xs
xsm
sm
md
lg

สัมมนาเวทีศาล รธน. แนะอย่าเขียน กม.บังคับเป็นคนดี ชี้ปัญหาอยู่ที่คน-ไม่ใช่ รธน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ศาลรัฐธรรมนูญ” จัดสัมมนาสะท้อนร่าง รธน. รองประธานศาลฎีกาติงเขียน กม.บังคับเป็นคนดีก็ให้อยู่แบบพระไปเลย ชี้ปัญหาอยู่ที่คนไม่ใช่ รธน. “ชวน” ย้ำ รธน.ต้องเน้นนิติธรรม อย่าหวังดัด ส.ส.เป็นคนดี ควรวางระบบให้คนดีเป็น ส.ส. ชี้หากเลือกตั้งปี 59 ทหารต้องถอย รอง ปธ.ศาลปกครองดีใจร่างฯ นี้ศาลไม่ยุ่งกิจการอื่น “วิษณุ” ชี้ศาล รธน.ยังมีคุณค่าช่วยแก้วิกฤตการเมือง-กม. แนะทุกองค์กรต่อไปต้องยึดนิติธรรมแก้ปัญหา

วันนี้ (29 เม.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญได้จัดสัมมนาวิชาการแนวทางปฏิรูปประเทศ เนื่องในโอกาสศาลรัฐธรรมนูญครบรอบ 17 ปี โดยวิทยากรสะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในแง่มุมสำคัญ เช่น หลักนิติธรรมยังสำคัญเหนือกว่าตัวรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย อย่าพยายามเขียนกฎหมายไปบังคับคนเป็นคนดี แต่ควรเขียนให้กลั่นกรองให้คนดีเข้ามามีอำนาจแทน

นายวีรพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา อภิปรายว่าถ้าจะเขียนกฎหมายบังคับให้คนเป็นคนดีก็ให้อยู่กันแบบพระไปเลย กฎหมายเป็นเครื่องมือในการดูแลคนดีให้อยู่กันได้อย่างสงบ เป็นนิติรัฐที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือการปกครอง ทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายลำดับรองมีกระบวนการควบคุมไม่ให้กฎหมายรองแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และต้องกำหนดสิทธิเสรีภาพเป็นหลักประกันในรัฐธรรมนูญ กำหนดขอบเขตการใช้อำนาจ แบ่งอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และตรวจสอบซึ่งกันโดยใช้หลักนิติธรรมซึ่งอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ

“ตัวรัฐธรรมนูญไม่ใช่ปัญหา ทุกอย่างเป็นที่คนที่ใช้รัฐธรรมนูญ จะปฏิรูปอย่างไรให้เกิดหลักนิติธรรมเกิดในบ้านเมืองเสียที กฎหมายมีความสำคัญเพียง 20% คุณภาพของคนใช้ที่เป็นปัญหา จึงต้องปฏิรูปคนไปด้วย ถ้าปฏิรูปคนได้ปัญหาบ้านเมืองจะไม่เกิด มองว่าทำได้สองระยะ เฉพาะหน้าต้องสร้างกฎเกณฑ์ควบคุมการเข้ามามีอำนาจแล้วใช้หลักนิติธรรม มีกระบวนการตรวจสอบการลงโทษเข้มแข็ง โอกาสเกิดปัญหาวิกฤติจะไม่มี” นายวีรพลกล่าว

รองประธานศาลฎีกากล่าวด้วยว่า การแก้ปัญหาระยะยาวนั้นต้องใช้เวลาปฏิรูปคนประมาณ 21 ปี บ่มเพาะเด็กรุ่นใหม่จนจบมหาวิทยาลัย โดยการสร้างคุณธรรมประจำชาติ สร้างเสริมวินัยต่างๆ เช่น การเข้าคิว สอนให้เด็กเคารพกฎหมาย ไม่ใช่กลัวผู้ใช้กฎหมาย และต้องสอนให้มีจิตสาธารณะ เคารพสิทธิผู้อื่น คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมก่อนส่วนตัว และการเสียสละ

“ฝากให้คิดว่าเหตุใดรัฐประหารแล้วต้องยกร่างฯ ทั้งฉบับ เก็บไว้บางส่วนได้หรือไม่ และเหตุใดต้องเอาข้อคิดของต่างชาติที่ก้าวหน้ากว่าสังคมไทยมาใช้ การยกร่างรัฐธรรมนูญทุกฉบับควรจะมีผู้มีส่วนได้เสียร่วมร่างด้วยหรือไม่ รัฐธรรมนูญที่ใช้ไปสักระยะจะเกิดปัญหาความขัดแย้ง ถามว่าควรจะขจัดความปรองดองก่อน หรือยกร่างฯ โดยหวังว่าจะสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ ส่วนรัฐธรรมนูญที่อยากเห็น คือ รัฐธรรมนูญที่ใช้ภาษาง่ายๆ ประชาชนทุกคนอ่านเข้าใจ ส่วนที่ไม่อยากเห็นคือ 1. อย่าเขียนจนยืดยาว 2. อย่าสร้างองค์กรใหม่ให้เกิดภาระมากมาย จะยุบก็ยาก 3. ไม่อยากเห็นการบังคับ เสนอแนะ สั่งสอนหรือหวังให้คนเป็นคนดี 4. อย่าเขียนเพื่อแก้ปัญหาเรื่องคน เพราะจะเขียนไปไม่มีที่สิ้นสุด และ 5. กฎหมายที่เขียนได้ชัดเจนแล้วไม่จำเป็นต้องไปเขียนในรัฐธรรมนูญอีก เพราะกฎหมายหลายฉบับยังอยู่ในขณะที่รัฐธรรมนูญกลับถูกยกเลิกได้ง่ายกว่า

ด้านนายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าหากการเลือกผู้สมัครต้องสุ่มจากชาวบ้าน ตนคงไม่ได้เป็นผู้แทนฯ เพราะสมัยลงสมัครครั้งแรกไม่มีใครรู้จัก เพราะสมัยนั้นครูที่พรรคส่งลงสมัครไม่มีเงินจึงถอนตัว พรรคจึงมาถามว่าจะลงหรือไม่ เพราะรู้อยู่แล้วว่าไม่ได้ แต่ตนไปพบกับชาวบ้านมากจึงได้รับเลือกเป็นอันดับ 1 ผู้สมัครกล้าลงสมัครเป็นการยอมเอาชีวิตเข้าไปเสี่ยง ในหมู่นักการเมืองมีทั้งคนดีและเลวเหมือนคนที่มาจากแต่งตั้งไม่ต่างกัน จึงอยากให้ไปดูกฎหมายให้ดีๆ มากกว่ามาดูเรื่องที่มาผู้แทนฯ ทำอย่างไรกระบวนการกลไกการเมืองถึงจะคัดคนดีมาได้

นายชวนกล่าวอีกว่า การปฏิรูปประเทศคือการปรับปรุงให้เหมาะสมแก้ปัญหาในอดีต ปัญหาที่ผ่านมามีการแทรกแซงองค์กรอิสระ ประพฤติตัวไม่เหมาะสม มีการหมิ่นสถาบันฯ แต่การแก้ปัญหาทุกคนต้องเข้ามาร่วมกันแก้ คำตอบของปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวร่าสงกฎหมาย แต่อยู่ที่คน กฎหมายที่ดีคนไม่ดีก็ทำให้เกิดปัญหา ประชาธิปไตยไม่มีการเลือกตั้งไม่ได้

“ผมมองบ้านเมืองเราไปในทางบวก 82 ปีที่ผ่านมาบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี แต่ประชาธิปไตยของเราก็มีอุปสรรคมาก ในอดีตทหารยึดอำนาจ แต่เมื่อมีการเผาบ้านเผาเมือง ผมเป็นคนบอกว่าทหารไม่เป็นอุปสรรคกับประชาธิปไตยในการยึดอำนาจแล้ว เหมือนโลกมีโรคใหม่ที่ต้องรักษาด้วยยาใหม่ คือโรคธุรกิจการเมืองที่ซื้อทุกอย่าง ซึ่งนักการเมืองทั้ง ส.ส. กระทั่งซื้อวุฒิสภา” นายชวนกล่าว

อดีตนายกฯ กล่าวว่า ระบบรัฐสภาจำเป็นต้องมีเสียงข้างมาก ส.ส.จำเป็นต้องมีวินัย ให้อิสระไม่เป็นไปตามพรรคกำหนดมันอยู่ไม่ได้ เว้นแต่ระบบประธานาธิบดีที่ประชาชนเลือกมาโดยตรง ถ้าลงมติตามอำเภอใจใครมาซื้อก็ไปลง รัฐบาลก็ล้มอยู่ไม่ได้ เว้นแต่หัวหน้าพรรคที่ทำตามอำเภอใจ สั่งให้ลงคะแนนเพื่อประโยชน์ตนเอง แต่พรรคการเมืองแบบนั้นไม่ใช่มาตรฐานของพรรคการเมือง

“ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นเกิดจากการทำนอกหลักนิติธรรมทั้งสิ้น การบัญญัติคำว่าหลักนิติธรรมในมาตรา 3 ก็คือ การตอกย้ำการไม่ใช้หลักนิติธรรมในอดีต หากใช้หลักนี้ก็ไม่ต้องไปพูดเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม ใครผิดก็ว่าไปตามผิดถูกก็ว่าไปตามถูก ไม่ใช่ยอมสยบเพื่อความสามัคคีไม่แตกแยกแล้วยอมให้ทรราชย์ข่มขู่คุกคามอย่างนั้นหรือ ส่วนแนวทางเฉพาะหน้า สมมติถ้าจะมีเลือกตั้งปี 2559 ทหารต้องถอนออกไป จะมาไล่จับเลือกตั้งจับยาเสพติดไม่ได้ เป็นหน้าที่ของตำรวจ วันนี้ตำรวจเตรียมการหรือยัง ในอดีตตำรวจไม่ทำหน้าที่จับคนที่แต่งตั้ง” นายชวนกล่าว

นายปิยะ ปะตังทา รองประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า มีคนตั้งข้อสังเกตผู้ร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับอยู่ในกลุ่มเดียวกัน เนื้อหาส่วนใหญ่จึงไม่แตกต่างกันมาก ฉบับปี 40 จุดเด่นคือลดจุดบกพร่องของรัฐบาลที่อ่อนแอ จึงมุ่งหวังให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็ง จัดตั้งองค์กรตรวจสอบหลายองค์กร แต่กลายเป็นว่าความเข้มแข็งของฝ่ายบริหารมีการแทรกแซงฝ่ายตรวจสอบจนอ่อนแอลง จนประชาชนต้องออกมาประท้วงตามท้องถนน และนำมาสู่การรัฐประหารปี 2549 จนมีการเรียกร้อง “ตุลาการภิวัฒน์” จนฉบับปี 2550 มีตุลาการเข้าไปมีส่วนคัดเลือกคัดสรรบุคคล จัดตั้งแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นบทบาทศาลเข้าไปสูง โดยส่วนตัวและศาลก็ไม่ค่อยแฮปปี้นัก เพราะโดยหลักควรวางตัวเป็นกลาง พอเป็นร่างนี้ก็ดีใจมาก เพราะศาลไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการอื่นที่ไม่ใช่การพิพากษาคดี

นายปิยะ ในฐานประธานกลุ่มสีของนักศึกษาหลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นธป.) รุ่น 3 กล่าวว่า ทางกลุ่มมองวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญนี้เห็นว่ามีการลดอำนาจรัฐ การตรวจสอบอำนาจรัฐเข้มข้นขึ้น มีการตรวจสอบของภาคประชาชน คุ้มครองสิทธิประชาชนขั้นมูลฐานมากขึ้นและชัดเจนมากขึ้น นำรัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50 มาปรับขยายให้ชัดเจนมากขึ้น

นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.ในฐานะประธานกลุ่ม นธป.ในกลุ่มห่วงใยสิทธิและเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า มีการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งนำหลักธรรมาภิบาลมาไว้ในร่างรัฐธรรมนูญนี้ เศรษฐกิจของประเทศมีผลไปถึงการเลือกตั้ง เพราะหากประชาชนยากจนก็ง่ายที่จะถูกซื้อเสียงโดยนักการเมือง เป็นช่องทางให้นักการเมืองเข้าไปกอบโกยถอนทุน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องถูกกดดันด้านเศรษฐกิจจากต่างประเทศสามด้าน สหรัฐฯ ลดชั้นประเทศไทยในการเฝ้ามองลงมาที่ 3 จากปัญหาการค้ามนุษย์ ลดมาตรฐานการบิน IKO และอียูให้ใบเหลือการทำประมงผิดกฎหมาย ประเทศไทยละเลยกับกฎหมายที่สำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น กฎหมายป้องเองกันการผูกขาด กฎหมายป้องกันสิ่งแวดล้อม ขาดการวิจัย มีปัญหาทุนนิยมผูกขาดและการครอบงำสื่อ มีปัญหาการศึกษาและงานวิจัยที่ขาดงบประมาณ เป็นต้น

“ทางกลุ่มฯ เสนอให้ใช้มาตรา 44 กับการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย บังคับให้ติดเครื่องติดตามเรือทางดาวเทียม การนำมาแก้ปัญหาสลากกินแบ่งขายเกินราคา การแก้ปัญหาระยะยาวควรเสนอกฎหมายควบคุมการผูกขาดระบบเศรษฐกิจ ปรับปรุงระบบสื่อสารของภาครัฐ ป้องกันการผูกขาดของกลุ่มทุน สนับสนุนการแข่งขันในตลาดอย่างเสรีและเป็นธรรม ส่งเสริมความร่วมมือภาครัฐและเอกชน พัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่เป็นธรรมทั่วถึง พัฒนาชุมชนให้เป็นพื้นฐานระบบเศรษฐกิจ สนับสนุนการสร้างคนดีมากกว่าคนเก่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยังปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “หลักนิติธรรมกับการบริหารประเทศ” ตอนหนึ่งว่า ศาลรัฐธรรมนูญตั้งมา 17 ปี เคยถูกไม่ยอมรับ ถูกขับไล่ ตุลาการถูกข่มขู่คุกคาม คำวินิจฉัยมีผู้ประกาศไม่ยอมรับ ถือว่าเป็นวิกฤต ผ่านความเจ็บปวดมาพอสมควร แต่ก็ตัดไม่ตายขายไม่ขาดร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็ยังยอมรับให้มีสถาบันศาลรัฐธรรมนูญเช่นเดิม และคงถูกวิจารณ์เหมือนเดิม ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเมื่อมีการใช้อำนาจและไปกระทบกับคนเข้าก็ย่อมมีฝ่ายพอใจและไม่พอใจเป็นธรรมดา เพราะอย่างน้อยที่สุดคุณค่าสถาบันศาลรัฐธรรมนูญ คือ ช่วยแก้ปัญหาทางกฎหมายเพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตทางการเมือง หรือแก้วิกฤตการเมืองที่เกิดจากความไม่ชัดเจนในถ้อยคำของกฎหมาย

นายวิษณุกล่าวต่อว่า ร่างรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติบังคับว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ตนเคยพูดที่เล่นที่จริงหลายทีว่า รัฐธรรมนูญสามร้อยมาตรายาวเกินไป แค่มีมาตราเรื่องหลักนิติธรรมไว้มาตราเดียวก็เหลือกิน ใช้ได้กับทุกเรื่อง เพียงแต่บ้านเราไม่ฝากผีฝากไข้มีการตีความอะไรเป็นหลักนิติธรรมและอะไรไม่เป็น จึงต้องขยายความอีกหลายมาตรา เหมือนเป็นแม่น้ำที่แยกสายมาจากหลักนิติธรรม หลักนิติธรรมเกิดขึ้นโดยเหตุผลพิเศษ เดิมทีไม่มีคนคิดหลักนี้ คิดแต่เพียงว่าประเทศต้องมีการปกครอง คนมีอำนาจเป็นผู้วางกติกา ผู้ปกครองมีอำนาจเหนือกว่ากติกา เพราะฉะนั้นเหนือฟ้าต้องมีฟ้า หลักนิติธรรม จึงเป็นหลักที่คอยเหนี่ยวรั้งผู้ปกครองไม่ให้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ

รองนายกฯ ยังกล่าวอีกว่า ต่อไปหลักนิติธรรมจะแสดงอิทธิฤทธิ์เพราะกระจายอยู่หลายมาตราในรัฐธรรมนูญ ทุกองค์กรจะเผชิญหน้ากับการเอาหลักนิติธรรมมาใช้ เมื่อก่อนผู้ใช้อำนาจจะกลัวกับความผิดครอบจักรวาลของ ป.วิอาญามาตรา 157 แต่ต่อไปจะเจอความผิดครอบจักรวาลมากกว่าคือผิดขัดหลักนิติธรรม การพิจารณาของศาลเองต่อไปก็อาจจะได้รับผลกระทบ เช่น อาจจะหากฎหมายมาตัดสินไม่ได้ เพราะบางเรื่องไม่ผิดกฎหมายแต่ผิดหลักนิติธรรม ซึ่งก็อาจทำให้ศาลโดนด่าได้อีก จึงต้องวางหลักให้ดี แต่ทั้งนี้ในอดีต ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ขายตรง ขัดต่อหลักนิติธรรม เพราะเป็นกฎหมายที่เอาความผิดไปใส่ผู้ถูกกล่าวหาตั้งแต่ต้น แต่หลักนิติธรรมข้อหนึ่งระบุว่าให้ถือว่าบริสุทธิ์ก่อนแล้วค่อยตรวจสอบ จนกลายเป็นคลื่นกระทบฝั่งรุนแรง คณะกรรมการกฤษฎีกาเรียกประชุมเพราะคำวินิจฉัยดังกล่าวกระทบกฎหมายกว่าร้อยฉบับ ซึ่งในส่วนของรัฐบาลก็ต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรมในวิธีการบริหารประเทศด้วยเช่นกัน หากประมาทไม่สนใจยึดแต่กฎหมายก็อาจขัดต่อหลักนิติธรรมได้ง่าย ดังนั้น หลักนิติธรรมถือเป็นรากแก้ว ใช้ให้เป็นก็จะเป็นประโยชน์มหาศาล แก้ไขได้ทุกปัญหา เป็นหลักที่ช่วยกำกับรัฐบาลในการออกกฎหมาย กำกับรัฐบาลในการบริหารประเทศให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม เป็นคู่มือช่วยศาลเวลาตีความหรือสร้างหลักกฎหมาย หากดำเนินการตามหลักนี้ได้ ลองคิดดูว่าสังคมไทยจะน่าอยู่เพียงไร


กำลังโหลดความคิดเห็น