xs
xsm
sm
md
lg

ทนไม่ได้!ปตท.ฟ้องธีระชัยแฉ คืนท่อก๊าซไม่ครบ อ้างทำเสียหาย-ภาพลักษณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ธีระชัย" เผย ได้รับหมายศาล ปตท. ฟ้องกรณีโพสต์เฟซฯ "คืนท่อก๊าซให้รัฐไม่ครบ" รัฐมนตรีคลังละเว้นหน้าที่ คำฟ้องระบุข้อมูลเท็จทำ ปตท.ได้รับความเสียหายเสียเสียภาพลักษณ์จากข้อความดังกล่าว กรรมการ 15 คน ลงนามครบ ศาลนัดไกล่เกลี่ย 25 พ.ย.นี้ ด้านเวที ค.1 โรงไฟฟ้าถ่านหินสงขลาล่มกลางคัน หลังทั้งค่าเดินทางและข้าวสารถุง

วานนี้ (2 พ.ย.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในสมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว Thirachai Phuvanatnaranubala ว่า วันนี้ตนได้รับหมายศาลอาญา โดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ฟ้องตน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 กรณีเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2557 นายธีระชัย โพสต์จดหมายเปิดผนึก ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่องการละเว้นปฏิบัติหน้าที่กรณีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยเนื้อหาระบุถึงกรณีการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินเดิมที่เป็นของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ให้กลับเป็นของกระทรวงการคลังโดยไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะในกรณีของท่อก๊าซ ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กระทรวงการคลัง รวมถึงศาลปกครองสูงสุด

“ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า จำนวนทรัพย์สินที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แบ่งแยก และโอนให้กระทรวงการคลังไปแล้วจำนวน 16,176.22 ล้านบาทนั้น ยังไม่ครบถ้วน”นายธีระชัย ในฐานะอดีต รมว.คลัง ให้ความเห็นไว้ในท้ายจดหมายเปิดผนึกฉบับดังกล่าว ซึ่งนำมาสู่หมายศาล ที่นายธีระชัยได้รับในครั้งนี้ ซึ่งนายธีระชัย ได้เปิดเผยไว้ในเฟซบุ๊กดังนี้

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ฟ้องคดีผมแล้วครับ !!! เดิมผมไม่ได้ตั้งใจจะเขียนเกี่ยวกับ ปตท. อีก แต่เช้าวันนี้ (2 พ.ย.) ผมได้รับหมายศาลอาญา ปรากฏว่า ปตท. ฟ้องคดีผมฐานความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 และ 15 คดีหมายเลขดำ ที่ 3733/2557
คำฟ้องระบุว่าข้อมูลใน Facebookของผม ซึ่งผมอ้างความเห็นของ คุณรวิฐา พงษ์นุชิต อดีตเลขาฯ ของผม และเป็นนักกฎหมาย เกี่ยวกับกรณีที่ปตท. มิได้โอนท่อในทะเลให้เป็นของรัฐ ปตท. อ้างว่า ความเห็นดังกล่าวเป็นเท็จและปลอม ทำให้ปตท. เสียชื่อเสียง
ศาลกำหนดนัดไกล่เกลี่ย วันที่ 25 พ.ย. ซึ่งผมจะให้ทนายไปรับฟังว่า ปตท.ต้องการให้ผมทำอะไร เรื่องนี้สืบเนื่องจากผมได้ยินผู้บริหาร ปตท. แสดงความเห็นออกทีวีว่า ท่อในทะเล ไม่ใช่สาธารณสมบัติ

ผมเห็นว่าการวางท่อดังกล่าว ดำเนินการโดยใช้อำนาจมหาชน จึงควรเป็นสาธารณสมบัติ และที่สุด ผมมีข้อกังวลว่า กระทรวงการคลัง อาจจะมีความเสี่ยงละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ผมจึงได้มีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีคลังปัจจุบัน เพื่อแจ้งให้ท่านทราบเรื่องนี้
ในเอกสาร แนบท้ายคำฟ้องแจ้งรายชื่อกรรมการ ปตท. 15 คน

นายวัชรกิติ วัชโรทัย
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร
นายมนตรี โสตางกูร
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์
นายคุรุจิต นาครทรรพ
นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์
นายดอน วสันตพฤกษ์
พลอากาศโท บุญสืบ ประสิทธิ์
พลโท ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข
นายวิชัย อัศรัสกร
นายชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ

เนื่องจากผมเป็นบุคคลสาธารณะ และผมตั้งใจบริหาร Facebook หน้านี้ ให้เป็นแหล่งข้อมูลวิชาการ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนจริงๆ

ผมจึงอยากจะให้กรรมการ ปตท. แต่ละคนเข้าไปอ่านข้อความทั้งหมดใน statusต่างๆ ที่พาดพิงถึง ปตท. และพิจารณาด้วยตนเองเสียก่อน ไม่ควรรับฟังเฉพาะจากรายงานที่เจ้าหน้าที่จัดทำขึ้น

ในระหว่างนี้ ขอความกรุณาท่านผู้อ่านที่มา comment โปรดใช้ถ้อยคำที่ระมัดระวังไว้สักหน่อยนะครับ เพื่อไม่ให้ ปตท. เขาฟ้องผมซ้ำแล้ว ซ้ำอีก

เพราะเขาฟ้องด้วยว่า ข้อความที่ผู้อ่าน comment ก็ทำให้ ปตท. “เสียหายต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงในการประกอบธุรกิจเป็นอย่างมาก”ด้วยครับ

อย่างไรก็ดี ผมขอยืนยันกับผู้อ่านว่า ผมจะยังแน่วแน่ที่จะนำข้อมูลทางวิชาการด้านต่างๆ มาเผยแพร่ให้เป็นความรู้แก่สาธารณะชนต่อไปอย่างเดิม

***กฟผ.แจกข้าวสารทำเวที ค.1 โรงไฟฟ้าล่ม

เมื่อเวลา 08.00 น.วานนี้ (2 พ.ย.) ที่หอประชุมชั่วคราวภายในสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้จัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนผู้มีส่วนได้เสียจากโครงการท่าเรือถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 2,200 เมกะวัตต์ หรือเวที ค.1 ในพื้นที่ ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา โดยมีประชาชนประมาณ 3,000 คน เข้าร่วม

สำหรับสถานที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้มีทหาร ตำรวจ และอาสาสมัครกว่า 1,000 นาย วางกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณสถานที่จัดประชุม พร้อมกับนำเครื่องสแกนวัตถุมาติดตั้งบริเวณทางเข้า-ออก พร้อมกับตรวจค้นอาวุธและวัตถุต้องสงสัยจากผู้เข้าร่วมประชุมอย่างเข้มงวด และมีการปิดถนนผ่านหน้าสถานที่จัดประชุมเป็นระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร โดยห้ามนำรถทุกชนิดเข้าไปจอดในบริเวณดังกล่าวแต่มีการจัดรถรับ-ส่ง ไว้คอยบริการผู้เข้าร่วมประชุม

ส่วนบริเวณโต๊ะลงทะเบียนผู้มาร่วมประชุม มีการแจกของที่ระลึกประกอบด้วยชุดยาสามัญประจำบ้าน น้ำยาล้างจาน และมีการเตรียมลองกองกว่า 2,000 กิโลกรัม และข้าวสารถุง ถุงละ 5 กิโลกรัม รวมไม่ต่ำกว่า 5,000 ถุง มาเตรียมไว้แจกจ่ายประชาชนที่มาร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น โดยผู้เข้าร่วมจะต้องนำเอกสารแบบสอบถามที่กรอกข้อความเรียบร้อยแล้วมายื่นให้กับเจ้าหน้าที่จึงจะได้รับแจกสิ่งของดังกล่าว ส่วนข้าวสารชาวบ้านได้รับแจ้งว่าจะแจกให้ในช่วงบ่าย ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากได้แยกย้ายไปเข้าห้องประชุมและบางส่วนกระจายกันนั่งอยู่ตามสถานที่ที่จัดไว้รอบห้องประชุม เพื่อรอรับแจกข้าวสารในช่วงบ่ายดังกล่าว

ขณะที่ในเวทีประชุมวันนี้เจ้าหน้าที่และผู้ชำนาญการของ กฟผ.ได้ชี้แจงที่มาของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดกำลังการผลิต 2,200 เมกะวัตต์ โดยอ้างว่าจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อเสถียรภาพของกำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศ และจะต้องสร้างท่าเทียบเรือสำหรับขนถ่ายถ่านหินบริเวณชายฝั่งทะเลพื้นที่ ต.ปากบาง อ.เทพา เพื่อความสะดวกในการนำถ่านหินมาป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้า การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจึงแบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยช่วงเช้าเป็นการรับฟังความคิดเห็นในส่วนของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

โดย ผศ.ดร.กิติชัย รัตนะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการมีส่วนร่วม ของ กฟผ.ระบุว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าวเรียกว่าโครงการโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด เพราะมีการติดตั้งอุปกรณ์ดักจับมลพิษลักษณะเดียวกับที่ใช้ในโรงไฟฟ้าถ่านหินประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะไม่มีผลกระทบกับชุมชนและสภาพแวดล้อม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นทางเวทีได้เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็น ซึ่งมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับโครงการ โดยในส่วนของผู้ที่ระบุว่าเห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้เรียกร้องให้ทาง กฟผ.จัดตั้งกองทุนอาชีพ กองทุนทางด้านการศึกษาและศาสนา และให้ กฟผ.สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ หากชุมชนร้องขอ หลังจากที่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่มีผลกระทบกับชุมชน โดยบอกว่าได้เดินทางไปดูการดำเนินการของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง มาแล้ว และทราบจาก กฟผ.ว่าเป็นโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดเช่นกัน

ส่วนผู้ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้มีทั้งนักพัฒนาเอกชน ประชาชนในพื้นที่และนักวิชาการจาก ม.สงขลานครินทร์ แสดงความคิดเห็นพร้อมเปิดเผยข้อมูลที่ทางเวทีไม่ได้นำเสนอ อาทิ ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ นักวิชาการด้านสุขภาพ ม.สงขลานครินทร์ ระบุว่า ขอบเขตการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนที่มีส่วนได้เสียกับโครงการรวมทั้งการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโครงการนี้ ทำในรัศมี 5 กิโลเมตร จากจุดที่ตั้งโครงการทำให้ไม่สามารถเชื่อถือได้ว่ามลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินจะไม่กระจายไปยังพื้นที่นอกรัศมี 5 กิโลเมตร นอกจากนี้ ผู้อยู่นอกรัศมี 5 กิโลเมตรดังกล่าวไม่นับเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับโครงการ ซึ่งขัดต่อหลักวิชาการ

นายบรรจง นะเส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า งานวิจัยของมหาวิทยาฮาเวิร์ด พบว่าปัจจุบันประเทศสหรัฐอเมริกามีเด็กเกิดใหม่ป่วยเป็นโรคปัญญาอ่อน 300,000 แสนคนโดยมีสาเหตุมาจากการได้รับมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณปีละกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ จนนำมาสู่นโยบายยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินของรัฐบาลสหรัฐในที่สุด

"ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาทนไม่ไหวที่ประเทศชาติต้องแบกรับภาระของผู้ป่วยที่มาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน จึงประกาศปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวน 150 แห่ง เพื่อยุติผลกระทบที่เกิดขึ้นมาหลาย 10 ปีแต่ประเทศไทยกลับมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่าถ่านหินสะอาดและกำลังจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยไม่สนใจเสียงท้วงติง จึงน่าสงสัยว่าเป็นการสนองตอบกลุ่มทุนผูกขาดพลังงานที่ไปลงทุนในเหมืองถ่านหินไว้เรียบร้อยแล้วใช่หรือไม่"

นายกิติภพ สุทธิสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายรักษ์ทะเลจะนะ กล่าวว่า ทางเลือกที่เหมาะสมต่อการสร้างเสถียรภาพทางด้านพลังงานไฟฟ้าในภาคใต้ไม่ใช่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่เป็นการสร้างกระแสไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เช่น พลังงานลม และพลังงานแสงแดดซึ่งมีหลักฐานทางวิชาการยืนยันว่าสามารถทำได้ทันทีในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้

"ขณะนี้ภาคประชาชนใน อ.จะนะ กำลังพิสูจน์ให้เห็นว่าประชาชนสามารถพึ่งพากระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงแดดได้จริง โดยมีการรวมตัวเป็นสหกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ ให้ความรู้กับสมาชิกเรื่องพลังงานทางเลือก และขณะนี้มีบ้านต้นแบบของสมาชิกหลังหนึ่งที่ใช้พลังงานจากแผงโซล่าเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้ไม่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเหมือนคนอื่น เราต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่าเรื่องนี้สามารถทำได้จริง"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศเวทีรับฟังความคิดเห็นในช่วงบ่ายซึ่งอยู่ในส่วนของการรับฟังความคิดเห็นการก่อสร้างท่าเรือขนถ่านหินซึ่งจะก่อสร้างบริเวณชายฝั่ง ต.ปากบาง อ.เทพา ปรากฏว่าในห้องประชุมเหลือเพียงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยกับผู้ที่รอคิวแสดงความคิดเห็นซึ่งลงชื่อไว้ตั้งแต่ช่วงเช้า

ส่วนผู้เข้าร่วมประชุมที่มีกว่า 3,000 คนได้ทยอยออกจากห้องประชุมเพื่อไปรับแจกข้าวสาร โดยนำเอกสารตอบแบบสอบถามพร้อมบัตรประชาชนไปแสดงแลกกับข้าวสารถุงละ 5 กิโลกรัม คนละ 1 ถุง เมื่อได้รับแจกข้าวสารแล้วปรากฏว่าชาวบ้านได้แยกย้ายกันกลับบ้านทันที ในขณะที่การประชุมรับฟังความคิดเห็นยังไม่เสร็จสิ้น โดยภายในห้องประชุมมีเหลือผู้เข้าร่วมประชุมอยู่ไม่ถึง 100 คน และส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ของ กฟผ.

นอกจากนี้มีรายงานจากผู้เข้าร่วมประชุมเปิดเผย “ASTVผู้จัดการภาคใต้” ว่า วันนี้มีการแจกเงินให้กับผู้เข้าร่วมประชุมรายละ 500 บาทด้วย โดยระบุว่าเป็นค่าเดินทางในการเดินทางมาร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียกับโครงการ โดยผู้สังเกตการณ์รายหนึ่งซึ่งอยู่ในคณะกรรมการพิจารณาร่างรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ระบุว่า การแจกเงินและสิ่งของดังกล่าวถือว่าขัดต่อระเบียบการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งจะมีการสอบสวนในเรื่องนี้ต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น