xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

โฉมหน้าการเมืองปี2558 เวลาแห่งการปฏิรูปอำนาจ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -คำทำนายของ ภิญโญ พงศ์เจริญ นายกสมาคมโหราศาสตร์นานาชาติ เกี่ยวกับกรณีกิ่งต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ โค่นใส่ขบวนรถนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี ระหว่างเดินทางไปทำเนียบรัฐบาลระบุว่า

“ถ้ามองในเรื่องของโชคลาง ลางสังหรณ์ ก็ระบุได้ว่ามีเทวดาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาเตือนให้ระมัดระวังตัว ทั้งการกระทำและการเดินทาง รวมไปถึงตำแหน่งในหน้าที่การงาน ซึ่งจะต้องระมัดระวังอย่างมาก โดยเฉพาะในปีหน้าจะเกิดเหตุไม่คาดคิดกับตัวนายกรัฐมนตรี ขอให้ระวังในช่วงกลางเดือนมีนาคม-เมษายน 2558 เป็นต้นไป ให้ระวังให้มาก เพราะอาจจะมีปัญหาด้านสุขภาพของตัวเองที่มาจากโรคเก่ากำเริบ รวมทั้งตำแหน่งหน้าที่การงานอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเกินความคาดหมาย

อาจมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดของบ้านเมืองเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งจะมีผลที่ไม่ดีต่อตัวนายกรัฐมนตรีโดยตรง จึงต้องระมัดระวังเรื่องอุบัติเหตุด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมันเป็นเครื่องบอกเหตุเตือนให้ต้องรับมือในปีหน้า จะมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมเป็นต้นไป”

สำหรับคนที่เชื่อเรื่องโชคลางของขลังอย่างบรรดาขุนทหารทั้งหลายคงหนาว ๆ ร้อน ๆ ไปตาม ๆ กัน เพราะมั่นอกมั่นใจว่า “เอาอยู่” เมื่อถูกทักว่าทางเดินกำลังรกชัฏไม่สะดวกดายเหมือนที่ผ่านมาย่อมมีความกังวลเป็นธรรมดา จนลืมไปว่าสิ่งที่จะเป็นตัวกำหนดอนาคต พล.อ.ประยุทธ์และคณะไม่ใช่เรื่องของโชคชะตา หากเป็นพฤติกรรมจากการใช้อำนาจที่มีว่าถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ต่างหาก

อนาคตทางอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ จึงขึ้นอยู่กับอนาคตทางการเมืองที่อยู่ในมือของ คสช.ขณะนี้ว่าจะขีดเส้นกำหนดชะตาประเทศไปในทิศทางใด โดยเฉพาะการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นในหลายเรื่องว่ากำหนดขึ้นมาเพือตอบโจทย์ประเทศไทยหรือตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มเดียวกันแน่

ช่วงกลางเดือนมีนาคมปี 2558 ที่นายกสมาคมโหราศาสตร์นานาชาติ ระบุว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่คาดไม่ถึงนั้น บังเอิญว่าเป็นช่วงเดียวกับที่สังคมไทยน่าจะได้เห็นหน้าตาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังยกร่างกันอย่างชัดเจนแล้ว และมีความเป็นไปได้สูงยิ่งว่าลูกไม้ใต้ต้นที่คสช.ทำคลอดจะมีหน้าตาน่าชังมากกว่าน่ารัก

จนอาจเป็นชนวนความขัดแย้งรอบใหม่ที่รุนแรงเกินกว่าที่ผู้มีอำนาจจะคาดถึง

เพราะถ้าพิจารณาจากแนวทางที่ปรากฏในขณะนี้จะเห็นได้ว่าเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้นเป็นไปตามความต้องการของคนบางคนที่พยายามทำมาโดยตลอดแต่ไม่เคยสำเร็จเกือบจะ 100 % จึงเรียกได้ว่า ประเทศไทยยังคงตกอยู่ในเงื้อมมือของทักษิณ

ลองไล่ดูความต้องการของกลุ่มการเมืองของพรรคการเมืองพรรคหนึ่งในการกำหนดกติกาประเทศเทียบกับสิ่งที่ สนช.และสปช.เสนอให้มีการกำหนดในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น

เริ่มตั้งแต่ความต้องการของนักการเมืองคนหนึ่งที่ทรงอำนาจที่มีความแค้นฝังหุ่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ชนิดผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ อยากจะยุบศาลรัฐธรรมนูญทุกวินาที ก็ตรงกับข้อเสนอของ สนช.ที่ให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญไปเป็นแผนกหนึ่งในศาลยุติธรรม ลดทอนอำนาจลงให้เหลือเพียงแค่การตีความกฎหมายตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น รวมถึงการเปลี่ยนองค์ประกอบของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งหมายความว่าจะมีการโละตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปัจจุบันทั้งชุดไปโดยปริยาย

นับเป็นบทสรุปเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่เข้าทางนักการเมืองทรราชเป็นที่สุด เพราะไม่เพียงแต่จะได้กติกาใหม่ที่ตัวเองพอใจเท่านั้น แต่ยังได้กำจัดศัตรูคนสำคัญที่พวกนี้ขึ้นบัญชีดำไว้ในอันดับต้น ๆ อย่าง จรัญ ภักดีธนากุล ออกจากเส้นทางสายตุลาการอีกด้วย

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในการยุบศาลรัฐธรรมนูญคือจะมีผลต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติอย่างไร เพราะหลายคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้ถึงพฤติกรรมเผด็จการเสียงข้างมากที่ไม่ชอบธรรม และการปฏิบัติที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ในการวินิจฉัยคดี ถ้ายุบศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว คำวินิจฉัยที่เคยผูกพันทุกองค์กรจะยังคงศักดิ์สิทธิ์เป็นกรอบบังคับให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามหรือไม่

ประเด็นต่อไปที่ข้อเสนอของ สนช.บังเอิญไปสนองความต้องการของคนเหล่านั้นพอดี คือ การยกเครื่องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใหม่ จากที่รัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดไว้ว่า ให้ ป.ป.ช.ส่งฟ้องที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อคดีตัดสินแล้วสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วันต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา มาเป็นให้มีศาลอุทธรณ์เพิ่มขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งก่อนที่จะไปศาลฎีกา โดยอ้างว่าเพื่อให้เป็นไปตามหลักสากลคือไม่ให้ตัดสินโดยศาลเดียว ทั้ง ๆ ที่ตามรัฐธรรมนูญปี 50 ก็ให้โอกาสอุทธรณ์ได้ผ่านที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาอยู่แล้ว

ผลจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามแนวทางที่ สนช.เสนอ จะทำให้คดีที่ค้างอยู่ของ ทักษิณ ได้รับอานิสงส์ทันที และจะเกิดความลักลั่นในกระบวนการยุติธรรมอย่างมีนัยยะสำคัญ เนื่องจากมีคดีที่ตัดสินไปแล้ว เช่น คดีหวยบนดิน ซึ่งศาลฎีกาฯตัดสินจำคุกวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง 2 ปี รอลงอาญา 2 ปี แต่จำหน่ายคดีในส่วนของทักษิณเนื่องจากหลบหนีไปต่างประเทศ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินคดีใหม่โดยให้ไปตั้งต้นที่ศาลอุทธรณ์เท่ากับว่าทักษิณจะได้รับสิทธิพิเศษมากกว่าจำเลยคนอื่นในคดีนี้

ความปรารถนาสูงสุดของ ทักษิณ คือการลบล้างคดีความของตัวเอง โดยพยายามอย่างยิ่งในการรีเซ็ตประเทศไทยให้กลับไปนับหนึ่งใหม่เพื่อจะได้พ้นมลทินในทุกด้าน การเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินคดีใหม่จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการนิรโทษซ่อนรูป ด้วยการกำหนดกติกาใหม่แทนที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเปิดเผย

ถ้ามีการแก้ไขวิธีการดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามที่มีการเสนอมาจริง คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะมีผลอย่างไรกับคดีของทักษิณที่ค้างอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคดีหวยบนดิน คดีเงินกู้พม่า 4 พันล้านบาท คดีทุจริตสินเชื่อธนาคารกรุงไทยกว่า 9 พันล้านบาท คดีแก้ไขสัมปทานโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต

คดีเหล่านี้จะตั้งต้นใหม่อย่างไร เพราะนอกจากจะมีแนวทางในการเปลี่ยนขั้นตอนการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ยังมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงอำนาจของ ป.ป.ช.ด้วย ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินคดีของ ป.ป.ช.ใหม่คดีที่ค้างอยู่ในศาลฎีกาฯขณะนี้จะถูกตีกลับมาที่ ป.ป.ช.หรือไม่

ข้อสังเกตข้างต้นไม่ใช่การจินตนาการที่เกินจากความเป็นจริง เพราะมีบทพิสูจน์มาแล้วจากการร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ที่ไม่กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเอาไว้ ประกอบกับการฉีกรัฐธรรมนูญปี 2550 ทิ้ง ทำให้ ป.ป.ช.ยุติการไต่สวนอดีต ส.ส.จำนวน 310 คน ที่ร่วมกันเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 50 ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว และยกฟ้องคำถอดถอน กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรมว.คลัง ด้วยเหตุผลเดียวกัน

ขณะที่การถอดถอน นิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา 39 ส.ว.ในคดีแก้รัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และกรณีที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ไม่ยับยั้งความเสียหายจากโครงการจำนำข้าว ซึ่งค้างการพิจารณาอยู่ที่ สนช.ก็ทำท่าว่าจะรอดยกพวงด้วยเหตุผลเดียวกันคือ รัฐธรรมนูญปี 50 ถูกยกเลิกไปแล้ว

นี่คือผลอันเป็นรูปธรรมจากการนิรโทษกรรมซ่อนรูป หลังการฉีกรัฐธรรมนูญปี 2550 และเขียนกติกาใหม่แบบคาบลูกคาบดอกเปิดช่องให้โจรพ้นผิดไปแบบเนียน ๆ

ประเด็นต่อมาคือ การยกเลิกมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ในเรื่องยุบพรรคการเมือง ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์พยายามทำมาโดยตลอด ก็ได้รับการตอบสนองเป็นข้อเสนอจาก สนช.เช่นเดียวกัน รวมถึงการจำกัดการลงโทษคนที่ทุจริตเลือกตั้งให้ดำเนินการเฉพาะคนที่ทำการทุจริตจากเดิมที่กำหนดให้ตัดสิทธิทางการเมืองกับผู้บริหารพรรคทุกคนด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 จะเขียนไว้เสียสวยหรูในวงเล็บที่ 4 ของมาตรา 35 ว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมเรื่องกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการกระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด จนคนไทยเคลิ้มไปว่าเป็นกางวางกับดักพวกที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไม่ให้เข้าสู่อำนาจไปตลอดชีวิต

ทั้งที่ความจริงแล้วกติกาใหม่นี้จะไม่มีผลย้อนหลังไปถึงบรรดาผีบ้านเลขที่ 111กับ 109 แต่อย่างใด และที่ไม่มีใครโวยวายว่าบทบัญญัตินี้รุนแรงเกินไปก็เพราะโอกาสที่จะถูกตัดสิทธิทางการเมืองจากการทุจริตเลือกตั้งลดลงไม่ได้ถูกตัดสิทธิยกแผงอีกต่อไป การเขียนบทลงโทษที่ดูรุนแรงแต่มีผลในวงจำกัดจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีการตบตาประชาชนว่า รัฐธรรมนูญใหม่มีความเข้มแข็งและมีบทลงโทษที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งที่ความจริงเป็นการขยายตาข่ายดักจับให้มีรูกว้างสำหรับการเล็ดรอดหนีความรับผิดชอบได้มากขึ้น

ประเด็นร้อนแรงอีกเรื่องหนึ่งคือ การเลือกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรง ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดกติกาเพื่อตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เปิดทางให้สองพรรคการเมืองใหญ่ผสมพันธุ์กันได้ หลังจากที่ ทักษิณ พยายามมาตลอดที่จะให้เกิดขึ้นโดยอ้างว่าหากทุกฝ่ายมีอำนาจความขัดแย้งก็จะหมดไปแต่ไม่สำเร็จเพราะมีกระแสต้านจากประชาชนที่มิอาจยอมรับการฮั้วทางการเมืองที่สมประโยชน์ในกลุ่มผู้มีอำนาจจากการทำลายระบบถ่วงดุลจนประเทศไทยกลายเป็นประชาธิปไตยที่เสียศูนย์

ถ้าคนไทยยอมถูกหลอกว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรง คือประชาธิปไตยทางตรงที่ประชาชนสามารถเลือกผู้บริหารได้เอง ก็เท่ากับเดินเข้าสู่กับดักของการสร้างเผด็จการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ฝ่ายบริหารตามความต้องการของทักษิณไปโดยปริยาย

ที่อ้างว่าจะช่วยลดการซื้อเสียงเพราะส.ส.จะมีหน้าที่แค่การออกกฎหมายนั้น ไร้สาระโดยสิ้นเชิงเพราะอำนาจในฐานะที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติก็มีความสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเป็นผู้บริหาร มือของ ส.ส.จึงมีทั้งคุณค่าและราคาไม่แตกต่างไปจากเดิม นอกจากนี้การเลือกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรงจะยิ่งทำให้เกิดการซื้อเสียงที่รุนแรงมากขึ้นในกลุ่มนี้ เพราะเชื่อได้เลยว่ามีคนจำนวนมากที่หิวกระหายอำนาจพร้อมจ่ายเพื่อแลกกับตำแหน่งรัฐมนตรี

ส่วนที่แถว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรงจะช่วยลดความขัดแย้ง เพราะไม่มีฝ่ายค้านมาคอยขัดแข้งขัดขาแต่ระบบตรวจสอบยังมีความเข้มแข็งเพราะพรรคที่ร่วมรัฐบาลจะตรวจสอบกันเองนั้น ต้องเรียกว่าเป็นเรื่องหลอกเด็กทารก เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติที่พรรคร่วมรัฐบาลจะตรวจสอบกันเองมีแต่การฮั้วกันเพื่อให้สมประโยชน์ทุกฝ่ายบนความสูญเสียของประเทศชาติและประชาชน

ที่สำคัญคือระบบนี้เป็นการทำลายรากฐานความคิดที่ให้ประชาชนเป็นผู้กำหนดอนาคตประเทศโดยสิ้นเชิง เนื่องจากแต่ละพรรคการเมืองมีนโยบายที่แตกต่างกัน แต่เมื่อให้มีการเลือกครม.โดยตรงจะทำให้ได้บุคลากรจากหลายพรรคการเมืองมาเป็นรัฐบาล ถามว่าถ้านโยบายของพรรคการเมืองแตกต่างกันจะใช้นโยบายไหนมาบริหารประเทศ เช่น คนเลือกพรรคประชาธิปัตย์เพราะชอบการประกันรายได้แต่อีกส่วนหนึ่งเลือกเพื่อไทยเพราะอยากให้จำนำข้าว รัฐบาลที่มาจากทั้งเพื่อไทยและประชาธิปัตย์จะตอบสนองความต้องการของประชาชนที่สนับสนุนตัวเองได้อย่างไร

หากเลือกไปใช้นโยบายของพรรคใดพรรคหนึ่งก็เท่ากับว่าจะมีประชาชนกลุ่มหนึ่งที่สูญเสียอำนาจในการกำหนดอนาคตประเทศไทยไปเพราะกติกานี้ แต่นักการเมืองยังคงได้อำนาจในการบริหารประเทศโดยไม่ต้องคำนึงถึงคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน นี่คือรูปแบบประชาธิปไตยที่ควรจะเป็นอย่างนั้นหรือ

ข้ออ้างที่ว่าระบบฝ่ายค้านแบบเดิมที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจใช้ไม่ได้ผล ก็เป็นเรื่องที่นำเอาความรู้สึกมาตัดสินแทนที่จะพิจารณาจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เพราะระบบเดิมที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ทำให้การตรวจสอบฝ่ายบริหารโดยฝ่ายค้านทำได้ง่ายขึ้น และยังมีกลไกรองรับเป็นไม้สองในการจัดการกับคนโกงผ่าน ป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญ

จะเห็นได้ว่าผลจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคประชาธิปัตย์แม้จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการเมืองในสภาได้ แต่ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมทางสังคมจากการเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้อย่างมีพลัง และยังต่อยอดผ่านองค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญ จนสามารถยับยั้งความเสียหายของชาติได้ในหลายกรณี

ยกตัวอย่างเรื่องจำนำข้าวที่ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีจากการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ไม่ยับยั้งความเสียหายจากโครงการจำนำข้าว ก็เริ่มจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และการยื่นฟ้องต่อ ป.ป.ช.ของฝ่ายค้านคือพรรคประชาธิปัตย์

เช่นเดียวกับกรณีที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์พยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญรวบอำนาจไว้ที่ฝ่ายบริหาร ก็คว้าน้ำเหลวจากระบบตรวจสอบที่พรรคฝ่ายค้านและส. ว.ใช้ทั้งเวทีรัฐสภาคัดค้านและยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยจนต้องม้วนเสื่อกลับบ้านฉีกรัฐธรรมนูญไม่ได้ดั่งใจ อีกทั้งยังมีคดีอาญารออยู่สำหรับอดีตส.ส.ที่ทุจริตในการลงคะแนนด้วยการเสียบบัตรแทนกันด้วย

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการออกกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ทำให้ประเทศไทยเป็นหนี้ยาว 50 ปี ก็เป็นเรื่องที่พรรคฝ่ายค้านอภิปรายในสภา และกัดไม่ปล่อยส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจนกฎหมายแท้ง ช่วยให้คนไทยไม่ต้องแบกหนี้ได้สำเร็จ

ถ้าเปลี่ยนแปลงกติกาใหม่ตามแนวทางที่เสนอกันในขณะนี้ เท่ากับว่าต่อจากนี้ไปจะไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เมื่อไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็จะไม่มีกลไกในการตรวจสอบจาก ส.ส.ผ่านทั้งสภาและองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่มีอำนาจยับยั้งการกระทำที่มิชอบของทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ รวมถึงไร้อำนาจในการวินิจฉัยสมาชิกภาพของคุณสมบัติของสมาชิกรัฐสภา รัฐมนตรีด้วย

หลักคิดเช่นนี้เป็นการทำลายดุลอำนาจในการตรวจสอบ มุ่งให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็งจนไม่สามารถถ่วงดุลได้ ยิ่ง ครม.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงก็จะยิ่งมีข้ออ้างในการรักษาอำนาจว่าตัวเองมาจากประชาชน แนวทางเช่นนี้จึงมิได้ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาประเทศ แต่เป็นการสร้างกติกาใหม่เพื่อจัดสรรอำนาจให้ลงตัวเท่านั้น

โฉมหน้าการเมืองใหม่ในมือของ คสช.จึงเป็นเรื่องการปฏิรูปอำนาจไม่ใช่การปฏิรูปประเทศตามที่มีการกล่าวอ้างอยู่ในขณะนี้

ความสั่นคลอนทางอำนาจไม่ได้เกิดจากกิ่งไม้หัก แต่จะเกิดจากการหักหลังประชาชน



กำลังโหลดความคิดเห็น