“อัมมาร” ชี้รัฐไม่ควรผลักคนชั้นกลางออกจากระบบ 30 บาท แต่ต้องดึงให้เข้าสู่ระบบมากขึ้น เผยผลวิจัยเบื้องต้นระบุการจำกัดงบ 30 บาทของรัฐ เป็นการขับไล่คนชนชั้นกลางโดยไม่ตั้งใจ แนะเพิ่มเงินรายหัว-พัฒนาคุณภาพบริการให้มากขึ้น แจง 10 ปีคนไทยเข้าถึงการรักษาเท่ากันใน 3 วิธี “คนรวยใช้เงิน - อำมาตย์ใช้เส้น - คนจนใช้เวลาแลกกับการเข้าถึงบริการ”
ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีแนวคิดให้คนรวย หรือคนชั้นกลาง เสียสละสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อนำเงินไปให้กับคนจนที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ ว่า ความจริงแล้วรัฐควรต้องดึงคนชั้นกลางเข้าระบบและปรับเพิ่มงบประมาณของ 30 บาทให้มากขึ้นตามไปด้วยซ้ำ เพราะแท้จริงแล้ววัตถุประสงค์แรกเริ่มของระบบหลักประกันสุขภาพ ก็เพื่อจะให้สิทธิรักษาพยาบาลแก่ประชาชนทุกกลุ่ม
อย่างไรก็ตาม เร็วๆ นี้ จะมีการเปิดเผยข้อมูลงานวิจัยในเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นทางการ แต่เบื้องต้นผลวิจัยระบุว่า การจำกัดควบคุมงบประมาณในระบบ 30 บาทมาตั้งแต่ต้น เป็นการขับไล่ชนชั้นกลางให้ออกไปจากระบบโดยไม่ตั้งใจ เพราะการจัดสรรงบประมาณจำนวนน้อยแก่โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทำให้โรงพยาบาลส่วนใหญ่เกิดภาวะที่มีผู้ไปรับบริการอย่างหนาแน่นและต้องรอคิวยาว ซึ่งจากการเก็บข้อมูลพบว่ามีแต่คนจนรายได้ต่ำเท่านั้นที่มาใช้บริการ ส่วนคนชนชั้นกลางหนีหมด โดยผู้มีรายได้เกิน 15,000 บาท/เดือนจะเริ่มหนี ส่วนคนที่มีรายได้ 30,000 บาท/เดือน ก็ยิ่งไม่ใช้ เพราะไม่อยากรอคิวนานทั้งวันเพื่อมาพบหมอแค่ 2 นาที ทั้งๆ ที่วัตถุประสงค์ของระบบ 30 บาทก็ต้องการให้คนชั้นกลางได้รับบริการด้วย
“ข้อมูลที่ได้บ่งชี้ชัดเจนว่าคนชั้นกลางส่วนใหญ่ไม่ใช้ 30 บาท เพราะฉะนั้นในความเป็นจริงแทนที่รัฐจะผลักคนชนชั้นกลางออก รัฐควรต้องปรับการจ่ายงบประมาณให้เพิ่มขึ้นเพื่อดึงคนชนชั้นกลางกลับเข้าสู่ระบบ แต่ยอมรับว่ารัฐไม่มีความพร้อมที่จะให้เพิ่มงบประมาณให้กับระบบ 30 บาท เพราะหากไปดูค่าใช้จ่ายของข้าราชการ รวมถึงพ่อแม่ข้าราชการ และข้าราชการเกษียณอายุ จะพบว่ารัฐบาลทุ่มเงินรายหัวให้หมื่นกว่าบาท ขณะที่ระบบ 30 บาท ปัจจุบันได้รายหัวอยู่ที่ 3,000 บาท ก็ถูกบ่นว่าใช้เงินมากแล้ว หรือบอกขาดงบประมาณ ก็หาวิธีการตัดงบประมาณ จำกัดงบประมาณโครงการต่างๆของระบบ 30 บาท ถือเป็นข้อความผิดพลาดในชุมชนสาธารณสุข เพราะฉะนั้นสรุป 10 กว่าปีที่ผ่านมา คนไทยเหมือนได้บริการสุขภาพเท่ากันแต่วิธีการเข้าถึงบริการต่างกันไป 3 วิธี ได้แก่ 1. คนรวยใช้เงิน 2. อำมาตย์ใช้เส้น 3. คนจนใช้เวลาแลกกับการเข้าถึงบริการ ซึ่งดูเหมือนจะไม่เสียเงิน แต่จริงๆ ก็เสียเวลาที่จะเอาไปใช้หาเงินเหมือนกัน” ดร.อัมมาร กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าหากหางบประมาณรายหัวมาเพิ่มสิทธิ 30 บาท เชื่อว่า จะช่วยยกระดับคุณภาพบริการที่ให้คนจนทุกวันนี้มาให้ขึ้นมาถึงจุดที่คนชั้นกลางรับได้ ก็จะเป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย” ดร.อัมมาร กล่าวทิ้งท้าย
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่