xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.เย้ยจริยธรรม?! หว่านเงินขนคนครึ่งหมื่นรุมแย่งรับข้าวสาร-ของแจกทำเวที ค.1 ท่าเรือ-โรงไฟฟ้าถ่านหินสงขลาล่ม (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวบ้านมาเข้าคิวรอรับข้าวสารก่อนจะเดินทางกลับบ้านทำให้ในเวทีรับฟังความคิดเห็นแทบไม่เหลือคนในพื้นที่อยู่ร่วมเวที
 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - แฉ กฟผ.ท้าทายจริยธรรมแบบสุดๆ ทั้งแจกเงิน ข้าวสาร และสิ่งของให้แก่คนครึ่งหมื่นที่ขนเข้าร่วม “ค.1 ท่าเรือและโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” จ.สงขลา สุดท้ายช่วงบ่ายแย่งกันรับของแจกวุ่นวายทำให้แทบไม่เหลือคนในเวทีเข้าขั้นล่มกลางคัน
หน่วยงานความมั่นคงตั้งด่านตรวจเข้มทางเข้าออกเวทีรับฟังความคิดเห็น
 
วันนี้ (2 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 08.00 น.ที่หอประชุมชั่วคราวภายในสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.ได้จัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนผู้มีส่วนได้เสียจากโครงการท่าเรือถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 2,200 เมกะวัตต์ หรือเวที ค.1 ในพื้นที่ ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา โดยมีประชาชนประมาณ 5,000 คนเข้าร่วม

 
สำหรับสถานที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และอาสาสมัคร กว่า 1,000 นาย วางกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณสถานที่จัดประชุม พร้อมกับนำเครื่องสแกนวัตถุมาติดตั้งบริเวณทางเข้า-ออก พร้อมกับตรวจค้นอาวุธ และวัตถุต้องสงสัยจากผู้เข้าร่วมประชุมอย่างเข้มงวด และมีการปิดถนนผ่านหน้าสถานที่จัดประชุมเป็นระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร โดยห้ามนำรถทุกชนิดเข้าไปจอดในบริเวณดังกล่าว แต่มีการจัดรถรับ-ส่งไว้คอยบริการผู้เข้าร่วมประชุม
ประชาชนลงทะเบียนได้รับยาสามัญประจำบ้าน น้ำยาล้างจาน ข้าวสาร และเงินค่าเดินทาง
 
ส่วนบริเวณโต๊ะลงทะเบียนผู้มาร่วมประชุม มีการแจกของที่ระลึก ประกอบด้วย ชุดยาสามัญประจำบ้าน น้ำยาล้างจาน และมีการเตรียมลองกองกว่า 2,000 กิโลกรัม และข้าวสารถุงขนาดใหญ่ รวมจำนวนไม่ต่ำกว่า 5,000 ถุง มาเตรียมไว้แจกจ่ายประชาชนที่มาร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น โดยผู้เข้าร่วมจะต้องนำเอกสารแบบสอบถามที่กรอกข้อความเรียบร้อยแล้วมายื่นให้แก่เจ้าหน้าที่จึงจะได้รับแจกสิ่งของดังกล่าว ส่วนข้าวสารชาวบ้านได้รับแจ้งว่าจะแจกให้ในช่วงบ่าย ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากได้แยกย้ายไปเข้าห้องประชุม และบางส่วนกระจายกันนั่งอยู่ตามสถานที่ที่จัดไว้รอบห้องประชุมเพื่อรอรับแจกข้าวสารในช่วงบ่ายดังกล่าว
บรรยากาศเวที ช่วงเช้า
 
ขณะที่ในเวทีประชุมวันนี้ เจ้าหน้าที่ และผู้ชำนาญการของ กฟผ.ได้ชี้แจงที่มาของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดกำลังการผลิต 2,200 เมกะวัตต์ โดยอ้างว่าจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อเสถียรภาพของกำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศ และจะต้องสร้างท่าเทียบเรือสำหรับขนถ่ายถ่านหินบริเวณชายฝั่งทะเลพื้นที่ ต.ปากบาง อ.เทพา เพื่อความสะดวกในการนำถ่านหินมาป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้า การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจึงแบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยช่วงเช้าเป็นการรับฟังความคิดเห็นในส่วนของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

 
โดย ผศ.ดร.กิติชัย รัตนะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการมีส่วนร่วมของ กฟผ.ระบุว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าวเรียกว่าโครงการโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด เพราะมีการติดตั้งอุปกรณ์ดักจับมลพิษลักษณะเดียวกับที่ใช้ในโรงไฟฟ้าถ่านหินประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะไม่มีผลกระทบต่อชุมชน และสภาพแวดล้อม
ข้าวสารถุงที่ กฟผ.เตรียมมาแจกชาวบ้าน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นทางเวทีได้เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงความคิดเห็น ซึ่งมีทั้งผู้ที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยต่อโครงการ โดยในส่วนของผู้ที่ระบุว่าเห็นด้วยต่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้เรียกร้องให้ทาง กฟผ.จัดตั้งกองทุนอาชีพ กองทุนทางด้านการศึกษาและศาสนา และให้ กฟผ.สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ หากชุมชนร้องขอ หลังจากที่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่มีผลกระทบต่อชุมชน โดยบอกว่าได้เดินทางไปดูการดำเนินการของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง มาแล้ว และทราบจาก กฟผ.ว่า เป็นโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดเช่นกัน
ชาวบ้านเข้าคิวรอรับผลไม้ที่ กฟผ.นำมาแจก
 
ส่วนผู้ไม่เห็นด้วยต่อโครงการนี้ ซึ่งมีทั้งนักพัฒนาเอกชน ประชาชนในพื้นที่ และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แสดงความคิดเห็นพร้อมเปิดเผยข้อมูลที่ทางเวทีไม่ได้นำเสนอ เช่น ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ นักวิชาการด้านสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุว่า ขอบเขตการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนที่มีส่วนได้เสียต่อโครงการ รวมทั้งการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ของโครงการนี้ ทำในรัศมี 5 กิโลเมตร จากจุดที่ตั้งโครงการ ทำให้ไม่สามารถเชื่อถือได้ว่ามลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินจะไม่กระจายไปยังพื้นที่นอกรัศมี 5 กิโลเมตร นอกจากนี้ ผู้อยู่นอกรัศมี 5 กิโลเมตรดังกล่าว ไม่นับเป็นผู้มีส่วนได้เสียต่อโครงการ ซึ่งขัดต่อหลักวิชาการ
ปลาทะเลหายากถูกนำมาใส่ตู้โชว์สาธิตเพื่อประชาสัมพันธ์ว่าถ่านหินสะอาด โดยมีเสียงท้วงติงจากนักวิชาการสิ่งแวดล้อมว่าไม่เป็นความจริง
 
ด้าน นายบรรจง นะเส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า งานวิจัยของมหาวิทยาฮาเวิร์ด พบว่าปัจจุบัน ประเทศสหรัฐอเมริกามีเด็กเกิดใหม่ป่วยเป็นโรคปัญญาอ่อน 300,000 แสนคน โดยมีสาเหตุมาจากการได้รับมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณปีละกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ จนนำมาสู่นโยบายยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินของรัฐบาลสหรัฐฯ ในที่สุด
นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย
 
“ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาทนไม่ไหวที่ประเทศชาติต้องแบกรับภาระของผู้ป่วยที่มาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน จึงประกาศปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน จำนวน 150 แห่ง เพื่อยุติผลกระทบที่เกิดขึ้นมาหลาย 10 ปี แต่ประเทศไทยกลับมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่าถ่านหินสะอาด และกำลังจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยไม่สนใจเสียงท้วงติง จึงน่าสงสัยว่าเป็นการสนองตอบกลุ่มทุนผูกขาดพลังงานที่ไปลงทุนในเหมืองถ่านหินไว้เรียบร้อยแล้วใช่หรือไม่” นายบรรจง กล่าว
บรรยากาศในเวลา 15.00 น. ขณะที่เวทีดำเนินไปประชาชนส่วนใหญ่ออกไปรับข้าวสารและเดินทางกลับบ้าน ทำให้แทบไม่เหลือในเวที
 
ด้าน นายกิติภพ สุทธิสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายรักษ์ทะเลจะนะ กล่าวว่า ทางเลือกที่เหมาะสมต่อการสร้างเสถียรภาพทางด้านพลังงานไฟฟ้าในภาคใต้ไม่ใช่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่เป็นการสร้างกระแสไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เช่น พลังงานลม และพลังงานแสงแดด ซึ่งมีหลักฐานทางวิชาการยืนยันว่า สามารถทำได้ทันทีในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้

 
“ขณะนี้ภาคประชาชนใน อ.จะนะ กำลังพิสูจน์ให้เห็นว่า ประชาชนสามารถพึ่งพากระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงแดดได้จริง โดยมีการรวมตัวเป็นสหกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ ให้ความรู้แก่สมาชิกเรื่องพลังงานทางเลือก และขณะนี้มีบ้านต้นแบบของสมาชิกหลังหนึ่งที่ใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้ไม่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเหมือนคนอื่น เราต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่าเรื่องนี้สามารถทำได้จริง” นายกิติภพ กล่าว
 

 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศเวทีรับฟังความคิดเห็นในช่วงบ่ายซึ่งอยู่ในส่วนของการรับฟังความคิดเห็นการก่อสร้างท่าเรือขนถ่านหิน ซึ่งจะก่อสร้างบริเวณชายฝั่ง ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ปรากฏว่า ในห้องประชุมเหลือเพียงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยกับผู้ที่รอคิวแสดงความคิดเห็นซึ่งลงชื่อไว้ตั้งแต่ช่วงเช้า ส่วนผู้เข้าร่วมประชุมที่มีจำนวนกว่า 5,000 คน ได้ทยอยออกจากห้องประชุมเพื่อไปรับแจกข้าวสาร โดยนำเอกสารตอบแบบสอบถามพร้อมบัตรประชาชนไปแสดงแลกกับข้าวสารคนละ 1 ถุง เมื่อได้รับแจกข้าวสารแล้วปรากฏว่า ชาวบ้านได้แยกย้ายกันกลับบ้านทันที ในขณะที่การประชุมรับฟังความคิดเห็นยังไม่เสร็จสิ้น โดยภายในห้องประชุมมีเหลือผู้เข้าร่วมประชุมอยู่ไม่ถึง 100 คน และส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ของ กฟผ.

 
นอกจากนี้ มีรายงานจากผู้เข้าร่วมประชุมเปิดเผยต่อ “ASTVผู้จัดการภาคใต้” ว่า วันนี้มีการแจกเงินให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมรายละ 500 บาทด้วย โดยระบุว่า เป็นค่าเดินทางในการเดินทางมาร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียต่อโครงการ โดยผู้สังเกตการณ์รายหนึ่งซึ่งอยู่ในคณะกรรมการพิจารณาร่างรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ระบุว่า การแจกเงินและสิ่งของดังกล่าวถือว่าขัดต่อระเบียบการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งจะมีการสอบสวนในเรื่องนี้ต่อไป
 




 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น