xs
xsm
sm
md
lg

“กอ.รมน.” สงขลา จัด “ปรองดองเพื่อการปฏิรูปสื่อ” ครั้งที่ 3 ร่วมถกบทบาท “สื่อท้องถิ่น”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “กอ.รมน.” สงขลา ร่วมกับสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย จัดเวที “ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปสื่อ” ครั้งที่ 3 หวังหารือบทบาทของการปฏิรูปสื่อมวลชนท้องถิ่น บนความคาดหวังต่อรัฐบาล คสช.

วันนี้ (19 มี.ค. ) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงแรมบุรีศรีภู บูติกโฮเต็ล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.) จ.สงขลา ร่วมกับสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ได้จัดเวที “ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปสื่อ” ครั้งที่ 3 เพื่อหารือแลกเปลี่ยนในสองประเด็นหลักคือ บทบาทของการปฏิรูปสื่อมวลชนท้องถิ่นในการปฏิรูปการเมืองไทยแบบใหม่ และความคาดหวังต่อรัฐบาล ภายใต้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีผู้สื่อข่าวในพื้นที่เข้าร่วม

 
การจัดการเสวนาในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 โดยมีผู้ร่วมนำเสวนาแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่าย กอ.รมน. มีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย พ.อ.ชาติชาย เกื้อกิจ ผู้แทน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมด้วยนายดำรง เศวตพรหม กรรมการการเลือกตั้งประจำ จ.สงขลา (กกต.) ส่วนผู้ร่วมเสวนาฝ่ายสื่อมวลชน ได้แก่ นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย นายปิยะโชติ อินทรนิวาส หัวหน้าศูนย์ข่าว ASTVผู้จัดการหาดใหญ่ นายณรงค์ ชื่นนิรันดร์ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.สงขลา และนายสัมฤทธิ์ บุญรัตน์ รองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สมิหลาไทม์ โดยมี น.อ.มนูญ ขลุกเอียด ตัวแทนจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล ได้กล่าวถึงในประเด็นที่หารือกันว่า “สื่อส่วนใหญ่ที่ทำกันนั้น ไม่ได้ขายเฉพาะกับคนกรุงเทพฯ เพราะพื้นที่ข่าวแต่ละพื้นที่นั้น มีบทบาทสำคัญด้วยกันทั้งหมด โดยเฉพาะกับพื้นที่ในภูมิภาคต่างๆ ที่มีข่าวอย่างหลากหลาย และยังเน้นย้ำอีกด้วยว่า หน้าที่ของผู้บริหารข่าวนั้นจะต้องกำกับพื้นที่ที่ตัวเองจะดูแลรับผิดชอบ กำหนดบทบาทการรายงานข่าว และต้องเป็นผู้เฝ้ามองปรากฏการณ์ของสังคมอยู่ตลอด พร้อมกำชับว่าตัวผู้สื่อข่าวเองนั้นควรจะพัฒนาตนเองเป็นอันดับแรก ”

 
ด้านนายปิยะโชติ อินทรนิวาส ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ข่าวนั้นส่วนใหญ่มักเริ่มจากภูมิภาคทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นนักข่าวท้องถิ่นจะต้องมีบทบาทอย่างมากในการทำข่าว แต่การนำออกเผยแพร่นั้นมักขึ้นอยู่กับทางอำนาจรัฐ เพราะฉะนั้น สื่อจะต้องมีจุดยืนในการวางตัว ห้ามแทรกแซงโดยรัฐบาล หรือการเมือง” และยังได้พูดถึงความสำคัญของสื่อว่า “ปัจจุบันสื่อมีความก้าวหน้า และไปไกลมาก จึงเชื่อมั่นว่าสื่อนั้นสามารถจะปฏิรูปในทุกๆ ด้าน ได้ทั้งการเมือง การปกครอง หรือแม้กระทั่งเศรษฐกิจ รวมถึงกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง และเหมาะสมได้”

ส่วน นายณรงค์ ชื่นนิรันดร์ กล่าวถึงในประเด็นบทบาทของสื่อมวลชนว่า “ควรกำหนดบทบาทของตัวเองว่าควรจะเป็นแบบไหน แล้วทำหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ แต่จะต้องตอบสนองต่อสังคมที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน และยังคาดหวังให้ กอ.รมน. หรือส่วนที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งสถาบันการอบรมให้ความรู้แก่บุคคล หรือสถาบันที่ทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชน เพื่อจะให้เป็นกรอบทางวิชาการ พร้อมหาเงินสนับสนุน”

 
และนายสัมฤทธิ์ บุญรัตน์ ได้เน้นย้ำนักข่าวในการทำข่าวด้วยว่า “ควรทำข่าวในเชิงลึก สืบสวนสอบสวน ขุดคุ้ยเรื่องข่าวได้เลย โดยไม่เว้นบุคคลที่มีอำนาจก็ตาม และการปฏิรูปต่างๆ นั้นควรตั้งอยู่บนความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก”

ในขณะเดียวกัน ฝั่งนายดำรง เศวตพรหม ได้กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า “สื่อมวลชนนั้นควรจะมีความเป็นกลาง เท่าเทียม และต้องเป็นมืออาชีพ โดยในยุคนี้ก็จะต้องต่อสู้กับสื่อโซเชียลมีเดีย เพราะเราทุกคนก็สามารถเป็นนักข่าวบนโลกออนไลน์ได้ แค่ถ่ายภาพ หรือวิดีโอแล้วนำไปเผยแพร่ตามช่องทางต่างๆ บนโซเชียลมีเดีย เราจึงควรจะพิจารณาถึงข้อเท็จจริงเหล่านั้นมาด้วย”

พ.อ.ชาติชาย เกื้อกิจ ได้กล่าวชี้แจงด้วยว่า “เป้าหมายหลักของทุกฝ่ายคือประชาชน โดยการสร้างจิตวิญญาณที่ดีให้แก่ประชาชนในทุกๆ ด้าน เฉกเช่น การใช้ค่านิยมหลัก 12 ประการ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อมุ่งหวังปลุกจิตสำนึกให้แก่เด็กๆ และเยาวชน ส่วนเป้าหมายการปฏิรูปสื่อนั้นควรให้มีธรรมนูญของสื่อควบคุมด้วย”

 
โดยบรรยากาศภายในงาน สื่อมวลชนในหลายแขนงได้ร่วมกันอภิปรายในประเด็นของบทบาทของการปฏิรูปสื่อมวลชนท้องถิ่นในการปฏิรูปการเมืองไทยแบบใหม่ และความคาดหวังต่อรัฐบาล ภายใต้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้กันอย่างมากมาย พร้อมเสนอประเด็นปัญหา และพร้อมหาแนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านั้นไปด้วยกัน

นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล ได้กล่าวเน้นย้ำต่อสื่อมวลชนทุกคนอีกครั้งว่า “การวางบทบาทเพื่อปฏิรูปสื่อนั้น ความเป็นสื่อมวลชนของเรา เราจึงควรกำหนดกันเอง ดูแลกันเอง วางมาตรการต่างๆ โดยจะต้องต่อสู้กับกลุ่มทุนที่ไม่หวังดีด้วย จะต้องไม่ให้ใครมาวางกำหนดกฎเกณฑ์ให้”

สุดท้าย นายปิยะโชติ อินทรนิวาส กล่าวด้วยว่า “ปัจจุบันนี้สื่อนั้นเข้าสู่ยุคของคลื่นลูกที่สี่แล้วด้วยซ้ำ นั้นคือ ยุคของ “คลื่นดิจิตอล” การทำตัวเป็นสื่อบนโซเชียลออนไลน์นั้น จะต้องทำให้เกิดการยอมรับ ต้องมีความชัดเจนมากขึ้น” อีกทั้งยังเสนอแนวทางการทำหน้าที่ของสื่อด้วยว่า “จะต้องแสดงตัวตนให้ชัดเจน แสวงหาสมาคมมารองรับ และจะต้องรู้จักตนเองด้วยว่า เราอยู่ในฐานะหน้าที่สื่อแบบไหนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากที่สุด และที่สำคัญต้องเข้าใจในบทบาทของตัวเองก่อนว่าจะให้อะไรแก่สังคมได้บ้าง”
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น