xs
xsm
sm
md
lg

จับตากติการัฐธรรมนูญใหม่ ล็อกสเปกตุลาการศาลรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**การยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ทำให้เริ่มเห็นเค้าโครงของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะออกมามีผลบังคับใช้เป็นกติกาสูงสุดของประเทศในอนาคตว่า หน้าตาจะเป็นอย่างไร
โดยเฉพาะในหมวด ศาล และ องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งมีประเด็นที่น่าติดตามคือ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา อันอาจจะส่งผลต่อการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน
โดยในการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มีการปรับสัดส่วนคณะกรรมการสรรหาใหม่ จากรัฐธรรมนูญปี 2550 ด้วยการลดสัดส่วนคณะกรรมการสรรหาจากศาลฎีกา 3 คน เหลือ 2 คน เพิ่มสัดส่วนตัวแทนจากกลุ่มการเมือง พรรคการเมือง , ฝ่ายค้าน ,รัฐบาล กลุ่มละ 1 คน จากเดิมไม่มีสัดส่วนจากกลุ่มการเมือง และตัวแทนจากรัฐบาล
การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ทำให้เกิดคำถามว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ดำรงตำแหน่งในปัจจุบัน จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้จนครบวาระหรือไม่ ซึ่งน่าจะต้องเขียนให้ชัดเจนไว้ในบทเฉพาะกาลว่า กติกาใหม่นี้ จะเริ่มต้นทันทีหรือไม่ หากเริ่มทันทีหมายความว่า เมื่อกระบวนการสรรหาแล้วเสร็จ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งในปัจจุบัน จะต้องพ้นสภาพไป ใช่หรือไม่
**ถ้าเป็นไปตามสมติฐานข้างต้น คนที่พอใจที่สุดคงไม่พ้น ทักษิณ ชินวัตร และลิ่วล้อ ที่จ้องเล่นงานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันมาโดยตลอด ด้วยการดิสเครดิต และปลุกกระแสให้สังคมหลงผิดว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันเป็นคู่ขัดแย้งกับ ทักษิณ ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย
เนื่องจากที่ผ่านมาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันมีคำวินิจฉัยหลายคดีที่สร้างความไม่พอใจให้กับ ทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นการชี้ขาดให้ ยิ่งลักษณ์ พ้นสถานะความเป็นนายกรัฐมนตรี จากการโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี จากเลขาฯสมช.ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี โดยมิชอบด้วยกฎหมาย การวินิจฉัยให้ ร่าง รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ประเด็นที่มา ส.ว. และมาตรา 190 เป็นโมฆะ รวมไปถึง ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท
สำหรับคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน ประกอบด้วย นุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ จรัญ ภักดีธนากุล เฉลิมพล เอกอุรุ ชัช ชลวร ทวีเกียรติ มินะกนิษฐ บุญส่ง กุลบุปผา วรวิทย์ กังศศิเทียม สุพจน์ ไข่มุกด์ และ อุดมศักดิ์ นิติมนตรี ซี่งทั้งหมดจะมีวาระการดำรงตำแหน่งที่แตกต่างกันจากปัจจัยเรื่อง อายุ และ ช่วงเวลาที่เข้าดำรงตำแหน่ง เนื่องจากมีบางส่วนที่เป็นคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดแรกและบางส่วนมาจากการสรรหาทดแทนตุลาการ ที่ครบวาระไป
ทั้งนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เริ่มวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี ตั้งแต่ 28 พ.ค.51-28 พ.ค. 2560 ประกอบด้วย นุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ จรัญ ภักดีธนากุล เฉลิมพล เอกอุรุ ชัช ชลวร บุญส่ง กุลบุปผา สุพจน์ ไข่มุกด์ และ อุดมศักดิ์ นิติมนตรี แต่ในส่วนของ เฉลิมพล และ สุพจน์ จะครบวาระดำรงตำแหน่งในปี 2558 เนื่องจากอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์
ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ได้รับการสรรหาเข้ามาทดแทนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ว่างลง คือ ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ แทน วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ที่ลาออกจากตำแหน่ง โดยได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 31 ตุลาคม 2556 และ วรวิทย์ กังศศิเทียม ที่เพิ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 18 ก.ย. 57 แทน จรูญ อินทจาร ที่พ้นวาระเนื่องจากอายุครบ 70 ปี
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ การกำหนดคุณสมบัติเพิ่มเติมของบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติห้ามไม่ให้บุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเท่ากับว่า เป็นการล็อกสเปก กีดกันไม่ให้ตุลาการรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันกลับมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก เนื่องจากถือว่าขาดคุณสมบัติเพราะเคยดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญมาแล้ว
คราวนี้ลองย้อนดูข้อมูลว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันที่พรรคเพื่อไทยมองว่าเป็นศัตรูที่ต้องจำกัดมีใครบ้าง โดยดูได้รายชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่พรรคเพื่อไทยยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่ง จะประกอบด้วย จรัญ นุรักษ์ สุพจน์ เฉลิมพล และ ทวีเกียรติ ซึ่งคนเหล่านี้จะต้องสิ้นสภาพทันที หากร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่มีบทบัญญัติคุ้มครองการดำรงตำแหน่งให้ครบวาระตามเดิม
**ดังนั้น คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จึงควรให้เหตุผลต่อสาธารณะด้วยว่า สาเหตุที่มีการบัญญัติเพิ่มเติมเป็นข้อห้ามในเรื่องคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการกีดกันไม่ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน กลับมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้อีก ใช่หรือไม่ ถ้าไม่ใช่เหตุใดต้องกำหนดเพิ่มเติมเอาไว้
ในช่วงเวลาของการร่างกติกาใหม่ เป็นเรื่องที่คนไทยควรต้องจับตาและตรวจสอบอย่างใกล้ชิด เพราะกติกาใหม่อาจส่งผลกระทบในหลายเรื่องโดยที่สังคมไม่ทันตั้งตัว เช่น กรณีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่คนส่วนใหญ่มองไม่ออกว่า จะกระทบต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบันอย่างไร
กติกาใหม่ที่ทำให้ระบบดีขึ้นโดยไม่มีวาระซ่อนเร้น หรือผลประโยชน์ของใครแอบแฝงเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่เป็นภัยคุกคามเงียบสำหรับสังคมไทย คือ กติกาใหม่ ที่ซ่อนความต้องการของทักษิณเอาไว้ จนคนไทยตามไม่ทันว่า กำลังปฏิรูปบนเส้นทางที่ทักษิณกำหนด
กำลังโหลดความคิดเห็น