xs
xsm
sm
md
lg

จับตากติการัฐธรรมนูญใหม่ ล็อกสเปกตุลาการศาล รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่าง  รธน.
รายงานการเมือง

การยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ทำให้เริ่มเห็นเค้าโครงของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะออกมามีผลบังคับใช้เป็นกติกาสูงสุดของประเทศในอนาคต ว่า หน้าตาจะเป็นอย่างไร

โดยเฉพาะในหมวด ศาล และ องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งมีประเด็นที่น่าติดตามคือ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา อันอาจจะส่งผลต่อการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน

โดยในการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่มีการปรับสัดส่วนคณะกรรมการสรรหาใหม่ จากรัฐธรรมนูญปี 2550 ด้วยการลดสัดส่วนคณะกรรมการสรรหาจากศาลฎีกา 3 คน เหลือ 2 คน เพิ่มสัดส่วนตัวแทนจาก กลุ่มการเมือง พรรคการเมือง, ฝ่ายค้าน, รัฐบาล กลุ่มละ 1 คน จากเดิมไม่มีสัดส่วนจากกลุ่มการเมือง และตัวแทนจากรัฐบาล

การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ทำให้เกิดคำถามว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งในปัจจุบันจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้จนครบวาระหรือไม่ ซึ่งน่าจะต้องเขียนให้ชัดเจนไว้ในบทเฉพาะกาลว่า กติกาใหม่นี้จะเริ่มต้นทันทีหรือไม่ หากเริ่มทันทีหมายความว่าเมื่อกระบวนการสรรหาแล้วเสร็จ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งในปัจจุบันจะต้องพ้นสภาพไปใช่หรือไม่

ถ้าเป็นไปตามสมมติฐานข้างต้นคนที่พอใจที่สุดคงไม่พ้น ทักษิณ ชินวัตร และลิ่วล้อ ที่จ้องเล่นงานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันมาโดยตลอด ด้วยการดิสเครดิต และปลุกกระแสให้สังคมหลงผิดว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันเป็นคู่ขัดแย้งกับทักษิณ ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย เนื่องจากที่ผ่านมาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันมีคำวินิจฉัยหลายคดีที่สร้างความไม่พอใจให้กับทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นการชี้ขาดให้ยิ่งลักษณ์ พ้นสถานะความเป็นนายกรัฐมนตรี จากการโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี จากเลขา สมช. ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี โดยมิชอบด้วยกฎหมาย การวินิจฉัยให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นที่มา ส.ว. และมาตรา 190 เป็นโมฆะ รวมไปถึงร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท

สำหรับคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน ประกอบด้วย นุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ จรัญ ภักดีธนากุล เฉลิมพล เอกอุรุ ชัช ชลวร ทวีเกียรติ มินะกนิษฐ บุญส่ง กุลบุปผา วรวิทย์ กังศศิเทียม สุพจน์ ไข่มุกด์ และ อุดมศักดิ์ นิติมนตรี ซี่งทั้งหมดจะมีวาระการดำรงตำแหน่งที่แตกต่างกันจากปัจจัยเรื่อง อายุ และ ช่วงเวลาที่เข้าดำรงตำแหน่ง เนื่องจากมีบางส่วนที่เป็นคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดแรกและบางส่วนมาจากการสรรหาทดแทนตุลาการที่ครบวาระไป

สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เริ่มวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี ตั้งแต่ 28 พ.ค. 51 - 28 พ.ค. 2560 ประกอบด้วย นุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ จรัญ ภักดีธนากุล เฉลิมพล เอกอุรุ ชัช ชลวร บุญส่ง กุลบุปผา สุพจน์ ไข่มุกด์ และ อุดมศักดิ์ นิติมนตรี แต่ในส่วนของ เฉลิมพล และ สุพจน์ จะครบวาระดำรงตำแหน่งในปี 2558 เนื่องจากอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์

ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทีได้รับการสรรหาเข้ามาทดแทนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ว่างลง คือ ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ แทน วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ที่ลาออกจากตำแหน่ง โดยได้รับการโปรดเกล้าฯเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 31 ตุลาคม 2556 และ วรวิทย์ กังศศิเทียม ที่เพิ่งได้รับการโปรดเกล้าฯเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 18 ก.ย. 57 แทน จรูญ อินทจาร ที่พ้นวาระเนื่องจากอายุครบ 70 ปี

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือการกำหนดคุณสมบัติเพิ่มเติมของบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติห้ามไม่ให้บุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการล็อกสเปกกีดกันไม่ให้ตุลาการรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันกลับมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก เนื่องจากถือว่าขาดคุณสมบัติเพราะเคยดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญมาแล้ว

คราวนี้ลองย้อนดูข้อมูลว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันที่พรรคเพื่อไทยมองว่าเป็นศัตรูที่ต้องจำกัดมีใครบ้าง โดยดูได้รายชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่ง จะประกอบด้วย จรัญ นุรักษ์ สุพจน์ เฉลิมพล และ ทวีเกียรติ ซึ่งคนเหล่านี้จะต้องสิ้นสภาพทันทีหากร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่มีบทบัญญัติคุ้มครองการดำรงตำแหน่งให้ครบวาระตามเดิม

ดังนั้น คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จึงควรให้เหตุผลต่อสาธารณะด้วยว่า สาเหตุที่มีการบัญญัติเพิ่มเติมเป็นข้อห้ามในเรื่องคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการกีดกันไม่ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันกลับมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้อีกใช่หรือไม่ ถ้าไม่ใช่เหตุใดต้องกำหนดเพิ่มเติมเอาไว้

ในช่วงเวลาของการร่างกติกาใหม่เป็นเรื่องที่คนไทยควรต้องจับตาและตรวจสอบอย่างใกล้ชิด เพราะกติกาใหม่อาจส่งผลกระทบในหลายเรื่องโดยที่สังคมไม่ทันตั้งตัว เช่น กรณีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่คนส่วนใหญ่มองไม่ออกว่าจะกระทบต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบันอย่างไร

กติกาใหม่ที่ทำให้ระบบดีขึ้นโดยไม่มีวาระซ่อนเร้นหรือผลประโยชน์ของใครแอบแฝงเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่เป็นภัยคุกคามเงียบสำหรับสังคมไทย คือ กติกาใหม่ที่ซ่อนความต้องการของทักษิณเอาไว้ จนคนไทยตามไม่ทันว่ากำลังปฏิรูปบนเส้นทางที่ทักษิณกำหนด
กำลังโหลดความคิดเห็น