xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ดรามาต้านรัฐประหาร คลี่นใต้น้ำยังอยู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ไม่เหนือจากความคาดหมาย เมื่อวันครบรอบ 1 ปี การรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีการกิจกรรมต่อต้านการรัฐประหารขึ้นประปรายหลายจุด

จุดใหญ่นั้นอยู่ที่บริเวณหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กลุ่มนักศึกษาในชื่อ “คณะกรรมการประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมประชาธิปไตย” หรือ YPD ได้จัดกิจกรรมที่มีชื่อว่า “ศุกร์ 22 มาฉลองกันมะ?” โดยการนัดรวมกันใส่เสื้อสีขาว เพื่อออกมาแสดงพลังต่อต้านการรัฐประหาร ในเวลา 18.00 น.

ก่อนหน้านั้น กลุ่มวายพีดี มีกำหนดจัดเสวนาเนื่องในวาระครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร “22-22 สิทธิชุมชน เสรีภาพ การศึกษา” จากนั้นจะมีการแถลงการณ์คัดค้านรัฐประหาร ต่อต้านการกระทำอันไม่เป็นประชาธิปไตย เพื่อแสดงจุดยืนของกลุ่มฯ ในเวลา 13.00 น. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 2516 แยกคอกวัว แต่เจ้าหน้าที่ทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบ ได้มาเฝ้าระวังในพื้นที่และนำโซ่มาคล้องแผงเหล็กปิดกั้นทางเข้า แม้ว่ากลุ่มวายพีดีจะได้รับอนุญาตให้ใช้สถานที่ได้จากผู้ดูแลแล้ว แต่เจ้าหน้าทหารได้ประสานมายังอนุสรณ์สถานฯ ให้งดใช้สถานที่

เมื่อถึงเวลา 13.00 น.กลุ่มวายพีดี 11 คน นำโดยนายธัชพงศ์ แกดำ กรรมการกลุ่ม และนายสุร แก้วเกาะสะบ้า เลขาธิการกลุ่ม ได้เดินทางไปยังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา และเข้าพูดคุยกับ พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 เพื่อขอจัดกิจกรรมจัดเสวนาและอ่านแถลงการณ์ตามกำหนดการเดิม แต่ พ.ต.อ.อรรถวิทย์ยืนยันไม่ให้จัดกิจกรรมในบริเวณดังกล่าว เพราะเป็นการขัดคำสั่ง คสช. แต่นายสุรได้ฉวยโอกาสอ่านแถลงการณ์เรื่อง “คัดค้านรัฐประหาร ต่อต้านการกระทำอันไม่เป็นประชาธิปไตย” ทันที เมื่ออ่านแถลงการณ์จบ ทั้ง 11 คนพยายามที่จะดำเนินการเสวนาต่อ โดยนั่งพูดคุยกันบริเวณบันไดหน้าทางเข้าอนุสรณ์สถานฯ ประมาณ 5 นาที ตำรวจจึงเชิญตัวทั้ง 11 คนขึ้นรถกระบะไปยังสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม โดย พ.ต.อ.อรรถวิชย์บอกว่า เป็นการเชิญตัวไปพูดคุยซักถาม ทั้งหมดยังไม่ถือว่ามีความผิด แต่การกระทำอาจเข้าข่ายขัดคำสั่ง คสช.ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน จากนั้นได้ปล่อยตัวไปโดยไม่มีการแจ้งข้อหา

ส่วนที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ตำรวจตรึงกำลังพร้อมเอารั้วมากั้นด้านหน้า ตั้งแต่เวลา 16.25 น. และสถานการณ์ได้ตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อนักศึกษาทยอยมารวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมภายในบริเวณหอศิลปฯ จนเวลาประมาณ 18.00 น.เจ้าหน้าที่พยายามล้อมจับนักศีกษา มีผู้ถูกคุมตัวไป 6 คน ขณะที่กลุ่มที่เหลือได้นั่งล้อมวงกัน กดดันเพื่อให้มีการเจรจา และปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกควบคุมตัวไป

จนกระทั่งเวลาประมาณ 19.20 น.เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวผู้ร่วมกิจกรรมทั้งหมดรวม 37 คน และนำตัวไปสอบสวนที่ สน.ปทุมวัน โดยมีกลุ่มที่เหลือตามไปกดดันให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวทั้งหมด จนกระทั่งเวลาประมาณ 06.00 น. ของวันที่ 23 พฤษภาคม นักศึกษาและนักกิจกรรมที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมดก็ได้รับการปล่อยตัว โดยไม่มีการตั้งข้อหาใดๆ แต่เจ้าหน้าที่ให้เซ็นชื่อ เพื่อรับเงื่อนไขหยุดเคลื่อนไหวทางการเมือง

เห็นได้ว่า ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐได้อะลุ้มอะหล่วยให้กลุ่มผู้จัดกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารพอสมควร เพราะจะว่าไปแล้ว เมื่อดูจากการกระทำของคนกลุ่มนี้ จะเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ขัดต่อประกาศ คสช.อย่างน้อย 3 ฉบับ คือ ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง ฉบับที่ 12/2557 เรื่อง ขอความร่วมมือจากสื่อสังคมออนไลน์ และ ฉบับที่ 18/2557 เรื่อง การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แถลงการณ์ของวายพีดี ที่นำไปอ่านที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ และมีการเผยแพร่ทางเฟซบุ๊กของวายพีดี ตั้งแต่เวลา 11.11 น.ของวันที่ 22 พฤษภาคมจนกระทั่งบัดนี้นั้น มีเนื้อหาที่กล่าวประณามและโจมตี คสช.อย่างชัดแจ้ง โดยใช้ข้อมูลจริงบ้างเท็จบ้างผสมปนเปกันเข้าไป อันเป็นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง ขัดต่อประกาศ คสช. ฉบับที่ 18/2557 อย่างชัดเจน
กระนั้นก็ตาม ฝ่ายผู้จัดกิจกรรมต่อต้านรัฐประหาร ยังผลิตละครดราม่าเพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของฝ่ายเจ้าหน้าที่ อ้างว่า ระหว่างการเข้าจับกุมที่หน้าหอศิลปฯ พวกของตนถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายด้วยวิธีการต่างๆ อาทิ ถูกเตะต่อย ช็อตด้วยไฟฟ้า ถูกโยนบก จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายคน โดยใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือหลักในการปั่นดราม่า ก่อนไปให้ข้อมูลแก่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ขณะที่กิจกรรมต่อต้านรัฐประหารอีกส่วนหนึ่ง กลุ่มคนในชื่อ “พลเมืองโต้กลับ” ได้ไปยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กับพวกรวม 5 คน ต่อศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ในฐานความผิดเป็นกบฎ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 และมาตรา 114 กรณีร่วมกันยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยศาลได้นัดฟังคำสั่งว่าจะรับคดีไว้พิจารณาหรือไม่ ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2558

นอกจากนี้ มีกิจกรรมเล็กๆ ของนักศึกษากลุ่มดาวดิน จำนวน 7 คน ที่รวมตัวแสดงสัญลักษณ์คัดค้านการรัฐประหาร ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในตัวเมืองขอนแก่น ก่อนที่จะถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไป และได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา

ส่วนในต่างประเทศ กลุ่มคนเสื้อแดงในนามชมรมผู้รักประชาธิปไตยไทยแห่งรัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา หรือ กลุ่ม RED CHICAGO ได้กำหนดจัดเสวนาในหัวข้อ “หนึ่งปีของการต่อต้านเผด็จการ กับอำนาจเถื่อนที่อยู่เบื้องหลังร่างรัฐธรรมนูญ คสช. กับทิศทางการเมืองไทย” มีนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะเลขาธิการองค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย นายสุนัย จุลพงศธร แกนนำ นปช. และอดีต ส.ส.เพื่อไทย และ นางดารุณี กฤตบุญญาลัย แกนนำ นปช.เข้าร่วมเสวนา แต่ในที่สุดได้ล้มเลิกการจัดงาน หลังจากถูกกลุ่มคนไทยในชิคาโกออกมารวมตัวขับไล่

ขณะที่ตัวพ่อของคนเสื้อแดง อย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ให้สัมภาษณ์ที่เกาหลีใต้ กล่าวหาว่า มีองคมนตรีเป็นคนสั่งให้พระสุเทพ เทือกสุบรรณ นำคนออกมาประท้วงขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อปูทางไปสู่การรัฐประหาร เหมือนที่ตนเองเคยโดนมาแล้ว

และนั่นก็ถูก พล.อ.ประยุทธ์สวนกลับทันทีว่าตนเองตัดสินใจเรื่องการทำรัฐประหารเพียงคนเดียว พร้อมถามกลับไปยังอดีตนายกฯ หนีคดีว่า พร้อมจะกลับเข้ามาสู้คดีในประเทศไทยหรือไม่

ทั้งยังโดนนักวิชาการที่เคยอยู่ฝ่ายเดียวกันอย่างนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ย้อนกลับไปว่า มูลเหตุที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกรัฐประหาร มาจากการเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง และการใช้อาวุธทำร้ายผู้ชุมนุม กปปส.ต่างหาก

กิจกรรมต่อต้านรัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา แม้จะไม่บานปลายขยายใหญ่โต แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า กระแสต่อต้าน คสช.ได้ลดลงไปมากแล้ว นั่นก็เป็นเพราะมีประกาศ คำสั่ง คสช. และอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว คอยคุวบคุมการเคลื่อนไหวเหล่านี้อยู่ แรงต่อต้านจึงสะสมเป็นคลื่นใต้น้ำที่รอวันซัดขึ้นมาเหนือผิวน้ำ เมื่อใดก็ตามที่กฎเกณฑ์เหล่านี้ถูกยกเลิกไป

ดูเหมือนว่า พล.อ.ประยุทธ์จะมองสถานการณ์ออก จึงพยายามที่จะจัดการกับต้นตอปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกหนังสือเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตามด้วยการถอดยศ และการดำเนินคดีในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น