xs
xsm
sm
md
lg

เวทีปฏิรูปสื่อสงขลาแนะแยกให้ออก “สื่อมวลชน” กับ “สื่อสังคมออนไลน์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - "กอ.รมน.สงขลา" ระดมนักข่าวถกหาแนวทางปฎิรูปสื่อเพื่อการปรองดอง แต่เพื่อพูดกันไปมากลับกลายเป็นสื่อตกเป็นจำเลยทำให้สังคมแตกแยก ด้านสื่ออาวุโสแนะต้องแยกให้ออกระหว่าง “สื่อมวลชน” กั “สื่อสังคมออนไลน์” แล้วจะเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น

วันนี้ (28 ม.ค.) ที่โรงแรมบุรีศรีภู บูติกโฮเต็ล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กอ.รมน.จังหวัดสงขลา ร่วมกับ สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย จัดโครงการสื่อมวลชนสัมพันธ์ ตามโครงการปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแนวทางการปฏิรูปวงการสื่อสารมวลชน ตามนโยบายปฏิรูปประเทศของ คสช. ซึ่งมีผู้สื่อข่าวในพื้นที่ จ.สงขลาเข้าร่วมประมาณ 100 คน

การจัดการเสวนาในครั้งนี้ผู้ร่วมนำเสวนาแบ่งเป็น 2 ฝ่ายคือ ฝ่าย กอ.รมน. มีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย 1.นายเอกรัตน์ หลีเส็น รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา 2.พ.อ.ชาติชาย เกื้อกิจ ผู้แทน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า 3.นางพะเยีย เจริญเนตรกุล ผอ.กกต.จังหวัดสงขลา ส่วนผู้ร่วมเสวนาฝ่ายสื่อมวลชน ได้แก่ 4.นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย 5.นายปิยะโชติ อินทรนิวาส หัวหน้าศูนย์ข่าวASTVผู้จัดการหาดใหญ่ 6.ร.ต.ต.เกรียงไกรยุทธ์ ปักษา นักจัดรายการวิทยุท้องถิ่น 7.นายอำนวย กลัดสวัสดิ์ ที่ปรึกษาสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย อดีต ผอ.สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 หาดใหญ่ โดยมี น.อ.มนูญ ขลุกเอียด ตัวแทนจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นผู้ดำเนินรายการ

การเสวนาครั้งนี้มีการถกเถียงถึงประเด็นปัญหาในการทำงานของสื่อมวลชนที่เกิดขึ้นในอดีต และแนวทางการปฏิรูปสื่อที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยปัจจัยสำคัญที่สุดของการปฏิรูปสื่อคือ การนำเสนอข้อมูลข่าวสารจะต้องไม่เสนอในลักษณะที่อาจเป็นชนวนนำไปสู่ความขัดแย้ง จนอาจก่อให้เกิดความรุนแรง การใช้ถ้อยคำหรือภาษาที่ปลุกเร้าให้เกิดความเกลียดชัง การโฆษณาชวนเชื่อที่มากเกินความเป็นจริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมทั้งสิ้น

พ.อ.ชาติชาย เกื้อกิจ กล่าวว่า ในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในบางครั้ง ไม่สามารถทำให้ประชาชนมองเห็นภาพรวมได้ทั้งหมด เลือกที่จะนำเสนอเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น ส่งผลให้บางครั้งประชาชนเกิดความสับสน หรือได้รับทราบข้อเท็จจริงที่ไม่รอบด้านอย่างแท้จริง

“ยกตัวอย่างเช่น การนำเสนอข่าวสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกือบทุกสำนักนำเสนอข่าวในลักษณะที่ว่าการปล่อยน้ำของเขื่อนบางลางเป็นต้นเหตุของน้ำท่วม แต่กลับไม่พิจารณาว่าการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนมีประโยชน์มากเพียงใด หรือหากไม่มีเขื่อนน้ำจะเพิ่มมากขึ้นเป็น 2 เท่า ในส่วนนี้กลับไม่เป็นข่าว จึงเดือดร้อนถึงผู้อำนวยการเขื่อน ซึ่งทำให้ผู้อำนวยการเขื่อนตกเป็นจำเลยสังคมในเรื่องนี้ทันที” พ.อ.ชาติชายกล่าว

จากนั้น นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล ได้ให้ทัศนะว่า ในขณะนี้มีกระแสการปฏิรูปประเทศไทยโดย คสช. ซึ่งมีการกำหนดวาระที่จะปฏิรูปในหลายๆ ด้าน ด้านที่สำคัญประการหนึ่งที่เราไม่อาจละเลยได้คือ การปฏิรูปสื่อ ประเด็นที่ตนให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งคือ เสรีภาพในการนำเสนอของสื่อมวลชน ดังคำกล่าวที่ว่า เสรีภาพของสื่อคือเสรีภาพของประชาชน โดยตนคิดว่าสื่อมวลชนมิใช่มีหน้าที่เพียงเพียงกระจกสะท้อนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะต้องทำหน้าที่จุดคบเพลิงชี้ทางสว่าง พร้อมกับจะต้องทำหน้าที่นำทางให้กับประชาชนในสังคม

“ดังนั้นไม่ว่าหน่วยงานใดก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานของรัฐ จึงไม่ควรที่จะแทรกแซงเสรีภาพในการนำเสนอข่าว แต่ในปัจจุบันสิ่งที่น่ากังวลที่สุดที่ส่อเค้าถึงความหายนะของเสรีภาพของสื่อมวลชนคือ การที่สื่อมวลชนถูกแทรกแซงโดยกลุ่มทุน ถูกกำหนดให้นำเสนอข่าวตามทิศทางที่กลุ่มทุนยักษ์กำหนด ถูกบังคับให้เสนอข่าวเกรงใจบริษัทที่มาลงโฆษณา จึงส่งผลให้สื่อไม่อาจเป็นสื่อที่แท้จริง ไม่อาจเป็นสื่อที่ยืนอยู่บนความถูกต้อง ไม่อาจเป็นสื่อที่ให้ความจริงกับประชาชนได้อย่างตรงไปตรงมา” นายไชยยงค์กล่าว

ในขณะเดียวกัน นายเอกรัฐ หลีเส็น กล่าวถึงประเด็นในเรื่องเสรีภาพของสื่อมวลชนว่า ในบางครั้งเมื่อสถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในสภาวะวิกฤต เกิดความไม่ปกติขึ้น รัฐก็มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปแทรกแซงการทำงานของสื่อ เนื่องจากหากปล่อยให้สื่อมวลชนใช้เสรีภาพมากจนเกินไป จนเกินขอบเขตที่กำหนดไว้อาจส่งผลร้ายต่อประเทศ ในสถานการณ์ไม่ปกติเราจึงจำเป็นต้องปกป้องประโยชน์โดยรวมของชาติ มากกว่าเสรีภาพของสื่อมวลชน มิฉะนั้นการใช้เสรีภาพของสื่อก็จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศได้

ทางด้าน นายปิยะโชติ อินทรนิวาส กล่าวว่า มีบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับสื่อมวลชนที่หลายๆ คนยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอยู่ ดูเหมือนว่าสื่อมวลชนจะตกเป็นจำเลยของสังคมมาตลอดเมื่อมีการนำเสนอข้อเท็จจริงที่เป็นข่าว

“เราควรจะต้องแยกให้ออกว่าข่าวหรือข้อมูลที่มีการเผยแพร่ที่เกิดขึ้นนั้น อันไหนมากจากการทำหน้าที่สื่อมวลชน หรืออันไหนมาจากสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งการนำเสนอของสื่อมวลชนนั้นจะต้องมีกระบวนการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารให้มีความชัดเจนเสียก่อน แต่ในทางกลับกันข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ อย่างเช่น เฟซบุ๊กหรืออินสตาร์แกรมเป็นข้อมูลที่ไม่มีแหล่งอ้างอิงที่ชัดเจน เป็นข้อมูลที่ไม่มีการกลั่นกรอง หรือแม้กระทั่งเป็นข้อมูลที่พูดด้วยอารมณ์ที่เป็นอคติ จึงไม่ควรเหมารวมว่าข้อมูลที่เกิดขึ้นในโลกสังคมออนไลน์ทั้งหมดเป็นการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน”

นายปิยะโชติกล่าวด้วยว่า ดังนั้นเราต้องอย่านำเอาความเห็นที่ประชาชนทั่วไปที่เข้ามาเสนอแนะ เข้ามาวิพากษ์วิจารณ์ท้ายข่าว หรือแม้กระทั้งเหมารวมว่าการกระแสในด้านลบที่ปรากฏในโลกสื่อสังคมออนไลน์เป็นสาเหตุจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ซึ่งตนมองว่านั้นเป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างยิ่ง ดังนั้นหากใครคิดที่จะปฏิรูปสื่อ ควรต้องทำความเข้าใจการทำงานของสื่อมวลชนด้วย
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น