พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
จากข่าว www.hfocus.org/content/2015/05/10017 พาดหัวข่าวว่า “มติบอร์ด สพฉ.ตั้งอนุ กก.จัดระบบเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน แก้ปัญหา รพ.เอกชนเรียกเก็บเงินผู้ป่วย” นั้น ข่าวนี้ไม่ได้ผิดความคาดหมายของผู้เขียนเรื่องนี้เลย กลุ่มตระกูล ส. (ที่หลายคนก็รู้ดีว่าคือใคร) นั้น มีแผนการที่จะรวบ 3 กองทุน (30 บาท ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ) มาบริหารเองโดยตลอด และเขียนไว้แล้วในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 9 และ10 นอกจากนั้นถ้าไปเปิดดูวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง www.hfocus.org ก็จะพบว่ามีวัตถุประสงค์ในการ “รณรงค์ในการสร้างระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว” โดยใช้ website นี้เป็น “พลังขับเคลื่อนเพื่อสื่อสารกับสาธารณะ” และเมื่อรวมกองทุนได้แล้ว พวกเขาตั้งเป้าไว้แล้วว่าจะเป็นผู้มามีอำนาจในการบริหารกองทุนสุขภาพกองทุนเดียวนี้เอง
คำถาม : ทำไมจึงอยากรวม 3 กองทุน?
คำตอบ : จะได้งบประมาณในการบริหาร 1% ของงบประมาณกองทุน (ตามอัตราที่เคยได้รับจากการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ซึ่งงบประมาณกองทุน 3 กองทุนในปัจจุบันนี้ประมาณ ไม่ต่ำกว่า 3- 4 แสนล้านบาท (คิดเป็นเงินเท่าไร?) ซึ่งเงินบริหารกองทุนนี้มีแต่จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างรวดเร็วในอนาคตอันไม่ไกลนี้
ฉะนั้นขบวนการของกลุ่ม “คนใน” สปสช.ที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ ก็คือการที่ รมช.สาธารณสุขออกมาให้ข่าวว่าจะมีการตั้งอนุกรรมการเพื่อรวมกองทุน(รักษา)ผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินให้เป็นกองทุนเดียวกันตามที่ รมช.บอกคือ นโยบายป่วยฉุกเฉิน คือ “รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ์” เพื่อพัฒนาราคาบริการการแพทย์ฉุกเฉินให้อยู่ในรายการที่ต้องควบคุมราคาและมาตรฐานตามมติครม ที่นำเสนอโดยกระทรวงพาณิชย์
ขอย้อนความหลังเรื่อวงการขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขของกลุ่มตระกูล ส.ก่อนที่จะเขียนถึงขบวนการเข้าบริหาร 3 กองทุน เริ่มจากการรวมกองทุนผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินในครั้งนี้
วิธีการที่กลุ่มตระกูล ส. ดำเนินการเพื่อให้สำเร็จในความต้องการที่จะรวบอำนาจบริหารกองทุนนั้น กลุ่มตระกูล ส.ไม่ได้เก็บเป็นความลับแต่อย่างใด กล่าวคือการใช้ “ทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ของหัวขบวน คือ นพ.ประเวศ วะสี กล่าวคือ
1. อ้างปัญหาของประชาชน หรืออ้างแนวคิดของตนเรียกว่า “ความรู้” หรือข้อมูลใหม่ ที่จะเปลี่ยนแปลง แก้ปัญหาหรือพัฒนาสถานการณ์ที่เขาอ้างว่า”เป็นสิ่งเลวร้าย หรือเป็นปัญหาที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ถ้าอ้างงานวิจัยได้ก็จะดูน่าเชื่อถือดี โดยผู้ฟังไม่ได้ไปตรวจสอบว่า เป็นผลงานวิจัยที่ถูกต้องตามระเบียบวิธีวิจัย หรือเป็นการวิจัยที่มีอคติ (Bias) ต่างๆหรือตั้งธงเป็นผลการวิจัยไว้ล่วงหน้าแล้ว
การอ้างความรู้ใหม่นี้ ส่วนมากก็อาศัยหัวหน้าใหญ่ผู้อ้างตนเองเป็นราษฎรอาวุโส หรือส่งให้ NGO ที่อ้างว่าเป็นประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสิ่งที่ต้องการให้แก้ไขนั้นๆ เช่นอ้างว่าค่ารักษาผู้ป่วยใน รพ.เอกชนแพงเกินไปในขณะนี้
2. สื่อสารสาธารณะ เพื่อให้ทุกคนได้ยินและเชื่อตามแนวคิดหรือข้อมูลนั้นเรียกว่าทำให้เกิดกระแสสังคม เรียกว่า “Social Movement” หรือกลายเป็น Talk of the town” ที่ใครๆ ก็ได้ยินและพูดถึง
3. การไปเสนอรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจบริหาร เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงตามข้อเสนอของตน กล่าวคือ พวกเขาก็ต้องหาทางเสนอแนวทางนั้นๆ กับรัฐบาลผู้มีอำนาจบริหารประเทศในขณะนั้น กล่าวคือหลังจากเกิดกระแสสังคมจนกลายเป็น “talk of the town” แล้ว ก็จะเปลี่ยนคนให้ออกมา “เสนอแนวทางแก้ไข” ให้ผู้มีอำนาจในการบริหาร “บันดาล”ให้เป็นไปตามที่กลุ่มเขาต้องการ เรียกว่ามี “Political Movement”
การก่อตั้งองค์กรตระกูลส. เริ่มจาก สวรส. สสส. สปสช. สช. สพฉ. ฯลฯ
วิธีการดังกล่าวข้างบนนี้ ก็ไม่ใช่ความลับอะไร เพราะพวกเขาจะพูดอย่างเปิดเผยเสมอว่า เขามีวิธีการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสาธารณสุขโดยขบวนการสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา
จะเห็นได้ว่า นพ.ประเวศ วะสี จะเป็นผู้นำในการออกมาเสนอความคิดหรือ “แนะนำ” รัฐบาลใหม่ทุกครั้ง เริ่มตั้งแต่ยุคนายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีจากการรัฐประหารเป็นต้นมา จนทำให้เกิดสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข หรือชื่อย่อว่า สวรส. เป็นองค์กรตระกูล ส.อันแรกซึ่งรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารนั้นพวกเขาจะเข้าไปเสนอแนวคิดให้ทำตามได้ง่าย เพราะอาศัยความเป็นแพทย์ รวมทั้งตำแหน่งศาสตราจารย์และตำแหน่งราษฎรอาวุโส เป็นเครื่องการันตีความน่าเชื่อถือ
แม้แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็จะเชื่อถือพวกเขาเช่นกัน กล่าวคือ เขาได้เข้าหารัฐบาลนายชวน หลีกภัย เสนอให้ออก พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 (ที่รู้จักกันดีในชื่อย่อ สสส.) ซึ่งพรรค ปชป.อ้างว่าเป็นผลงานของพรรคที่นำเอาภาษีบาป มาใช้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและช่วยให้ประชาชนลด ละ เลิกสูบบุหรี่และดื่มเหล้าหรือยาเสพติด (แต่ สสส. เอางบประมาณส่วนนี้ไปทำงานไม่ตรงกับวัตถุประสงค์หลักอีกมากมาย ซึ่งก็น่าจะมีการตรวจสอบการใช้เงินผิดประเภทของ สสส.ด้วย)
ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรนั้น นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ได้ไปเสนอโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ทำให้เกิด สปสช.และมีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตลอดและเป็นโครงการสุดยอดแห่งประชานิยมที่ติดปากประชาชนพลเมืองไทยทุกคนว่า “30 บาทรักษาทุกโรค” ซึ่งทำให้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเกิดปัญหาขัดข้องในการทำงานบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชนอยู่ในปัจจุบัน โดยรัฐบาลไหนๆ เข้ามาบริหารประเทศก็ไม่สามารถแก้ไขการบริหารงานของง สปสช.ได้ เพราะจะมีการส่ง “หน้าม้า”ที่อ้างว่าเป็นกลุ่มรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติออกมาโจมตีคัดค้านการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ เสมอมา
ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ได้รับรู้ข้อจำกัดในงบประมาณในระบบ 30 บาท จนนำไปสู่การจำกัดรายการยา และนำไปสู่คุณภาพการรักษาที่ต่ำกว่ามาตรฐานจนเกิดความเสียหายแก่สุขภาพผู้ป่วย และงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งการที่ประชาชนมาเรียกร้องการรักษาที่มากเกินไป ในระบบ รพ.กระทรวงสาธารณสุข ทำให้ เกิดปัญหาการขาดเงินทุนในการรักษาผู้ป่วย
แต่ประชาชนยังไม่ทราบว่าต้นเหตุแห่งความเสียหายในการไปรับการรักษาจากรพ.กระทรวงสาธารณสุข เกิดจากการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิผล (ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่หมดไปในการนี้) ของสปสช.ภายใต้ความรับผิดชอบคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
จึงเห็นว่าประชาชนกลับมาด่าโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ แทนที่จะด่า สปสช.ที่เป็นต้นเหตุในความเสียหายต่อสุขภาพผู้ป่วย และหลายรายไม่เพียงแต่ก่นด่าเท่านั้น แต่ยังฟ้องศาล ทั้งคดีอาญา คดีแพ่ง ฟ้องแพทยสภา ฟ้องเครือข่ายผู้เสียหายฯ ฟ้องสื่อมวลชน ให้รุม ประณามวงการแพทย์ที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาชีวิตประชาชน
สมกับสุภาษิตว่า “เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง แต่ได้กระดูกมาแขวนคอ”
ต่อมาเมื่อเกิดการรัฐประหารในปีพ.ศ. 2549 กลุ่มนี้ก็สามารถเข้าไปยึดอำนาจได้ 2 กระทรวง คือ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ (เพื่อนร่วมรุ่นเซนต์คาเบรียลกับพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี) และ นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยมี นพ.อำพล จินดาวัฒนะไปเป็นเลขาธิการ รมว.สธ. และ “ขับเคลื่อน”ให้เกิด พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และเขาเองไปเป็นเลขาธิการสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) คนแรก และเป็นซ้ำในสมัยที่ 2 จะครบวาระในปีนี้ โดย สช.มีหน้าที่ไปจัดประชุมประชาชนกลุ่มต่างๆ (ที่จัดตั้งเอง ไม่ใช่ประชาชนคนไหนอยากเข้าประชุมก็ได้) แล้วนำผลการประชุมนั้นๆมาลงมติรับรองในการประชุม “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ”ทุกปี เพื่อนำเสนอให้รัฐบาลนำไปปฏิบัติ
ในขณะนี้จึงเห็นความพยายามที่จะเสนอให้มี “ซูเปอร์บอร์ด” เรียกว่า” National Health Authority” เพื่อให้สามารถควบคุม สปสช.และกระทรวงสาธารณสุขได้ และจะสามารถวางนโยบายในการบริหารระบบสาธารณสุข (ที่พวกเขาเรียกใหม่ว่าระบบสุขภาพ) ได้โดยไม่ต้องอาศัยการตัดสินใจหรืออ้างถึงนโยบายของรัฐบาล โดยมีกำหนดจะจัดประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในเร็วๆ นี้ และรองนายกยงยุทธ ยุทธวงศ์ ออกมา Post ใน Facebook ส่วนตัวแสดงความชื่นชมยินดีกับการจัดสมัชชานี้ไว้ล่วงหน้า
จะเห็นได้ว่ากลุ่มเขาสามารถเข้าไปหากลุ่ม คสช.ได้โดยหลังการรัฐประหารปีพ.ศ. 2557 นี้ นพ.ประเวศ วะสีนั้นได้ออกมาเสนอความเห็นมากมายแก่ คสช. จนทำให้ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีที่เป็นพลเรือนเพียงคนเดียวในยุครัฐบาลนี้) และได้ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติผู้เป็นแกนนำคนสำคัญคนหนึ่งในกลุ่มตระกูล ส. มาเป็นรมช.สาธารณสุข ซึ่งคนในแวดวงรู้ดีว่านี้คือ รมว.สาธารณสุขตัวจริง
นอกจากนั้นยังอาศัยการที่มีการตั้ง สปช.ที่ทำให้กลุ่มพวกเขาและ NGO ที่ทำงานใกล้ชิดกับพวกเขา ได้เข้ามามีตำแหน่งในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิก สนช.และ สปช. จนถึงกับสามารถทำให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญให้มีองค์กรอิสระอีกถึง 21 องค์กร และยังจะตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยเสนอให้ สปช.ถึง 60 คนเข้าไปทำหน้าที่นี้ โดยไม่มีกำหนดการหมดอายุไว้ด้วย
แม้แต่ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยังกล่าวอ้าง นพ.ประเวศ วะสีเสมอว่า ถ้าจะปฏิรูปประเทศให้ไปถามอาจารย์ประเวศ
นพ.ประเวศ วะสี เคยกล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า กระทรวงสาธารณสุขมีการบริหารด้วยองค์กรอิสระมากที่สุด
คำถาม แล้วกลุ่มตระกูล ส.ได้ประโยชน์อะไรจากการยึดอำนาจการบริหารสาธารณสุขผ่านองค์กรอิสระเหล่านี้
คำตอบ ประโยชน์ก็คือมีงานทำ (ตำแหน่ง) มีเงินเดือน เบี้ยประชุม และผลประโยชน์อื่นทั้งที่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถนำเงินงบประมาณแผ่นดินเข้ามูลนิธิ (ถ้ารัฐบาลจะสนใจก็ขอให้ เข้าไปตรวจสอบเส้นทางการเงินของมูลนิธิต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการสาธารณสุขด้วย เช่นมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ มูลนิธิภิวัฒน์สาธารณสุข มูลนิธิ สวปก. มูลนิธิแพทย์ชนบท ฯลฯ) และนำเงินมูลนิธิไปสร้างภาพลักษณ์
หลังจากเล่าภูมิหลังของการยึดอำนาจการบริหารสาธารณสุขผ่านการจัดตั้งองค์กรอิสระ จากการควบคุมของราชการมาอย่างยืดยาว ทั้งที่จริงยังมีหลักฐานและรายละเอียดอีกมากมายมหาศาล ผู้เขียนขอเล่าถึงแผนการยึดอำนาจบริหารกองทุนผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินในปัจจุบันนี้ดังนี้ จากที่ นพ.บรรพต หัวใจ เขียนไว้ใน Facebook ส่วนตัว (ซึ่งผู้เขียนบทความนี้เคยกล่าวไว้แล้วเหมือนกัน) ดังนี้คือ
ผ่าแผนการ สปสช ต้องการกุมเงินงบประมาณแผ่นดิน 3 กองทุน ร่วม 4 แสนล้านบาท
1. ฉุกเฉินเข้ารักษาฟรี ที่ไหน ได้ทั้งรัฐและเอกชน แต่ไม่กำหนดนิยาม "อาการฉุกเฉิน" อย่างละเอียด
2. คนไข้ เข้ารักษา แบบไม่รู้ นึกว่าฟรี ต้องสำรองจ่ายไปก่อน ย้ายมารักษาโรงพยาบาลรัฐยาก ค่าใช้จ่ายยิ่งถลำลึกหมดเป็นล้านบาท จึงร้องเรียน
3. เมื่อมีการร้องเรียน จะต้องมี Clearing house ดูแลเงินกองกลาง สปสช.ส่งลูกให้หน้าม้าออกมาอาละวาดโรงพยาบาลเอกชน อ้างเป็นผู้แทนผู้ป่วย
สปสช. รอวันนี้มานานมากแล้วในการรวม 3 กองทุน (สปสช-ข้าราชการ-ประกันสังคม)
นั่งดูต่อไป ว่าจะมีการสรรสร้างกลุ่มผลประโยชน์อะไรรองรับ การรวบกองทุน 3 กองนี้ ที่จะทำให้ สปสช. ดูแลเงินงบประมาณแผ่นดินมากกว่า หลายกระทรวง
แต่ นพ.บรรพต หัวใจ คิดว่า สปสช.เป็นเหมือนรัฐวิสาหกิจ แต่ผู้เขียนเรื่องนี้ขออธิบายว่าสปสช.มิใช่รัฐวิสาหกิจ เพราะไม่ได้ดำเนินการให้เกิดรายได้ มีแต่แบมือขอรับงบประมาณจากรัฐบาล มาเป็นผู้ซื้อบริการสาธารณสุข (เป็นโบรกเกอร์ ที่ทำให้ รพ. Broke – คือถังแตกไปแล้ว)
สปสช.เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ เป็นองค์กรมหาชนประเภทหนึ่ง ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ เพราะรัฐวิสาหกิจนั้น เมื่อทำงานแล้วจะต้องส่งรายได้ให้รัฐบาล แต่สปสช.กำหนดไว้เลยว่า ขอรับงบประมาณจากรัฐบาลแต่ถ้าสปสช.มีรายได้เช่นมีคนบริจาค สปสช.ไม่ต้องส่งรายได้ให้รัฐบาล
ตอนนี้ สปสช.ผลาญงบประมาณจากเงินภาษีพลเมือง แต่ส่งเงินให้โรงพยาบาลอย่างจำกัดจำเขี่ย และไม่ครบตามจำนวนที่รัฐบาลจ่ายมาให้สปสช. แถมยังปฏิเสธไม่จ่ายหนี้ให้แก่รพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
สปสช.เป็นองค์กรมหาชน ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ ตอนนี้ สปสช.ผลาญงบประมาณจากเงินภาษีพลเมือง (ใช้เงินในสปสช.ฟุ่มเฟือย แต่ให้โรงพยาบาลที่จะรักษาผู้ป่วยกระเบียดกระเสียน ชักหน้าไม่ถึงหลัง ) สปสช.คือมะเร็งร้าย แผ่กระจายไปทำลายทุกกองทุน ตอนนี้สปสช.หนี้เยอะ จะทำหน้าด้าน "ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย "อยู่ต่อไปไม่ไหวแล้ว เนื่องจากมีคนรู้ทันสปสช.มากขึ้นทุกวัน เลยคิดหาทางรอด และคิดว่าทางเดียวที่อยู่รอด คือ หางบประมาณกองอื่นๆ นำมาหมุนไปพลางๆ ก่อน
ก็จะเริ่มจากเรียกเก็บเงินกองทุนอื่น มาใส่กองทุนผู้ป่วยฉุกเฉินนี่แหละ แล้วค่อยๆ คืบคลานไปรวบให้หมดทุกกอง
บอกแล้วไงว่า สปสช.คือมะเร็งร้าย แทรกซึม (metastasis) ไปหาอาหารจากกองทุนอื่นๆ เรื่อยไป
------------------------------
หมายเหตุ : บทความนี้ผู้เขียนมิได้มีอคติต่อผู้ใดเป็นการส่วนตัว แต่เขียนขึ้นด้วยความเป็นห่วงว่า ถ้าเรายังปล่อยให้บุคคลกลุ่มหนึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารเงินและนโยบายในระบบการแพทย์ สาธารณสุขและการประกันสุขภาพแบบนี้ นอกจากมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยจะตกต่ำ ประชาชนได้รับความเสียหายจากการรักษาตัวเมื่อเจ็บป่วยแล้ว ระบบการเงินการคลังของประเทศก็คงจะล้มละลายลงไปอีกด้วย (ในขณะที่ตอนนี้ รัฐบาลก็ขาดงบประมาณจนมีข่าวจะขายพันธบัตรมาใช้หนี้แทนนักการเมืองอีกแล้ว)
ส่วนหลักฐานต่างๆ ที่ค้นหาได้จาก Google และจากการเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงของระบบสาธารณสุขมาตลอดเวลาตั้งแต่เริ่มมีการนำร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทน รวมทั้งจากบทความต่างๆในหนังสือชื่อ “แสงดาวแห่งศรัทธา “ ที่พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ รวมทั้งบทความเรื่อง บุคคลที่น่ายกย่อง-นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้สร้างคุณูปการอเนกอนันต์แก่วงการสาธารณสุขไทยเขียนโดย นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ที่ตีพิมพ์ในวารสาร แพทยสภาสารปีที่ 37 ฉบับที่ 1 เดือน ม.ค.-เม.ย. 2553
เอกสารอ้างอิง
http://www.hfocus.org/content/2015/05/10017
http://manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000058172
http://www.hfocus.org/about
http://www.hfocus.org/content/2015/05/9876
ด้วยความห่วงใยและกังวลอย่างยิ่งว่า บัตรทองและระบบสุขภาพของชาติจะล้มลงเพราะไม่บริหารแบบ “พอเพียง” โดย ศาสตราจารย์ ดร.นพ. อภิวัฒน์ มุทิรางกูร
https://www.facebook.com/banphot.huajai?fref=ts
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000053669