สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม จัดอภิปราย อิสระตุลาการ ประวัติศาลยุติธรรม เมธีวิจัยอาวุโส ยกกรณีถุงขนมเป็นปัญหาในวงการ ตุลาการต้องหนักแน่น ด้านอาจารย์นิติ มธ.แนะเป็นกลางไม่ยุ่งกับใคร ขณะที่ตุลาการศาล รธน. รับเคสถุงขนมแทรกแซงความเป็นอิสระ แถมคนทำออกจากคุกก็เป็น ส.ส.ได้ แนะนำกรมบังคับคดีกลับมาอยู่ในฝ่ายตุลาการ ถามมีเหตุผลอะไรต้องปฏิรูปศาล ชี้ รธน.ใหม่เหมือนจะดีแต่คล้ายปี 40 เปิดช่องการเมืองแทรกแซง ส่อซ้ำรอยแบบคดีซุกหุ้น
วันนี้ (3 มิ.ย.) สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ได้สัมมนาเรื่อง อิสระตุลาการ : ประวัติศาสตร์ศาลยุติธรรม” โดยมีนายเอกชัย ชิณณพงศ์ ประธานศาลอุทธรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดจากนั้นมีการอภิปรายเรื่อง “อิสระตุลาการ ประวัติศาลยุติธรรม” โดยมีวิทยากรประกอบด้วย นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายวินัย พงศ์ศรีเพียร เมธีวิจัยอาวุโสสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
นายวินัยกล่าวถึงปัญหาของวงการตุลาการในขณะนี้ว่ามีเรื่องทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะบางครั้งก็อาจจะมีถุงทอฟฟี่ไปทำตกที่ศาลอุทธรณ์ ผู้เป็นตุลาการต้องมีความหนักแน่นยึดมั่นในความเที่ยงธรรม
ขณะที่นายกิตติศักดิ์ย้ำถึงความเป็นอิสระของตุลาการบนความเข้าใจว่า องค์กรตุลาการเกิดขึ้นด้วยการต่อสู้เพื่อความมีอิสระของอำนาจตุลาการด้วยความเป็นธรรม เพราะทำหน้าที่แทนพระมหากษัตริย์ จะทำตามอำเภอใจไม่ได้ ต้องปกป้องไม่ให้ความอยุติธรรมเกิดขึ้นโดยปราศจากอคติ และการบังคับคดีที่ไม่เป็นธรรม โดยในรัชกาลที่ 5 มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพื่อรักษาเอกราชจากยุคมหาอำนาจล่าอาณานิคม ด้วยการทำให้กฎหมายบังคับใช้ได้จริงทำให้ประเทศในตะวันตกยอมรับว่าประเทศไทยปกครองโดยกฎหมายเป็นใหญ่ ด้วยหลักสามประการ คือ 1. ทุกคนเสมอภาคกัน 2. ไม่มีโทษถ้าไม่มีกฎหมายห้ามไว้ล่วงหน้า และ 3. การวินิจฉัยชี้ขาดคดีพิพาทเป็นอำนาจโดยอิสระของศาลตั้งขึ้นตามกฎหมาย
นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า จากประวัติศาสตร์ชาติไทยอำนาจตุลาการมีส่วนสำคัญในการถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารที่เป็นเผด็จการด้วยการตัดสินด้วยความเป็นธรรม ยึดหลักตามกฎหมาย และที่สำคัญคือ อำนาจธรรมะที่ไม่ได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นสิ่งที่ทำให้สังคมเห็นถึงความชอบธรรม ดังนั้น ตุลาการจึงดำรงอยู่ด้วยการต่อสู้ด้วยความเข้มแข็งในการรวมตัวเพื่อรักษาความเป็นอิสระ แต่มีการสร้างความเชื่อใหม่ว่าผู้พิพากษาต้องเป็นกลางไม่ยุ่งกับใครทั้งสิ้นซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการไม่มีอคติ ที่ตัดสินตามความถูกความผิด อำนาจตุลาการจึงต้องไม่ทำเป็นทองไม่รู้ร้อนไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฝ่ายการเมืองย่อมพยายามที่จะแทรกแซงตุลาการในทุกวิถีทาง การทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนจะทำให้ถูกฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงซึ่งเป็นอันตรายสำหรับวงการตุลาการเอง
ด้านนายจรัญกล่าวว่า ชีวิตผู้พิพากษาโดดเดี่ยว สังคมแคบ ไม่มีเครือข่าย ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาความเป็นธรรม แต่มีหลายปัจจัยที่ผู้มีอำนาจนำมาใช้เพื่อแทรกแซงความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ เช่น การนำเศษเงิน 2 ล้านบาทไปที่ศาลฎีกา ตนขอบอกว่าเงิน 2 ล้านบาทผู้พิพากษาไม่เคยเจอ แต่มีการเอาเงินไปฟาดหัวเจ้าหน้าที่ในศาลฎีกาแต่กลับไม่มีปัญหาอะไรแม้จะมีการตัดสินละเมิดอำนาจศาล แต่ออกจากคุกก็ไปเป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองหนึ่ง
“เมื่ออำนาจเงินรวมกับอำนาจรัฐ และมีการสร้างกองกำลังอำนาจเถื่อนชายชุดดำวางระเบิดศาล ให้ร้าย ดังนั้นความเป็นอิสระของตุลาการเป็นเรื่องสำคัญหากปล่อยให้ถูกแทรกแซงได้จะเป็นอันตรายต่อประเทศชาติ เพราะต้องไปสยบยอมกับอำนาจเงิน อำนาจรัฐ อำนาจเถื่อน คนเดือดร้อนคือประชาชน ผู้พิพากษาไม่เดือดร้อนถ้าทำตามอำนาจได้ผลประโยชน์นอกระบบตอบแทน แล้วประเทศนี้จะเดินไปสู่หายนะ เพราะถึงวันหนึ่งเมื่อประชาชนคับแค้นหาความยุติธรรมไม่ได้ จะสะสมจนเป็นระเบิดที่ไม่ใช่จัดการแค่อำนาจแต่จะจัดการกับระบบตุลาการด้วย” นายจรัญกล่าว
นายจรัญกล่าวด้วยว่า ตุลาการมีหน้าที่ค้ำจุนความมั่นคงของประเทศ และการให้ความเป็นธรรมกับประชาชน อย่างไรก็ตาม คนที่มีอำนาจมากกว่าย่อมมีความได้เปรียบกว่าประชาชนทั่วไป ซึ่งในขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงเวลาปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ผู้ที่อยู่ในแวดวงตุลาการจึงต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับการรักษาอิสระของฝ่ายตุลาการให้แยกชัดเจนตั้งแต่ สืบสวน สอบสวน สั่งฟ้อง พิจารณา พิพากษา และบังคับคดี แต่ฝ่ายตุลาการถูกจำกัดอยู่ที่การพิจารณา พิพากษาคดีเท่านั้น แต่การบังคับคดีอยู่ที่อำนาจฝ่ายบริหารทั้งแพ่ง อาญาและ ปกครอง นอกจากนี้เรื่องส่วนใหญ่มักไม่มาถึงศาล บางคดีเมื่อศาลตัดสินแล้วกลับไม่มีการบังคับคดีเพราะไม่ใช่อำนาจของฝ่ายตุลาการเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร จึงถึงเวลาที่จะให้กรมบังคับคดีกลับมาอยู่ในความดูแลของฝ่ายตุลาการ
“มีเหตุผลอะไรต้องปฏิรูปศาลยุติธรรม ทำอะไรเสียหายให้แก่ประเทศถึงต้องถูกปฏิรูปลดความเป็นอิสระให้อยู่ในระเบียบวินัยเหมือนคำกล่าวที่ว่า ถ้าให้กฎหมายเป็นใหญ่ ศาลก็เป็นใหญ่ ผู้พิพากษาตุลาการก็เป็นใหญ่ แล้วพระมหากษัตริย์จะอยู่ที่ไหน นี่คือการต่อสู้ทางความคิดและคานอำนาจตั้งแต่ในอดีต ปัจจุบันก็เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายกรัฐมนตรีทำผิดรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับสมาชิกรัฐสภาทุจริตเสียบบัตรแทนกัน ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า กฎหมายนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้กฎหมายตกไป แต่กลับเจอวาทกรรมว่าประเทศปกครองโดยตุลาการธิปไตย ไม่ได้มาจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยไม่ใช่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยจึงนำมาเป็นเงื่อนไขปฏิรูปวงการตุลาการ ภายใต้การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ตุลาการต้องคำนึงถึงเป็นอย่างยิ่งคือการรักษาความเป็นอิสระให้ได้” นายจรัญกล่าว
นายจรัญกล่าวด้วยว่า ศาลรัฐธรรมนูญกำลังเสนอความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนกระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบอำนาจรัฐ โดยมีการเสนอระบบใหม่ที่ดูดีแต่รายละเอียดคล้ายกับรัฐธรรมนูญปี 40 ที่เปิดช่องให้มีการบล็อกโหวตจนทำให้องค์กรอิสระถูกแทรกแซง และเป็นอัปยศของศาลรัฐธรรมนูญในคดีซุกหุ้นเพราะมีคนของฝ่ายการเมืองเข้าไปขอพิจารณาคดีด้วยทั้งที่ไม่เคยร่วมพิจารณาคดีมาก่อน ขณะเดียวกันผู้ที่ดำเนินการเช่นนี้มีความเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมวิ่งเต้นได้ คดีที่ตัวเองไม่ชนะก็คิดว่าเพราะวิ่งเต้นไม่สำเร็จไม่ได้สำนึกถึงความผิดถูก จึงมีการแสดงความไม่ยอมรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีการข่มขู่ แต่พวกเราไม่กลัวอันธพาล สิ่งที่ต้องระวังคือต้องช่วยกันปกป้องอิสระของสถาบันตุลาการเอาไว้อย่าคิดว่าจะถูกแทรกแซงจากอำนาจภายนอก แต่สิ่งที่ละเลยไปคือความเป็นอิสระจากอคติในจิตใจและพฤติกรรมของพวกเราเอง