xs
xsm
sm
md
lg

สปสช ทำให้โรงพยาบาลขาดทุนได้อย่างไร : จริยธรรมวิบัติแห่งการไม่มี? ไม่หนี ไม่จ่าย ไม่รับผิดชอบ ของลูกหนี้จอมกร่าง

เผยแพร่:   โดย: อ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์/ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร

อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

และ
ศาสตราจารย์ ดร. นพ. อภิวัฒน์ มุทิรางกูร
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาการแพทย์ และ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย


เนื่องจากสปสช โต้แย้งว่าโรงพยาบาลของสธ ไม่เคยขาดทุนเพราะสปสช ในบทความ “Who Moved my Money ข้อเท็จจริงค่าใช้จ่าย 30 บาทรักษาทุกโรค” manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000050819
และ “ตรรกะวิบัติและมุมมองเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย” www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000056823

ว่าตัวเลขที่เรานำเสนอในบทความต่างๆ ที่ผ่านมานั้นเป็นเพียงหนี้สูญ หาใช่ขาดทุนจริงไม่ เช่น โรงพยาบาลของรัฐในประเทศไทยขาดทุนเพราะ ใคร?: บทวิเคราะห์หาสาเหตุ www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000045566 และ Breakdown ค่าใช้จ่ายโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะ Broke หรือไม่? http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000048775

เราขอเปิดเรื่องด้วยการเล่านิทานเรื่องร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ รพสธ ดังนี้

ในสารขัณฑ์ประเทศมีร้านอาหารแบบบุฟเฟต์ชื่อ รพสธ อยู่ใน โรงแรม สธ วันหนึ่งมี นายจัดการสามสิบมาติดต่อจัดงานเลี้ยง บอก รพสธ ว่ามีแขก 200 คน รพสธ ต้องทำอาหารให้พอไม่ว่ากรณีใดๆ เพราะ อาหารเป็นปัจจัย 4 ลูกค้ามาแล้วไม่ได้กินไม่ได้ แต่ นายจัดการสามสิบแจกการ์ดเชิญ 400 คน พอ รพสธ ขอเก็บเงิน นายจัดการสามสิบบอกว่าให้แค่ 200 คน พอมีคนไปถาม นายจัดการสามสิบบอกไม่เคยเป็นหนี้ รพสธ ถ้า รพสธเดือดร้อนให้ไปเก็บที่ โรงแรม สธ เอง แล้วยังแถมท้ายว่า เดือนหน้ามีอีกงานนะ

เราอาศัยหลักการบัญชีต้นทุนอย่างง่ายที่สุด ในการคำนวณให้ สปสช และนายใหญ่สุดของนายจัดการสามสิบบาทเข้าใจ ตาสว่างปราศจากอคติ เสียที แล้วจะได้กลับตัวกลับใจเลิกทำบาปกรรมกับวงการสาธารณสุขไทย

ขอให้ท่านช่วยพิจารณาดูงบการเงินข้างล่างนี้ เราจัดทำบัญชีต้นทุนของ โรงพยาบาลต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศเกือบพันแห่งรวมกันของปี 2556 โดยที่ UC ย่อมาจาก Universal Coverage หรือผู้ใช้สิทธิบัตรทองหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของสปสช ส่วน Non-UC หมายถึงผู้ใช้สิทธิราชการและประกันสังคมตลอดจนผู้ที่จ่ายชำระค่าบริการด้วยตนเองด้วย

รายได้จริงของโรงพยาบาลทั้งสธ คือค่าบริการที่เรียกเก็บทั้งหมดหักออกด้วยหนี้สูญจากการให้บริการ จะเห็นได้ว่าโรงพยาบาลในสังกัดของสธ พึ่งพิงรายได้จากสปสช ค่อนข้างสูงมากคือร้อยละ 70% ของค่าบริการที่เรียกเก็บทั้งหมด สปสช เบี้ยวหนี้โรงพยาบาลสธ ประมาณร้อยละ 30 ของค่าบริการที่เรียกเก็บ 100 บาท ส่วน Non-UC นั้นเบี้ยวหนี้โรงพยาบาลสธ เพียงร้อยละ 2.66 เท่านั้น

ต้นทุนดำเนินงานของโรงพยาบาลสธ เป็นตัวเลขจริงที่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ลงบัญชีไว้และรายงานมายังสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นเงินที่โรงพยาบาลทั้งประเทศของสธ ได้จ่ายออกไปจริงในการดำเนินงานของโรงพยาบาลคิดเป็นร้อยละ 86.62 ส่วนต้นทุนค่าจ้างเงินเดือนนั้นมาจากตัวเลขที่รายงานโดยสปสช เองในรายงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปี 2556 จึงเป็นตัวเลขจริงที่มาจากสปสช เอง บวกกับตัวเลขข้อมูลจากสำนักงบประมาณกระทรวงการคลัง

ความซับซ้อนนั้นมีอยู่ว่าสปสช นำค่าจ้างเงินเดือนของบุคลากรสธ มาจ่ายเอง โดยสำนักงบประมาณจัดสรรให้สปสช เพื่อนำมาจ่ายให้สธ คิดเป็นร้อยละ 62 คิดเป็นค่าจ้างเงินเดือน 32,795.28 ล้านบาท ส่วนอีกร้อยละ 38 สำนักงบประมาณจัดสรรให้สธ โดยตรงร้อยละ 38 คิดเป็นค่าจ้างเงินเดือน 19,543.12 ล้านบาท รวมเป็นค่าจ้างเงินเดือนทั้งสิ้น 52,338.40 ล้านบาท (ข้อนี้ทำให้ผู้เขียนเกิดความสงสัยว่าทำไม สปสช จึงต้องนำค่าจ้างเงินเดือนของสธ มาไว้ในมือเพื่อจะจ่ายเอง ในขณะที่ค่าจ้างเงินเดือนที่เหลืออีกร้อยละ 38 กรมบัญชีกลางและสำนักงานประกันสังคมกลับไม่ได้คิดไปเรียกร้องจากสำนักงบประมาณเพื่อนำเงินดังกล่าวมาถือไว้ในมือเพื่อเป็นผู้จ่ายเงินเดือนให้ สธ เอง หรือว่าอำนาจคือเงิน และเงินคืออำนาจกันแน่หนอ?)

ความยุ่งยากในการคำนวณต้นทุนสำหรับงานบริการนั้นมีอยู่ การจัดสรรต้นทุน (Allocate cost) เข้าไปยังผลิตภัณฑ์/สินค้า/และบริการ เป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจมากในวิชาบัญชีต้นทุน (Cost accounting) และบัญชีบริหาร (Managerial accounting) และทางกระทรวงสาธารณสุขยังไม่ได้ทำระบบบัญชีต้นทุนฐานกิจกรรม (Activity-Based Costing: ABC) มาใช้ ทำให้การจัดสรรต้นทุนไปยัง UC และ Non-UC ยังทำได้ไม่ดีนักและควรต้องปรับปรุงต่อไปอย่างเร่งด่วน หลักการในการคำนวณต้นทุนด้วย ABC นั้นต้องหาตัวขับต้นทุน (Cost driver) ของกิจกรรมต่างๆ ในการทำงานที่ก่อให้เกิดต้นทุน เช่น ในการให้บริการผู้ป่วยนอก จำนวนครั้งในการรับบริการ น่าจะเป็นตัวขับต้นทุนของเงินเดือนค่าแรงในการให้บริการได้ เช่น ทั้งโรงพยาบาลมีจำนวนครั้งในการรับบริการ OPD เท่ากับ 100 ครั้ง เป็นการให้บริการสำหรับ UC 70 ครั้ง และเป็นการให้บริการ Non-UC 30 ครั้ง หากมีต้นทุนเงินเดือนค่าแรงในการบริการ OPD เท่ากับ 70,000 บาท ต้นทุนเงินเดือนค่าแรงในการบริการ OPD ของ UC ควรเป็น 70,000*70%=49,000 บาท และเป็นของ Non-UC เท่ากับ 70,000*30%=21,000 บาท เป็นต้น ดังนั้นตัวขับต้นทุนที่ดีควรมีความสัมพันธ์กับต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงค่อนข้างสูงมาก ในทางสถิติเรียกว่ามีค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) สูง

แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะไม่ได้นำระบบ ABC มาใช้ในการคำนวณต้นทุน แต่เราสามารถใช้วิธีทางบัญชีที่เรียกว่าวิธีทางตรง direct method ซึ่งแม้จะไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด แต่ก็เป็นวิธีที่ใช้กันแพร่หลายที่สุด เรานำร้อยละของค่าบริการที่เรียกเก็บของ UC และ Non-UC มาใช้ในการจัดสรรต้นทุนดำเนินงานและต้นทุนค่าจ้างเงินเดือน โดยถือว่าต้นทุนในการดำเนินงานของทั้ง UC และ Non-UC มีความคล้ายคลึงกัน ข้อสมมุตินี้ค่อนข้างจะสมเหตุสมผล เพราะ 1. จากการศึกษาพบว่าข้าราชการและผู้มีสิทธิราชการมามีสัดส่วนในค่าบริการที่เรียกเก็บของโรงพยาบาลของสธ ในสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำเพียง 17% และสัดส่วนในค่าบริการที่เรียกเก็บของโรงพยาบาลของสธ มีเพียงร้อยละ 6.3 ส่วนที่เหลือเป็น UC แม้ว่าสิทธิราชการจะมีแนวโน้มที่จะมีต้นทุนสูงกว่า UC แต่ผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคมมีสิทธิประโยชน์ในการใช้บริการแย่กว่า UC ค่อนข้างมาก ทำให้ต้นทุนสองส่วนนี้น่าจะหักล้างกันไปได้ในระดับหนึ่ง สำหรับกรณีค่ายา 2. สำหรับค่าแรง ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ นั้นไม่น่าจะแตกต่างกันไม่ว่าจะสิทธิใดก็ตาม ผลการจัดสรรต้นทุนค่าจ้างเงินเดือนและต้นทุนดำเนินงานแสดงในตารางด้านบน (วิธีนี้ไม่ได้เหลือต้นทุนค่าจ้างเงินเดือนไว้ที่ส่วนกลางซึ่งอาจจะเป็นข้อโต้แย้งได้ แต่เป็นวิธีที่ดีที่สุดเท่าที่ข้อมูลมีอยู่ในมือผู้วิจัยในขณะนี้)

สำหรับหนี้สูญในทางบัญชีนั้นถือว่าเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งจึงต้องบวกกลับเข้าไปเป็นต้นทุนด้วย

ส่วนที่อาจจะเกิดการถกเถียงกันได้คือค่าจ้างเงินเดือนของบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขควรรวมเป็นต้นทุนหรือไม่ โดยหลักการทางบัญชีต้นทุนแล้วนั้นต้องถือว่าค่าจ้างเงินเดือนต้องถือเป็นค่าจ้างเงินเดือนแม้ว่ารัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายเงินนี้ ในขณะที่บางส่วนอาจจะเห็นว่าค่าจ้างเงินเดือนควรถือเป็นต้นทุนที่รัฐบาลควรจัดสรรให้ประชาชนชาวไทยจึงไม่ควรคิดเป็นต้นทุน เพราะในความเป็นจริงรัฐบาลก็จ่ายให้ทั้งหมดอยู่แล้วสำหรับข้าราชการ ดังนั้นผู้วิจัยจึงคำนวณกำไร/ขาดทุนจากทั้งสองวิธีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ สปสช สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง ด้วยเช่นกัน

หากไม่รวมค่าจ้างเงินเดือนมาเป็นต้นทุน โรงพยาบาลในสธ จะขาดทุนในปี 2556 เป็นมูลค่าประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาท โดยเป็นการขาดทุนจากการให้บริการ UC ประมาณหนึ่งหมื่นสี่พันห้าร้อยล้านบาทและได้กำไรจาก Non-UC ซึ่งมีผู้จ่ายเงินคือสำนักงานประกันสังคมและกรมบัญชีกลางเป็นหลักประมาณสี่พันสามร้อยล้านบาท ดังนั้นจึงเป็นการโยกเงินกำไรมาอุดหนุนข้ามประเภท (Cross-subsidization) ข้อนี้หากมีการรวมกองทุนจะยิ่งทำให้เกิด Cross-subsidization มากยิ่งขึ้นและไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคมมากยิ่งกว่าเดิม หากไม่รวมค่าจ้างเงินเดือนมาเป็นต้นทุน UC จะทำให้โรงพยาบาลสธ ขาดทุนประมาณร้อยละ 16 จากค่าบริการที่เรียกเก็บ 100 บาท ส่วน Non-UC จะทำให้โรงพยาบาลสธ กำไรประมาณร้อยละ 11 ต่อค่าบริการที่เรียกเก็บ 100 บาท

แต่ถ้าบวกกลับค่าจ้างเงินเดือนบุคลากรเป็นต้นทุนด้วยแล้ว UC จะทำให้โรงพยาบาลสธ ทั่วประเทศขาดทุนประมาณร้อยละ 56 ในขณะที่ Non-UC จะทำให้โรงพยาบาลสธ ทั่วประเทศขาดทุนร้อยละ 29 ส่วนขาดทุนเฉลี่ยทั้ง UC และ Non-UC นั้นตกอยู่ประมาณร้อยละ 48

ปัญหาทั้งหมดนี้สามารถสรุปได้อย่างง่ายๆ ว่าอัตราการจ่ายเหมาหัวที่สปสช จ่ายให้โรงพยาบาลสธ นั้นต่ำเกินไปกว่าความเป็นจริง ที่ต่ำกว่าความเป็นจริงนั้นมีสาเหตุหลักอยู่สองประการ ข้อแรก สิทธิประโยชน์ที่ผู้ถือบัตรทองได้รับนั้นมีมากกว่าสิทธิประกันสังคมเสียด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่ผู้ประกันตนของประกันสังคมต้องจ่ายเงินแต่ผู้ถือบัตรทองไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ ซึ่งไม่ยุติธรรมและทำให้ต้นทุนสูงมาก ข้อสอง การโหมโฆษณาและการที่สปสช ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมาโดยตลอดทำให้อัตราการเข้ามาใช้บริการสูงขึ้น จากเดิม 2 ครั้งต่อคนต่อปี มาเป็น 3.2-3.5 ครั้งต่อคนต่อปี สำหรับผู้ป่วยนอก ด้วยอัตราเหมาจ่ายต่อหัวที่ใกล้เคียงกันกับสำนักงานประกันสังคมปรากฎว่าโรงพยาบาลเอกชนที่รับบริการผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคมกลับได้กำไร ข้อนี้แสดงให้เห็นว่า สปสช มีการบริหารงานที่ผิดพลาด และควรยกเงินทั้งหมดไปให้คนที่บริหารเงินได้ดีมากกว่าบริหารแทน

เรามาลองพยากรณ์กันดีกว่าว่าอีกสัก 10 ปีข้างหน้า หากสปสช ยังบริหารการเงินแบบนี้อยู่ โรงพยาบาลของสธ จะขาดทุนเป็นเท่าไหร่กันแน่ ผลการพยากรณ์ค่าบริการที่เรียกเก็บ UC มีความแม่นยำสูงมาก อธิบายความแปรปรวนได้ร้อยละ 98.5 % หลังจากพยากรณ์ค่าบริการที่เรียกเก็บ UC แล้วเราตั้งข้อสมมุติว่าสปสช จะบริหารเงินเช่นนี้อย่างเดิม และโครงสร้างประชากรของไทยจะไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งความจริงไม่ใช่ เราจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีคนแก่มากขึ้น ป่วยมากขึ้น ทำให้โรงพยาบาลยิ่งขาดทุนมากขึ้น แต่ต้องตั้งสมมุติฐานแบบนี้ไว้ก่อนเป็นการทำนายอย่าง Conservative ทำให้เราพอจะพยากรณ์ได้ว่ายอดขาดทุนรวมต่อปีจาก UC ของโรงพยาบาลสธ จะเป็นปีละประมาณสองหมื่นห้าพันล้านบาทในปี 2568 โดยไม่รวมต้นทุนเงินเดือนค่าจ้าง และจะเฉียดแปดหมื่นล้านบาทต่อปี หากรวมต้นทุนเงินเดือนค่าจ้าง

การที่โรงพยาบาลขาดทุนหนักจากสปสช เช่นนี้ คงไม่มีเหตุอันใดที่สปสช จะแถไถตะแบง เพราะทั้งหมดนี้เป็นหลักฐานทางการบัญชีที่ประมาณต้นทุนอย่างอนุรักษ์นิยมมากที่สุด แต่กระทรวงสาธารณสุขเองก็ควรต้องปรับปรุงระบบบัญชีให้ดีขึ้นเช่นกัน จะได้ทำให้การบริหารต้นทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้นและชี้ชัดจับให้มั่นคั้นให้ตายได้ว่าใครทำให้ประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขล้มละลาย

ถ้าโรงพยาบาลของสธ ยังขาดทุนบักโกรกอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ย่อมไม่มีเงินไปพัฒนาโรงพยาบาล ทำให้คุณภาพการบริการแย่ลง คนไทยก็จะมีสุขภาพแย่ลง คนที่มีสตางค์ก็จะหันไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนมากยิ่งขึ้น เมื่อมีความต้องการซื้อ (Demand) มากขึ้น ยิ่งทำให้โรงพยาบาลเอกชนขึ้นราคาได้ตามหลักเศรษฐศาสตร์ทั่วไป การไปควบคุมราคาและบังคับโรงพยาบาลเอกชนเท่ากับเป็นการไปลดและทำลายคุณภาพโรงพยาบาลเอกชนลงไป (แม้ว่าหลายโรงพยาบาลจะค้ากำไรเกินควรก็ตาม) ทางออกที่ดีที่สุดคือการที่ทำให้โรงพยาบาลของรัฐมีคุณภาพดีขึ้น ไม่ขาดทุน และคิดเงินแพงพอสมควรกับคนที่มีฐานะจะจ่ายได้ เอากำไรเหล่านั้นมาเกื้อหนุนคนจนที่รัฐก็ไม่ควรทอดทิ้งเช่นกัน

ผู้เขียนได้วิเคราะห์ต่อและพบว่า “สปสช. มีลักษณะการบริหารที่ไม่สมดุลย์ ไม่เป็นไปตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ในขณะที่งบประมาณจัดสรรให้แก่โรงพยาบาลของรัฐประหยัดแบบสุดโต่ง มีแผนการจ่ายเงินและตั้งงบประมาณให้น้อยกว่าค่าใช้จ่ายจริง เพิ่มภาระรายงานให้บุคลากรเหมือน สมศ.กับครู สปสช.กลับประชาสัมพันธ์ให้โรงพยาบาลมีผู้มาใช้บริการมากจนเกินความจำเป็น แพทย์ที่เป็นเพื่อนของผู้เขียนบ่นเสมอๆว่า “ผมเห็นผู้มาใช้บริการที่ไม่ใช่ผู้ป่วยหรือมีความเจ็บป่วยที่ป้องกันได้เพิ่มมากจนน่าตกใจ ผมว่าเห็นได้ชัดมากเลยครับ เวลาอยู่รพช โรคที่เกิดจากคนไข้ไม่ดูแลตัวเองทั้งสูบบุหรี่กินเหล้า เจอบ่อยมากครับคนไข้ก็ไม่ตระหนักในการเจ็บป่วยเพราะไม่เสียเงิน เรื่องของการฝากรับยาโดยที่ไม่เจ็บป่วยก็มีให้เห็น เหล่านี้เป็นความลำบากใจ ของแพทย์ที่ทำงานรพช ครับ ไม่ให้ไม่ทำก็อยู่ลำบาก หลายคนเบื่อหน่ายต้องหาทางออกให้ตัวเอง ลาออกบ้าง เรียนต่อบ้าง” นอกจากแพทย์จะหมดแรงหมดกำลังใจแล้ว ผลเสียยังเกิดแก่ผู้ป่วยมหาศาล เพื่อนแพทย์อีกสองท่านบอกว่า เขาตรวจผู้ป่วยนอก 200 รายใน 3 ชั่วโมง และหมอจิตเวชซึ่งควรมีเวลาพูดคุยกับผู้ป่วย แต่เนื่องจากมีผู้มารับบริการมาก เพื่อนแพทย์ท่านนี้มีเวลาให้ผู้ป่วยได้เพียง 3 นาทีกว่า วิธีการ สปสช. ยังเป็นแรงกดดันให้เกิดการบริหารจัดการการรักษาโรคเกิดผลร้าย เช่น พบว่ามีผู้ป่วยไส้ติ่งแตกมากขึ้น และ เด็กทารกแรกเกิดขาดอากาศเพิ่มขึ้น (ซึ่งส่งผลต่อสติปัญญาของเยาวชนไทยอย่างมาก)

คนไข้ไม่ทราบสาเหตุของความวุ่นวายนี้จึงตำหนิแพทย์ โดยไม่รู้เลยว่า สปสช. เพื่ออยากได้หน้าได้ประชาสัมพันธ์จนเกิดความต้องการเทียมมากมาย และ สปสช. นั่นแหละคือสาเหตุของงานบริการ รพ. ที่ตกต่ำลง

ในทางตรงกันข้าม สปสช. กลับใช้งบประมาณส่วนที่บริหารเองแบบฟุ่มเฟือย โครงการเฉพาะที่ สปสช. บริหารเอง เช่น โครงการเปลี่ยนเลนซ์สำหรับผู้เป็นต้อกระจก โครงการฟอกเลือดล้างไต โครงการฉีดสีเส้นเลือดหัวใจ โครงการยาซึมเศร้าและยารักษาโรคจิตเภท โครงการส่งเสริมสุขภาพที่ไม่เกี่ยวกับการรักษา งบประชาสัมพันธ์ เป็นต้น โครงการเหล่านี้เป็นโครงการที่สำคัญเป็นที่พึ่งพาของผู้ป่วย แต่เป็นที่น่าเสียดาย การบริหารที่ผ่านมาไม่สมดุลย์ ไม่มีแนวคิดเป็นองค์รวม (หลายเรื่องสำคัญแต่ไม่ทำ) ทำให้สิ้นเปลือง อาจจะรั่วไหล และ มีแรงจูงใจที่อาจจะทำให้เกิดการรักษาที่เกินจำเป็นได้ เช่น อ้างอิงจากข้อมูลของ WHO กรณีตาบอดจากต้อกระจก สามารถคำนวณได้ว่า สปสช. ผ่าตัดต้อกระจกมากเกินปีละ 50,000 รายหมายความว่า คนไทยได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนเลนซ์เกินจำเป็น และเป็นที่น่าสงสัยอย่างยิ่งว่า 5 หมื่นรายนี้ทำไมถึงถูกผ่า

อันที่จริง “โครงการที่บริหารเองของ สปสช. เหล่านี้ จะสามารถบริหารให้มีประสิทธิภาพ พอเพียง และเป็นองค์รวมได้ดีกว่า ถ้าบริหารด้วยกระทรวงสาธารณสุข” เพราะ ข้อมูลชุมชน ข้อมูลระบาดวิทยาก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้ว ผู้เชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยก็เป็นคนของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนสปสช.มีหน้าที่หลักคือการจัดสรรเงิน ความรู้ความชำนาญที่สปสช.มียากที่จะบริหารโครงการเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้เขียนขอย้ำว่า “ผู้เขียนเห็นความสำคัญของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเขียนบทความนี้เพราะกังวลว่าการบริหารแบบไม่พอเพียงของ สปสช. จะทำให้ระบบสาธารณสุขของชาติ ล้มลง ผู้เขียนเพียงแค่ร้องขอให้ สปสช. และรัฐบาล ยอมรับ เหตุของปัญหา และ ปรับกระบวนทัศน์ วิธีการบริหารให้เป็นไปตาม หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นความหวังเดียวที่จะทำให้ระบบสาธารณสุขของชาติคงอยู่และสามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืน”

กำลังโหลดความคิดเห็น