xs
xsm
sm
md
lg

2 โรงเรียน 2 ประเทศ 1 แนวคิด : พึ่งตนเองด้านพลังงาน / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 
สัปดาห์นี้ผมมีเรื่องดีๆ 2 เรื่องเกี่ยวกับโรงเรียนที่สามารถพึ่งตนเองด้านพลังงานไฟฟ้าจาก 2 ประเทศมาเล่าสู่กันฟังครับ เรื่องแรกเป็นโรงเรียนในประเทศไทยเรานี่เอง ซึ่งมีความไม่ธรรมดาอยู่ 2 ประการ ส่วนอีกเรื่องเป็นโรงเรียนในประเทศออสเตรเลีย

เอาเรื่องแรกก่อนนะครับ

ยังไม่ทันที่ผมจะวางหูโทรศัพท์หลังจากได้คุยกับคุณหมอนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เพื่อบอกว่าเจ้าอาวาสรูปหนึ่งซึ่งได้อ่านบทความที่ผมเขียนแล้วอยากจะขอคุยด้วย เสียงโทรศัพท์จากเบอร์ที่ไม่รู้จักก็ดังตามมาทันที พร้อมกับข้อมูลมากมายซึ่งผมฟังแทบไม่ทัน

“อาตมาทำโรงเรียนการกุศลในพระพุทธศาสนา ตอนนี้ใช้โซลาร์เซลล์ทั้งโรงเรียน เป็นแบบเชื่อมต่อกับสายส่งของการไฟฟ้า แต่ไม่สามารถเชื่อมต่ออย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ เพราะเขาให้เชื่อมต่อเชิงพาณิชย์ ในกรณีของวัดเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรจะทำสัญญาไม่ได้ แต่อาตมาก็ติดตั้งมานานแล้วทำหนังสือไปถามเขาก็ยังไม่เห็นว่าอย่างไรแต่เห็นว่าโดนไล่ให้ถอดกันเยอะแล้วตามวัดต่างๆ”

ท่านพูดในทำนองนี้แหละครับซึ่งผมจับความได้ไม่ครบถ้วน แต่ข้อความข้างต้นผมคัดลอกมาจากกล่องข้อความในเฟซบุ๊กของผมที่ส่งมาจากโรงเรียนศรีแสงธรรมโดยพระครูวิมลปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม หมู่ที่ 5 บ้านดงดิบ ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

ผมอยากจะเรียนท่านพระครูว่า ข้อความที่ทางการไฟฟ้าฯ ยกขึ้นมาอ้างนั้นไม่เป็นความจริงในหลายเรื่อง เช่น บ้านที่จะขอเชื่อมต่อเชิงพาณิชย์เขาก็ไม่ให้ทำเหมือนกัน เป็นต้น

“อาตมาเคยไปนำเสนอต่อ คสช.ที่ทำเนียบฯ มาครั้งหนึ่ง แต่ยังไม่มีอะไรพอจะเห็นทางภาครัฐสนับสนุน ถ้าทำระบบสายส่งรองรับดีๆ เปิดฟรีการเชื่อมต่อ จะมีไฟฟ้าเข้าระบบในตอนกลางวันเยอะมาก การไฟฟ้าอาจผลิตเฉพาะกลางคืน ถ้าเราติดแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 3.5 กิโลวัตต์สัก 1.2 ล้านหลังคา ก็จะมีปริมาณไฟฟ้าเท่ากับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4 โรง ประหยัดงบประมาณไปเกือบ 4 แสนล้านบาท ไม่ต้องใช้เวลาก่อสร้างเป็นสิบปีด้วย หากยังไงขอให้เชื่อมต่อได้ ไม่ขายก็ยังอยู่ได้เพราะมันง่ายมาก ที่นี่พาเด็กนักเรียนทำเอง ลงทุนไม่ถึง 2 แสนบาท ก็ได้ระบบผลิตไฟขนาด 6 กิโลวัตต์แล้ว”

ผมไม่เคยรู้จักท่านพระครูมาก่อน แต่เราคุยกันอย่างถูกคอ ท่านได้เมตตาให้ความรู้แก่ผมเยอะมาก ท่านโทร.มาหาผมหลายรอบๆ ละนานๆ พร้อมกับตั้งคำถามในส่วนที่ท่านไม่มั่นใจว่า

“โรงไฟฟ้านิวเคลียร์โรงละ 1 แสนล้านบาทนั้นสูงเกินไปหรือเปล่าล่ะอาจารย์”

“ไม่ต้องกังวลครับ เป็นแค่ตัวเลขคร่าวๆ เวลาเขาก่อสร้างจริงราคาจะบานปลายทุกโรง บางโรงเกินกว่าที่คาดตั้ง 3-4 เท่าตัว แถมบางโรงเมื่อสร้างเสร็จแล้วแต่เปิดใช้งานไม่ได้เลยก็มี เช่น ในประเทศฟิลิปปินส์ เพราะมีการคอร์รัปชันกันเยอะมาก” ผมตอบ

ท่านพระครูวิมลปัญญาคุณ เป็นศิษย์หลวงตามหาบัว แห่งวัดป่าบ้านตาด ท่านบวชมาแล้ว 19 พรรษา ปัจจุบันท่านมีอายุ 42 ปี เมื่อผมถามประวัติส่วนตัว ท่านตอบว่า

“ตอนเด็กๆ อาตมาไม่มีโอกาสได้เรียนสูงๆ จบแค่มัธยมศึกษาปีที่ 5 พ่อแม่แยกทางกันก็ต้องเลิกเรียน ตอนนี้จึงมาส่งเสริมการศึกษาให้เด็กจนๆ ได้เรียน โรงเรียนนี้เปิดเมื่อปี 2553 เป็นโรงเรียนการกุศลในพระพุทธศาสนา มีนักเรียน 142 คน มี 6 ชั้นเรียน จนถึงชั้น ม.6”

“อาตมาได้ศึกษาเพิ่มเติมจนจบปริญญาตรี ได้มา 2 ปริญญา ตอนนี้กำลังเรียนปริญญาโท กำลังทำวิทยานิพนธ์อยู่ ที่เรียนต่อนี้ก็เพราะต้องการวุฒิเพื่อจะได้สิทธิมาบริหารโรงเรียนได้รับเงินสนับสนุนบางส่วนจากรัฐบาล หัวละเท่าไหร่จำไม่ได้แล้ว นอกนั้นเป็นเงินบริจาค อาตมาเองก็ขายบ้านเพื่อเอาเงินมาทำโรงเรียน นอกจากนี้ เรายังเลี้ยงอาหารกลางวันฟรีแก่นักเรียนอีกด้วย”

นี่คือ ความไม่ธรรมดาประการแรกของโรงเรียนนี้

เท่าที่ผมได้ฟังจากหลวงพ่อ ได้ดูจากเอกสารรวมทั้งวิดีโอ พบว่า โรงเรียนนี้มีกิจกรรมที่น่าสนใจหลายอย่าง สอนให้เด็กทำนา เพาะเห็ด ปลูกป่า แยกขยะ รวมถึงการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองดังที่กล่าวแล้ว

“จุดประสงค์เพื่อมุ่งพัฒนาเยาวชนอย่างรอบด้าน และสมดุลเพื่อเป็นฐานหลักของการพัฒนาให้เป็นคนดีเก่งมีความสุขมีความรู้เชิงวิชาการ และสมรรถนะทางวิชาชีพใฝ่เรียนรู้แสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง ตลอดชีวิตมีสุขภาพทั้งกาย และใจที่สมบูรณ์สามารถประกอบอาชีพและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขเพื่อเป็นเป้าหมาย และฐานหลักของการพัฒนาประเทศ” 

แม้จุดประสงค์ดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่ดีเลิศ แต่ผมก็จะยังไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้นอกจากประเด็นการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บนหลังคาเพียงอย่างเดียว ซึ่งผมถือว่าเป็นความไม่ธรรมดาประการที่สอง สำหรับเรื่องอย่างอื่นค่อยหาโอกาสไปเยี่ยมชม และนมัสการท่านพระครูผู้มีความมุ่งมั่นในภายหลัง
 

 
ก่อนอื่นผมขออนุญาตอธิบายถึงภาพทั้ง 4 ข้างต้นนะครับ
 
ภาพบนซ้ายมือเป็นอาคารเรียนหลักของโรงเรียน ข้างๆ อาคารนี้มีอาคารบริหาร อาคารพยาบาล บ้านดิน สำหรับภาพบนขวามือเป็นดาดฟ้าที่วางแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 6 กิโลวัตต์ ประกอบด้วย 21 แผงๆ ละ 285 วัตต์ ราคาแผงละ 3,900 บาท ซึ่งซื้อของเก่าที่ถูกน้ำท่วม รวมค่าแผง 81,900 บาท เมื่อรวมอินเวิร์ตเตอร์ 5.3 หมื่นบาท (ถ้ารวมค่าติดตั้งและรับประกัน 1 ปี จะเป็น 6 หมื่นบาท) เมื่อรวมสายไฟฟ้าด้วยก็ประมาณ 140,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีขาเหล็กตั้งแผงอีก 4 หมื่นบาท รวมเบ็ดเสร็จ 1.8 แสนบาท อ้อ! รวมอุปกรณ์ป้องกันฟ้าผ่า และบริดจ์ไดโอดแล้วด้วย

เพื่อตรวจสอบกับตัวเลขของกรมพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน (ซึ่งน่าจะศึกษาในต้นปี 2556) พบว่า เมื่อผมเลือกตัวเลขการลงทุนที่ต่ำที่สุดที่กิโลวัตต์ละ 5 หมื่นบาท (ตัวเลขถัดไปคือ 7 หมื่นบาท) ใช้แผงชนิดโพลีคริสตัลไลน์ พบว่า มีต้นทุนรวม และปริมาณไฟฟ้าดังนี้
 

 
ความสำคัญที่ผมอยากจะให้สนใจในแผ่นภาพนี้มี 2 ประการคือ (1) ลงทุน 3 แสนบาท ในขณะที่หลวงพ่อลงทุน 1.8 แสนบาท (2) ผลิตไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีได้ปีละ 8,255 หน่วย หรือเดือนละ 688 หน่วย
 
ผมเอาตัวเลขนี้ไปคิดค่าไฟฟ้าในโปรแกรมการคิดค่าไฟฟ้าในเขตนครหลวง พบว่าต้องเสียค่าไฟฟ้า ค่าเอฟที และภาษีมูลค่าเพิ่มรวม 3,206.42บาท เฉลี่ย 4.66 บาทต่อหน่วย

สิ่งที่ท่านพระครูเรียกร้องก็คือ ขอให้การไฟฟ้าฯ เชื่อมต่อไฟฟ้าเข้าระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯ อย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มเติมก็ได้ จะได้ไม่ต้องกังวลว่าเขาจะมารื้อถอนตอนไหน

แต่สิ่งที่ผมเองเรียกร้องก็คือ เพื่อให้เกิดแรงจูงใจให้คนมาลงทุนทางการไฟฟ้าฯ ควรรับซื้อไฟฟ้าในอัตรา 5.50 บาท โดยคงที่ตลอด 25 ปี ไม่ใช่ 6.69 บาทตามที่ทางราชการประกาศซึ่งถือว่าสูงเกินไป

โดยสรุป ถ้าคิดบน 3 เงื่อนไขที่เป็นไปได้ คือ (1) ลงทุนเท่ากับท่านพระครูบวกกับอีก 2 หมื่นบาท (บวกค่าแรงให้) รวม 2 แสนบาท (2) สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามตัวเลขของกรมพลังงานทดแทน และ (3) อัตรารับซื้อไฟฟ้าหน่วยละ 5.50 บาท ดังนั้น ใครที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จะได้ผลตอบแทนปีละ 22.7% ของเงินลงทุน

ย้ำ 22.7% ต่อปี ตลอด 25 ปี ซึ่งถือว่าเป็นผลตอบแทนที่สูงมาก

นี่คือการปฏิวัติบนหลังคาบ้านเป็นการเปลี่ยนหลังคาบ้านเป็นธนาคาร และเราต้องร่วมกันปฏิวัติเดี๋ยวนี้

ถ้าคิดกันอย่างตรงไปตรงมาผมคิดไม่ออกเลยครับว่า การไฟฟ้าฯ จะเสียหายตรงไหน

เพราะค่าไฟฟ้าจากหลังคาบ้านจะคงที่ตลอด 25 ปี จริงอยู่ในระยะ 6 ปีแรก ราคาที่การไฟฟ้าฯ รับซื้อจะสูงกว่าราคาที่ขายให้แก่ผู้ใช้ทั่วไปในปัจจุบันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ในขณะที่ค่าไฟฟ้าจากระบบการไฟฟ้าฯ จะขึ้นราคาทุกปีๆ ละประมาณ 3% ถ้าคิดคร่าวๆ พบว่าในอีก 10 และ 25 ปีข้างหน้าค่าไฟฟ้าในประเทศไทยก็จะประมาณหน่วยละ 6.26 และ 9.76 บาท ตามลำดับ แต่ถ้าคิดค่าเงินเฟ้อเข้าไปด้วยอีก 1% ค่าไฟฟ้าในอีก 25 ปีข้างหน้าก็จะเป็นหน่วยละ 12.42 บาท

ดังนั้น ถ้าการไฟฟ้าฯ รับซื้อในราคา 5.50 บาทต่อหน่วยในวันนี้ก็จะมีกำไรแบบอื้อจือเหลียงในอนาคตเลยครับแค่ขาดทุนเล็กน้อยใน 6 ปีแรก แต่จะกำไรยาวและเยอะตลอด 19 ปี

ดังนั้น คนที่จะสูญเสียรายได้จึงน่าจะมีเพียงรายเดียวเท่านั้น คือ พ่อค้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติที่แอบซ่อนอยู่หลังนโยบายพลังงานของประเทศนั่นเอง แต่ถ้าทำได้ตัวการไฟฟ้าฯ จะมีกำไรอย่างงามครับ

ถ้าจะเถียงกันในเรื่องเทคนิค เรื่องไฟฟ้าไม่เสถียรอันเนื่องมาจากไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ ก็กรุณาไปดูที่รัฐออสเตรเลียใต้ ประเทศออสเตรเลียที่ได้ติดแผงโซลาร์เซลล์กว่า 1.2 ล้านหลังและประเทศเยอรมนีกว่า 5 ล้านหลังคา ทำไมเขาไม่มีปัญหาทางเทคนิค

ผมขอกลับมาที่ภาพซ้ายมือล่าง เป็นภาพท่านพระครูกำลังอธิบายให้ผู้มาเยี่ยมชมชาวต่างประเทศ เท่าที่ท่านเล่าให้ผมฟัง ปัจจุบันมีผู้มาเยี่ยมชมเยอะมาก มีตั้งแต่ระดับชาวบ้านจนถึงระดับผู้บริหารมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ท่านยังได้จัดอบรมการติดตั้งให้แก่ผู้สนใจด้วย แต่ไม่ขอทำให้ใครเพราะไม่มีเวลา

สำหรับภาพขวามือด้านล่างเป็นใบเสร็จค่าไฟฟ้าของโรงเรียน จากประมาณ 5,729 บาทในเดือนธันวาคม 2556 ได้ลดลงมาเหลือแค่ 40 บาทในเดือนมิถุนายน 2557 และล่าสุด ตุลาคม 2557 เท่ากับ 210 บาท

สาเหตุที่การใช้ไฟฟ้าลดลงมากก็เพราะว่า ส่วนหนึ่งใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้เองบนหลังคา

“สิ่งที่อาตมากังวลก็คือ กลัวว่าทางการไฟฟ้าฯ จะหาว่าอาตมาปรับเปลี่ยนมิเตอร์ ซึ่งถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย” ท่านพระครูเล่าผ่านทางโทรศัพท์

นอกจากนี้ ท่านพระครูยังได้ตั้งประเด็นร้องเพิ่มเติมว่า “มีบางรายได้ขออนุญาตเชื่อมต่อไฟฟ้าเข้าสายส่งมาหลายเดือนแล้ว แต่ทางการยังไม่ทำสัญญารับซื้อเสียที อ้างว่าอยู่ในขั้นการทดลอง แต่ก็รับไฟฟ้าไปฟรีๆ ทำไมมันทดลองกันนานนัก เมื่อไหร่จะเสร็จ หรือว่าขอรับไฟฟ้าฟรีจากชาวบ้านไปขายต่ออย่างนั้นหรือ”

อนึ่ง ผมสงสัยว่าปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์เซลล์ในโรงเรียนแห่งนี้ น่าจะมากกว่าปริมาณที่ทางกรมพลังงานทดแทนคาดหมาย คือ 688 หน่วยต่อเดือน (ต่อ 6 กิโลวัตต์) เพราะถ้าค่าไฟฟ้าลดลงจาก 5,729 บาทลงมาเหลือ 210 คือ หายไปกว่า 5,500 บาท ซึ่งเมื่อคิดเป็นปริมาณไฟฟ้าได้ประมาณ 1,000 หน่วย ไม่ใช่แค่ 688 หน่วย

นี่เป็นแค่ข้อสังเกตเท่านั้นนะครับ แต่ข้อสังเกตนี้ไปใกล้เคียงกับข้อมูลในแผนที่ Solargis ดังรูป กล่าวคือ โดยเฉลี่ยทุกพื้นที่หนึ่งตารางเมตรในจังหวัดอุบลราชธานี จะได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์ประมาณ 1,900 หน่วยต่อปี แต่แผงโซลาร์เซลล์มีประสิทธิภาพ 15% ดังนั้น ถ้าแผงโซลาร์เซลล์ที่มีพื้นที่ 6.6 ตารางเมตร ก็จะสามารถรับพลังงานได้ 1,900 หน่วยต่อปี แค่เป็นข้อสังเกตที่จะต้องตรวจสอบกันต่อไป
 

 
ท่านพระครูวิมลปัญญาคุณ ได้บ่นในเชิงปรึกษาหารือกับผมว่า “จะทำอย่างไรดีให้ทางราชการเปิดช่องตรงนี้ให้ชาวบ้านได้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง โดยการออกกฎหมายรับรองสิทธิในการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง ท่านบอกว่าได้ส่งข้อมูลพวกนี้ให้คุณรสนา (โตสิตระกูล) แล้วอาตมาว่าจะไปร้องเรียนต่อรัฐมนตรีพลังงานอีกสักครั้ง”
 
ผมเรียนท่านพระครูไปว่า “ประเทศเยอรมนีเขาได้ทำตามที่ท่านพระครูว่าแหละครับ จึงได้ประสบผลสำเร็จมาก” พร้อมกับเสริมต่อไปว่า

“ท่านร้องเรียนก็ร้องไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีแต่จะให้ได้ผลจริงๆ ก็ต้องให้ประชาชนตื่นรู้กันเยอะๆ เราควรใช้ยุทธศาสตร์โลกล้อมพ่อค้าพลังงานในประเทศไทย ยกความสำเร็จของประเทศโน้นประเทศนี้มาให้คนไทยได้รับรู้ ซึ่งหลวงพ่อก็กำลังทำอยู่ แล้วใช้ประชาชนพวกนี้แหละมาล้อมพวกนักการเมืองที่รักษาผลประโยชน์ของพ่อค้าพลังงานผูกขาด”

“หลวงพ่อจำฉากสุดท้ายของหนังไทยในสมัยก่อนได้ไหมครับ” ผมถาม

“ฉากสุดท้ายมักจะเป็นฉากที่พระเอกออกมาช่วยนางเอก สักพักหนึ่งผู้ช่วยพระเอกก็ออกมา และในที่สุดตำรวจทั้งใหญ่น้อยจำนวนมากจะมาถึงเป็นรายสุดท้าย…”

ผมเสริมต่อไปว่า “แล้วตำรวจก็จะพูดว่า วางอาวุธเดี๋ยวนี้ มอบตัวเสีย ตำรวจได้ล้อมไว้หมดแล้ว…แล้วผู้ร้ายก็ถูกตำรวจรวบตัวในที่สุด”

ผมหวังว่านักการเมือง และผู้เขียนนโยบายพลังงานซึ่งเป็นตัวร้ายของสังคมไทยจะมาถึงฉากสุดท้ายในเร็ววัน เมื่อเราเอาความจริง ความดีงามที่เกิดขึ้นจากส่วนต่างๆ ของโลกมาแสดงให้ดูกันแบบจะจะ

สถานการณ์ในตอนนี้ มันช่างคล้ายกับรูปจากกรีนพีซที่เพื่อนในเฟซบุ๊กของผมคนหนึ่งส่งมาให้ เราจะเห็นการชักเย่อระหว่างผู้สนับสนุนพลังงานหมุนเวียนจำนวนมาก กับพวกพ่อค้าพลังงานฟอสซิลผู้โดดเดี่ยว
 

 
แต่ในความเป็นจริงแล้ว สถานการณ์มันโหดร้ายกว่าในภาพนี้มากนัก กล่าวคือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มาถี่ยิบในช่วงหลังๆ นี้ สาเหตุสำคัญมาจากการใช้พลังงานฟอสซิลครับ พ่อค้าพลังงานฟอสซิลมีจำนวนน้อยก็จริง แต่พิษสงมันมาก พวกเขาสามารถดึงภาษีอากรของประชาชนมาสนับสนุนงานวิจัยของพวกเขาซื้อสินค้าจากพวกเขา
 
เขาใช้เงินจำนวนมากเพื่อจ้างนักวิชาการบางคนเพื่อประดิษฐ์วาทกรรมแล้วจ้างสื่อโฆษณา “ถ่านหินสะอาด” ซึ่งไม่มีอยู่จริงเพื่อหลอกลวงประชาชนเหมือนกับ “เกลือหวาน”

คราวนี้มาถึงเรื่องดีๆ เรื่องที่สอง แต่ขอเป็นแบบย่อๆ นะครับ

โรงเรียนที่ว่านี้อยู่ในรัฐควีนส์แลนด์ ตอนกลางของประเทศออสเตรเลีย ชื่อ Thargomindah State School มีนักเรียน 31 คน ครู 3 คน ในแต่ละปีใช้ไฟฟ้าประมาณ 3 หมื่น ถึง 3.5 หมื่นหน่วย

ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา โรงเรียนแห่งนี้สามารถผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ได้ 11,774 หน่วย (โดยมีค่าต่ำสุดและสูงสุดเท่ากับ 691 และ 1,700 หน่วย ดังกราฟ หมายเหตุ ผมไม่ทราบว่าแผงมีขนาดกี่กิโลวัตต์) คิดเป็น 38% ของไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมด ที่เหลืออีก 62% เป็นซื้อไฟฟ้าจากระบบสายส่ง
 

 
โรงเรียนนี้เป็น 1 ในจำนวน 1,500 โรง ที่รัฐบาลสนับสนุน และติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้ฟรีซึ่งในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มโรงเรียนดังกล่าวสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 27.3 ล้านหน่วย ในขณะที่ชาวจังหวัดอำนาจเจริญทั้งจังหวัด ใช้ไฟฟ้าในปี 2556 เพียง 150 ล้านหน่วยเท่านั้น

มาถึงตอนนี้ท่านผู้อ่านคงเห็นด้วยกับผม และท่านพระครูวิมลปัญญาคุณ ว่า ถ้านโยบายพลังงานของรัฐไม่กีดกัน ไม่ปิดกั้นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่จะได้ใช้ประโยชน์จากดวงอาทิตย์ ประชาชนก็สามารถพึ่งตนเองได้ แค่ชาวอำนาจเจริญ 1 หมื่นกว่าหลังคาเรือนติดแผงโซลาร์เซลล์ก็พอเพียงต่อการใช้ของคนทั้งจังหวัด แถมจะมีรายได้จากการขายไฟฟ้าซึ่งเป็นสินค้าชนิดเดียวที่ไม่มีการล้นตลาด และไม่มีการบูดเน่า ในเชิงเทคนิคแล้วมันง่ายมากอย่างท่านพระครูผู้มีความมุ่งมั่น และเสียสละอย่างสูงเชื่อ แต่ในเชิงสังคมแล้วถ้าประชาชนยังไม่ตื่นตัวก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะให้พ่อค้าพลังงานผู้โกยกอบ “วางอาวุธ ทิ้งนโยบาย”

มาช่วยกันเชียร์หลวงพ่อ มาช่วยกันล้อมพ่อค้าพลังงานให้ยอมมอบตัวครับ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น