xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” หนูไม่รู้โยก “ถวิล” ปัดเอื้อ “บิ๊กอ๊อฟ” บอกพี่หย่าเมียแล้ว - ศาล รธน. จับพิรุธเอกสารรับโอนเถื่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไต่สวนพยานคดีสุดมัน โยก “ถวิล” พ้นเก้าอี้เลขาฯ สมช. มิชอบ ก่อนชี้ขาดพรุ่งนี้เที่ยงตรง “ไพบูลย์” ร้องศาลฯ สั่งตั้งนายกฯ ใหม่ใน 7 วัน หวั่นสุญญากาศการเมือง “ยิ่งลักษณ์” โยนรองนายกฯ เป็นคนรับผิดชอบ ตัวเองไม่รู้ไม่เห็น ลั่น “วิเชียร” สมัครใจ ปัดเอื้อประโยชน์ “เพรียวพันธ์” ด้าน “ถวิล” เผยความในใจ ซัด “วิเชียร” เคยบอกว่าสู้ต่อ แต่ภายหลังถูกเด้ง “จรัล” จับพิรุธเอกสารรับโอนของ “พล.ต.อ.โกวิท” ลงวันที่ต่างกัน กลายเป็นวันอาทิตย์ ทนายความนายกฯ แจ้นรีบเบรก ด้าน “วิเชียร” สนอง “ปู” สมัครใจย้าย อ้างไม่อยากทำงานกับ “เหลิม” แต่ยังปากดีแสร้งเสียใจทำให้เดือดร้อน


วันนี้ (6 พ.ค.) ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยคดีที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กับคณะ ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานภาพความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีว่าสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่ จากกรณีแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญในวันพรุ่งนี้ (7 พ.ค.) เวลา 12.00 น.

ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้นคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มี นายจรูญ อินทจาร เป็นประธาน ได้ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานในคดีรวม 4 ปาก ประกอบด้วย นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ในฐานะผู้ร้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกร้อง นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยนายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุประเด็นที่ศาลจะพิจารณารวม 3 ประเด็น คือ 1. เมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว นายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 วรรคหนึ่ง (2) และความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ 2. การกระทำของนายกรัฐมนตรีเป็นการกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) (3) และเป็นเหตุทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่งหรือไม่ และ 3. เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) จะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ต้องสิ้นสุดลงด้วยหรือไม่

จากนั้น นายไพบูลย์ ได้ให้ถ้อยคำเป็นคนแรก ระบุว่า คดีสืบเนื่องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ มุ่งหมายที่จะผลักดันให้เครือญาติคือ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในขณะนั้น ได้ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. แต่ช่วงเวลานั้น พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. จึงมีการดำเนินการให้ พล.ต.อ.วิเชียร พ้นไปจากตำแหน่ง ผบ.ตร. เพื่อให้ตำแหน่ง ผบ.ตร. ว่างลง และสามารถแต่งตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน จึงมีการแต่งตั้งโยกย้าย พล.ต.อ.วิเชียร ไปเป็นเลขาธิการ สมช. อย่างไม่สมัครใจ จนเป็นเหตุทำให้ต้องมีการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล ที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ในขณะนั้นไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี การย้ายเป็นกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง ทำเพื่อประโยชน์ตนเอง ซึ่งการแทรกแซงเกิดขึ้นในทุกขั้นตอน แม้ว่า พล.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พี่ชายของนายกรัฐมนตรี จะหย่ากับคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร น้องสาวของ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ แล้ว แต่ความเป็นเครือญาติยังดำรงอยู่ และถ้าไม่มีการปรับย้ายในคราวนี้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ซึ่งจะเกีษยณอายุราชการในปี 2555 ก็จะไม่มีทางได้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. เลย

“หากนายกฯ ถูกวินิจฉัยว่ากระทำผิด แล้วตำแหน่งจะว่างลง จึงต้องแต่งตั้งนายกฯ ทันที ซึ่งการแต่งตั้งนายกฯ แทนนายสมัคร สุนทรเวช ได้ใช้เวลาแค่ 9 วัน และการแต่งตั้งนายกฯ แทนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ใช้เวลา 14 วัน จึงใคร่ขอให้ศาลฯ วินิจฉัยตามมาตรา 268 มีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯสิ้นสุดลงเฉพาะตัว และเมื่อไม่อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีตามมาตรา 181 จึงเป็นเหตุให้ ครม. ทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 181 และ ครม. จึงต้องร่วมรับผิดตามมาตรา 171 จึงมีความจำเป็นเร่งด่วน และวินิจฉัยให้แต่งตั้งนายกฯ คนใหม่ทันที ไม่ควรเกิน 7 วัน เพราะสถานการณ์ขณะนี้รัฐบาลไม่สมประกอบ สุ่มเสี่ยงที่เศรษฐกิจเสียหาย” นายไพบูลย์ กล่าว

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ถ้อยคำปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ยืนยันว่า ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนและรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การบริหารงานคำนึงถึงประโยชน์ประเทศทุกขั้นตอน การโยกย้ายยึดหลักบริหารราชการแผ่นดิน ในกรณีนี้ได้มอบอำนาจสั่งการ กำหนดแผนงานบุคลากร ให้กับรองนายกรัฐมนตรี โดยให้ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ดูแลความมั่นคง รับผิดชอบงานในสภาความมั่นคง (สมช.) ส่วน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ส่วนสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ น.ส.กฤษณา สีหรัตน์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบ

“เรื่องโยกย้าย ไม่ได้แทรกแซง เพราะมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบ ไม่มีพฤติกรรมที่วางแผนเป็นระบบเป็นขั้นตอน ไม่ได้ทำในสิ่งที่กฎหมายห้าม ไม่ได้คำนึงถึงเครือญาติ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้หย่าขาดกับคุณหญิงพจมานเรียบร้อยแล้ว และการหย่าร้างก็ไม่ได้มีผลในการพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้าย พิสูจน์ได้ว่า แม้วันนี้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ จะเกษียณแล้วก็ไม่มีชื่อมานั่งเป็นรัฐมนตรีแต่อย่างใด” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

จากนั้นตุลาการได้มีการซักถามนายกรัฐมนตรีว่า เมื่อย้าย พล.ต.อ.วิเชียร มาเป็นเลขาฯ สมช. แล้วเหตุใดต่อมาจึงย้ายไปเป็นปลัดกระทรวงคมนาคม และที่มีการอ้างเรื่องความจำเป็นเร่งด่วนในการย้ายนายถวิลนั้น ทราบหรือไม่ว่าความจำเป็นนั้นคืออะไร รวมทั้งนายกรัฐมนตรี ได้มีการระมัดระวังในการพิจารณาในเรื่องเครือญาติแค่ไหน ถึงแม้จะไม่ใช่นามสกุลเดียวกัน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า การย้าย พล.ต.อ.วิเชียร เป็นเรื่องของ พล.ต.อ.โกวิท รองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ ตนทราบล่วงหน้าเพียงว่ามีการทาบทามกันแล้วและ พล.ต.อ.วิเชียร สมัครใจ และตอนย้ายก็ไม่ได้มองถึงตำแหน่งในวันข้างหน้า ซึ่ง พล.ต.อ.โกวิท อยากให้มาดูแลความมั่นคง ส่วนต่อมาย้ายไปเป็นปลัดคมนาคม ก็เพราะ รมว.คมนาคมทาบทาม ซึ่งเป็นดุลพินิจของ รมต. แต่ละคน และเป็นย้ายในฤดูกาล

ส่วนกรณี นายถวิล ไม่ทราบเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนที่มีการอ้าง เพราะเป็นเรื่องของรองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ ซึ่งตนก็ไมได้สอบถามอะไร เพราะถือว่าได้มอบหมายกันไปแล้ว ซึ่งในการพิจารณาแต่งตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ เป็น ผบ.ตร. ตนทำหน้าที่ตามกฎหมายในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ตช.) ที่มอบให้ใครไม่ได้ ในการเสนอชื่อ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ตช. เท่านั้น ไม่ได้ทำในฐานะเป็นเครือญาติ เพราะถ้าเสนอแล้วคณะกรรมการ ก.ตช. ไม่เอาด้วย พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ก็เป็น ผบ.ตร. ไม่ได้ ซึ่งตอนพิจารณา พล.ต.อ.วิเชียร เลขาฯ สมช. ในขณะนั้นเป็นกรรมการ ก.ตช. ด้วยก็โหวตสนับสนุน พล.ต.อ.เพรียวพันธ์

“อย่างสมัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก.ตช. ก็เสนอชื่อ พล.ต.อ.ประทีป ตันประเสริฐ เป็น ผบ.ตร. แต่คณะกรรมการ ก.ตช. ไม่เห็นด้วยก็ต้องตกไป ซึ่งส่วนตัวไม่ได้เอาเรื่องความคิดต่างมาเป็นปัญหา อย่างตอนมีการเสนอตั้ง พล.อ.อักษรา เกิดผล บุตรชายของ พล.อ.สายหยุด เกิดผล ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างจากรัฐบาลเป็นเสนาธิการทหารบก และเลขากองอำนวยการความมั่นคงภายใน หรือ กอ.รมน. ดิฉันก็เห็นชอบ” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

ด้าน นายถวิล ชี้แจงว่า ตนเห็นว่าการโยกย้ายตนเองไม่เป็นธรรม ก่อนย้าย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ออกมาตำหนิการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มี พล.ต.อ.วิเชียร เป็น ผบ.ตร. กรณีปล่อยให้มีการเปิดบ่อนการพนัน ซึ่งตนได้พบกับ พล.ต.อ.วิเชียร เวลานั้นก็ยังพูดว่า “พี่หวิน ผมไม่มาตำแหน่ง สมช. ขอให้สบายใจได้จะสู้อยู่ที่นั่น” ตนก็บอกกับ พล.ต.อ.วิเชียรว่า “ดีแล้ว และไม่ต้องกลัว เพราะท่านไม่ได้ทำผิดอะไรและมีกฎหมายคุ้มครองอยู่” แต่ไม่นานหลังจากนั้นก็มีการย้ายตน เพื่อให้ พล.ต.อ.วิเชียร มาดำรงตำแหน่ง เปิดทางให้ตำแหน่ง ผบ.ตร. ว่าง และมีการแต่งตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ซึ่งถ้านับเวลาที่รัฐบาลดำเนินกระบวนการในการปรับย้ายตน ไปจนถึงแต่งตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ใช้เวลาเพียงแค่ 2 เดือนก็แล้วเสร็จเรียบร้อย

“ถ้าหากจะเอาการย้ายของผมไปเทียบกับการย้าย พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา อดีตเลขาฯ สมช. ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีสมัยนายอภิสิทธิ์แล้ว นายอภิสิทธิ์มีการทำงานร่วมกับ พล.ท.สุรพล หลังเข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ นาน 7-8 เดือนจึงย้าย แต่ของผมรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาประมาณวันที่ 25-27 ส.ค. 54 มีมติคณะรัฐมนตรีย้ายตนในวันที่ 6 ก.ย. รวมเวลาดำเนินการไม่ถึง 15 วันด้วยซ้ำ” นายถวิล กล่าว

จากนั้นตุลาการได้ซักถามความเห็นจากนายถวิลว่า มองว่าการย้ายดังกล่าวเป็นไปตามปกติของระบบราชการ หรือเป็นการแทรกแซง รวมทั้งก่อนย้ายได้รับการทาบทามหรือไม่ ซึ่งนายถวิล กล่าวว่า ไม่ทราบว่าเป็นการแทรกแซงก้าวก่ายหรือไม่ แต่เห็นว่าเกี่ยวพันกัน เป็นลักษณะการแบ่งงานกันทำ ถ้าไม่เอาตนออกก็ไม่สามารถโอน พล.ต.อ.วิเชียร มาดำรงตำแหน่งเลขาฯ สมช. ได้ และ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ก็ไม่สามารถขึ้นเป็น ผบ.ตร. ได้ โดยก่อนย้ายตนนายกฯ มีการให้สัมภาษณ์สื่อว่าจะคุยกับตน แต่ที่สุดก็เป็น พล.ต.อ.โกวิท ที่เป็นผู้มาแจ้งกับผมว่าจะไปให้ไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ ขัดข้องหรือไม่ ก็ได้บอกว่าไปบอกว่า “ด้วยความเกรงใจท่าน แต่ผมขอใช้สิทธิต่อสู้ทางกฎหมายต่อไป”

นอกจากนี้ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็ได้มีการหยิบยกเอกสารบันทึกข้อความของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่า น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยินยอมให้รับโอนแล้ว โดยลงนามหนังสือรับโอนลงวันที่ 5 ก.ย. 2554 เป็นหนังสือที่รัฐบาลส่งมาให้ศาลประกอบการชี้แจงถ้อยคำเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2557 แต่เนื้อความและเลขหนังสือเหมือนกับฉบับลงวันที่ 4 ก.ย. 2554 ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ ที่นายถวิล นำส่ง จึงอยากทราบว่า ตกลงแล้วฉบับไหนคือฉบับจริง นายถวิลตอบว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องความลักลั่นของหนังสือระหว่างหน่วยงานโอนกับรับโอนที่ลงวันเดียวกัน ตนเคยสู้ในชั้นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมและในศาลปกครองแล้ว แต่ทั้ง 2 หน่วยงานเห็นตรงกันว่าไม่สอดคล้องและไม่เป็นสาระสำคัญที่ทำให้การโอนย้ายเสียไป แต่ไม่ทราบว่ามีการแก้ไขวันที่หรือไม่

นายจรัญ ระบุว่า หากหนังสือรับโอนฉบับวันที่ 5 ก.ย. 2554 เป็นหนังสือตัวจริง ความลักลั่นในเรื่องของวันจะหมดไปใช่หรือไม่ นายถวิลตอบว่า “ครับ ผมคิดว่ามีการแก้ไขวันที่” จากนั้นทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พยายามซักค้าน ว่าทราบหรือไม่ว่าหนังสือที่ ครม. พิจารณาในวันที่ 6 ก.ย. นั้นเป็นหนังสือลงวันที่เท่าไหร่ นายถวิล กล่าวว่า ไม่ทราบ จากนั้น นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถามนายถวิลว่า แล้วสำเนาหนังสือรับโอนฉบับวันที่ 4 ก.ย. 2554 ที่นำส่งศาลได้มาจากที่ใด นายถวิลกล่าวว่า เป็นสำเนาหนังสือที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีนำส่งพร้อมเอกสารหลักฐานอื่นให้ สมช. หลัง ครม. มีมติเพื่อแจ้งให้ตนทราบว่ามีคำสั่งโยกย้ายไปทำหน้าที่ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

ขณะที่ พล.ต.อ.วิเชียร ชี้แจงว่า ย้ายไปเป็นเลขาฯ สมช. ด้วยความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ ขู่เข็ญ ต่อรองแต่อย่างใด ซึ่งเกิดจากน้อยใจที่ถูก ร.ต.อ.เฉลิม รองนายกรัฐมนตรี ตำหนิอย่างรุนแรงจากเหตุตำรวจปล่อยให้มีบ่อนซ่อง จึงได้ปรึกษากับ พล.ต.อ.โกวิท รองนายกฯ ว่าไม่สามารถทำงานกับผู้บังคับบัญชาแบบนี้ได้ ส่วนนายกรัฐมนตรี ก็ไม่เคยทาบทาม ไม่เคยยื่นเงื่อนไข และไม่เคยแทรกแซงการโยกย้ายแต่อย่างใด ซึ่งที่ผ่านมาการดำรงตำแหน่งต่างๆ หลายตำแหน่งขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาพิจารณา ไม่ยึดติดตำแหน่ง แต่เมื่อได้รับมอบหมายหน้าที่ก็พร้อมทำเต็มที่ ความตั้งใจคืออยากเกษียณในตำแหน่งหัวหน้าตำรวจพระราชสำนัก ซึ่งตนไม่ได้ยึดกับตำแหน่ง แต่ตั้งใจจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ยอมรับว่า ก่อนย้ายมาเป็นเลขาฯ สมช. เคยได้พูดคุยกับนายถวิล เพราะคุ้นเคยกัน เนื่องจากเรียนที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และเมื่อย้ายมาเป็นเลขาฯ สมช. ก็เสียใจที่ทำให้นายถวิลเดือดร้อน แม้จะตนจะมีอายุมากกว่า แต่เมื่อเจอหน้ากันก็ได้ยกมือไหว้และขอโทษที่ทำให้เดือดร้อน

ทั้งนี้ การไต่สวนใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงจึงเสร็จสิ้น โดยศาลไม่อนุญาตให้มีการเพิ่มพยานอีก 6 ปาก ตามที่นายกรัฐมนตรี ขอรวมทั้งเห็นว่าข้อมูลที่ได้จากการไต่สวนครบถ้วนไม่จำเป็นที่ต้องให้คู่กรณีแถลงปิดคดี





กำลังโหลดความคิดเห็น