xs
xsm
sm
md
lg

"จรัญ"ห่วงร่างรธน.เปิดช่อง การเมืองแทรกแซงยุติธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (3มิ.ย.) สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมได้สัมมนา เรื่อง"อิสระตุลาการ : ประวัติศาสตร์ศาลยุติธรรม" โดยมีนายเอกชัย ชิณณพงศ์ ประธานศาลอุทธรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิด จากนั้นมีการอภิปรายเรื่อง อิสระตุลาการ ประวัติศาลยุติธรรม โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นายวินัย พงศ์ศรีเพียร เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
นายวินัย กล่าวถึงปัญหาของวงการตุลาการในขณะนี้ว่า มีเรื่องทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะบางครั้งก็อาจจะมีถุงท๊อฟฟี่ ไปทำตกที่ศาลอุทธรณ์ ซึ่งผู้เป็นตุลาการ ต้องมีความหนักแน่น ยึดมั่นในความเที่ยงธรรม
นายกิตติศักดิ์ ย้ำถึงความเป็นอิสระของตุลาการบนความเข้าใจว่า องค์กรตุลาการเกิดขึ้นด้วยการต่อสู้เพื่อความมีอิสระของอำนาจตุลาการด้วยความเป็นธรรม เพราะทำหน้าที่แทนพระมหากษัตริย์ จะทำตามอำเภอใจไม่ได้ ต้องปกป้องไม่ให้ความอยุติธรรมเกิดขึ้นโดยปราศจากอคติ และการบังคับคดีที่ไม่เป็นธรรม โดยในรัชกาลที่ 5 มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อรักษาเอกราชจากยุคมหาอำนาจล่าอาณานิคม ด้วยการทำให้กฎหมายบังคับใช้ได้จริง ทำให้ประเทศในตะวันตกยอมรับว่าประเทศไทยปกครองโดยกฎหมายเป็นใหญ่ ด้วยหลัก 3 ประการ คือ 1. ทุกเคนสมอหน้ากัน 2 .ไม่มีโทษถ้าไม่มีกฎหมายห้ามไว้ล่วงหน้า และ 3. การวินิจฉัยชี้ขาดคดีพิพาทเป็นอำนาจโดยอิสระของศาลตั้งขึ้นตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม จากประวัติศาสตร์ชาติไทยอำนาจตุลาการมีส่วนสำคัญในการถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารที่เป็นเผด็จการด้วยการตัดสินด้วยความเป็นธรรม ยึดหลักตามกฎหมาย และที่สำคัญคือ อำนาจธรรมะ ที่ไม่ได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นสิ่งที่ทำให้สังคมเห็นถึงความชอบธรรม ดังนั้นตุลาการจึงดำรงอยู่ด้วยการต่อสู้ด้วยความเข้มแข็งในการรวมตัวเพื่อรักษาความเป็นอิสระ แต่มีการสร้างความเชื่อใหม่ว่า ผู้พิพากษาต้องเป็นกลางไม่ยุ่งกับใครทั้งสิ้น ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการไม่มีอคติ ที่ตัดสินตามความถูก ความผิด อำนาจตุลาการจึงต้องไม่ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฝ่ายการเมืองย่อมพยายามที่จะแทรกแซงตุลาการในทุกวิถีทาง การทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน จะทำให้ถูกฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซง ซึ่งเป็นอันตรายสำหรับวงการตุลาการเอง
ด้านนายจรัญ กล่าวว่า ชีวิตผู้พิพากษาโดดเดี่ยว สังคมแคบ ไม่มีเครือข่าย ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาความเป็นธรรม แต่มีหลายปัจจัยที่ผู้มีอำนาจนำมาใช้เพื่อแทรกแซงความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ เช่น การนำเศษเงินสองล้านบาทไปที่ศาลฎีกา ซึ่งตนขอบอกว่า เงินสองล้านบาทผู้พิพากษาไม่เคยเจอ แต่มีการเอาเงินไปฟาดหัวเจ้าหน้าที่ในศาลฎีกาแต่กลับไม่มีปัญหาอะไร แม้จะมีการตัดสินละเมิดอำนาจศาล แต่ออกจากคุกก็ไปเป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคการเมืองหนึ่ง
"เมื่ออำนาจเงินรวมกับอำนาจรัฐ และมีการสร้างกองกำลังอำนาจเถื่อนชายชุดดำ วางระเบิดศาล ให้ร้าย ดังนั้นความเป็นอิสระของตุลาการเป็นเรื่องสำคัญ หากปล่อยให้ถูกแทรกแซงได้จะเป็นอันตรายต่อประเทศชาติ เพราะต้องไปสยบยอมกับอำนาจเงิน อำนาจรัฐ อำนาจเถื่อน คนเดือดร้อนคือประชาชน ผู้พิพากษาไม่เดือดร้อนถ้าทำตามอำนาจ ได้ผลประโยชน์นอกระบบตอบแทน แล้วประเทศนี้จะเดินไปสู่หายนะ เพราะถึงวันหนึ่งเมื่อประชาชนคับแค้น หาความยุติธรรมไม่ได้ จะสะสมจนเป็นระเบิดที่ไม่ใช่จัดการแค่อำนาจ แต่จะจัดการกับระบบตุลาการด้วย" นายจรัญกล่าว
นายจรัญ กล่าวด้วยว่า ตุลาการมีหน้าที่ค้ำจุนความมั่นคงของประเทศ และการให้ความเป็นธรรมกับประชาชน อย่างไรก็ตาม คนที่มีอำนาจมากกว่า ย่อมมีความได้เปรียบกว่าประชาชนทั่วไป ซึ่งในขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงเวลาปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ผู้ที่อยู่ในแวดวงตุลาการ จึงต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับการรักษาอิสระของฝ่ายตุลาการให้แยกชัดเจนตั้งแต่ สืบสวน สอบสวน สั่งฟ้อง พิจารณา พิพากษา และบังคับคดี แต่ฝ่ายตุลาการถูกจำกัดอยู่ที่ การพิจารณา พิพากษาคดีเท่านั้น แต่การบังคับคดี อยู่ที่อำนาจฝ่ายบริหาร ทั้งแพ่ง อาญา และ ปกครอง นอกจากนี้เรื่องส่วนใหญ่มักไม่มาถึงศาล บางคดีเมื่อศาลตัดสินแล้วกลับไม่มีการบังคับคดี เพราะไม่ใช่อำนาจของฝ่ายตุลาการ เป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร จึงถืงเวลาที่จะให้กรมบังคับคดี กลับมาอยู่ในความดูแลของฝ่ายตุลาการ
"มีเหตุผลอะไรต้องปฏิรูปศาลยุติธรรม ทำอะไรเสียหายให้กับประเทศ ถึงต้องถูกปฏิรูป ลดความเป็นอิสระให้อยู่ในระเบียบวินัยเหมือนคำกล่าวที่ว่า ถ้าให้กฎหมายเป็นใหญ่ ศาลก็เป็นใหญ่ ผู้พิพากษาตุลาการก็เป็นใหญ่ แล้วพระมหากษัตริย์จะอยู่ที่ไหน นี่คือการต่อสู้ทางความคิด และคานอำนาจตั้งแต่ในอดีต ปัจจุบันก็เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายกรัฐมนตรีทำผิดรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับสมาชิกรัฐสภาทุจริตเสียบบัตรแทนกัน ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า กฎหมายนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้กฎหมายตกไป แต่กลับเจอวาทกรรมว่า ประเทศปกครองโดยตุลาการธิปไตย ไม่ได้มาจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ไม่ใช่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงนำมาเป็นเงื่อนไขปฏิรูปวงการตุลาการ ภายใต้การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ตุลาการต้องคำนึงถึงเป็นอย่างยิ่ง คือการรักษาความเป็นอิสระให้ได้"
นายจรัญ กล่าวด้วยว่า ศาลรัฐธรรมนูญกำลังเสนอความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนกระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบอำนาจรัฐ โดยมีการเสนอระบบใหม่ที่ดูดี แต่รายละเอียดคล้ายกับรัฐธรรมนูญปี 40 ที่เปิดช่องให้มีการบล็อกโหวต จนทำให้องค์กรอิสระถูกแทรกแซง และเป็นอัปยศของศาลรัฐธรรมนูญในคดีซุกหุ้น เพราะมีคนของฝ่ายการเมืองเข้าไปขอพิจารณาคดีด้วย ทั้งที่ไม่เคยร่วมพิจารณาคดีมาก่อน ขณะเดียวกันผู้ที่ดำเนินการเช่นนี้ มีความเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมวิ่งเต้นได้ คดีที่ตัวเองไม่ชนะก็คิดว่าเพราะวิ่งเต้นไม่สำเร็จ ไม่ได้สำนึกถึงความผิดถูก จึงมีการแสดงความไม่ยอมรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีการข่มขู่ แต่พวกเราไม่กลัวอันธพาล สิ่งที่ต้องระวังคือต้องช่วยกันปกป้องอิสระของสถาบันตุลาการเอาไว้ อย่าคิดว่าจะถูกแทรกแซงจากอำนาจภายนอก แต่สิ่งที่ละเลยไป คือ ความเป็นอิสระจากอคติในจิตใจและพฤติกรรมของพวกเราเอง
“จรัญ” ชี้ รธน.ใหม่เปิดช่องการเมืองจุ้นศาลได้ ถามเหตุผลปฏิรูป แนะดึงกรมบังคับคดีสังกัดฝ่ายตุลาการ
“จรัญ” ชี้ รธน.ใหม่เปิดช่องการเมืองจุ้นศาลได้ ถามเหตุผลปฏิรูป แนะดึงกรมบังคับคดีสังกัดฝ่ายตุลาการ
สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม จัดอภิปราย อิสระตุลาการ ประวัติศาลยุติธรรม เมธีวิจัยอาวุโส ยกกรณีถุงขนมเป็นปัญหาในวงการ ตุลาการต้องหนักแน่น ด้านอาจารย์นิติ มธ.แนะเป็นกลางไม่ยุ่งกับใคร ขณะที่ตุลาการศาล รธน. รับเคสถุงขนมแทรกแซงความเป็นอิสระ แถมคนทำออกจากคุกก็เป็น ส.ส.ได้ แนะนำกรมบังคับคดีกลับมาอยู่ในฝ่ายตุลาการ ถามมีเหตุผลอะไรต้องปฏิรูปศาล ชี้ รธน.ใหม่เหมือนจะดีแต่คล้ายปี 40 เปิดช่องการเมืองแทรกแซง ส่อซ้ำรอยแบบคดีซุกหุ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น