xs
xsm
sm
md
lg

ห้องสมุดกับความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าสู่ AEC (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.สุเทพ ทองงาม

ผศ.ดร.สุเทพ ทองงาม
ผู้อำนวยการสำนักบรรณสารการพัฒนา
อาจารย์ประจำหลักสูตรบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะสถิติประยุกต์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)


ในบทความของผมเมื่อเดือนก่อน ผมได้เสนอให้บ้านเราจัดสร้างห้องสมุดประชาชนหรือ public library ให้มากขึ้น โดยเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านในอาเซียนที่เจริญแล้วและที่กำลังมาแรง (และอาจแซงเราไปแล้ว) ซึ่งจากตัวเลขแสดงให้เห็นว่าเรายังมีห้องสมุดประชาชนน้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับประเทศเหล่านั้น และเมื่อดูตัวเลขการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยใช้สถิติในการเป็นสมาชิกเพื่อใช้บริการอินเทอร์เน็ตแล้ว ประเทศไทยของเราก็ยังอยู่ในอันดับที่ต่ำมาก ห้องสมุดประชาชน ก็เป็นช่องทางหนึ่งในการที่จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น แต่ต้องเป็นห้องสมุดที่ทันสมัยสักหน่อย และมีอินเทอร์เน็ตให้ใช้ อย่างในต่างประเทศ ซึ่งก็ไม่น่ายาก อย่างไรก็ตาม อาจมีคำถามว่าสร้างแล้วยังไงต่อ จึงเป็นที่มาของตอนที่ 2 นี้ ซึ่งคิดว่าคงเป็นตอนจบแล้ว

สมมติว่ารัฐบาลเห็นด้วยและได้ดำเนินการจัดสร้างห้องสมุดประชาชนขึ้นอีกมากมายให้ทัดเทียมประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าต้องทุ่มเทงบประมาณมหาศาลทั้งทางกายภาพและการพัฒนาบุคลากร รวมทั้งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง แล้วจะทำอย่างไรที่จะให้ห้องสมุดประชาชนเหล่านั้นดำรงคงอยู่และบรรลุวัตถุประสงค์อย่างยั่งยืน มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าไม่สามารถทำให้ยั่งยืนได้ ก็จะเป็นการเสียงบประมาณไปเปล่า ๆ แล้วบุคลากรที่เตรียมไว้จะทำอย่างไร

หากได้ติดตามบทความในครั้งก่อน ผมสมมติตัวเลขกลม ๆ ว่า หากเราตั้งเป้าหมายในการมีห้องสมุดประชาชน 10,000 แห่ง และทุกแห่งต้องมีบรรณารักษ์ประจำอย่างน้อยหนึ่งคน เราต้องผลิตบรรณารักษ์อีกอย่างน้อย 10,000 คน และต้องเตรียมการในเรื่องการทดแทนอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ดังนั้น หากห้องสมุดประชาชนที่สร้างขึ้นมาแล้ว ไม่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน งบประมาณและเวลาที่ใช้ในการจัดสร้างห้องสมุดเหล่านั้นก็จะสูญเปล่า รวมทั้งบุคลากรที่เกี่ยวข้องซึ่งจะสำเร็จการศึกษาออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรจุหรือทดแทนก็จะไม่มีงานทำที่ตรงกับสาขา ไม่นับรวมพวกที่บรรจุไปแล้วแต่ห้องสมุดต้องปิดลงหรือไม่มีคนมาใช้บริการหรือขาดงบประมาณสนับสนุนก็จะต้องเดือดร้อน และที่สำคัญที่สุดคือ เป้าหมายในการทำให้ประชาชนมีความรู้ที่ทันสมัย เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การเรียนรู้ตลอดชีวิต การสร้างนิสัยในการรักการอ่าน ก็จะไม่บรรลุไปด้วย ซึ่งยิ่งกว่าสูญเปล่าเสียอีก

แล้วจะทำอย่างไรที่จะให้ห้องสมุดดำรงคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ผมคิดว่ามีสองปัจจัยหลักแห่งความยั่งยืนของห้องสมุด ปัจจัยแรกคือตัวห้องสมุดเอง ผมขอเรียกว่าปัจจัยทางกายภาพ (physical factor) ถ้าจะสามารถดำเนินกิจการได้อย่างยั่งยืน ห้องสมุดต้องมีแหล่งเงินที่จะสนับสนุนค่าใช้จ่าย เช่น ค่าจ้างบุคลากร ค่าทรัพยากร ค่าบำรุงรักษาอาคารสถานที่และอุปกรณ์ต่าง ๆ ค่าน้ำ ค่าไฟ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต เป็นต้น ซึ่งแหล่งเงินสนับสนุนอาจได้จาก งบประมาณแผ่นดิน งบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ค่าสมาชิก เงินสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน เงินบริจาค การรับอาสาสมัคร เป็นต้น ซึ่งปัจจัยนี้ค่อนข้างชัดเจน เพราะหากไม่มีงบประมาณและบุคลากร ห้องสมุดก็คงดำเนินการต่อไปไม่ได้

ส่วนปัจจัยที่สอง ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ผมขอเรียกว่าปัจจัยด้านความเหมาะสมหรือเหตุผล (logical factor) ในการที่ต้องมีห้องสมุด เพราะแม้จะมีห้องสมุด มีทรัพยากรที่ทันสมัย มีบุคลากรครบถ้วน แต่หากไม่มีใครเข้ามาใช้บริการเลย ก็ไม่มีเหตุผลหรือความเหมาะสมที่จะมีห้องสมุดอีกต่อไป ดังนั้น ปัจจัยนี้จึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าปัจจัยด้านกายภาพแต่อย่างใด และจะทำให้ปัจจัยนี้สมบูรณ์ได้อย่างไร ง่าย ๆ คือจะทำให้ผู้คนเข้ามาใช้บริการเหมือนเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เป็นกิจวัตรประจำวันหรือสุดสัปดาห์ และเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนได้อย่างไร นอกเหนือจากทรัพยากรและบริการปกติที่ตอบสนองความต้องการของมวลมหาสมาชิกแล้ว กิจกรรมที่ห้องสมุดจัดขึ้นเป็นประจำก็จะกระตุ้นให้เกิดความสนใจและตื่นตัว รวมทั้งรับทราบการมีอยู่ของห้องสมุด กิจกรรมเหล่านั้น อาจจัดตามเทศกาล เช่น สำหรับบ้านเราก็ในวันสำคัญของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เป็นต้น ปีหนึ่ง ๆ ก็ต้องมีอย่างน้อย ๆ 10 กิจกรรม เพราะบ้านเราก็มีวันหยุดนักขัตฤกษ์กว่าสิบวันต่อปี ผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งคือ การให้ความรู้แก่ประชาชน เพราะเดี๋ยวนี้ก็ชักจะลืม ๆ กันไปแล้วว่าวันหยุดนักขัตฤกษ์แต่ละวันนั้น สำคัญอย่างไร

นอกจากนี้ ห้องสมุดประชาชนอาจทำตัวเองเป็นห้องสมุดให้โรงเรียนในชุมชนใกล้เคียงกับห้องสมุดก็ได้ ซึ่งครูก็สามารถพานักเรียนมาใช้หรือจัดเป็นชั่วโมงประจำในการต้องเข้าห้องสมุด ซึ่งนอกจากโรงเรียนจะไม่ต้องดำเนินกิจการห้องสมุดเองแล้ว ยังเป็นการใช้ทรัพยากรห้องสมุดประชาชนอย่างเต็มที่อีกด้วย นี่ยังไม่นับว่าเป็นการปลูกฝังอุปนิสัยในการรักการอ่านให้เด็ก ๆ และ เยาวชนอีกทางหนึ่ง นี่เป็นแค่ตัวอย่างเท่าที่ได้เห็นและคิดเพิ่มเติมเอาเอง ใครมีความคิดดี ๆ ก็สามารถสร้างสรรค์กิจกรรมในรูปแบบอื่น ๆ ได้ เพื่อให้ผู้คนในชุมชนเกิดทัศนคติต่อห้องสมุดในการมีส่วนร่วม เป็นเจ้าของ และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แล้วผลลัพธ์ก็จะเกิดกับประชาชนและประเทศชาติในที่สุด

ทั้งสองปัจจัยเป็นสิ่งจำเป็นและเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน หากเพียงสร้างห้องสมุดอย่างดีเลิศแต่ไม่มีคนมาใช้บริการ หรือมีคนมาใช้บริการแต่ทรัพยากรและบริการไม่ตอบสนองความต้องการ ห้องสมุดก็จะกลายสภาพเป็นอนุสาวรีย์หรือเป็นสถานที่ที่เคยเป็นห้องสมุดเท่านั้น!

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน สำนักบรรณสารการพัฒนา คณะสถิติประยุกต์ และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ไม่จำเป็นต้องมีความเห็นไปในทางเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น