทางออก เพื่อสร้างความปรองดอง ยุติความขัดแย้ง และร่วมกันปฏิรูปประเทศ ให้ประเทศไทยก้าวข้ามผ่านวิกฤตครั้งสำคัญไปให้ได้
องค์กรวิชาชีพสื่อ ทั้ง 4 ขอย้ำเตือนว่าทุกฝ่ายในสังคมต้องตระหนักถึงหลักการเคารพเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชนและประชาชน เพราะเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อความโปร่งใส ตามหลักการปกครองด้วยหลักธรรมาภิบาลของประเทศ และการใช้เสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย