xs
xsm
sm
md
lg

คสช.สั่งระงับแถลงข่าวดัชนีชี้วัดสื่อไทย ส.นักข่าวฯ รับเสียดายกังวลถึงเสรีภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ส่งหนังสือแจ้งสื่อ เลื่อนจัดแถลงข่าวดัชนีชี้วัดสถานภาพสื่อเอเชีย : ประเทศไทย 2557 พรุ่งนี้ ไม่มีกำหนด ตามคำสั่ง คสช.ที่อ้างหมิ่นเหม่ก่อความเสียหาย โฆษกสมาคมนักข่าวฯ รับเสียดายและกังวลถึงเสรีภาพ กระทบภาพลักษณ์ชาติ แต่รับเข้าใจ คสช.

วันนี้ (29 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ส่งหนังสือแจ้งถึงสื่อมวลชนทุกแขนง ขอเลื่อนการจัดงานแถลงข่าวดัชนีชี้วัดสถานภาพสื่อเอเชีย : ประเทศไทย 2557 (เอเชีย มีเดีย บาโรมิเตอร์ : ประเทศไทย 2557) ที่มูลนิธิฯร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดขึ้นพื่อรายงานผลการประเมินสถานการณ์สื่อไทยตามดัชนีชี้วัดตามลักษณะเฉพาะของประเทศในทวีปเอเชีย ซึ่งกำหนดจัดขึ้่นในวันที่ 30 ม.ค.นี้ โรงแรมวีกรุงเทพ ย่านราชเวที อย่างไม่มีกำหนด ตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เนื่องจากเมื่อวันที่ 28 ม.ค.ได้มีนายทหารประสานมายังมูลนิธิฯ ขอให้เลื่อนการแถลงข่าวดังกล่าวออกไปก่อน โดยให้เหตุผลเพียงว่า เนื้อหาการจัดงานมีลักษณะหมิ่นเหม่ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายและมีความอ่อนไหวมาก

ทั้งนี้ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ได้เริ่มทำดัชนีชี้วัดสถานภาพสื่อเอเชีย เพื่อมุ่งประเมินสื่อในเชิงลึกและบูรณาการ รวมถึงมุ่งสนับสนุนการตรวจสอบกันเองของสื่อในแต่ละประเทศของทวีปเอเชียในด้านต่างๆ โดยเริ่มนำร่องครั้งแรกที่ประเทศปากีสถาน และอินเดีย ในปี 2552 และประเทศไทย ในปี 2553

ส่วนรายงานดัชนีชี้วัดสถานภาพสื่อเอเชีย : ประเทศไทย 2557 เป็นโครงการต่อเนื่องจากปี 2553 โดยวัดประเมินสถานภาพและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์สื่อมวลชนในประเทศไทยระหว่างปี 2553-2557 มีเนื้อหาสรุปว่า สถานการณ์สื่อของประเทศไทยในช่วง 5 ปี (พ.ศ. 2553-2557) ที่วนเวียนอยู่กับเหตุการณ์รุนแรงจากการชุมนุมทางการเมือง ที่ส่งผลให้ผู้สื่อข่าวภาคสนามทำงานด้วยความยากลำบากและหวาดกลัว เพราะถูกกดดันจากกลุ่มผู้ชุมนุม มีการข่มขู่และปิดล้อมสำนักงานสื่อกระแสหลักและสื่อท้องถิ่นบางแห่ง แต่กลับไม่มีหน่วยงานใดให้การคุ้มครองด้านสวัสดิภาพและสิทธิเสรีภาพสื่อได้อย่างแท้จริง ในขณะที่สื่อของขั้วขัดแย้ง มีการนำเสนอเนื้อหาที่มีลักษณะสร้างความเกลียดชังโดยไม่มีการกำกับดูแลจาก กสทช.หรือองค์กรวิชาชีพ จนเป็นเหตุผลให้ภายหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557

สื่อจึงถูก คสช.และรัฐบาลอย่างเข้มงวด จนขาดความเป็นอิสระ ถึงแม้ว่าปี 2557 เป็นก้าวสำคัญของการปฏิรูปสื่อ เกิดสื่อวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ มีความหลากหลายจำนวนมากขึ้น แต่ประชาชนจำนวนมากก็ยังคงประสบอุปสรรคในการเข้าถึงสื่อเหล่านี้อยู่ โดยเฉพาะในช่วงการเปลี่ยนผ่านสื่อโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกสู่ระบบดิจิตอล รวมถึงการที่สื่อไม่สามารถเสนอความจริงได้ เนื่องจากข้อจำกัดของนักข่าวและกองบรรณาธิการ ที่ขาดการแสวงหาแหล่งข่าวและกีดกันสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สื่อมีการเซ็นเซอร์ตนเองและมีการเซ็นเซอร์โดยเจ้าของกิจการ รวมทั้งโดยสปอนเซอร์หรือผู้ให้โฆษณา การปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นในอุตสาหกรรมสื่อ อีกทั้ง สื่อมีปัญหาด้านคุณภาพการรายงานข่าว เพราะให้ความสำคัญกับความฉับไวในการนำเสนอข่าวมากกว่าการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ทั้งยังกลัวภาวะ “ตกข่าว” ทำให้สื่อมวลชนส่วนใหญ่เลือกประเด็นมารายงานไม่แตกต่างกันนัก

ด้านนายมานพ ทิพย์โอสถ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ และโฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เสียดายโอกาสอันดีในการนำเสนอผลงานทางวิชาการด้านสื่อสารมวลชน และกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน หลังงานแถลงข่าว “ดัชนีชี้วัดสถานภาพสื่อเอเชีย:ประเทศไทย 2557 ที่จัดโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ไม่ได้รับการอนุญาตจาก คสช. แม้ คสช.จะมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ความสงบของประเทศ แต่ก็ควรอยู่บนพื้นฐานการคำนึงถึงผลกระทบที่อาจตามมา จากการตัดสินใจดังกล่าว แต่นี่เป็นการแถลงผลงานด้านวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ที่ คสช.ควรมีท่าทีและการตรวจสอบอย่างรอบคอบ เพราะการปิดกั้นไม่ให้มีการจัดงานไม่ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศที่อยู่ในสถานการณ์ถูกเฝ้าจับตามองจากนานาชาติ อย่างไรก็ตาม เข้าใจและยอมรับการใช้ดุลพินิจของ คสช.และคาดว่าเนื้อหาทางวิชาการมูลนิธิฯจะคงจะมีการเผยแพร่ต่อไป เพราะ คสช.ไม่ได้มีคำสั่งห้ามแต่อย่างใด และเป็นดุลพินิจของมูลนิธิฯ ตามความเหมาะสม


กำลังโหลดความคิดเห็น