xs
xsm
sm
md
lg

ร้อง คสช.เลิกแช่แข็งงบรายหัวบัตรทอง ก่อนขาดงบ 2.3 หมื่นล้าน กระทบผู้ป่วยระนาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาคประชาชนจ่อพบ คสช. - สนช. เพิ่มค่าเหมาจ่ายรายหัวสิทธิบัตรทองตาม สปสช. เสนอที่ 3,060 บาท ต่อคนต่อปี หลังถูกสำนักงบฯแช่แข็ง หวั่นกระทบผู้ป่วยเก่าถูกลดการดูแลรักษา ผู้ป่วยรายใหม่ก็ดูแลไม่ดีพอ ชี้มีงบเงินเดือน ขรก.สธ. รวมด้วย เท่ากับขาดงบประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท

น.ส.สุภัทรา นาคะผิว โฆษกกลุ่มคนหลักรักประกันสุขภาพ กล่าวว่า งบประมาณค่าใช้จ่ายรายหัวในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2558 เสนอขอเพิ่มจาก 2,895 บาทต่อคนต่อปี เป็น 3,060 บาทต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้น 165 บาทต่อคนต่อปี เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและเป็นค่าแรงของผู้ให้บริการ และเป็นการคิดงบบนฐานของความเป็นจริงของการใช้บริการของประชาชน มีหลักฐานทางวิชาการรองรับ รัฐจำเป็นต้องลงทุนเรื่องสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนสุขภาพดี จะได้สร้างรายได้ เสียภาษีให้รัฐได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น กลุ่มคนรักหลักประกันและองค์กรพันธมิตรจะเดินหน้าเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต้องไม่แช่แข็งงบประมาณ

ขอให้ทบทวนในชั้น สนช. เพิ่มงบให้ตามที่ขอ โดยกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจะส่งตัวแทนไปพบ คสช. และ สนช. เพื่อยืนยันประเด็นนี้ ประเทศเรามีเงินเพียงพอที่จะจัดสรรมาใช้ในเรื่องสุขภาพของประชาชน ประชาชน 49 ล้านคน กำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงมาก ที่จะได้รับบริการต่ำกว่ามาตรฐาน ด้วยเพราะงบประมาณที่จำกัดทำให้โรงพยาบาลอาจต้องคิดว่า รักษาเท่านี้พอแล้ว เงินมีน้อย” น.ส.สุภัทรา กล่าว

นายธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากงบประมาณที่ถูกแช่แข็ง โดยจัดสรรงบให้ผู้ป่วยรายใหม่ไว้เพียง 419 คน จากประมาณการผู้ป่วยรายใหม่มากกว่า 10,000 ราย นั่นหมายความว่าจะมีผู้ป่วยโรคไตจะเสียชีวิตมากขึ้น ทั้งนี้ ชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยที่มีสมาชิกมากกว่า 40,000 คน จะร่วมกับกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ไปอธิบายให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเข้าใจว่า ต้องเพิ่มงบประมาณค่าเหมาจ่ายรายหัวให้ได้อย่างน้อยเท่ากับที่ สปสช. ขอไปคือ 3,060 บาท ไม่เช่นนั้น ผู้ป่วยรายเก่าจะถูกลดการดูแลรักษาเพื่อเจียดให้กับผู้ป่วยใหม่ ขณะที่ผู้ป่วยใหม่ก็จะไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ สุดท้ายจากที่ผู้ป่วยโรคไตยังพอมีชีวิตในการเป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจของปรเทศได้ จะทยอยเสียชีวิตลง ซึ่งนี่ไม่ใช่การคืนความสุข แต่ทำให้เป็นทุกข์ จะเป็นการฆ่าเรามากกว่า

นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไทยได้รับการยกย่องจากสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก และธนาคารโลกให้เป็นนวัตกรรมของโลกในการดูแลสุขภาพประชาชนที่ดีและมีการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและยังแก้ไขปัญหาความยากจน ดังนั้น เราต้องปกป้องสิ่งที่ดีเหล่านี้ที่ช่วยป้องกันไม่ให้ประชาชนต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วย ต้องดำรงสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุม โดยไม่ให้มีการร่วมจ่าย ณ จุดรักษา ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ และต้องเสนอให้มีระบบภาษีใหม่ๆ ที่เข้ามาสนับสนุนการดูแลสุขภาพประชาชน อาทิ ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก และ ภาษีจากการแลกเปลี่ยนเงินตรา หรือการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วเริ่มดำเนินการแล้ว

แต่จากการที่สำนักงบประมาณเสนอ คสช.ให้คงค่าเหมาจ่ายรายหัวของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นปีที่ 3 นั้นเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ เพราะในค่าเหมาจ่ายรายหัวนั้นมีเงินเดือนข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขที่ คสช.จะขึ้น 8% และยังมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้ออีกไม่ต่ำกว่า 3% แต่เมื่อค่าเหมาจ่ายรายหัวถูกแช่แข็งเช่นนี้ เท่ากับระบบหลักประกันสุขภาพจะขาดงบประมาณรายหัว (Net shortfall) 483 บาทต่อหัว คือประมาณ 23,184 ล้านบาท ซึ่งจะยอมให้ขาดงบประมาณเช่นนี้ไม่ได้” นพ.วิโรจน์ กล่าว

ดร.รพีสุภา หวังเจริญรุ่ง จากสถาบันนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ยอมรับว่า ที่ผ่านมา การเสนองบประมาณของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ใช่เป็นการเสนอเพื่อต่อรองเช่นหน่วยราชการทั่วไป แต่เป็นการเสนองบประมาณที่เป็นตัวเลขสุดซอย ซึ่งทางสำนักงบประมาณยอมรับว่า หากมีเหตุผลอธิบายมากพอ อาจมีการปรับเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม นโยบายของกระทรวงการคลังขณะนี้ จะไม่ยอมให้มีการออกภาษีใดที่จะนำไปเป็นค่าเหมาจ่ายรายหัว (earmark) อีกต่อไป

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การตั้งคณะทำงานลดความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุน คือ ระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และ ระบบประกันสังคม จะสามารถนำไปสู่การลดงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้ หากระบบสวัสดิการข้าราชการ และระบบประกันสังคมมาร่วมกับระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะทำให้ทุกระบบมีความยั่งยืนได้ เพราะที่ผ่านมา การต่อรองราคาและจัดซื้อรวมได้พิสูจน์แล้ว อาทิ ราคาสายสวนหัวใจที่ใช้ปีละไม่ต่ำกว่า 10,000 เส้น ลดราคาจาก 85,000 บาท เหลือ 17,000 บาท แต่ระบบสวัสดิการราชการก็ยังยอมให้เบิกถึง 30,000 บาทต่อเส้น หรือการทำบอลลูนที่ราคาลดลงจาก 10,000 บาท เหลือ 4,000 บาท

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น