xs
xsm
sm
md
lg

จบเห่!"ปู-9รัฐมนตรี"ตกเก้าอี้ "นิวัฒน์ธำรง"นายกฯ เพื่อไทยนัดกกต.ถกลุยเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ฟัน "ปู" หลุดเก้าอี้นายกฯ พร้อม 9 รัฐมนตรี ชี้แต่งตั้งโยกย้าย "ถวิล" ไม่ชอบ แต่ยังเหลือไว้ 25 คนรักษาการต่อ "ยิ่งลักษณ์"แถลงอำลา ลั่นไม่ผิด ตั้ง "นิวัฒน์ธำรง" รักษาการนายกฯ ฟิตเรียกประชุม ครม. แบ่งงานวันนี้ เพื่อไทยแถลงการณ์ซัดมีขบวนการสมคบคิดล้มรัฐบาล "พงศ์เทพ"นัดถก กกต. 9 พ.ค.นี้ เดินหน้าเลือกตั้ง แดงไม่หยุด นัดชุมนุมที่ถนนอักษะ

เมื่อเวลา 12.00 น. วานนี้ (7พ.ค.) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีนายจรูญ อินทจาร เป็นประธาน ได้ออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำวินิจฉัยในคดีที่ประธานวุฒิสภา ส่งความเห็นของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กับคณะ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่ จากกรณีการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยคณะตุลาการได้มอบหมายให้นายเฉลิมพล เอกอุรุ และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัย

**ชี้ครม.ยังรักษาการอยู่ศาลมีอำนาจวินิจฉัย

นายเฉลิมพลกล่าวว่า กรณีที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีว่าจะสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบมาตรา 268หรือไม่นั้น แม้ผู้ร้องจะระบุว่า ความเป็นนายกรัฐมนตรีได้สิ้นสุดลงไปแล้ว เมื่อมีการยุบสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 (2) แต่รัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ระบุให้คณะรัฐมนตรียังคงต้องทำหน้าที่ต่อจนกว่าจะมีรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ ดังนั้น ความเป็นนายกฯ ยังไม่สิ้นสุดลงจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ นายกฯ ยังไม่พ้นจากตำแหน่งโดยเด็ดขาด ซึ่งแตกต่างจากกรณีอื่น เช่น คดีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกปลดออกจากราชการทหาร เพราะกรณีดังกล่าว ผู้ถูกร้องไม่ได้ดำรงตำแหน่งส.ส. แล้ว แต่กรณีนี้ นายกฯ ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ ศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีอำนาจรับกรณีนี้ ไว้พิจารณา

**ระบุเอกสารโยกย้ายมีพิรุธเพียบ

นายอุดมศักดิ์กล่าวว่า ส่วนกรณีการกระทำของนายกรัฐมนตรีเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดหรือไม่ เห็นว่า การโอนย้ายนายถวิล ใช้เวลาเพียง 4 วัน แสดงให้เห็นว่าเป็นการดำเนินการเร่งรีบ ผิดสังเกต รวบรัด ปราศจากเหตุผลอันสมควรที่ต้องรวดเร็ว ทั้งยังปรากฎการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ ให้เห็นเป็นพิรุธ จากภาพถ่ายเอกสารราชการสำคัญ ได้แก่ บันทึกข้อความจากสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการนายกฯ ที่ นร.0401.2/8303 ที่ศาลมีคำสั่งเรียกมาจากสำนักเลขาธิการนายกฯ ระบุวันที่ทำหนังสือดังกล่าวเป็น วันที่ 5 ก.ย.2554 แต่ภาพถ่ายบันทึกข้อความฉบับเดียวกันที่ได้จากนายถวิลก่อนหน้านั้น กลับระบุวันที่เป็นวันที่ 4 ก.ย.2554 ซึ่งแสดงว่าต้องมีการแก้ไขวันที่ ที่ทำให้เอกสารผิดเท็จไปจากความจริง โดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพื่อปกปิดความจริงที่มีความขัดแย้งกันในกระบวนการขอความเห็นชอบนี้

"ส่อแสดงให้เห็นถึงความไม่ปกติในการดำเนินการ เป็นการพิรุธโจ่งแจ้ง เป็นการดำเนินการมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการกระทำดังกล่าว เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ อดีต ผบ.ตร. ซึ่งเป็นญาตินายกฯ มีโอกาสขึ้นดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. การกระทำผู้ถูกร้อง จึงมีการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมีผลประโยชน์ทับซ้อน มีวาระซ่อนเร้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรม"

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเหตุผลการโอนย้ายนายถวิล ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ โดยเหตุผลของนายกฯ ไม่อาจรับฟังได้ว่าการโอนย้ายนายถวิล เป็นไปตามประโยชน์ราชการที่ได้แถลงต่อรัฐสภา และเป็นการดำเนินการเร่งรีบ มีเหตุควรเชื่อได้ว่า ปัจจัยในการโอนย้ายนี้ เป็นความประสงค์ให้ตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ว่างลง เพื่อให้ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี มาดำรงตำแหน่งแทน ทำให้ตำแหน่ง ผบ.ตร.ว่างลง และสามารถแต่งตั้งเครือญาติผู้ถูกร้องมาเป็น ผบ.ตร.แทน

**ชี้นายกฯ ผิด แม้ไม่ใช่ผู้ริเริ่ม

นายอุดมศักดิ์กล่าวว่า เมื่อพิจารณาเอกสารหลักฐานเห็นว่าการโยกย้ายนายถวิล จึงเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเดียวกัน เชื่อมโยงกับการแต่งตั้งพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ เป็น ผบ.ตร. โดยนายกฯ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อในหลายขั้นตอน แม้ว่าจะปฏิเสธว่า ไม่ใช่เป็นผู้ริเริ่มก็ตาม จึงเป็นเหตุให้เชื่อได้ว่าการกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของตนเองและเครือญาติ เป็นการก้าวก่ายแทรกแซงข้าราชการประจำ มิได้ทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติแต่อย่างใด แต่เป็นการกระทำที่มีเจตนาอำพรางแอบแฝงเพื่อประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง ขาดจริยธรรมคุณธรรมถูกต้องชอบธรรมในการใช้อำนาจหน้าที่ภายใต้วัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

นอกจากนี้ ผู้ถูกร้องไม่มีหลักฐานยืนยันว่านายถวิลทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุผลข้างต้นศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติว่า ผู้ถูกร้องใช้สถานะ หรือตำแหน่งการเป็นนายกฯ เข้าไปก้าวก่าย แทรกแซง เป็นการกระทำต้องห้าม มาตรา 266 (2) (3) และต้องห้ามตาม มาตรา 268 ประกอบ อันมีผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7)

**รัฐมนตรีที่ร่วมทำผิดต้องพ้นไปด้วย

นายจรูญ อินทจาร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลงแล้ว ความเป็นรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งคณะต้องสิ้นสุดลงด้วยหรือไม่ เห็นว่า เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวแล้ว นายกฯ ไม่สามารถอยู่ปฏิบัติหน้าที่ได้อีกต่อไป แต่คณะรัฐมนตรีนั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 181 กำหนดให้ว่า เมื่อยุบสภาแล้ว ให้คณะรัฐมนตรียังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีคนใดในคณะรัฐมนตรีได้กระทำการให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ก็ย่อมมีผลให้รัฐมนตรีคนนั้น ไม่อาจอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ซึ่งในคดีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำระดับสูง จะต้องได้รับการอนุมัติจากครม.ก่อน ดังนั้น ในคดีนี้ หากรัฐมนตรีคนใดมีส่วนร่วมในการลงมติโอนย้ายหรือแทรกแซงข้าราชการประจำ ในการโอนย้ายนายถวิล ย่อมเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของบุคคลนั้นสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวตามไปด้วย และไม่อาจอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า ครม.ชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎชัดเจนว่า การโยกย้ายนายถวิลให้พ้นจากเลขาธิการสมช. เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.เพื่อขออนุมัติอย่างเร่งรีบ รวบรัด ในลักษณะที่ไม่เป็นไปตามปกติ เป็นวาระเพื่อทราบจร ในวันที่ 6 ก.ย.2554 ซึ่ง ครม. มีมติเอกฉันท์อนุมัติโยกย้ายให้ข้าราชการประจำพ้นจากตำแหน่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายภายในวันเดียวกันนั้นเอง รัฐมนตรีทุกคนที่ร่วมประชุม และลงมติในวันนั้น จึงมีส่วนร่วมโดยทางอ้อมในการก้าวก่ายแทรกแซง เป็นการกระทำต้องห้ามตาม มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) (3) เป็นเหตุให้ความรัฐมนตรีเหล่านั้นสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวตาม มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ไปด้วย

อาศัยเหตุผลดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์ จึงวินิจฉัยว่า ผู้ถูกร้องใช้สถานะในตำแหน่งการเป็นนายกฯ เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ตัวเอง และผู้อื่น ในเรื่องการบรรจุแต่งตั้ง โยกย้าย โอนหรือการพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการ จึงต้องด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 266 (2) (3) และมาตรา 268 อันมีผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ตามมาตรา 182 (7) และรัฐมนตรีที่ร่วมลงมติประชุม ครม. เมื่อ 6 ก.ย.2554 ที่มีส่วนร่วมก้าวก่าย แทรกแซงข้าราชการประจำ อันต้องห้ามตามมาตรา 268 จึงทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดเป็นการเฉพาะตัวด้วย

**ไม่รับวินิจฉัยขอศาลตั้งนายกฯ

สำหรับประเด็นที่ผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ดำเนินการแต่งตั้งนายกฯ คนใหม่ ตามมาตรา 172 และ มาตรา 173 นั้น ไม่อยู่ในขอบเขตการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในคดีนี้ ศาลจึงไม่พิจารณาวินิจฉัย และยกคำร้อง ทั้งนี้ ให้คัดสำเนาคำวินิจฉัยได้เมื่อพ้น 15 วัน หลังจากมีคำวินิจฉัย

**อ่านเสร็จสั่งเจ้าหน้าที่กลับบ้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังคณะตุลาการฯ ได้อ่านคำวินิจฉัยเสร็จแล้ว ทางสำนักงานก็ได้มีการประกาศทางเสียงตามสายภายในสำนักงานให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเดินทางกลับบ้านก่อนเวลาเลิกงาน เพื่อจะได้มีการดูแลในเรื่องความปลอดภัยของบุคคล และสถานที่ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากมีเหตุไม่ปกติ ทางสำนักงานก็จะมีการพิจารณาให้เจ้าหน้าที่หยุดมาปฏิบัติงานที่สำนักงาน

**เผย9 รัฐมนตรีพ้นตำแหน่งพร้อมนายกฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พบว่า มีรัฐมนตรีที่อยู่ในรัฐบาลรักษาการจำนวน 10 คน ที่เข้าร่วมประชุมครม.ใน วันที่ 6 ก.ย.2554 ประกอบด้วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกฯ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกฯ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมต.สำนักนายกฯ และ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีที

** 25 รัฐมนตรีที่เหลือรักษาการต่อ

สำหรับรัฐมนตรีที่ยังสามารถยังปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ อีก 25 คน ได้แก่ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ นายพงศ์เทพ เทพกาญนา รองนายกฯ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกฯ นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรมช.เกษตร นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง นางเบญจา หลุยเจริญ รมช.คลัง นายสมศักดิ์ ภูรีศรีศักดิ์ รมว.ท่องเที่ยว นางปวีณา หงสกุล รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ รมว.คมนาคม พล.อ.พฤณฑ์ สุวรรณทัต รมช.คมนาคม นายพ้อง ชีวานันท์ รมช.คมนาคม นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ นายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย นายวิสาร เตชะธีรวัฒน์ รมช.มหาดไทย นายประชา ประสพดี รมช.มหาดไทย นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม นายสนธยา คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ นายแพทย์ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข นายสรวงศ์ เทียนทอง รมช.สาธารณสุข นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม

**"จรัญ"ไม่หวั่นเป็นคู่ขัดแย้งการเมือง

นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ในเมื่อปฏิบัติหน้าที่ในฐานะข้าราชการ จะมีความเกรงกลัวไม่ได้ เพราะเราได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เมื่อตอนรับเงินเดือน ยังไม่มีความกลัว แล้วตอนปฏิบัติหน้าที่จะกลัวได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แสดงความอหังการ หรือการไปพูดตอบโต้คนที่ไม่เห็นด้วย มันไม่ใช่หน้าที่

**วงในเผยนายกฯต้องพ้น รมว.กห.ด้วย

แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า สำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัว จะมีผลให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องพ้นจากตำแหน่ง รมว.กลาโหม หรือไม่นั้น เห็นว่า ความผิดในเรื่องการโยกย้ายนายถวิล เป็นความผิดของบุคคล ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นเหตุให้ต้องพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ดังนั้น ไม่ว่าบุคคลนั้นจะไปดำรงตำแหน่งใด ในคณะรัฐมนตรี ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งนั้นไปด้วย

** "ปู"แถลงอำลายันไม่ผิดตามที่ถูกกล่าวหา

เวลา 16.00 น. ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เมืองทองธานี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินว้ตร อดีตนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้แถลงข่าวภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งพ้นสภาพจากการเป็นรัฐมนตรี โดยยืนยันว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีอย่างเต็มที่ ไม่เคยมีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริตที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด หรือแม้กระทั้งการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้หนึ่งผู้ใด หรือการฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรม หรือกฏหมายอย่างที่ถูกกล่าวหา นอกจากนี้ การขับเคลื่อนนโยบาย ยังให้ความสำคัญการการจัดการเรื่องการแก้ไขการทุจริตอย่างเสมอมา

พร้อมกันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังได้ขอบคุณพี่น้องข้าราชการ และประชาชน โดยระบุว่า ทำงานมาเป็นเวลา 2 ปี 9 เดือน 2 วัน มีความภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ในฐานะที่มาจากการเลือกตั้ง และเป็นนายกฯ ด้วยวิถีทางประชาธิปไตย ต่อไปจากนี้ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด จะขอเดินทางตามเส้นทางประชาธิปไตย ยึดมั่นในหลักนิติรัฐ นิติธรรม สร้างความเสมอภาค เท่าเทียมกันในสังคม ขอยืนเคียงข้างพี่น้องประชาชนตลอดไป

เมื่อถามว่า นายกฯ จะอยู่ในการเมืองต่อไปไหม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบว่า ตอบวันนี้คงเร็วเกินไป

ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เดินไปพบกับกลุ่มสตรีเสรีไทยรักประชาธิปไตย ที่มาให้กำลังอยู่ด้านหน้าอาคารสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะขึ้นรถออกจากสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม นายกรัฐมนตรี ได้ยกมือไหว้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ที่มาส่งขึ้นรถ พร้อมกล่าวขอบคุณทุกคน และจับมือนายนิวัฒน์ธำรง เพื่อให้กำลังใจการปฏิบัติหน้าที่แทน โดยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ ได้ตะโกนให้รัฐมนตรีร่วมกันปรบมือให้กำลังใจนายกรัฐมนตรี ขณะที่ก้าวขึ้นรถ โดยที่นายกรัฐมนตรี ไม่มีน้ำตาคลอเลยแม้แต่น้อย โดยรถขบวนได้ออกจากสำนักปลัดกระทรวงกลาโหมในเวลา 16.30 น.

**ตั้งนิวัฒน์ธำรง รักษาการนายกฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้สั่งให้ยกเลิกมติการประชุม ครม.นัดพิเศษ ที่นัดไว้ในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้

อย่างไรก็ตาม ได้มีการเรียกประชุม ครม.พิเศษ อีกรอบหนึ่ง หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง และได้เห็นชอบให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี ลำดับที่ 2 ขึ้นปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ เนื่องจากนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ ซึ่งเป็นรองนายกฯ อันดับ 1 ต้องพ้นสภาพจากการเป็นรัฐมนตรี ตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ

**"นิวัฒน์ธำรง"นัดประชุม ครม.วันนี้

นายนิวัฒน์ธำรง ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ครม.ที่เหลือจึงได้ประชุมกัน และมีมติให้ตนปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี และตนจะทำหน้าที่รักษาการเพื่อรอให้มีรัฐบาลใหม่อีกครั้ง ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า รัฐมนตรีที่เหลือจะต้องปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีรักษาการต่อไป จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่

ทั้งนี้ รัฐบาลรักษาการมีหน้าที่หลักอยู่ 2 เรื่อง คือ 1.เรื่องการเลือกตั้ง เพื่อให้มีรัฐบาลใหม่ให้เร็วที่สุด โดยจะประสานงานกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อีกครั้ง 2.ระหว่างนี้ ที่ยังไม่มีรัฐบาล ก็จะปฏิบัติหน้าที่ดูแลประเทศชาติบ้านเมือง ดูในสิ่งที่ทำได้ ตามพระราชบัญญัติในการบริหารราชการแผ่นดิน ตามมาตรา 18

"หากมีการเลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ค. ตามที่ได้หารือกับ กกต. ไว้เบื้องต้น ก็จะรักษาการประมาณ 2-3 เดือนเท่านั้น"

นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวยืนยันว่า ไม่หนักใจที่ต้องทำหน้าที่นี้ และจะเร่งให้มีรัฐบาลชุดใหม่ให้เร็วที่สุด ส่วนกำหนดการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเดินทางไปประชุมสุดยอดอาเซี่ยนครั้งที่ 24 ระหว่างวันที่ 10-11 พ.ค. ที่เมียนมาร์ หลังจากนี้ จะมีการประชุมหารือกันก่อน โดยในวันนี้ (8 พ.ค.) จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อหารือในการแบ่งงานในส่วนที่บางกระทรวงไม่มีรัฐมนตรี

** ไม่ห่วงเรื่องป.ป.ช.ชี้มูลจำนำข้าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวัลหรือไม่กรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำลังจะชี้มูล โครงการรับจำนำข้าว นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า เป็นคดีข้อกล่าวหา ซึ่งตนเองได้เข้าไปเป็นพยานชี้แจง จึงต้องรอคำตัดสินของ ป.ป.ช. อีกครั้ง และหวังว่าจะไม่มีอุบัติเหตุที่จะทำให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะว่าตามกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ระบุไว้ รัฐบาลชั่วคราวจะต้องทำหน้าที่จนกล่าวจะมีรัฐบาลใหม่ขึ้นมา

"หวังว่าสถานการณ์การเมืองน่าจะเริ่มคลี่คลายลง ไม่มีความรุนแรง เพราะเรื่องคดีความของนายกรัฐมนตรี ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ตัดสินเรียบร้อยแล้ว และป.ป.ช. ก็อยู่ระหว่างการตัดสิน ซึ่งก็ไม่น่าจะมีประเด็นอะไรเพิ่มเติม จึงต้องขอความร่วมมือประชาชนทุกกลุ่มในการทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย และมุ่งในการดำเนินการตามกฎหมาย"นายนิวัฒน์ธำรงกล่าว

**พท.อัดมีขบวนการสมคบคิดล้มรัฐบาล

ที่พรรคเพื่อไทย คณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการกิจการพรรคเพื่อไทย อาทิ นายโภคิน พลกุล นายภูมิธรรม เวชชยชัย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายอดิสร เพียงเกษ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย และนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ เป็นต้น ได้ร่วมกันแถลงการณ์ต่อกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นสถานภาพการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยนายโภคิน พลกุล กรรมการกิจการพรรคเพื่อไทย เป็นผู้แทนอ่านแถลงการณ์

นายโภคินกล่าวว่า มีขบวนการสมคบคิดกันเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ล้มล้างการเลือกตั้ง มุ่งทำลายล้างฝ่ายประชาธิปไตยมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยความร่วมมือของพรรคการเมืองบางพรรค กปปส. และองค์กรตามรัฐธรรมนูญบางองค์กร ด้วยการไม่ยอมรับการเลือกตั้ง การเสนอให้มีนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีที่มิได้มาจากการเลือกตั้ง การกลั่นแกล้งรัฐบาลที่ยึดหลักประชาธิปไตยตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน จนมาถึงพรรคเพื่อไทย ด้วยการยุบพรรคและตัดสิทธิการเมืองกรรมการบริหารพรรคทุกคนเป็นเวลา 5 ปี จนถึงการใช้ทุกกระบวนการเพื่อทำลายนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่นายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จนถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยไม่สุจริต

นอกจากนี้ การใช้อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. ที่กระทำต่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ล้วนเป็นไปด้วยความเร่งรัด เร่งรีบ ผิดปกติ ไม่ให้โอกาสอ้างอิงพยานและรับฟังคำพยานได้เต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น และบ่อยครั้งสอดคล้องกับการแถลงของ กปปส. และฝ่ายที่ต้องการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย

"พรรคเพื่อไทย ขอเรียกร้องให้ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยร่วมกันต่อต้านขบวนการสมคบคิดดังกล่าว เพื่อไม่ให้ขบวนการสมคบคิดบรรลุผล และขอย้ำให้ กกตง และรัฐบาล ต้องเร่งรัดให้มี พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ค. และขอให้ทุกพรรคการเมืองร่วมมือกับการเลือกตั้ง เพื่อเป็นทางออกของความขัดแย้ง"

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาเช่นนี้ พรรคเพื่อไทย ยอมรับหรือไม่ นายโภคิน ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยกล่าวเพียงว่า ทางพรรคถือเป็นสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยดังกล่าว

** "พงศ์เทพ"นัดถกกกต. 9 พ.ค.

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องการหารือที่เป็นความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลกับ กกต. เพื่อดำเนินการเรื่องการเลือกตั้งว่า ตนได้รับมอบหมายให้ไปประสานงาน และได้โทรศัพท์ประสานขอวันเวลาในการหารือกับนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ในวันที่ 8 พ.ค. หรือ 9 พ.ค. เพื่อให้มีเวลาเพียงพอในการดำเนินการตามกรอบกำหนดการการเลือกตั้ง ที่เห็นชอบวันที่ 20 ก.ค. โดยทางประธานกกต.ระบุว่า อาจจะสะดวกช่วงบ่ายวันที่ 9 พ.ค. ซึ่งคงต้องรอคำตอบว่า ท่านจะสะดวกหรือไม่

**ล้มแผนกราบบังคับทูลฯขอพระบรมราชวินิจฉัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้าก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำพิพากษา นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะเลขานุการ ศอ.รส. ได้แถลงว่า ได้รับมอบหมายจาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะ ผอ.ศอ.รส. ให้ออกมาแถลงความห่วงใยต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และครม. หากศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาไปในแนวทางว่า นายกฯ และครม. ต้องพ้นไปทั้งคณะ ซึ่งจะทำให้เกิดสุญญากาศ ตามความประสงค์ของพรรคการเมืองบางพรรค กปปส. และกลุ่มเคลื่อนไหวบางกลุ่ม หากเป็นเช่นนั้น ทาง ศอ.รส.ได้เตรียมแนวทางแก้ไขเพื่อลดความรุนแรงที่จะเกิดการปะทะกันอย่างต่อเนื่อง โดยฝ่ายบริหารอย่างน้อย 4 คน ได้แก่ ร.ต.อ.เฉลิม นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผบ.ตร. และตน จะนำความกราบบังคมทูลฯ ขอพระบรมราชวินิจฉัยเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในแนวทางที่อาจจะเกิดขึ้นข้างต้น เป็นการตัดสินที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และครม. ยังจำเป็นจะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตาม มาตรา 181 หรือไม่ ขณะเดียวกัน ในระหว่างกราบบังคมทูลฯ จะให้รัฐบาลปฏิบัติหน้าที่ไปก่อน ตามมาตรา 181 โดยไม่หยุดการปฏิบัติหน้าที่

อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลได้อ่านคำวินิจฉัยแล้ว โดยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นสภาพนายกฯ พร้อมกับรัฐมนตรีที่ร่วมลงมติโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี นายธาริต ได้ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า คำตัดสินที่ออกมา ไม่ได้ทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ดังนั้น ทางฝ่ายผู้บริหาร ศอ.รส. จึงจะไม่มีการนำความกราบบังคมทูลฯ ขอพระบรมราชวินิจฉัย

** นปช.นัดชุมนุม10 พ.ค.ที่ถ.อักษะ

นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวภายหลังจากทราบผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ไม่ได้ผิดไปจากที่คาดการณ์ไว้ และถือเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ได้ยึดหลักข้อกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ ออกมาตามธงที่ตั้งไว้ แต่ศาลอาจรู้ว่า หากให้พ้นสภาพความเป็นนายกฯ และ ครม. ทั้งคณะ จะรุนแรง จึงตัดสินให้พ้นสถานภาพเฉพาะผู้ที่มีส่วนรู้เห็นโยกย้ายนายถวิล เพื่อเป็นการลดแรงเสียดทานจากประชาชน

อย่างไรก็ตาม คนเสื้อแดง ยังเดินหน้าชุมนุมใหญ่ ในวันที่ 10 พ.ค. ที่ถนนอักษะ ตามเดิม คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วม 4-5 แสนคน และจะนัดหมายประชันจำนวนมวลชนในวันที่ 14 พ.ค. ซึ่งตรงกับวันที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. นัดระดมพลใหญ่เช่นกัน โดยคาดว่าจะมีคนเสื้อแดงมามากถึง 7-8 แสนคน จะได้รู้ว่ามวลชนฝ่ายไหนมากกว่ากัน
กำลังโหลดความคิดเห็น