xs
xsm
sm
md
lg

สภาอุตฯ ตรัง แนะ กฟผ.หันหน้าคุยมวลชน ยุติข้อขัดแย้งสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - ประธานสภาอุตสาหกรรมตรัง เสนอรัฐบาล และ คสช. ทบทวนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับวิกฤตด้านพลังงาน และส่งเสริมการลงทุนที่อาจสะดุดลงหากยังไม่มีความมั่นคง แนะ กฟผ.หันหน้าพูดคุยมวลชลหาทางยุติปัญหาข้อขัดแย้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

วันนี้ (12 พ.ย.) นายอดิศร ตันเองฉ้วน ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาจังหวัดตรัง และภาคใต้ มีปัญหาเรื่องกระแสไฟฟ้าที่ตกบ่อยครั้งมาก ทำให้มีต้นทุนสูง และเกิดปัญหาขาดแคลนด้านพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมา ทางสภาอุตสาหกรรมสนับสนุนอยากให้เกิดโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพราะจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มีความมั่นคงของพลังงานในพื้นที่ภาคใต้ โดยดูได้จากการปิดซ่อมท่อก๊าซในช่วงที่ผ่านมา จำนวน 28 วัน ทำให้ต้องใช้ไฟฟ้าจากภาคกลาง และซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย ด้วยงบประมาณกว่า 200 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม จังหวัดตรัง ถือเป็นจุดที่เหมาะสมที่จะสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ในภาคใต้ได้ อย่างเช่นกรณีที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เคยเข้ามาดำเนินการสำรวจพื้นที่ในอำเภอกันตัง เพื่อที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน ขนาด 800 แมกะวัตต์มาแล้ว ซึ่งในส่วนนี้สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง เห็นว่าน่าจะลองหันมาทบทวนกันใหม่ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ฝ่ายของมวลชน ฝ่ายของประชาชน หรือฝ่ายของผู้นำชุมชน ควรหาทางออกซึ่งกันและกันเพื่อประโยชน์สูงสุดของจังหวัดตรัง

ทั้งนี้ ปัญหาหลักของการสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดตรัง ที่สะดุดลงเกิดจากการที่ผู้นำชุมชน และมวลชน ออกมาคัดค้านโดยทันที ขณะที่ยังไม่ศึกษาในมุมกว้างว่า การสร้างโรงไฟฟ้ามีผลกระทบจริงหรือไม่ อีกทั้งยังมีบางกลุ่มเข้ามาให้ข้อมูลที่บิดเบือน หรือไม่ยอมรับการสร้างโรงไฟฟ้าทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นชีวมวล หรือถ่านหิน ทั้งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง และต้องเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ผลิตจากวัตถุดิบเหลือใช้ เช่น ไม้ยาง ตอยาง กิ่งยาง ซึ่งยังมีเยอะมาก มีต้นทุนต่ำ และจะส่งผลดีแน่นอน

ดังนั้น ในอนาคตการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จะต้องเข้าถึงกลุ่มมวลชนให้มากขึ้น และปรับเปลี่ยนแนวทางกระบวนการด้านมวลชนให้มากขึ้น ไม่ควรใช้วิธีการแค่จัดประชุมสัมมนาผู้นำชุมชน หรือแค่พาไปศึกษาดูงานเพราะไม่สามารถถ่ายทอดให้ประชาชนในหมู่บ้านเกิดความเข้าใจได้ สุดท้ายผู้นำชุมชนแทนที่จะเข้าข้างการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แต่กลับไปฟังประชาชนเหมือนเดิม เพราะตัวเองก็อธิบายไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องเร่งแก้ไข หากต้องการพัฒนาพลังงาน หรือสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ไม่ว่าจะเป็นชีวภาพ หรือถ่านหิน

ส่วนภาคอุตสาหกรรมในอนาคตต่อไปการันตีได้เลยว่า พลังงานไฟฟ้าจะต้องมีราคาสูงอย่างแน่นอน เพราะเราต้องนำมาจากแหล่งอื่น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแหล่งน้ำเพื่อที่จะผลิตไฟฟ้าส่งเข้ามา หรือต้องซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีต้นทุนที่สูงขึ้น สิ่งสำคัญก็คือ ไม่มีใครอยากมาลงทุนธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มในจังหวัดตรัง หากพลังงานยังไม่มีความมั่นคง หรือไม่มีเสถียรภาพ แต่ถ้ามีโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ ก็จะทำให้สามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้ โดยเฉพาะต่อการรองรับ AEC

ทั้งนี้ ในการประชุมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยนั้น สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง ได้เคยนำเสนอเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งทั้งทางรัฐบาล และ คสช.เองก็รับฟัง และมีข้อเสนอเรื่องการดำเนินการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้ในกลุ่มของมิตรผลดูแลเรื่องโรงไฟฟ้าชีวมวล ส่วนจังหวัดตรัง ดูแลเรื่องไฟฟ้าถ่านหิน พร้อมกับเสนอให้มีการทบทวนหรือหารือกันใหม่ เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจถึงผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้าว่า มีมากน้อยแค่ไหน พร้อมได้ตั้งคณะกรรมการเกี่ยวกับพลังงานขึ้นมาดูแลปัญหานี้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น