คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
ด้วยหัวโขนที่สวมอยู่คือตำแหน่ง “นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย” จึงทำให้กลายเป็นผู้ถูก “รับเชิญ” ให้เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นของทุกโครงการใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เช่นเดียวกับ “โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่จัดขึ้นที่ อบต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา เมื่อหลายวันก่อน
ก่อนที่จะเล่าถึงบรรยากาศของเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในรัศมี 5 กิโลเมตรของที่ตั้งโรงงานไฟฟ้าถ่านหินเทพา เมื่อได้อ่านรายละเอียดคร่าวๆ ของโครงการแล้ว สิ่งแรกที่รู้สึกคือ โครงการนี้เรียกชื่อโครงการผิดจากข้อเท็จจริง
เพราะชื่อที่ถูกต้อง และควรบอกแก่ประชาชนเป็นอันดับแรกต้องเรียกว่า “โครงการโรงไฟฟ้าราคาถูก” เนื่องจากเอกสารที่แนะนำโครงการเขียนรายละเอียดอย่างชัดเจนว่า “ถ่านหิน” เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่ถูกที่สุดเมื่อเทียบกับก๊าซธรรมชาติ, น้ำมัน, พลังลม และโซลาร์เซลล์ รวมทั้งค่าก่อสร้างก็ถูกกว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซ และน้ำมัน นี่คือข้อเท็จจริงประการแรก
ส่วนถ่านหินซึ่งเป็นเชื้อเพลิงราคาถูกจะ “สะอาด” อย่างไร จริงหรือไม่ ต้องไปดูในกระบวนการการใช้ และการป้องกัน เพื่อมิให้สิ่งที่สกปรกหลุดรอดออกมาเป็นการสร้างมลพิศให้แก่ส่วนรวม ซึ่งเป็นประเด็นเดียวที่ผู้คนต่างห่วงใย
บรรยากาศของการรับฟังความคิดเห็นในวันนั้น ก็เหมือนกับเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปที่เคยพบเห็นมาจนคุ้นชิน นั่นคือ ประชาชนมาจาก 2 ส่วน ส่วนแรกคือ “การจัดตั้ง” จากผู้ที่เห็นดีเห็นงามและสนับสนุนโครงการ ซึ่งคงจะบอกไม่ได้ว่าที่ “เห็นด้วย” เป็นเพราะเห็นถึงประโยชน์ที่คนใน อ.เทพาจะได้รับร่วมกัน หรือเพราะมี “ส่วนได้เสีย” กับโครงการที่จะเกิดขึ้นและจะตามมาอีกหลายโครงการ
ส่วนที่สองคือ “ผู้ที่ห่วงใย” ต่อโครงการใหญ่ๆ อย่างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโครงการอื่นๆ ที่เกรงว่าจะเป็นโครงการที่เข้ามาเพื่อสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นแก่ชุมชน โดยกลุ่มที่เข้าร่วมเวทีด้วยความห่วงใยนั้น ส่วนมากจะมีข้อมูลที่ “แย้ง” กับข้อมูลของเจ้าของโครงการ และมี “คำถาม” ว่า จะจัดการอย่างไรกับมลพิษ หรือกับปัญหาอื่นๆ อีกมากมายที่อาจจะเกิดขึ้นกับโครงการที่ถูกนำเข้ามา
แน่นอนว่าในสังคมของบ้านเรา กลุ่มคนที่ “เห็นแย้ง” กับโครงการของรัฐมักจะถูกมองจากเจ้าของโครงการ และผู้สนับสนุนว่า เป็นพวก “เอ็นจีโอ” เข้ามาเพื่อขัดขวางความเจริญของท้องถิ่น หรือของประเทศชาติ และอาจจะต้องการผลประโยชน์จากเจ้าของโครงการ แม้ว่าโดยข้อเท็จจริงผู้ที่แสดงความคิดเห็นแย้งกับเจ้าของโครงการมีความรู้ มีข้อมูลที่เกี่ยวกับโครงการด้วยการค้นคว้าศึกษาหามาเอง โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ “เอ็นจีโอ” แต่อย่างใด
บรรยากาศของการ “จ่ายเงิน” ให้แก่ผู้เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งการ “แจกข้าวสาร” ให้แก่ผู้ที่ส่งแบบประเมิน หาใช่สาระสำคัญอะไรที่จะต้องหยิบยกมาโจมตีกัน เพราะการจัดเวที หรือการจัดการสัมมนาในปัจจุบัน ถ้าไม่มี “ค่ารถ” ไม่มี “รางวัล” ติดปลายนวมให้ เวทีที่จัดขึ้นจะโหรงเหรง เพราะแม้แต่ในเมืองเมื่อมีการสัมมนายังต้องหารางวัลมาเป็นของล่อใจเพื่อให้อยู่ร่วมงานจนจบ
เวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในวันนั้น จัดได้ดีตรงที่มีการสลับรายชื่อของผู้คัดค้าน กับผู้สนับสนุนให้สลับกันพูด เพื่อไม่ให้มีความเครียด และเพื่อเป็นการถ่วงดุลอยู่ในที
แต่ที่ต้องนับว่าไม่ดีคือ ผู้เห็นแย้ง ซึ่งมีข้อมูล มีคำถามมาก กลับได้เวลาเท่ากันกับผู้สนับสนุนที่ไม่มีข้อมูลอะไรที่เป็นที่น่าสนใจ ซึ่งในการจัดเวทีครั้งต่อไปผู้จัดน่าจะนำไปเป็นการบ้าน เพื่อให้เวทีได้ข้อมูลของผู้เห็นต่างได้มากขึ้น
ที่เห็นมาว่าเวทีแห่งนี้เป็นเวทีที่ดีคือ ผู้ที่เห็นแย้งไม่ว่าจะเป็น “อาคม ทองหนูรุ่ง” ผู้มีข้อมูล มีคำถามที่ดีมาก รวมทั้งคนอื่นๆ ที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพราะอยู่ในพื้นที่ ไม่มีใครบอกว่า กฟผ.อย่ามาสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหินแห่งนี้ เพียงแต่พวกเขามีคำถามในข้อห่วงใย ในสิ่งที่พวกเขามีข้อมูลในเรื่องของถ่านหินว่ามันไม่สะอาดอย่างไร และสิ่งโสโครกที่พวกเขารับรู้ว่าต้องเกิดขึ้นจากกระบวนการการผลิตไฟฟ้าจะจัดการอย่างไร และถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นทั้งโดยการประมาท หรือโดยอะไรก็แล้วแต่จะจัดการอย่างไร
หากไม่มีปัญหาเรื่องสิ่งโสโครกเพราะมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ และบุคลากรที่เชี่ยวชาญ แต่ผลกระทบด้านอื่นๆ เช่น ป่าชายเลนที่สูญเสียไป อาชีพประมงที่ต้องได้รับผลกระทบ หรือ “กะปิเทพา” ที่เป็นสินค้าโอทอปขึ้นชื่อ และการเกิดขึ้นของชุมชนจากผู้คนที่มากขึ้นจะทำอย่างไร เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามเพื่อความมั่นใจก่อนการตัดสินใจ ไม่ใช่การคัดค้านเพื่อมิให้ก่อสร้าง
แม้แต่เอ็นจีโอที่เข้าไปในเวทีดังกล่าว แต่ไม่ได้แสดงความคิดเห็น เพราะไม่ได้อยู่ในรัศมีการรับฟังความคิดเห็นในระยะทาง 5 กิโลเมตร แต่ได้ให้สัมภาษณ์สื่ออย่าง “บรรจง นะแส” ซึ่งถูกมองว่าเป็นเอ็นจีโอตัวพ่อ ก็ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ในเชิงคัดค้าน เพียงแต่นำเอาเหตุการณ์ นำเอาตัวเลขของความสูญเสียของบางประเทศที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินตั้งอยู่มาแสดง ซึ่งถือว่าเป็นการให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ที่ตรงกันข้ามจากเจ้าของโครงการเท่านั้น
ดังนั้น จึงไม่ควรมีคำถามว่าเอ็นจีโอที่บ้านมันใช้ไฟฟ้าหรือ “ตะเกียงป๋อง” หรือบ้านมัน “ไม่ได้อยู่ที่เทพา” มันมา ส.ใส่เกือกอะไรกับคนเทพา เพราะเชื่อว่าทุกคนที่ออกมาให้ข้อมูลทั้งด้านดี และด้านลบในเรื่องของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ล้วนมาจากความห่วงใยประเทศไทย และคนไทยด้วยกันทั้งสิ้น
วันนี้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเพิ่งจะเป็นการนับหนึ่ง อย่างน้อยต้องใช้เวลาในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอีก 2 ปี ซึ่งกลุ่ม “ผู้เห็นด้วย” และ “ผู้เห็นต่าง” ยังต้องรับรู้ข้อมูลอีกมากมาย และเช่นเดียวกันว่า เจ้าของโครงการก็ยังต้องตอบคำถามของผู้ที่เห็นต่างอีกมากมาย
และแม้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ อาจจะเป็นโรงไฟฟ้าคนละแห่ง แต่สุดท้ายจะเป็น “เรื่องเดียวกัน” ที่จะได้เหมือนกันและจะเสียเหมือนกัน
โดยข้อเท็จจริง การที่ กฟผ.จะมีโครงการใหญ่อย่างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีกำลังผลิตมากกว่าทุกโรงในแผนการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงของพลังงานในอนาคตใน อ.เทพา จ.สงขลานั้น การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจะต้องรับฟังอย่างหลากหลายและทุกด้าน
เช่นใน อ.เทพา ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการนั้น ต้องรับฟังความคิดเห็นของคนทั้งอำเภอ และอำเภอใกล้เคียง อย่าง อ.เมืองสงขลา อ.นาหม่อม อ.หาดใหญ่ หรืออย่าง อ.หนอกจิก จ.ปัตตานี เป็นต้น รวมทั้งต้องมีเวทีรับฟังความคิดเห็นขององค์กรต่างๆ ในจังหวัดสงขลา เช่น สภาอุตสาหกรรม องค์กรการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยทุกแห่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ รวมถึงภาคส่วนต่างๆ ที่มีอยู่
เพราะสงขลาเป็นจังหวัดใหญ่ เป็นเมืองยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ เป็นเมืองหน้าด่าน เป็นเมืองแห่งการศึกษา พาณิชยกรรม การคมนาคม การท่องเที่ยว ซึ่งหากโรงไฟฟ้าถ่านหินมีผลกระทบในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ความเสียหายไม่ได้เกิดขึ้นกับคนเทพาในรัศมี 5 กิโลเมตรเท่านั้น แต่หมายถึงผลกระทบของคนอีกมากมาย โดยเฉพาะกับการท่องเที่ยว
อย่าลืมว่าการเผาป่าที่เกาะสุมาตราในประเทศอินโดนีเซียที่เกิดขึ้นทุกปี ซึ่งอยู่ห่างไกลจาก จ.สงขลาตั้งมากมาย คนสงขลายังได้รับผลกระทบจาก “หมอกควัน” ในทุกปี
แต่นี่โรงไฟฟ้าถ่านหินตั้งอยู่ที่ “ปลายจมูก” ระยะทางแค่ไม่กี่สิบกิโลเมตร แล้วจะไม่มีผลกระทบอย่างไร
ทั้งหมดทั้งปวงที่เขียนถึงไม่ได้คัดค้าน ถึงแม้จะมีเพื่อนที่เป็น “ขาหุ้น” อยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่ได้ “ขาดหุ้น” ที่จะไปร่วมขบวนกับใคร เพราะรู้ดีว่าคนที่มีอาชีพเป็น “นักหนังสือพิมพ์” นั้นต้องทำตัวเป็นกลาง ต้องก้าวนำสังคมอย่างน้อย 1 ก้าว เพราะต้องทำหน้าที่ทั้ง “คันฉ่อง” และ “โคมฉาย” ในเวลาเดียวกัน
ในขณะเดียวกัน ก็ต้องการเห็น “เทพา” เป็นเมืองเศรษฐกิจ เป็นเทศบาลนครที่จะมีสนามกอล์ฟ มีโรงพยาบาล มีวิทยาลัย และทุกคนมีอนาคต เหมือนอย่างที่กลุ่มผู้สนับสนุนอยากเห็น แต่นั่นย่อมหมายความว่าทุกคนต้องไม่ได้รับผลกระทบจากโครงการที่เกิดขึ้น โดยต้องมี “คุณภาพชีวิต” ที่ดีด้วยเช่นกัน
ท้ายสุด กฟผ.ต้องคิดให้หนักในเรื่องการให้ข้อมูล ให้ข้อเท็จจริงของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยเฉพาะโจทย์ใหญ่ของโครงการอยู่ที่คำว่า “สะอาด” ของที่ราคาถูก ซึ่งต้นทุนต่ำ แล้วมันจะสะอาดได้อย่างไร ตรงนี้ต้องชัดเจน ต้องไม่มีการหมกเม็ด และที่สำคัญต้องเชื่อถือได้
วันนี้สิ่งที่เห็นว่าเป็นปัญหา และอุปสรรคของโรงฟ้าถ่านหินนั้น ไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี แต่อยู่ที่ความไม่มั่นใจ และความไม่เชื่อใจ ความไม่เชื่อมั่นว่าจะทำได้ และเป็นไปอย่างที่ กฟผ.โฆษณาไว้ เพราะหลายๆ โครงการที่เกิดขึ้นแล้ว สุดท้ายก็ไม่เป็นไปอย่างที่ กฟผ.ได้ประกาศเอาไว้จริง