xs
xsm
sm
md
lg

คสช.เบรกงาน"ดัชนีชี้วัดสื่อ" อ้างเนื้อหาหมิ่นเหม่อ่อนไหว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ ( 29 ม.ค. )มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ได้ส่งหนังสือแจ้งถึงสื่อมวลชนทุกแขนง ขอเลื่อนการจัดงานแถลงข่าวดัชนีชี้วัดสถานภาพสื่อเอเชีย : ประเทศไทย 2557 ( เอเชีย มีเดีย บาโรมิเตอร์ : ประเทศไทย 2557) ที่มูลนิธิฯ ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดขึ้นพื่อรายงานผลการประเมินสถานการณ์สื่อไทย ตามดัชนีชี้วัดตามลักษณะเฉพาะของประเทศในทวีปเอเชีย ซึ่งกำหนดจัดขึ้่นในวันนี้ (30 ม.ค.) ที่ โรงแรมวีกรุงเทพ ย่านราชเวที โดยขอเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด ตามคำสั่งของ คสช. เนื่องจากเมื่อ วันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้มีนายทหารประสานมายังมูลนิธิฯ ขอให้เลื่อนการแถลงข่าวดังกล่าวออกไปก่อน โดยให้เหตุผลว่า เนื้อหาการจัดงาน มีลักษณะหมิ่นเหม่ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย และมีความอ่อนไหวมาก
ทั้งนี้ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ได้เริ่มทำดัชนีชี้วัดสถานภาพสื่อเอเชีย เพื่อมุ่งประเมินสื่อในเชิงลึก และบูรณาการ รวมถึงมุ่งสนับสนุนการตรวจสอบกันเองของสื่อ ในแต่ละประเทศของทวีปเอเชียในด้านต่างๆ โดยเริ่มนำร่องครั้งแรก ที่ประเทศปากีสถาน และอินเดีย ในปี 2552 และประเทศไทย ในปี 2553
ส่วนรายงานดัชนีชี้วัดสถานภาพสื่อเอเชีย : ประเทศไทย 2557 เป็นโครงการต่อเนื่องจากปี 2553 โดยวัดประเมินสถานภาพ และการเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์สื่อมวลชนในประเทศไทย ระหว่างปี 2553-2557 มีเนื้อหาสรุปว่า สถานการณ์สื่อของประเทศไทย ในช่วง 5 ปี (พ.ศ.2553-2557) ที่วนเวียนอยู่กับเหตุการณ์รุนแรงจากการชุมนุมทางการเมือง ที่ส่งผลให้ผู้สื่อข่าวภาคสนามทำงานด้วยความยากลำบาก และหวาดกลัว เพราะถูกกดดันจากกลุ่มผู้ชุมนุม มีการข่มขู่ และปิดล้อมสำนักงานสื่อกระแสหลัก และสื่อท้องถิ่นบางแห่ง แต่กลับไม่มีหน่วยงานใดให้การคุ้มครองด้านสวัสดิภาพ และสิทธิเสรีภาพสื่อได้อย่างแท้จริง
ในขณะที่สื่อของขั้วขัดแย้ง มีการนำเสนอเนื้อหาที่มีลักษณะสร้างความเกลียดชัง โดยไม่มีการกำกับดูแลจาก กสทช. หรือองค์กรวิชาชีพ จนเป็นเหตุผลให้ภายหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 57 สื่อจึงถูก คสช. และรัฐบาลควบคุมอย่างเข้มงวด จนขาดความเป็นอิสระ ถึงแม้ว่าปี 2557 เป็นก้าวสำคัญของการปฏิรูปสื่อ เกิดสื่อวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ มีความหลากหลายจำนวนมากขึ้น แต่ประชาชนจำนวนมาก ก็ยังคงประสบอุปสรรคในการเข้าถึงสื่อเหล่านี้อยู่ โดยเฉพาะ ในช่วงการเปลี่ยนผ่านสื่อโทรทัศน์จากระบบ อนาล็อก สู่ระบบดิจิตอล รวมถึงการที่สื่อไม่สามารถเสนอความจริงได้ เนื่องจากข้อจำกัดของนักข่าว และกองบรรณาธิการ ที่ขาดการแสวงหาแหล่งข่าว และกีดกันสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สื่อมีการเซ็นเซอร์ตนเอง และมีการเซ็นเซอร์โดยเจ้าของกิจการ รวมทั้งโดยสปอนเซอร์ หรือผู้ให้โฆษณา การปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นในอุตสาหกรรมสื่อ อีกทั้ง สื่อมีปัญหาด้านคุณภาพการรายงานข่าว เพราะให้ความสำคัญกับความฉับไวในการนำเสนอข่าวมากกว่าการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ทั้งยังกลัวภาวะ“ตกข่าว”ทำให้สื่อมวลชนส่วนใหญ่ เลือกประเด็นมารายงานไม่แตกต่างกันนัก
ด้านนายมานพ ทิพย์โอสถ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ และโฆษกสมาคมนักข่าวฯ กล่าวว่า เสียดายโอกาสอันดี ในการนำเสนอผลงานทางวิชาการด้านสื่อสารมวลชน และกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน
อย่างไรก็ตาม แม้ คสช. จะมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ความสงบของประเทศ แต่ก็ควรอยู่บนพื้นฐานการคำนึงถึง ผลกระทบที่อาจตามมา จากการตัดสินใจดังกล่าว เพราะนี่เป็นการแถลงผลงานด้านวิชาการ ด้านสื่อสารมวลชน ที่คสช.ควรมีท่าที และการตรวจสอบอย่างรอบคอบ เพราะการปิดกั้นไม่ให้มีการจัดงานไม่ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ที่อยู่ในสถานการณ์ถูกเฝ้าจับตามองจากนานาชาติ
อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมฯ เข้าใจ และยอมรับการใช้ดุลพินิจของ คสช. และคาดว่าเนื้อหาทางวิชาการมูลนิธิฯ จะคงจะมีการเผยแพร่ต่อไป เพราะ คสช.ไม่ได้มีคำสั่งห้ามแต่อย่างใด และเป็นดุลพินิจของมูลนิธิฯ ตามความเหมาะสม
กำลังโหลดความคิดเห็น