xs
xsm
sm
md
lg

ศปป.เปิดเวทีปรองดองรอบ2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 09.30 น. วานนี้ (3 มิ.ย.) ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีรังสิต ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป(ศปป.) จัดเสวนาปรองดองสมานฉันท์เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนในสังคมไทย ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ "อนาคตของประเทศไทย" โดยศปป.ได้เชิญตัวแทนพรรคการเมือง นักวิชาการ และตัวแทนกลุ่มภาคประชาชน เข้ามาร่วมพูดคุยหารือ เพื่อเสนอแนวทางเดินหน้าปฏิรูปประเทศ โดยมีพล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสนาธิการทหารบก เป็นประธานในเวทีการพูดคุย พร้อมด้วย พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพบก ในฐานะ ผอ.ศปป. เข้าร่วมเสวนา
ผู้สื่อข่าวรายงาน บรรยากาศก่อนเข้าประชุมได้มีนักวิชาการ นักการเมือง ทยอยเข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายเสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการอิสระ นายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรมว.คลัง นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรมว.ต่างประเทศ นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำ กปปส. นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สภาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นายปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการอิสระ รวมทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เดินมาร่วมเสวนาในช่วงบ่าย อย่างไรก็ตาม ในการประชุมหารือครั้งนี้ ไม่อนุญาตสื่อมวลเข้าร่วมรับฟังแต่อย่างใด
นายนพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศ และที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์ภายหลังการการเสวนาปรองดองฯครั้งนี้ว่า มีการพูดคุยเรื่องอนาคตของประเทศ มากกว่าเรื่องในอดีต เช่น เรื่องการศึกษา เศรษฐกิจ กระบวนการยุติธรรม รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ก็เห็นเจตนาที่ดีของ ศปป. แต่ละคนมีมุมมองของตัวเอง แต่ก็หารือกันด้วยดี เมื่อถามว่ามีการพูดคุยเกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่ นายนพดล กล่าวว่า ไม่มีเรื่องการเมือง ไม่มีความเคลื่อนไหวอะไร บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปด้วยดี แบบพี่น้อง ส่วนรายละเอียดอื่นๆทหารจะเป็นคนให้รายละเอียดเอง
นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช. กล่าวว่า ภาพรวมในการพูดคุยครั้งนี้ ทางพล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสนาธิการทหารบก ซึ่งเป็นประธานในเวทีเสวนาได้เปิดกว้างรับฟังทุกความคิดเห็นที่หลายฝ่ายแสดงความห่วงใย ทั้งมิติด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อทางออกให้กับประเทศ
ส่วนข้อเสนอของกลุ่มนปช.นั้น ตนได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญที่อาจจะก่อให้เกิดวิกฤตในอนาคต ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้นกว่าเดิม เพราะในเนื้อหาจะทำให้ประเทศกลับมาสู่วิกฤตอีกครั้ง และระหว่างทาง ก็จะทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ประเมินค่าไม่ได้
นอกจากนี้ตนได้ยังได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ปิดสถานีโทรทัศน์ พีซทีวี ที่มีการอ้างคำพูดตนที่ระบุว่า อย่ามองคนเห็นต่างเป็นศัตรู เพราะจะทำให้บรรยากาศบ้านเมืองมีความน่ารักมากกว่านี้ ตนพูดเพียงเท่านี้ กลับถูกเพิกถอนในอนุญาต ดังนั้นขอฝากไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ช่วยพิจารณาว่าคำพูดที่ตนพูดนั้น ถึงกับต้องถอนใบอนุญาตเลยหรือ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพวกตนจะมีความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่ไม่ใช่ว่าจะต้องมาทำลายล้างกัน
"ส่วนความขัดแย้งทางการเมือง พวกผมได้พูดว่าเป็นความเห็นที่แตกต่าง แต่ไม่ใช่ลักษณะการเผชิญหน้า ซึ่งแต่ละฝ่ายไม่ต้องการซ้ำเติมปัญหาให้กับประเทศ เพียงแต่ต้องรับฟัง และเมื่อรับฟังแล้ว ก็นำเสนอให้กับผู้มีอำนาจอย่างตรงไปตรงมา เพื่อแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด อีกทั้งจะเป็นประโยชน์ให้กับประเทศโดยรวม" นายจตุพร กล่าว
เมื่อถามว่า ทางเจ้าหน้าที่ได้ขอความร่วมมือให้งดการเคลื่อนไหวต่างๆ หรือไม่ นายจตุพร กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พวกตนพูดคำไหนคำนั้น และไม่มีวาระซ่อนเร้น เมื่อคนไทยให้โอกาส คสช. ก็ต้องทำตามโรดแมป ดังนั้นคนไทยก็ต้องอดทนตามวัน และเวลา วันนี้ปัญหาของชาติไม่ได้อยู่ที่สีใดสีหนึ่ง หรือพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของคนไทยทุกคนที่ต้องรับผิดชอบต่อบ้านเมืองอย่างเท่าเทียมกัน
เมื่อถามว่าถ้าประเทศไม่มีการเลือกตั้งภายในปี 59 ทางกลุ่มนปช. จะดำเนินการในทิศทางใดต่อไป นายจตุพร กล่าวว่า เราได้แสดงความเห็นว่าต้องการอะไร ถ้าต้องการให้บ้านเมืองเกิดความสงบ ก็ต้องเขียนรัฐธรรมนูญให้เป็นเนื้อหาประชาธิปไตย หรือถ้าต้องการอยู่ต่อ ก็บอกกันตรงๆ ตนไม่ได้กลัวว่าการที่อยู่ในอำนาจนานจะเป็นผลดีต่อผู้ที่มีอำนาจ เพราะอำนาจเป็นของร้อน ถ้าอยากให้บ้านเมืองเดินหน้าไม่กลับมาที่จุดเดิม ก็ต้องเริ่มต้นด้วยรัฐธรรมนูญ เมื่อถามต่อว่า การทำประชามติจะเป็นตัวชี้วัดทางสังคมหรือไม่ นายจตุพร กล่าวว่า ถ้าโชคดีหากมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในชั้นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ ก็ไม่ต้องมีการทำประชามติ แต่ถ้ากรรมาธิการยกร่างฯ ยังไม่เปลี่ยนแปลงเนื้อหา การทำประชามติ คือความหายนะในอนาคต
เมื่อถามถึงเรื่องการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้น นายจตุพร กล่าวว่า ในที่ประชุมไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องนี้
ด้านนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า การพูดคุยครั้งนี้ มีเรื่องกระบวนการยุติธรรมด้วย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาไม่มีอะไรเป็นพิเศษ
กำลังโหลดความคิดเห็น