xs
xsm
sm
md
lg

ข้อเสนอ “กปปส.” ส่อแท้ง “3 ตุลาการ” นิ่งไม่ขานรับ “สุเทพ-สุรชัย” เดินลำบาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 สุเทพ เทือกสุบรรณ
รายงานการเมือง

ในความเป็นจริงก็เชื่อว่า สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. และแกนนำทั้งหลายที่เป็นทีมนักคิด-นักวางยุทธศาสตร์ซึ่งไปช่วยงาน กปปส. คงคาดไว้อยู่แล้วว่า

ข้อเสนอที่ขอให้ “ประมุข 3 ศาล”ในเวลานี้คือ ประธานศาลฎีกา-ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และ หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ไปร่วมหารือกับ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา และ ศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. เพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับประเทศและดำเนินการให้มีนายกฯ คนใหม่

เป็นข้อเสนอที่ยากในทางปฏิบัติและคงถูกปัดทิ้งภายในเวลาอันรวดเร็ว

อย่าว่าแต่ตะโกนขอกันอย่างที่กำนันสุเทพแถลงการณ์ออกมาเลย ลำพังแค่จะขอให้ดำเนินการในทางแบบ “ไม่เปิดเผย”ก็เป็นไปได้ยากอยู่แล้ว เพราะทั้งประธานศาลฎีกา-ศาล รธน.-ศาลปกครองสูงสุด คงไม่เอาชื่อเสียงของตัวเองและเอาองค์กรมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง

ยิ่งยุคสมัยนี้เป็นยุค “ความลับทางการเมืองไม่มีในโลก”ใครไปไหนไปพบกับใคร ไปนั่งกินข้าวกับใคร ต่อให้ปิดเป็นความลับยังไง สุดท้ายวันข้างหน้าความลับก็แตก ก็ดูอย่างปี 49 ก่อนรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 ขนาดว่ามีคนของศาลฎีกาสมัยนั้นที่ตอนนี้ก็มีบทบาทอยู่ในสังคมการเมือง คือ ชาญชัย ลิขิตจิตถะ องคมนตรีและอดีตประธานศาลฎีกา และ จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตเลขานุการศาลฎีกา ไปนั่งกินข้าวกับบุคคลสำคัญอย่าง พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ที่บ้านของ ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา แถวสุขุมวิท

สุดท้าย ความลับก็แตก

กลายเป็นเรื่องที่ฝ่ายทักษิณ ชินวัตร และเสื้อแดง พูดอยู่ตลอดจนถึงทุกวันนี้ว่า เบื้องหลังขบวนการโค่นล้มทักษิณมีบุคคลสำคัญของประเทศ ระดับผู้นำศาลฎีกา-องคมนตรี ไปนั่งประชุมวางแผนทำรัฐประหารกันโดยใช้องค์กรตุลาการเป็นหนึ่งในเครื่องมือโค่นล้ม

ทั้งที่ก็ไม่มีใครรู้กันว่าความจริงเนื้อหา-สิ่งที่สนทนากันบนโต๊ะอาหารวันดังกล่าว จริงๆ อาจไม่ได้มีเรื่องการเมืองหรือเรื่องทักษิณอะไรเลยก็ได้

ที่สำคัญยุคสมัยปัจจุบัน การถ่ายคลิป-อัดเสียงการสนทนา ทำได้ง่ายดายเป็นพยานหลักฐานมัดชนิดปฏิเสธไม่ได้ ช่วงนี้ใครจะขยับอะไรก็ต้องระวังตัวกันสุดฤทธิ์ แถมสถานการณ์การเมืองแหลมคม สู้กับแบบแตกหัก ผู้นำองค์กรต่างๆ -บุคคลสำคัญของบ้านเมือง ก็คงไม่มีใครคิดอยากจะเอาตัวเองและองค์กรมาข้องแวะด้วย

ต้องไม่ลืมว่าสถานการณ์เวลานี้แตกต่างจากเมื่อปี 49 มาก “ตุลาการภิวัฒน์”มันใช้ไม่ได้อีกแล้วในยุคสมัยนี้และฝ่ายศาลก็เห็นแล้วว่า การเอาองค์กรตุลาการไปยุ่งเกี่ยวและร่วมแก้ปัญหาการเมือง ทุกอย่างมันไม่จบเมื่อปัญหาคลี่คลาย แต่กลับทำให้องค์กรตุลาการถูกลากโยงเข้าไปอยู่ในวังวนความขัดแย้งการเมืองไปตลอด จนส่งผลต่อการยอมรับนับถือของสังคมมากพอสมควร

เลยทำให้ข้อเรียกร้องดังกล่าวของสุเทพ และ กปปส. ผ่านเลยมาสู่วันที่ 5 หลังจากเสนอข้อเรียกร้องดังกล่าวไปแล้วท่าทีจากฝ่าย 3 ศาล ยังไร้เสียงขานรับใดๆ ออกมา

แถมบางองค์กรอย่าง “ศาลยุติธรรม” ที่ต้องยอมรับว่ามีความเป็นกลาง-น่าเชื่อถือ-ปลอดการเมืองมากที่สุดกว่าศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ อีกทั้งเป็นเสาหลักของประเทศตามระบอบประชาธิปไตยที่แยกอำนาจออกเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติ และตุลาการ มาตลอดก็มีทีท่าจากผู้บริหารสำนักงานศาลยุติธรรม ออกมาบอกให้รู้กันแล้วว่ายากที่ศาลยุติธรรม จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมืองแบบนี้ได้

แม้ “ดิเรก อิงคนินันท์-ประธานศาลฎีกา”จะยังนิ่งเงียบ และคงเงียบไปตลอด เพราะปกติเป็นคนไม่เปิดตัวกับสื่ออยู่แล้ว แต่ก็มีแสดงความเห็นออกมาจากคนที่ถือว่าเกี่ยวข้องโดยตรงคือ ภัทรศักดิ์ วรรณแสงเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ที่บอกว่าข้อเรียกร้องของ กปปส. ที่ให้ประมุขศาลฎีการ่วมเสนอชื่อนายกฯคนกลางนั้น “โดยอำนาจหน้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาล”

ลำพังศาล รธน.-ศาลปกครองสูงสุด ก็ยากที่จะขยับในเรื่องนี้อยู่แล้ว ยิ่งหากศาลฎีกาที่ถือเป็นเสาหลักขององค์กรที่ใช้อำนาจผ่านศาล ไม่ขยับ ไม่เอาด้วย ก็บอกได้เลยว่าข้อเสนอของ กปปส. ไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง เพราะศาลรัฐธรรมนูญ-ศาลปกครองสูงสุด ก็ยิ่งไม่เอาด้วยแน่นอน

ต่อให้ สุรชัย พยายามจะออกตัวว่าทุกฝ่ายต้องร่วมกันคิดหาทางออกให้ประเทศพ้นวิกฤตการเมือง แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า สถานะของ สุรชัย แตกต่างจากประธานศาลฎีกา-ศาลปกครองสูงสุด-ศาล รธน. มาก เพราะสุรชัยที่ผ่านมาแล้วทั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ-สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หลังรัฐประหารปี 49 และการเป็น ส.ว.สรรหา 2 สมัย ตัว สุรชัย ทุกวันนี้ ก็คือ “นักการเมือง” สุรชัย ไม่ใช่ผู้นำองค์กรศาล-องค์กรอิสระ

อีกทั้งว่ากันตามจริง ตัว สุรชัย เองภาพก็ถูกอิงว่าอยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเพื่อไทยมาตลอด ตั้งแต่ยังเป็น ส.ว.สรรหาธรรมดายังไม่ได้มีบทบาทโดดเด่นในสภาสูงแบบทุกวันนี้ การจะให้ สุรชัย เป็นคนกลางในการไปคุยกับประมุข 3 ศาลรวมถึงประธาน กกต. เอง เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ และไปถึงขั้นเสนอชื่อนายกฯ โดยใช้มาตรา 3 หรือ มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ

การขับเคลื่อนของ สุรชัย แม้จะเป็นว่าที่ประธานวุฒิสภา แต่ก็ยังไม่มีบารมีพอที่จะทำให้ประมุข 3 ศาล ต้องเปิดประตูต้อนรับอย่างเป็นทางการ เพราะนอกจากภาพความเป็นนักการเมืองในสภาสูงของสุรชัยแล้วในแง่มุมข้อกฎหมาย ก็ยังมีปัญหาอยู่ว่า สุรชัย จะเข้าดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาได้หรือไม่

หลังฝ่ายรัฐบาลเพื่อไทยแสดงทีท่าจะซื้อเวลาไม่ยอมนำชื่อ สุรชัย ขึ้นทูลเกล้าฯ โดยอ้างว่ามติเลือกประธานวุฒิสภาเมื่อ 9 พ.ค. เป็นการฝ่าฝืนและทำเกิน รธน.มาตรา 132 และพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญจึงอาจส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกา และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ผนวกกับก็ยังมีปัญหาในเรื่องสถานภาพของนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ที่ปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกฯอยู่ว่า จะสามารถทูลเกล้าฯชื่อ สุรชัย ได้หรือไม่

อย่างไรก็ดี เชื่อว่า ปมสถานภาพของนิวัฒน์ธำรง ในการปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ รัฐบาลเพื่อไทยคงไม่คิดขยายความมากนัก เพราะไม่เช่นนั้นการทูลเกล้าฯร่าง พ.ร.ฎ. การเลือกตั้ง ของรัฐบาลเพื่อไทยที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งเร็วๆ ก็จะกระทบไปด้วย เพราะทูลเกล้าฯไม่ได้ รัฐบาลเพื่อไทยจึงจะเน้นไปที่เรื่องมติโหวตเลือกประธานวุฒิสภามีปัญหามากกว่า

ปมสถานภาพของสุรชัยในฐานะว่าที่ประธานวุฒิสภา ก็เลยอาจยิ่งทำให้ ประมุข 3 ศาล ยากที่จะเปิดโอกาสพูดคุยกับ สุรชัย ในเรื่องร้อนๆ แบบนี้ได้ แม้ สุรชัย จะยังคงเป็นรองประธานวุฒิสภาอยู่ ยังถือเป็นผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติคนเดียวที่เหลืออยู่ เพราะยังไม่ได้ลาออกจากรองประธานวุฒิสภาก็ตาม

แม้ยังไม่รู้ว่าความคิดเห็นของ ส.ว. ที่ไปร่วมหารือกันเมื่อวันจันทร์ที่ 12 พ.ค. ที่ผ่านมา ในการนัดหารือนอกรอบ ส.ว. ทั้งหมด ต่อสถานการณ์การเมืองในเวลานี้จะออกมาอย่างไร แต่หากพิจารณาจากแค่ที่ กปปส. เรียกร้องให้ สุรชัย ไปคุยกับประมุข 3 ศาล และประธาน กกต. เพื่อหารือเรื่องนายกฯคนกลางเป็นข้อเสนอที่ กปปส. คิดได้เสนอได้ แต่ในทางปฏิบัติ การไปพูดคุยดังกล่าวในรูปแบบ “เป็นทางการ” ยากจะเกิดขึ้นได้

หรือหากจะให้พบก็ต้องมีคำมั่นสัญญาว่าทุกอย่างต้องเป็นความลับ และไร้ข้อผูกมัดและการอ้างอิงถึงไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น